"การประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์ เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด สร้างความฉงนให้กับวงการค้าหุ้นทั่วโลก
ด้วยเหตุผลเฉพาะส่วนของตลาดหุ้นกรุงเทพฯ เองที่เคยประสบกับความเฉื่อยชาของโบรกเกอร์บางราย
การได้มาซึ่งที่นั่งครั้งนี้แม้จะด้วยราคาแพงลิบลิ่ว แต่ก็สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของผู้ลงทุนที่จะทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
และเท่ากับเป็นการชี้ช่องต่อตลาดหุ้นในอนาคตด้วย…"
27 มกราคม 2532 การประมูลเก้าอี้ที่นั่งโบรกเกอร์ตลาดหลักทรัพย์ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นของโลก
มีบริษัทเข้าประมูล 5 แห่ง คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต นครหลวงแปซิฟิค
ไฟแนนซ์ ไทย-ฟูจิ และบริษัทหลักทรัพย์เฟิสท์ แปซิฟิค
โควต้าที่นั่งโบรกเกอร์ที่ตลาดหลักทรัพย์มีให้แก่ผู้ชนะการประมูล คือ 3
ที่นั่งเท่านั้น จากข้อเท็จจริงที่มีบริษัทสนใจเข้าร่วมแข่งขันแย่งชิงที่นั่งจำนวน
15 ราย ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอเข้าแข่งขันมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า จำนวนบริษัท 15 รายที่เสนอตัวเข้ามานั้นมีคุณสมบัติไม่เข้ามาตรฐานหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้กว่าครึ่ง
ทำให้การพิจารณาตัดบริษัทที่ไม่ครบคุณสมบัติในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีจำนวน 15 ราย
เหลือเพียง 5 รายลงได้ง่าย
มาตรฐานหลักเกณฑ์ที่ว่ามี 3 ประการ คือ หนึ่ง - ฐานะการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักตรวจสอบบัญชีอย่างน้อย
3 ปี สอง - ความสามารถในการบริหารตัวบุคคลที่มีประสบการณ์ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์
และ สาม - ความพร้อมในการลงทุนให้บริการ
"10 รายที่ถูกตัดออกไปในรอบแรก เพราะคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการที่ว่านี้เลย"
วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้สมัครโบรกเกอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
เล่าย้อนอดีตเหตุการณ์ก่อนประมูลให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
บริษัทที่มีสิทธิ์ผ่านเข้ารอบ 5 ราย ได้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทย-ฟูจิ
แปซิฟิค ไฟแนนซ์ เฟิสท์ แปซิฟิคฯ นครหลวงเครดิต และนครหลวง
การพิจารณาของคณะกรรมารตลาดหลักทรัพย์ที่นับว่าสร้างความยุ่งยากมาก และไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเอกฉันท์ก็เกิดจากการพิจารณาคุณสมบัติบริษัท
5 รายนี้เอง ที่ต่างฝ่ายต่างมีข้อดีข้อเสียในหลักเกณฑ์ 3 ประการข้างต้น
เรื่องนี้ใช้เวลาพิจารณากันยาวนานถึง 5 เดือน จึงหาทางออกกันโดยวิธีประมูล
ซึ่งกรรมการทุกคนใน 9 คน ต่างไม่ต้องการทั้งสิ้น แต่ราคาประมูลที่ปรากฏขึ้นอย่างสูงลิ่วถึง
62 ล้านบาทของนครหลวงเครดิตและ 47 ล้านบาทของนครหลวง ที่เข้าป้ายมาอันดับ
3 นับว่าสร้างความรู้สึกที่ช็อคต่อวงการธุรกิจค้าหลักทรัพย์มาก เพราะราคาที่นั่งโบรกเกอร์ปกติมีราคาเพียง
2 ล้านบาทเท่านั้น !
2 ล้านบาท กับ 62 ล้านบาท แตกต่างกันถึง 60 ล้านบาท เพียงเพื่อได้ที่นั่งโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น
นับว่าเป็นความแตกต่างที่ประหลาดมาก ปุจฉาที่หลายคนสงสัยทำให้ที่นั่งโบรกเกอร์กว่าจะได้มาต้องลงทุนกันด้วยราคาที่แตกต่างกันมากเพียงนี้
?
วิสัชนาสำหรับปุจฉานี้ เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ในตลาดหุ้นหลังตลาดล่ม
ปี 2522 เป็นต้นมา
การล่มสลายของราชาเงินทุน และเฟิสท์ทรัสต์เมื่อปี 2522 และ 2528 เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อวิกฤตการณ์อย่างยาวนานในการดำเนินงานของตลาดหุ้นอย่างมากเกือบทุกบริษัทโบรกเกอร์จำนวน
30 บริษัทในสมัยนั้นต้องสูญเสียหนี้สินไปไม่น้อยกว่าบริษัทละเกือบ 200 ล้านบาทจากธุรกิจหลักทรัพย์
ด้วยลักษณะการค้าหลักทรัพย์ที่ทั้งเล่นใน PORTFOLIO ของตนเองและให้สินเชื่อแก่นักลงทุนในสัดส่วน
1 : 1
เฉพาะ PORTFOLIO อย่างเดียวเสียหายกันไม่ต่ำกว่า 60% ประมาณรายละ 50 - 60
ล้านบาท ยังไม่นับความเสียหายจากสินเชื่อที่เสียหายจากหนี้สูญไม่น้อยกว่า
80% ประมาณ 100 ล้านบาท
การล่มสลายที่ส่งผลวิกฤติการณ์ต่อตลาดหุ้นครั้งนั้น โบรกเกอร์อย่างน้อย
4 รายได้ขายสิทธิ์เก้าอี้โบรกเกอร์ของตนไปแก่บริษัทอื่นในราคาต่ำมาก ๆ ยกเว้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์เพียงรายเดียวที่ถูกทาการสั่งปิดและถอนใบอนุญาต
การออกจากตลาดหุ้นของบริษัทโบรกเกอร์ทั้ง 4 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างยาวนานถึง
8 ปี และไม่คุ้มที่จะดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ต่อไปภายใต้ภาวะตลาดหุ้นตกต่ำเช่นนั้น
เมื่อตลาดฟื้นกลับขึ้นมาใหม่เมื่อหลังกลางปี 2529 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการลงทุน
บริษัทโบรกเกอร์ที่อยู่ในตลาดอย่างอดทนก็ยินดี
จะมีก็แต่บริษัทไทยโอเวอร์ซีทรัสต์เท่านั้น ที่บางคนมองว่า ตัดสินใจผิดพลาดไปที่ขายเก้าอี้โบรกเกอร์ไปให้บริษัทไทยเม็กซ์ในราคาประมาณ
