3 หน่วยงานรัฐ 2 สมาคมเอกชน เผยผลสำรวจตลาดไอซีทีไทยปี 50 ทะลุ 500,000 ล้านบาท ระบุกว่า 50% เป็นการใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารในภาคครัวเรือน คาดตลาดไอซีทีปี 51 จะมีการใช้จ่ายทะลุ 600,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.1% เป็นผลจากมาตรการภาครัฐหนุน
ดัชนีที่ใช้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับโลกในเวลานี้ การลงทุน "ไอซีที" ถือเป็นดัชนีสำคัญที่บ่งบอกถึงความสามารถดังกล่าว สำหรับประเทศไทยถึงแม้ภาครัฐพยายามผลักดันให้ "ไอซีที" ยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ถึงขึ้นกำหนดไว้ในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ.2545-2549 แต่กลับไม่มีการรวบรวมมูลค่าตลาดไอซีทีอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานของรัฐ ถึงแม้จะมีความพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลแต่จะเป็นการเก็บของแต่ละหน่วยงานไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนข้อมูลด้านไอซีทีที่ชัดเจนและถูกต้องเพื่อให้รู้ถึงสถานภาพที่แท้จริงของประเทศ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการวางมาตรการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศอย่าง เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์ปาร์ก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และหน่วยงานเอกชนอย่าง สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเอทีซีไอ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือเอทีเอสไอ ได้ร่วมมือกันสำรวจตลาดไอซีทีของประเทศไทยขึ้น
มีเนคเทครับเป็นแม่งานดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ โดยใช้เวลาสำรวจระหว่างเดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนมกราคม 2551 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการไอซีทีจำนวน 1,7000 ราย ด้วยวิธีรวบรวมข้อมูลจากรายงาน ข่าว ฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยใช้วิธีการประมวลผลตามวิธีการทางสถิติและการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
ผลสำรวจตลาดไอซีทีปี 2550 ที่ประกอบไปด้วยมูลค่าคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เซอร์วิสและตลาดโทรคมนาคมมีมูลค่าโดยรวม 537,818 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการใช้จ่ายในส่วนของตลาดโทรคมนาคมสูงถึง 391,218 ล้านบาท คิดเป็น 73% ของตลาดโดยรวม ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 68,719 ล้านบาท คิดเป็น 13% ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มีมูลค่า 57,178 ล้านบาท คิดเป็น 11% และคอมพิวเตอร์เซอร์วิสมีมูลค่าเพียง 20,703 ล้านบาท หรือประมาณ 4% เฉพาะตลาดไอทีปี 2550 มีมูลค่า 204,535 ล้านบาท เติบโตจากปี 2549 เท่ากับ 6.3%
"การใช้จ่ายด้านไอซีทีในปี 2550 ของไทยกว่า 73% เป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรคมนาคมในภาคครัวเรือน" พันธุ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทคให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้จ่ายไอซีทีของคนไทย
รายงานยังได้คาดการณ์ตลาดไอซีทีปี 2551 ว่า จะมีการเติบโตจากปี 2550 ประมาณ 13.1% คิดเป็นมูลค่า 608,460 ล้านบาท โดยที่ตลาดไอทีจะเติบโต 14.4% โดยมีมูลค่าตลาดที่ 234,073 ล้านบาท ตลาดฮาร์ดแวร์ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอันดัน 1 ที่ 34% ประมาณ 73,387 ล้านบาท ตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคม ประมาณ 67,161 ล้านบาท คิดเป็น 29% ตลาดซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 67,262 ล้านบาท คิดเป็น 29% และตลาดคอมพิวเตอร์เซอร์วิสหรือตลาดบริการ ประมาณ 26,264 ล้านบาท คิดเป็น 10%
"ส่วนแบ่งตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์และตลาดซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดด้านอุปกรณ์อย่างเช่นตลาดฮาร์ดแวร์และตลาดอุปกรณ์สื่อสารมีแนวโน้มเติบโตลดลง บ่งบอกถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของตลาดบริการ เป็นไปตามแนวทางของสังคมที่มุ่งสู่สังคมแห่งฐานความรู้" จำรัส สว่างสมุทร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเอทีซีไอ อธิบายแนวโน้มในปี 2551 ให้ฟัง
