การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรการบินกับกลุ่มสตาร์ อัลไลแอนซ์ ถือเป็น ขั้นตอนหนึ่งในการเตรียมพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลกของการบินไทย
เพราะการเป็นสมาชิกของพันธมิตรในกลุ่มนี้ การบินไทยจะสามารถขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้าได้กว้างขึ้น
โดยอาศัยเครือข่ายของสายการบินต่างๆ ที่ เข้ามาอยู่ร่วมกันในกลุ่ม
สตาร์ อัลไลแอนซ์ เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันของสายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า ยูไนเต็ดแอร์ไลน์
สแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ และแอร์แคนาดา
นอกเหนือจากสตาร์ อัลไลแอนซ์แล้ว สายการบินอื่นๆ ยังมีการร่วมกันเป็นพันธมิตรอีกหลายกลุ่ม
โดยคู่แข่งสำคัญของสตาร์ อัลไลแอนซ์ คือ กลุ่ม "วัน เวิลด์" ที่มีสายการบินบริติช
แอร์เวย์สเป็นแกนนำ
การบินไทยได้เข้าไปร่วมกลุ่มในพันธมิตรกลุ่มสตาร์ อัลไลแอนซ์ เมื่อ วันที่
14 พฤษภาคม 2540 โดยเป็นสมาชิกรายที่ 5
ปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ราย โดยมีสิงคโปร์ แอร์ไลน์
ที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในอันดับ ที่ 10
และในอนาคตกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 13 ราย เมื่อสายการบินในกลุ่ม ออสเตรีย
แมกซิกาน่า และบริติช มิดแลนด์ กำลังติดต่อเข้ามา เพื่อขอเป็นพันธมิตรด้วย
(รายละเอียดดูจากตารางสมาชิก "สตาร์ อัลไลแอนซ์")
ปรัชญาของการรวมกลุ่มพันธมิตรของสตาร์ อัลไลแอนซ์ คือ การแชร์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน
เพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์กันในกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย
- การปรับตารางบิน และจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินร่วมกัน
- การใช้อาคารผู้โดยสารเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนเครื่องให้ผู้โดยสาร
- การเช็กอินผู้โดยสาร และสัมภาระ ณ จ ุดเดียวกันตลอดเส้นทางการบิน
- การใช้ห้องพักรับรองผู้โดยสารร่วมกัน
- การพัฒนาระบบข้อมูลผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารเป็นที่รู้จัก และได้
รับบริการในระดับเดียวกันจากสายการบินสมาชิกทั้งระบบ
- การใช้โปรแกรมสะสมไมล์ร่วมกัน
การบินไทยเห็นว่า หากการบินไทยต้องดำเนินธุรกิจโดยไม่ร่วมกลุ่มกับใคร เป็นสายการบิน
ที่มีจุดบินเพียง 70 กว่าจุด จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และอาจต้องสูญเสียลูกค้า หรือผู้โดยสารให้กับสาย การบินอื่น ที่มีเครือข่ายกว้างขวางกว่า
จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนี้
หลังการเข้าร่วม ผลที่เห็นได้ชัดคือ การบินไทยสามารถขยายจุดบิน เพื่อให้บริการกับผู้โดยสารจากเดิม
ที่มีเพียง 72 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 642 แห่งทั่วโลก
การบินไทยหวังว่า เครือข่ายจุดบิน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ดึงดูดให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการของการบินไทย เมื่อเทียบกับสายการบินคู่แข่ง
โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีสิงคโปร์ แอร์ไลน์เป็นคู่แข่งหลัก
เพราะเป็นสายการบิน ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน มีเป้าหมายในการขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน
แต่ข้อได้เปรียบ ดังกล่าวกลับไม่มีผลทันที เมื่อสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ได้ขอเข้ามาร่วมอยู่ในพันธมิตรกลุ่มเดียวกัน
เป็นการเดินเกมธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะนับแต่นี้ไปสิงคโปร์
แอร์ไลน์จะสามารถใช้เครือ ข่ายของสตาร์ อัลไลแอนซ์ มาเป็นจุดได้เปรียบในการแข่งขันกับการบินไทย
นับว่าเป็นเกม ที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการบินไทยเป็นอย่างยิ่ง