8 ล้านบาท ก่อนหน้าตลดาจะฟื้นตัวเพียงไม่กี่เดือน
แต่การมองเช่นนี้ก็อาจไม่ถูกเท่าไรนัก เพราะไม่มีใครสามารถพยากรณ์ภาวะตลาดได้แม่นยำ
ก่อนหน้าการฟื้นตัวของตลาดในช่วงหลังกลางปี 2529 บริษัทโบรกเกอร์ที่ให้ความสำคัญและได้ลงทุนไปมากในธุรกิจค้าหลักทรัพย์
และเห็นลู่ทางในธุรกิจนี้มากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทไทยค้า กรุงเทพธนาทรร่วมเสริมกิจ
สินเอเชีย ภัทรธนกิจ ธนชาติหลักทรัพย์ยูเนียน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทค้าหลักทรัพย์ชั้นนำที่มีปริมาณธุรกิจสูงเกินระดับ
8,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนกลุ่มบริษัทโบรกเกอร์ที่มีปริมาณธุรกิจต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และไม่ต่ำกว่า
5,000 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่ ACTIVE ระดับปานกลาง มีอยู่หลายสิบบริษัท
บริษัทนำในกลุ่มกลางนี้ก็ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์เอเชียเอ๊ตโก้ เกียรตินาคิน
จีเอฟ. เอ็มซีซี เป็นต้น ก็เริ่มที่จะสร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มี 5 - 6 บริษัทที่ค้าหลักทรัพย์ไม่จริงจัง มีปริมาณธุรกิจน้อยมาก
เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากล พารามหาสมุทร พัฒนสิน และไทยโอเวอร์ซีทรัสต์
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกขจัดจากตลาดหลักทรัพย์มากในฐานะที่ปริมาณธุรกิจมีสัดส่วนน้อยกว่า
1.5% ของส่วนแบ่งตลาดที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เป็นเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของโบรกเกอร์
"ความจริงเกณฑ์วัด 1.5% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด นับว่าเป็นเกณฑ์ที่ต่ำมาก
ๆ แล้ว เพราะก่อนหน้านั้น ตลาดฯ เคยกำหนดสูงถึงต้องไม่ต่ำกว่า 2.5% และต่อมาเห็นว่า
โบรกเกอร์กลุ่ม ACTIVE ต่ำ ยังไม่มีผลงานดีขึ้นก็ขู่กันหนักถึงขั้นประกาศว่า
ถ้ายังไม่ดีขึ้นจะไล่ออกจากการเป็นโบรกเกอร์" แหล่งข่าวในสมาคมโบรกเกอร์พูดถึงกฎเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้วัดผลงานโบรกเกอร์ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
การแสดงออกที่ไม่จริงจังของโบรกเกอร์ในธุรกิจหลักทรัพย์ นับว่าเป็นแรงจูงใจอันหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการเพิ่มบริษัทโบรกเกอร์รายใหม่เข้ามา
ซึ่งในตอนแรกปรารถนาแต่เพียงเข้ามาทดแทนรายที่ไม่ ACTIVE เท่านั้น
ว่ากันว่า ตลาดหลักทรัพย์เอาจริงกับเรื่องนี้มากถึงกับตั้งคณะอนุกรรมกาาควบคุมโบรกเกอร์ขึ้นมา
มีกรรมการ 6 คนประกอบด้วย ดร.อรัญ ธรรมโน ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ดร.ชัยยุทธ
ปิลันธน์โอวาท วิโรจน์ นวลแข สังเขียน อินทรวิชัย และ ดร.วีรศักดิ์ สุขอาณารักษณ์
เพื่อพิจารณาผลงานโบรกเกอร์ อนุกรรมการเหล่านี้ ลงทุนออกสำรวจผลงานโบรกเกอร์ที่ไม่
ACTIVE แล้วทำรายงานยื่นคำขู่แก่บริษัทโบรกเกอร์ที่ผลงานแย่ ให้ปรับปรุงผลงานภายใน
6 เดือน
เมื่อเจอคำขู่เข้า บริษัทโบรกเกอร์ที่ผลงานแย่ ก็เริ่มปรับปรุงตัวเอง จะเห็นได้ว่า
ผลงานค้าหลักทรัพย์ปี 2530 โบรกเกอร์กลุ่มผลงานต่ำมีส่วนแบ่งตลาดในระดับ
1.5% พอดี และปริมาณธุรกิจก็อยู่ในจำนวนระหว่าง 4,000 - 5,000 ล้านบาท
"ช่วงที่ตลาดประกาศว่า จะรับโบรกเกอร์ใหม่ เพื่อกดดันให้รายที่ไม่
ACTIVE ได้รู้ตัวก็พอดีตลาดเริ่มฟื้นตัวจากความตกต่ำอย่างยาวนาน" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟังเพื่อชี้ให้เห็นข้อต่อประวัติศาสตร์ของที่มาศึกชิงเก้าอี้ทองคำของโบรกเกอร์ในครั้งนี้
ว่ากันว่า ตอนที่ตลาดประกาศรับที่นั่งเพิ่ม 5 ที่นั้น ปรากฏว่ามีบริษัทอย่างน้อย
15 บริษัทที่เสนอตัวเข้ามาให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาคัดเลือกเป็นโบรกเกอร์
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมทั้งตัวบุคคล อุปกรณ์ ฐานะการเงิน และความเอาจริงเอาจังในธุรกิจค้าหลักทรัพย์
"หนำซ้ำบริษัทหลายรายที่เสนอตัวเข้ามา ยังไม่ฟื้นตัวเลยจากภาวะวิกฤติ
ฐานะการดำเนินงานก็อยู่ในขั้นเรียกว่า อยู่ในกลุ่มพวกทรัสต์ 4 เมษาได้"
สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร เล่า
จะมีก็แต่ซับโบรกเกอร์ 2 รายเท่านั้น คือ ศรีมิตร และธนสยาม ที่มีคุณสมบัติดีพร้อมเป็นโบรกเกอร์
เพราะ หนึ่ง - มีห้องค้า เครื่องมือ และบุคลากรพร้อม และมีเป้าหมายแจ่มชัดที่จะทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างจริงจัง
และ สอง - มีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานด้านหลักทรัพย์ในฐานะเป็นซับโบรกเกอร์ที่ใช้ได้
มีปริมาณธุรกิจค้าหลักทรัพย์ตกวันละเฉลี่ย 10 ล้านบาท
ความเหมาะสมในคุณสมบัติของศรีมิตรและธนสยาม จึงง่ายต่อการพิจารณาของคณะอนุกรรมการควบคุมบริษัทโบรกเกอร์
ที่เสนอต่อบอร์ดของตลาดหลักทรัพย์ให้เห็นควรยกฐานะบริษัททั้ง 2 รายเป็นโบรกเกอร์
ศรีมิตรและธนสยาม ลงทุนด้วยเงินเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้นก็ได้ที่นั่งโบรกเกอร์เป็นรายที่
31 และ 32 แล้ว !!!