หากพิจารณาการใช้จ่ายด้านไอซีทีในปี 2550 จำแนกตามภาคเศรษฐกิจจะพบว่า ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนการใช้จ่ายในสินค้าและบริการค่อนข้างสูง คิดเป็น 53% โดย 80% เป็นการใช้จ่ายทางด้านฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม ขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชนรวมกันมีการใช้จ่าย 47% แต่ถ้าคิดค่าใช้จ่ายเฉพาะตลาดไอที กลับพบว่า ปี 2550 ภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นกลุ่มหลักที่ใช้จ่ายถึง 80% ขณะที่ภาคครัวเรือนมีเพียง 20% เนื่องจากภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายในตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมน้อยมาก เพราะสินค้าส่วนใหญ่ในตลาดดังกล่าวเป็นสินค้าเพื่อใช้ในองค์กรหรือใช้ในโครงข่ายขนาดใหญ่
รายงานยังระบุอีกว่า เฉพาะตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ปี 2550 มีมูลค่ารวม 68,719 ล้านบาท โดย 60% มาจากการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายที่ถูกลง อีกทั้งปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในทุกระดับและในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือนหรือภาคธุรกิจ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมีผลทำให้ราคาฮาร์ดแวร์เกือบทุกประเภทปรับราคาลดลงทุกปี ส่งผลให้การเติบโตในเชิงมูลค่ามีอัตราติดลบเป็นส่วนใหญ่
เมื่อดูเฉพาะตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ในปี 2550 มีการเติบโตจากปี 2549 ถึง 50% ซึ่งมียอดขายทั้งหมด 770,000 เครื่อง เป็นผลจากการที่ผู้ผลิตต่างพากันลดราคาสินค้าลงมา โดยในปี 2549 ราคาขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาท แต่ในปี 2550 ราคาขายปรับลดลงมาอยู่ที่เครื่องละ 25,000 บาท ขณะที่ราคาขายโดยเฉลี่ยของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะปี 2550 อยู่ที่ 17,500 บาท ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมเคยซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ กลับหันมาซื้อโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์แทน เนื่องจากช่วงห่างของราคาใกล้กันมาก
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการทำงานของโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจที่จะเลือกซื้อโน้ตบุ๊กมากขึ้น รวมถึงการที่ตลาดโน้ตบุ๊กขยายตัวเข้าไปในตลาดสถานศึกษาเพิ่มขึ้น
สำหรับในปี 2551 นี้ คาดว่า ตลาดโน้ตบุ๊กจะโตประมาณ 20% ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการเติบโตในปี 2550 ส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากราคาเครื่องที่ปรับลดลง และการเข้ามาของมินิโน้ตบุ๊กที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะความได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ประสิทธิภาพก็จะต่ำกว่าจึงเหมาะกับนักเรียนนักศึกษาที่มีงบประมาณจำกัดและไม่ต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนมากนัก
จำรัส กล่าวว่า ในปีนี้เชื่อว่า สัดส่วนของตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ในปีหน้า ตลาดโน้ตบุ๊กจะมียอดขายแซงหน้าตลาดพีซี เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และอาศัยอยู่ที่คอนโด จึงนิยมเลือกใช้โน้ตบุ๊กมากกว่าพีซี แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีจะไม่สูญหายจากตลาด เนื่องจากโน้ตบุ๊กยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องเดินทางออกนอกออฟฟิศ แต่พีซีจะยังคงใช้งานอยู่ในออฟฟิศ
สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายในการบริโภคซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในปี 2550 นั้นมีมูลค่ารวม 57,178 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14.2% โดยเอนเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์มีมูลค่าสูงสุด 51,215 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2549 ประมาณ 13.4% รองลงมาเป็นโมบายแอปพลิเคชั่นที่มีมูลค่า 2,057 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24.5% และ Embeded Software มีมูลค่า 1,934 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30.7%
หากแยกมูลค่าการใช้จ่ายซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในปี 2550 ตามภาคเศรษฐกิจ พบว่า ภาคเอกชนใช้จ่ายสูงสุดถึง 67.1% หรือ 38,338 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาครัฐ 24.3% คิดเป็นมูลค่า 13,894 ล้านบาท และภาคครัวเรือน 8.7% มีมูลค่า 4,946 ล้านบาท โดยที่ภาครัฐมีการใช้จ่ายลดลง 3.7% จากปี 2549 และภาคครัวเรือนลดลง 12.2% เป็นผลจากการชะลอการตัดสินใจดำเนินการโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐและการชะลอการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี ขณะที่ภาคครัวเรือนก็ชะลอการใช้จ่ายลง อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ
ในปี 2551 ผลสำรวจคาดการณ์การใช้จ่ายตลาดซอฟต์แวร์โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวสูงถึง 17.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 67,262 ล้านบาท โดยซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Embeded มีการเติบโตถึง 39% คิดเป็นมูลค่า 2,688 ล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดซอฟต์แวร์ปี 2551 มีแนวโน้มเติบโต ประกอบไปด้วยการลงทุนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โครงการเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ ต่างส่งผลทางบวกต่อทั้งตลาดฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การที่ธุรกิจเอกชนขนาดกลางถึงใหญ่มีแนวโน้มที่จะนำซอฟต์แวร์มาสนับสนุนการบริการจัดการมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีเองก็เติบโตสูงขึ้น ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้เริ่มมีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับระบบไอทีมากขึ้น เห็นถึงความจำเป็นต้องมีเว็บไซต์และระบบไอทีสนับสนุนการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ตลาดซอฟต์แวร์เติบโต
ตลาดซอฟต์แวร์ส่งออกเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งในปี 2550 มีมูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท คิดเป็น 7.3% ของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ทั้งหมด ประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญประกอบไปด้วยประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนามและประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการที่ตลาดยังมีมูลค่าน้อยเป็นผลมาจากผู้ประกอบการยังขาดความชำนาญในการทำตลาด ขาดข้อมูลด้านการตลาด จึงทำให้ซอฟต์แวร์ไทยไม่เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ
รุ่งเรือง ลิ้มชูปฎิภาณ์ ผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวเสริมว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดซอฟต์แวร์โต คือ การเติบโตของการใช้โทรศัพท์มือถือ และการขยายรูปแบบการบริการด้วยการมีแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ มาสนับสนุน รวมทั้งการที่รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชน ด้วยการเพิ่มการหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทซอฟต์แวร์ในปีแรกสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ถึง 40% หรือการหักค่าเสื่อมซอฟต์แวร์ให้หมดภายใน 3 ปี จากเดิมที่ต้องหักถึง 10 ปี ต่างล้วนเป็นเหตุจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนซื้อซอฟต์แวร์มากขึ้น
"การผลักดันตลาดซอฟต์แวร์ปีนี้ ซิป้า มุ่งสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทโมบายแอปพลิเคชั่น และซอฟต์แวร์ Embeded เนื่องจากทำรายได้ในการส่งออกต่างประเทศได้มาก ดังนั้นปีนี้ซิป้าจะผลักดันให้ซอฟต์แวร์ทั้ง 2 ประเภทส่งออกให้กับประเทศญี่ปุ่น อเมริกา เวียดนาม และสิงคโปร์มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2552 มูลค่าซอฟต์แวร์ที่ส่งออกจะโตขึ้น 20-25%"
ส่วนปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดไอซีทีในปี 2551 ยังมีการเติบโต้ ก็คือ การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยเรียกความมั่นใจจากภาคเอกชนและภาคประชาชนกลับคืนมา โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ การยอมรับสินค้าไอทีที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคเอกชนตระหนักถึงการนำไอทีมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สงครามราคาที่ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคง่ายและสั้นขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้ราคาสินค้าถูกลง มาตรการภาษีเพิ่มรายได้ประชาชนด้วยการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
จำรัส กล่าวเสริมว่า การรุกตลาดของมินิโน้ตบุ๊กราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ที่จะทำให้เกิดผู้ใช้กลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอาจจะมีปัจจัยลบที่มาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ
|