ศรีมิตรแต่เดิมเป็นของ CHASE BANK ที่มุ่งเน้นทำธุรกิจด้าน HIRE PURCHASE
ซึ่งเป็นช่องว่างที่ CHASE BANK ไม่สามารถกระทำได้ เมื่อเจอวิกฤติตลาดหุ้นล่มปี
2522 CHASE BANK ก็ขายทิ้งให้กลุ่มกสิกรไทยและยิบอินซอย และกลุ่มใหม่นี้ก็ได้มือดีจาก
CHASE BANK คือ สุเทพ วงศ์วรเชษฐ มาเป็นผู้นำบริหาร
สุเทพอยู่ CHASE BANK มาหลายปี เขาชำนาญทั้งด้าน MERCHANT BANK และ HIRE
PURCHASE จึงบริหารศรีมิตรได้เด็ดขาดนัก
แม้ช่วงตลาดหุ้นซบเซา แต่ความเป็นนักบริหารการเงินชั้นเซียน สุเทพมองว่า
โอกาสที่ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวมีความเป็นไปได้สูง
เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งในการวางรากฐานธุรกิจหลักทรัพย์ ให้ศรีมิตร เพื่อรองรับการเป็นโบรกเกอร์อยู่หลายปี
ก่อนที่จะสำเร็จลงได้ในต้นปี 2531 พร้อม ๆ กับธนสยามที่ก่อนหน้าจะได้ที่นั่งโบรกเกอร์
เป็นซับโบรกเกอร์ที่เอาการเอางานมาก่อน
ธนสยามมีหลังพิงที่แข็งแกร่งด้านเงินทุนจากไทยพาณิชย์ หลังตลาดหุ้นล่ม ปี
2522 ได้เข้าอุ้มบริษัทแคปปิตอลทรัสต์หรือลีกวงมิ้งเดิม โดยเข้าเทคโอเวอร์ทั้งด้านเงินทุนและการบริหาร
พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทแคปปิตอลทรัสต์เป็นธนชาติเมื่อปี 2523
นี่เป็นคุณูปการอันหนึ่งที่ธนสยาม ได้มีส่วนช่วยฟื้นฟูการล่มสลายตลาดหุ้นเมื่อปี
2522%
และเมื่อธนชาติที่ถูกก่อตั้งและปั้นมากับมือของธนสยาม ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะตลาดหุ้นเมื่อปี
2529 ธนสยามซึ่งเป็นซับโบรกเกอร์ของธนชาติ จึงมีความพร้อมทุกด้านในการรองรับโครงสร้างที่จะเป็นโบรกเกอร์
กลางปี 2531 ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศให้บริษัทผู้สนใจยื่นใบสมัครต้องการเข้าคัดเลือกโบรกเกอร์
ปรากฏว่ามีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประมาณ 15 รายสนใจยืนยันความจำนงเข้ามา
คณะอนุกรรมการ 6 ท่านได้พิจารณาหลักเกณฑ์เดียวกันที่คัดเลือกศรีมิตร และธนสยาม
และสามารถคัดเลือกออกมาได้ 5 บริษัท คือ เฟิสท์แปซิฟิค แปซิฟิคไฟแนนซ์ นครหลวงเครดิต
นครหลวง และไทย-ฟูจิ โดยมีข้อเสนอให้กรรมการพิจารณาเป็นทางเลือกไว้ว่า ถ้าหากไม่สามารถตัดสินได้ว่า
บริษัทใดจะสามารถได้ที่นั่งโบรกเกอร์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ เนื่องจากมีคะแนนเท่าเทียมกัน
ให้ใช้วิธีการประมูล ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการพิจารณาว่าบริษัทใดจะสนใจทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างแท้จริง
เมื่อข้อเสนอจากอนุกรรมการนี้ถึงคณะกรรมการเลือกสรรที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่
มี 3 คน ประกอบด้วย อมเรศ ศิลาอ่อน โยธิน อารี และชัยยุทธ์ ปิลันธน์โอวาท
ปรากฏว่า การเลือกสรรตามหลักเกณฑ์เดิมไม่อาจตกลงกันได้ว่า จะให้บริษัทใดได้ที่นั่งไป
"ความจริงในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ก็ไม่อาจตกลงกันได้ เพราะบริษัททั้ง
5 นี้มีข้อดี-ข้อเสียพอ ๆ กัน ไม่มีบริษัทไหนเลยที่มีคุณสมบัติครบ และคะแนนทิ้งห่างกันอย่างเห็นได้ชัดเหมือนตอนเลือกศรีมิตรและธนสยาม"
วิโรจน์ นวลแข หนึ่งในอนุกรรมการเลือกสรรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เฟิสท์ แปซิฟิค ซีเคียวริตี้ เป็นกลุ่มค้าหลักทรัพย์ของลิมซูเหลียง ที่มีฐานค้าหลักทรัพย์ในฮ่องกง
กลุ่มนี้เข้ามาทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2531 โดยซื้อกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีไทยของตระกูลคูณธนกุลวงศ์
โดยร่วมทุนกับกลุ่ม ธ.เอเชีย และ FINANCE ONE ของตระกูลจักกะพาก
FINANCE ONE เป็นบริษัทเงินทุนที่บริหารโดยปิ่น จักกะพาก เขาเป็นเพื่อนกับมานูแอล
ปังกิลินัน แห่งเฟิสท์แปซิฟิค และจุลกร สิงหโกวิน แห่งแบงก์เอเชีย การซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีไทยของเฟิสท์แปซิฟิคนี้
ปิ่นเป็นคนดำเนินการให้ "เฟิสท์ แปซิฟิคซื้อศรีไทยมาในราคา 25 ล้านบาท"
แหล่งข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์บอก
โครงสร้างการถือหุ้นในช่วงแรกหลังเทคโอเวอร์ แบ่งกันฝ่ายละเท่า ๆ กัน คือ
33% ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก็ลดทอนสัดส่วนหุ้นกันฝ่ายละ 5% มาให้บริษัทเบสท์ที่ปรึกษาของ
นุกูล ประจวบเหมาะ
การดึงนุกูลเข้ามา มีความหมายมากต่อเฟิสท์ แปซิฟิค เพราะนุกูลเป็นคนมีบารมีในวงการค้าเงินและหลักทรัพย์
ในฐานะเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติมาก่อน ประกอบกับนุกูลเป็นคนมีบุคลิกส่วนตัวที่ค่อนข้างโผงผางไม่เกรงกลัวผู้ใด
ซึ่งว่าไปแล้ว บารมีและสไตล์แบบนี้ของนุกูลเป็นสิ่งที่เฟิสท์ แปซิฟิค ต้องการอยู่แล้ว
เพราะอย่างน้อยที่สุด มันเข้าด้วยกันได้กับกลยุทธ์การทำธุรกิจของกลุ่มที่เน้นความก้าวร้าว
รุนแรง แบบอเมริกัน
กลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิคฯ มีจุดแข็งที่ฐานะการเงินที่ใคร ๆ ก็รู้ว่านายทุนใหญ่ที่หนุนด้านทุนรอนอยู่
คือ ลิมซูเหลียง มหาเศรษฐีโลกชาวจีน - อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพื่อทำธุรกิจหลักทรัพย์อย่างจริงจัง
แม้ผลงานจะยังดูเร็วเกินไปนัก เพราะเพิ่งเข้ามาก็ตาม แต่ความที่มีเครือข่ายธุรกิจค้าเงินและหลักทรัพย์ทั่วโลก
โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิกจึงทำให้ดูขลังและน่าเชื่อถือ
แต่กระนั้นก็ตาม เนื่องจากมีภาพที่ชัดเจน ในฐานะเป็นบริษัทต่างชาติ (LIEM
GROUP) และมีผู้บริหารอย่างปังกิลินัน ที่รู้กันอยู่ว่า เป็นมือบริหารการเงินประเภท
LBO หรือ LEVERAGE BUY-OUT จึงไม่ค่อยเป็นที่พอใจนักในสายตากรรมการพิจารณาเลือกสรร
"ที่หลุดเข้ามาเป็น 1 ใน 5 รายสุดท้ายได้ เพราะบารมีนุกูลแท้ ๆ"
กรรมการท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง
นครหลวงเครดิต เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือข่ายของแบงก์นครหลวงที่สมัยดิลก
มหาดำรงค์กุล ไปเข้ายึดมาจากกลุ่มชวลิต หล่อไพบูลย์ ที่เป็นหนี้แบงก์โดยวิธีแปลงหนี้มาเป็นทุน
เมื่อกันยายน 2528
นครหลวงเครดิต เดิมชื่อบริษัทเงินทุนชาร์เตอร์ด (CHARTERED FINANCE) ของกลุ่มแบงก์ยักษ์
STANDARD CHARTERED BANK PLC. ของอังกฤษ การขายเปลี่ยนมือเจ้าของบริษัทเงินทุนต่างชาติหลังตลาดหุ้นล่มปี
2522 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในยุคนั้น CHASE BANK ขาย CHASE FINANCE ให้กลุ่มยิบอินซอยและล่ำซำ
ที่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น CIMIC หรือศรีมิตร STANCHART BANK นี้ก็เช่นกันก็ขาย
CHARTERED FINANCE ให้สุระ จันทร์ศรีชวาลา ไปในราคาเกือบ 120 ล้านบาท เมื่อประมาณต้นปี
2526 ซึ่งต่อมาสุระก็ขาย CHARTERED FINANCE ให้กับกลุ่มชวลิต หล่อไพบูลย์
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน
ว่ากันว่า การขาย CHARTERED FINANCE ครั้งนี้ของสุระ สามารถทำกำไรได้ 5
ล้านบาท!
ชวลิต หล่อไพบูลย์ เป็นพ่อค้ามิใช่นักการเงินการธนาคาร เขามีธุรกิจหลายอย่างทั้งผลิตกางเกงในยี่ห้อ
"พี.เจ." และเล่นที่ดิน
ด้วยวิถีทางธุรกิจนี้เอง ก็รู้จักและสนิทสนมกับดิลก มหาดำรงค์กุล ที่เวลานั้นเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์นครหลวงอยู่
การซื้อไฟแนนซ์จากสุระ ชวลิตก็ใช้เงินก้อนหนึ่งจากการกู้ยืมแบงก์นครหลวงที่ดิลกเซ็นอนุมัติให้ไปซื้อ
นอกจากนี้ โครงการสวนพลูพาเลซที่ชวลิตหวังจะลงทุนเป็น CONDOMINIUM สมบูรณ์แบบแห่งแรก
ก็พึ่ง CREDIT LINE จากดิลกอยู่ไม่น้อย
เมื่อชวลิตเข้าซื้อไฟแนนซ์จากสุระก็เปิดประมูลวิสามัญผู้ถือหุ้นทันที เมื่อสิงหาคมปีเดียวกัน
เพื่อแต่งตั้งพรรคพวกของตน 9 คนเข้าไปเป็นกรรมการพร้อมให้สุระเป็นที่ปรึกษา
การประชุมครั้งนี้ ชวลิตเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก CHARTERED FINANCE เป็น PAIBOON
FINANCE & SECURITIES แหล่งข่าวระดับสูงในแบงก์นครหลวงไทย เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า ชวลิตยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลยจากไฟแนนซ์แห่งนี้ก็ต้องถูกกระทรวงคลังสมัยสมหมาย
ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีเข้าควบคุม เมื่อธันวาคม 2527 เหตุผลสำคัญ "เพราะธุรกิจส่วนตัวของชวลิต
ไม่ว่าจะเป็นกางเกงใน ที่ดิน สวนพลูพาเลซ พังพาบตามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและดอกเบี้ยแพงมหาโหดในช่วงนั้น"
คลังเข้าควบคุมอยู่เกือบปี ก็เปลี่ยนให้กลุ่มดิลก จากแบงก์นครหลวงไทยในฐานะเจ้าหนี้ชวลิตเข้าควบคุมแทน
ซึ่งความจริงเวลานั้น ฐานะของแบงก์นครหลวงไทยก็ย่ำแย่เหมือนกัน
ว่ากันว่า ดิลกพยายามวิ่งเต้นสมหมายให้อนุญาตให้แบงก์นครหลวงเข้าควบคุมแทน
ซึ่งไม่เสียแรงเปล่า เพราะสมหมายอนุญาตให้ดิลกเข้าควบคุมได้
นับแต่นั้น บงล.ไพบูลย์ของชวลิต หล่อไพบูลย์ ก็ตกอยู่ในมือของดิลก และพรรคพวกจากแบงก์นครหลวงไทย
เมื่อดิลกเข้ามาก็สั่งให้เปลี่ยนชื่อเป็นนครหลวงเครดิต หลังจากได้แก้ไขบริคณฑ์สนธิแล้ว
แบงก์นครหลวงของดิลกเข้าควบคุม บงล.ไพบูลย์อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยสัดส่วนถือหุ้นเกิน
75% คือ จำนวน 498,000 หุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งหมด 600,000 หุ้น
ดิลกเข้าควบคุม บงล.ไพบูลย์ ภายใต้ชื่อนครหลวงเครดิต ได้เพียงปีเดียวก็ต้องถอยห่างออกไปตามคำสั่ง
สุธี สิงห์เสน่ห์ รมต.คลังที่ดึง ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ จากเบอร์ลี่-ยุคเกอร์
มาเป็น PRESIDENT ที่แบงก์นครหลวงไทย เมื่อต้นปี 2530 ดร.สมเข้ามาในนครหลวงไทย
มีผลอย่างมากต่อทิศทางของแบงก์ในธุรกิจในเครืออย่างนครหลวงเครดิต เพราะสมเป็นนักรอคอยโอกาสและเล่นเกมแรงตามสไตล์นักการตลาด
เขาดึงวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ลูกหม้อคนหนึ่งของแบงก์มาเป็นประธานบริหาร (CEO)
และสังเวียน อินทรวิชัย ศาสตราจารย์ทางบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์
ที่บุคคลภายนอกเชื่อถือในความสะอาด และเป็นบุคคลที่ ดร.สม รู้จักเคารพมาตลอดมาเป็น
ประธานกรรมการนครหลวงเครดิต
สม รู้ดีว่า การดึง ศ.สังเวียน มาเป็นประธานกรรมการนครหลวงเครดิต เป็นแต้มต่ออย่างมาก
เพราะ ศ.สังเวียน มีลูกศิษย์ลูกหามากมายในแวดวงธุรกิจการเงิน และค้าหลักทรัพย์
และเฉพาะอย่างยิ่งกับเธียรชัย ศรีวิจิตร ซึ่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ด้วยคนหนึ่ง
ศ.สังเวียนรู้จักและสนิทสนมกับเธียรชัยมากคนหนึ่ง
วันแรกที่สมเข้ามาในอาณาจักรนครหลวงไทย เขามีเข็มมุ่งอย่างแน่ชัด ที่จะผลักดันให้นครหลวงเครดิตเป็นโบรกเกอร์ให้ได้
!!!
เพราะอะไร ? เพราะ - หนึ่ง สินทรัพย์ของนครหลวงเครดิตมีเพียง 395 ล้านบาท
และมีเงินกองทุนอยู่เพียง 48 ล้านบาท การสร้างความมั่นคงให้กับนครหลวงเครดิต
โดยวิธีเพิ่มทุนเข้าไปอีก 40 ล้านบาท ทำไม่ยาก เพราะมีแบงก์หนุนหลังอยู่แล้ว
แต่การทำให้โตด้วยวิธีสร้างรายได้ให้มากขึ้นจากธุรกิจทั้งจากตลาดการเงินและตลาดทุนอยู่ในวิสัยที่ลำบากไม่น้อย
ด้วยตลาดทั้ง 2 แห่งมีการแข่งขันกันสูง สอง - ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างรายได้โดยแทบจะไม่มีความเสี่ยงจึงอยู่ที่การเข้าเป็นโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น
ซึ่งจุดนี้ วิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ประธานกรรมการบริหารนครหลวงเครดิต ยอมรับกับ
"ผู้จัดการ" ว่า เป็นนโยบายที่แน่ชัดและจริงจังของ ดร.สม "นครหลวงเครดิตจะไม่เน้นพอร์ตของตัวเองเลย
จะเป็น PURELY BROKERAGE HOUSE อย่างแท้จริง"
ความเป็นมาและทิสทางของนครหลวงเครดิตก่อนเข้าเป็นโบรกเกอร์ก็เหมือนกับ บงล.นครหลวง
กล่าวคือ บริษัทนี้แต่เดิมเป็นของอาทร สังขะวัฒนะ เพื่อนสนิทของดิลก ที่ชอบค้าที่ดินเหมือนกัน
โดยวิธีการค้าที่ดินของอาทร ก็ใช้เงินจากอาทรทรัสต์ของตนเองเป็นตัวผ่องถ่ายเงิน
จากหลักฐานการประชุมกรรมการบริษัท เมื่อเมษายน 2531 (หลังแบงก์นครหลวงเข้าไปยึดกิจการแล้ว)
การใช้เทคนิคหาเงินของอาทรมาซื้อที่ดินดังว่าได้ปูดออกมา โดยระบุว่า อาทรมีหนี้สินคงค้างกับบริษัทอยู่จำนวน
33.89 ล้านบาท และหนี้สินที่ค้ำประกันให้กับเพื่อนฝูงอีกจำนวน 61.5 ล้านบาท
เมื่อวิกฤติสถาบันการเงินเกิดขึ้นในปี 2527 - 28 อาทรก็ถูกฝ่ายดิลก ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่แบงก์นครหลวงเข้ายึดกิจการเมื่อต้นปี
2528 โดยอาทรชวนให้ดิลกมารับสภาพหนี้แทนโดยเอาหุ้นอาทรทรัสต์มาแลก
เมื่อดิลกเข้ายึดกิจการแล้ว ก็เอาเงินฝากของ บงล.นครหลวง มาไว้ที่แบงก์นครหลวง
จำนวน 53 ล้านบาท เป็นเงินฝากประจำ นอกจากนี้ การอาวัลตั๋ว P/N ของบริษัท
ทางดิลกก็บังคับให้บริษัทนครหลวงต้องนำเงินฝากประจำอีกส่วนหนึ่งประมาณ 22.5
ล้านบาทมาค้ำประกันไว้
และถ้าหากว่าในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงต้องการใช้วงเงิน O.D.
กับแบงก์นครหลวง ดิลกก็คิดดอกเบี้ยสูงถึง 15%/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าระดับ
MOR ของแบงก์อื่น ๆ ทั่วไป
"แม้แต่สำนักงานของบริษัท ดิลกก็สั่งย้ายจากพหลโยธิน มาที่ตึกแถว ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
หลังแบงก์ โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท" แหล่งข่าวเล่าถึงบทบาทของดิลกในช่วงหลังเข้ายึดอาทรทรัสต์ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ดิลก ควบคุม บงล.นครหลวงได้เพียงปีเดียว ผลการดำเนินงาน บงล.นครหลวงก็ไม่ดีขึ้น
คือ มีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 400 ล้านบาท มีเงินกองทุนอยู่ 45 ล้านบาท ขาดทุนสะสมเกือบ
15 ล้านบาท
เมื่อดิลกถอยออกไปเมื่อปลายปี 2529 ดร.สมก็เข้ามาเมื่อต้นปี 2530 ดร.สมส่ง
ดร.วันชัย อริยะพุทธิพงศ์ ผู้ช่วยฯ เข้ามาเป็น CEO นครหลวง เมื่อกลางปี 2530
และดึง ทวี หนุนภักดี ที่เกษียณจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) มาเป็นประธานกรรมการแทน
ดร.พร้อม ลุลิตานนท์ ที่ลาออกไป
ทวี ก็เหมือนกับ ศ.สังเวียน เป็นนักบัญชีมาจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำนักเดียวกับ
ดร.สม เป็นคนมีบารมี และเส้นสายในกระทรวงการคลังมากพอสมควร
เพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่งของ ดร.สม เคยพูดกับ "ผู้จัดการ" ถึงบุคลิกของสมว่า
"หมอนี่เป็นคนลึก และรู้จักวางหมากในการสร้าง CONNECTION กับคน"
เขารู้ดีว่า การทำธุรกิจในประเทศไทย CONNECTION กับคนที่มีบารมีเป็นวิธีการที่จะนำสู่การบรรลุเป้าหมายได้
ข้อสังเกตนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่เขาทำใน บงล.นครหลวงเครดิต และ บงล.นครหลวง
อย่างมาก
ทางด้านการบริหาร ดร.สม ดึง ยุทธ วรฉัตรธาร จาก สหธนกิจไทย มาเป็นกรรมการผู้จัดการ
เพราะเขารู้ดีว่า การเตรียมเป็นโบรกเกอร์นั้น นอกจากเงินทุนต้องพร้อมแล้ว
ประสบการณ์ที่ดีของคนโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงต้องพร้อมด้วย เขาได้ยุทธมาเท่ากับอุดช่องโหว่ด้านจุดอ่อนการจัดการในธุรกิจหลักทรัพย์ได้เปลาะหนึ่ง
เพราะยุทธมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก่อนสมัยอยู่สหธนกิจไทยในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ
ขณะที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือนครหลวงมีจุดแข็งดังว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทย-ฟูจิ
และแปซิฟิค ไฟแนนซ์ กลับตรงข้าม คือ …
ไทย-ฟูจิ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธ.กรุงเทพฯ พาณิชยการ กับ ฟูจิแบงก์
ร่วม 30 ปี ธุรกิจที่ไทย-ฟูจิทำส่วนใหญ่จะเป็นด้านธุรกิจการเงิน ขณะที่ค้าหลักทรัพย์แทบจะไม่มีเอาเลยทั้ง
ๆ ที่มีใบอนุญาตครบ
เมื่อไม่ตั้งใจทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ จึงไม่มีการลงทุนและสร้างคนเพื่อรองรับธุรกิจ
ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของวิโรจน์ นวลแข ที่บอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ไทย-ฟูจิ แม้การเงินจะแข็ง แต่ MANAGEMENT อ่อน ซึ่งคำพูดนี้เกริกเกียรติ
ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการของ ธ.กรุงเทพฯ พาณิชยการ ก็ยอมรับเป็นเช่นนั้น
โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะบอร์ดของไทย-ฟูจิ แต่เดิมค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น
"เขาทำแต่ COMMERCIAL LENDING กับรับซื้อตั๋วเลขเช็ค"
บริษัทแปซิฟิค ไฟแนนซ์ ก็เช่นกัน บริษัทนี้เป็นของกลุ่มพ่อค้าสิ่งทอ K.
COTTON อยู่ย่านราชวงศ์ เป็นกลุ่มพ่อค้าชาวฮ่องกง ที่มาปักหลักในกรุงเทพฯ
ชื่อ นายซัง ซี ไว ชูน ไป ฉั๋ว และ เจมส์ คิง ติง ทั้ง 3 คนก่อตั้งบริษัทแปซิฟิค
ไฟแนนซ์ เมื่อปี 2514 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และต่อมาค่อย ๆ เพิ่มทุนเป็น
40 ล้าน และ 50 ล้านบาทตามลำดับเมื่อสิ้นปี 2529
นายซัง ซี ไว หรือ ทวี ชัยจิรบุญ เป็นกรรมการผู้จัดการ ที่ว่ากันว่า เขาถอดแบบสไตล์การทำธุรกิจแบบพ่อค้าฮ่องกงได้ค่อนข้างเหมือน
แม้จะมีฐานธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มั่นคงและใหญ่โตพอสมควร (บริษัท K.
COTTON) แต่เขาก็ทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์มาตลอด เป็น SUB-BROKER ที่เอาจริงเอาจังมาก
ผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ คือ มีเงินกองทุน 63 ล้านบาท สามารถทำกำไรจากการค้าหลักทรัพย์ปี
2530 ประมาณ 8 ล้านบาท
"ถ้าวัดจากเกณฑ์พิจารณาด้านเงินทุนการดำเนินงาน ความสามารถในการบริหาร
และความพร้อม บริษัทนี้น่าจะอยู่ใน RANKING ที่เหมาะสมจะได้ที่นั่งโบรกเกอร์ที่สุด
เมื่อเทียบกับกลุ่มนครหลวง" เสียงสะท้อนจากวงการค้าหุ้นให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการ"
แต่ทำไมจึงไม่เป็นเช่นนั้น ? บางคนพยายามให้คำอธิบายถึงสิ่งที่มาของการตกลงกันไม่ได้ในบอร์ดตลาดหลักทรัพย์
ด้วยสายสัมพันธ์ด้าน CONNECTIN ที่บริษัทแห่งนี้ไม่มีเอาเสียเลย ขณะที่กลุ่มนครหลวงมีสังเวียน
อินทรวิชัย และเธียรชัย ศรีวิจิตร
"โดยเฉพาะเธียรชัย ศรีวิจิตร เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่อังกฤษ กับอาจารย์สังเวียน
เป็นนักบัญชทั้งคู่และสนิทสนมกันมาก โครงการ MBA ที่ธรรมศาสตร์ เธียรชัยก็ส่งเด็กของตัวที่กรุงไทยมาฝากเรียนกับอาจารย์สังเวียนอยู่หลายรุ่นแล้ว"
กรรมการมหาบัณฑิตโครงการ MBA ธรรมศาสตร์ ท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
เพื่อโยงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของคนทั้ง 2 เป็นเหตุผลเพื่อหักล้างกับคำพูดของผู้บริหารระดับสูงในบริษัทกลุ่มนครหลวงที่กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า เวลามีการประชุมบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับวาระการพิจารณาคัดเลือกโบรกเกอร์
อาจารย์สังเวียนจะเดินออกจากที่ประชุมตามมารยาททุกครั้ง
เมื่อบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากใช้เวลาพิจารณาร่วม
6 เดือน นับตั้งแต่กรกฎาคม 2531 - ธันวาคม 2531 ซึ่งนับว่ายาวนานเป็นพิเศษ
เวลานั้น บอร์ดตลาดหลักทรัพย์มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง - ขยายเวลาการพิจารณาตัดสินออกไปอีก
6 เดือนเป็นกลางปี 2532 เพื่อให้มีโอกาสดูความสามารถในการทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ของบริษัททั้ง
5 แห่งได้นานขึ้น "อุปมาอุปมัยเหมือนกับดูม้าแข่งที่เริ่มออกจากจุดเริ่มต้น
มันยังดูไม่ออกว่าใครเหนือกว่า ต้องปล่อยให้วิ่งไปอีกระยะหนึ่ง ถึงจะรู้ว่าใครเหนือกว่า
ตามหลักธรรมชาติของกาลเวลา" สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการศรีมิตร
และเลขานุการสมาคมโบรกเกอร์ กล่าว
ว่ากันว่า ทางเลือกนี้ พวกบรรดาตัวแทนโบรกเกอร์ในบอร์ด คือ ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท
และ โยธิน อารี ก็เห็นดีด้วย
"มันก็เหมือนกับก้อน CAKE นั่นแหละ ยิ่งมีน้อยคนเท่าไร แต่ละคนก็มีโอกาสได้ปริมาณมากขึ้น
ยิ่งรู้ว่าเฟิสท์ แปซิฟิค ติดอยู่ในกลุ่มด้วย เตะถ่วงเวลามันยิ่งดี เพราะกลุ่มนี้มีลูกค้าในมือระดับเบิ้มมาก
ๆ และวิธีการค้าหุ้นก็ AGGRESSIVE" โบรกเกอร์รายหนึ่งเคยพูดกับ "ผู้จัดการ"
ไว้เช่นนั้น สอง - เปิดประมูลกันไปเลย ให้รู้แล้วรู้รอด อย่างน้อยวิธีนี้มันก็มี
LOGIC ในตัวมันเอง ในแง่ที่จะส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาจะได้ ACTIVE ในตลาดด้วยต้องลงทุนมากกว่าปกติธรรมดา
ในที่สุดก็ใช้วิธีประมูลตามข้อเสนอของอนุกรรมการควบคุมโบรกเกอร์ด้วยเหตุผล
หนึ่ง - การประมูลเป็นกลไกตลาดชนิดหนึ่งที่ดึงให้ผู้เข้าประมูลแสดงความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ออกมาชัดเจนที่สุด
และ สอง - เป็นวิธีการสุดท้ายในการคัดเลือกที่ยุติธรรมที่สุด เพราะการประมูลเป็นเรื่องการทายใจคู่แข่งขัน
และ PROJECTION ปริมาณธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในอนาคต
บริษัททั้ง 5 ที่เข้าประมูล รู้ล่วงหน้าว่าจะต้องประมูลในการตัดเชือกเข้าไปเป็นโบรกเกอร์
3 ที่นั่งเพียง 6 วันก่อนเปิดซองเท่านั้น
นั่นคือวันที่ 20 มกราคม 2532 ! ทุกรายช็อคต่อการคัดเลือกด้วยวิธีนี้ของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์
นุกูล ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริหารของเฟิสท์ แปซิฟิค แสดงอาการนี้ออกมาชัดแจ้งที่สุดจากคำพูดในเชิงคัดค้านที่ว่า
"การประมูลเหมือนกับการประมูลวัวควาย ไม่มีตลาดหุ้นที่ไหนในโลกเขาใช้กัน"
แน่นอน ทุกคนรู้ว่า การลงทุนที่นั่งโบรกเกอร์มีต้นทุนเพียง 2 ล้านบาท ถ้าเข้าไปได้อย่างตามหลักเกณฑ์
แต่นี่เป็นการประมูล ต้องลงทุนมากกว่านั้น
คำถามจะเป็นเท่าไร ? และราคาที่ใส่กันลงไปนั้นจะมีผลต่อการคัดเลือกในคราวต่อ
ๆ ไปแค่ไหน ?
ระยะเวลาเพียง 7 วันจากวันที่ได้รับข่าวจนเปิดซอง บริษัททั้ง 5 แห่งต่างเร่งกันศึกษาคำนวณ
PROJECTION รายได้ที่คาดว่าจะได้ในอนาคต ถ้าเป็นโบรกเกอร์โดยเทียบกับการเป็น
SUB-BROKER ซึ่งมีค่า COMMISSION เพียง 0.2% เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังต้องมานั่งคำนวณทายใจคู่แข่งด้วยว่า แต่ละรายใจถึงขนาดไหน
!
ช่วงระหว่างวันที่ 21 - 23 มกราคม ราคาประมูลในสายตานักค้าหุ้นในตลาดหุ้นคิดว่า
จะอยู่ในราว ๆ 10 ล้านบาท เพราะการซื้อเก้าอี้กันครั้งหลังสุดก่อนตลาดบูมปี
2529 THAIMEX ซื้อจาก THAI OVERSEA TRUST เพียง 8 ล้านบาท ช่วงนี้ตลาดบูมก็คงจะแพงกว่าเล็กน้อย
แต่หลังจากนั้นเพียง 2 วัน คือ 25 มกราคม ตัวเลขราคาประมูลในตลาดพุ่งสูงขึ้น
30 ล้านบาท
"คุณนุกูล ท่านมั่นใจมากว่า บริษัทของท่านต้องมาวินแน่ หลายคนที่พบท่านก็ได้ยินท่านแสดงความมั่นใจในชัยชนะครั้งนี้"
แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความมั่นใจของบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค และวิเคราะห์ว่า
จากท่าทีนี้แสดงว่าราคาประมูลคงต้องสูงกว่าการคาดคะเนของกรรมการตลาดหลักทรัพย์แน่
เพราะ หนึ่ง - เฟิสท์ แปซิฟิค เป็นตัวเต็งหนึ่ง การยืนยันความมั่นใจเช่นนี้ย่อมชี้ชัดว่า
สู้ด้วยราคากันไม่อั้น สอง - อีก 4 บริษัทที่เหลือต้องเกทับราคากันสุดฤทธิ์เพื่อไม่ให้หลุดจากที่นั่งที่เหลือ
2 ที่
และแล้วการเปิดซองราคาประมูลวันที่ 27 มกราคม เวลา 10.00 น. ก็ทำให้ทุกคนที่ติดตามเรื่องนี้ถึงกับแปลกใจในราคาประมูล
คือ นครหลวงเครดิตเสนอสูงถึง 62 ล้านบาท เฟิสท์ แปซิฟิค เสนอสูง 55 ล้านาท
และนครหลวงเสนอ 47 ล้านบาท
ไทย-ฟูจิ เสนอ 41 ล้านบาท และแปซิฟิค ไฟแนนซ์ เสนอเพียง 25 ล้านบาท ทั้งคู่ตกไป
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ที่ใส่ราคาลงไปก่อนหน้าเปิดซองประมูลเพียง 2 ชั่วโมงขณะที่นั่งอยู่ในรถเดินทางส่วนตัว
ถึงกับช็อค !
เขายอมรับว่า คิดคำนวณการประมูลราคาเก้าอี้โบรกเกอร์ CONSERVATIVE เกินไป
คอื หนึ่ง - เขาคำนวณราคาที่เสนอมาจากปริมาณธุรกิจในตลาดของบริษัทนายหน้าระดับปานกลาง
คือ วันละ 12 ล้านบาทในภาวะตลาด BEARISH สอง - เขาคิดคอมมิชชั่นการเป็นโบรกเกอร์เพียง
0.4% ไม่ใช่ 0.5% ดังนั้นรายได้ที่จะตอบแทนกลับมาจึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
สาม - เขาคิดคำนวณค่าเสี่ยงตอ่การขาดทุนช่วงตลาดหุ้นตกต่ำไว้ในต้นทุนด้วย
เมื่อราคาเสนออกมาที่ 40 ล้านบาท ถ้าหากว่าไปปล่อยสินเชื่อแทนที่อัตราดอกเบี้ย
12.5%/ปี ก็จะได้ผลตอบแทนปีละ 5 ล้านบาท "ซึ่งเท่ากับว่า ผมลงทุนไปให้ตลาดหุ้นฟรี
ๆ ปีละ 5 ล้านบาท" เกริกเกียรติเปรียบเทียบให้ฟัง
ดังนั้น ถ้าจะสู้กันที่ราคา 40 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการเป็นโบรกเกอร์ตกปีละ
12 ล้านบาท ก็คงต้องใช้เวลา 4 ปี กว่าจะคุ้มกับการลงทุนที่ลงไป
"ความจริง ตอนแรกผมจะใส่แค่ 20 ล้านบาทด้วยซ้ำไป" เกริกเกียรติกล่าว
ซึ่งจุดนี้สะท้อนความเป็นแบงก์เกอร์ของค่ายไทย-ฟูจิออกมาชัดเจนมาก ซึ่งตรงกับที่วิโรจน์
นวลแข ได้วิจารณ์ให้ฟังว่า ไทย-ฟูจิ เขาพลาดตรงที่ หนึ่ง - คิดแบบแบงก์เกอร์ในการประมูล
ซึ่งโดยธรรมชาติของแบงก์เกอร์แล้วจะคิดแบบตั้งรับมากกว่ารุก และ สอง - เขาไม่ได้สนใจคู่แข่งเลยว่าจะใส่กันเท่าไร
เขาจะดูเฉพาะความสามารถที่จะสู้ได้ของตัวเองเท่านั้น
ส่วนค่ายแปซิฟิคไฟแนนซ์ของกลุ่ม K. COTTON นั้น ความจริงในสายตานักค้าหุ้นในตลาด
เชื่อกันมากว่า คงไม่สู้ราคาสูงแน่ ๆ เพราะดูจากนิสัยการทำธุรกิจของทวี ชัยจิรบุญ
แล้ว เป็นคนขี้เหนียวเมื่อเทียบกับอีก 4 บริษัทที่แข่งขัน และอีกประการหนึ่ง
ได้เป็นโบรกเกอร์หรือไม่ก็ไม่สำคัญเพราะฐานธุรกิจเน้นด้านการเงินเป็นหลักมากกว่า
พูดง่าย ๆ เป็นม้านอกสายตา ว่างั้นเถอะ !
สำหรับค่ายนครหลวงกรุ๊ป ทั้ง 2 บริษัท คือ นครหลวงเครดิต และนครหลวง เป็นกลไกสำคัญของแบงก์นครหลวง
เงินลงทุนจากการประมูลประมาณเกือบ 110 ล้านบาทมาจากการอัดฉีดของแบงก์นครหลวงในรูปการให้สินเชื่อ
เพราะหนึ่ง - ดร.สมเห็นว่าการลงทุนประมูลที่นั่งโบรกเกอร์เป็นการลงทุนในทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ทั้งจากส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียม
นายหน้า และกำไรจาก CAPITAL GAIN นอกจากนี้ ที่นั่งโบรกเกอร์ในตัวของมันเอง
ยังมีราคาค่างวดสูงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะตลาดหุ้นคึกคัด อนาคตข้างหน้าอาจจะมีราคาซื้อขายกันสูงถึง
100 ล้านบาทก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ถ้าหากว่าจะขายทิ้งไปก็กำไรงามมาก
ๆ และสอง - เก้าอี้โบรกเกอร์มันมีภาพพจน์ที่ดีในตัวมันเอง บริษัทการเงินต่างประเทศมักสนใจขอร่วมทุนด้วยเสมอ
ซึ่งถ้าหากว่าเงื่อนไขการร่วมทุนมีประโยชน์ต่อธุรกิจของแบงก์นครหลวงด้วย
ก็ง่ายที่จะดำเนินไปเช่นนั้น
ด้วยเหตุผลนี้ ดร.สม จึงสั่งให้บริษัทในเครือทั้ง 2 ต้องชนะให้ได้อย่างน้อย
1 ราย หรือถ้าสามารถสู้ราคาได้สูงก็ให้ได้ 2 รายเลย !
เมื่อนโยบายเป็นดังนี้ คู่ต่อสู้ของนครหลวงกรุ๊ป มีอยู่รายเดียว คือ เฟิสท์
แปซิฟิค เพราะพร้อมทุกด้าน ทั้งกลุ่มผู้ถือหุ้น และความสามารถในธุรกิจที่รองรับ
ปัญหามีเพียงว่า ค่ายนครหลวงกรุ๊ป ทายใจราคาประมูลเฟิสท์ แปซิฟิคเท่าไรเท่านั้น
?
เรื่องนี้ วิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ประธานกรรมการบริหารนครหลวงเครดิต ให้เบื้องหลังการวิเคราะห์คู่ต่อสู้ว่า
"ทางเฟิสท์ แปซิฟิค คงลงไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทแน่ ๆ และถ้าหากว่าเกิน
50 ล้านบาทแล้ว ก็ไม่น่าจะสูงมากนัก เพราะเหตุว่า ถ้าหากใส่ราคาเกิน 50 ล้านบาทเกินไป
ถ้าไม่มีธุรกิจรองรับได้มากพอ โอกาสที่จะประมูลราคาสูงกว่านั้น มันลำบากด้วยไม่มีความจำเป็นต้องใส่ราคาเท่านั้น"
แต่ เฟิสท์ แปซิฟิค ไม่เป็นเช่นนั้น ตรงข้ามเป็นบริษัทที่มีลูกค้าต่างประเทศจำนวนมากรองรับอยู่แล้ว
เพราะมีเครือข่ายค้าหุ้นอยู่ในตลาดหุ้นสำคัญ ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ฮ่องกง
หรือที่ยุโรป (อัมสเตอร์ดัม)
ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า เฟิสท์ แปซิฟิค สู้ราคาสูงแน่นอน แต่ไม่เกิน 60
ล้านบาท เพราะไม่จำเป็นต้องมาที่ 1
แต่นครหลวงเครดิตต้องมาที่ 1 จึงประมูลด้วยราคาเกิน 60 ล้านบาทไว้ก่อน ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้นักค้าหุ้นอย่างมาก
เพราะเชื่อกันว่า ราคาประมูลไม่น่าจะสูงกว่า 40 ล้านบาทมากนัก
สำหรับนครหลวงที่มาอันดับ 3 ด้วยราคา 47 ล้านบาทนั้น เบื้องหลังมาจากความคิดที่ว่า
เมื่อมาตรฐานขั้นต่ำในการประมูลที่มีโอกาสได้ที่นั่งอยู่ที่ 40 ล้านบาท ถ้าประมูลให้ได้ชัยชนะอย่างมีความหวังต้องใส่ราคาสูงกว่า
40 ล้านบาทให้มากเพราะคู่แข่งขันอีก 3 รายก็คิดเหมือนกัน "เพียงแต่ว่า
ใครจะใจถึงมากกว่ากันเท่านั้น"
โดยสรุปค่ายกลุ่มนครหลวง นับว่าทายใจคู่แข่งขันได้หนักแน่น โบรกเกอร์บางรายบอกว่า
เป็นสไตล์ของนักการตลาดที่กล้าเล่นหนักและเฉียบขาด ทั้งนี้โดยมองผ่านไปที่การเป็นเครือข่ายในควบคุมของ
ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ที่วารสารภายในของ HEGEMEYER .SAGITTARIUS" ฉบับเดือนมีนาคม
1986 กล่าวถึงตัว ดร.สม ไว้ว่า "A CLEAR AND CONCISE REPRESENTATION
OF THE ORIGIN AND THE PRESENT PROSPERITY OF BERLI JUCKER" ซึ่งสมัยนั้น
ดร.สม ยังอยู่เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ BERLI JUCKER ที่เวลานั้น FIRST
PACIFIC ของลิมซูเหลียง ถือหุ้นอยู่ด้วยโดยผ่านเครือข่ายของตนเอง คือ HEGEMEYER
ที่ FIRST PACIFIC ถือหุ้นอยู่ประมาณ 70%
แน่นอน ดร.สม ในสายตาของกลุ่ม FIRST PACIFIC เป็นคนที่ฉลาดและต่างฝ่ายต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี
นักค้าหุ้นบางคนพยายามโยงเอาจุดนี้ไปเกี่ยวข้องกับเกมประมูลเก้าอี้ที่นั่งโบรกเกอร์ของค่ายกลุ่มนครหลวงว่า
FIRST PACIFIC น่าจะมีส่วนอยู่เบื้องหลังด้วย โดยผ่าน ดร.สม แต่ข้อสังเกตนี้ก็ยังขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือไปมาก
เพราะไม่สามารถมีข้อมูลเป็นหลักฐานที่ชัดเจนให้เชื่อเป็นเช่นนั้น
เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เกมประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นของโลกก็ได้เกิดขึ้นแล้วที่กรุงเทพฯ
และจบสิ้นไปแล้วด้วยราคาสูงลิบลิ่วพอ ๆ กับการลงทุนของบริษัทโบรกเกอร์ BARINGS
SECURITIES ของอังกฤษที่ลงทุนซื้อที่นั่งในตลาดหุ้นโตเกียวด้วยราคา 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หรือประมาณเกือบ 80 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการค้าหุ้นในโตเกียวต่างกับกรุงเทพฯ
ราวฟ้ากับดิน !
นักค้าหุ้นจากบริษัทโบรกเกอร์ชั้นนำอย่างศรีมิตร ได้ให้ข้อคิดกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ผลจากการประมูลด้วยราคาสูงลิบลิ่วเช่นนี้ จะมีผลต่อต้นทุนการได้ที่นั่งโบรกเกอร์ที่จะมีตามมาตามภาวะตลาด
ในลักษณะราคาในวันนี้เป็นตัวชี้ช่องสำหรับการลงทุนในอนาคตที่ต้องเต็มไปด้วยการต่อสู้เชิงธุรกิจค้าหุ้นกันอย่างดุเดือด
บางทีราคาที่นั่งโบรกเกอร์ในอนาคตอาจไม่ใช่ 2 ล้านบาทอีกต่อไป แต่จะเป็นที่
47 ล้านบาทก็ได้ สิ่งนั้นหมายถึงต้องมีการแก้กฎหมายการเป็นบริษัทสมาชิกตลาดหุ้นในท้ายที่สุด