ปตท.เคมิคอลเพิ่มเป้ารายได้ปีนี้ 9 หมื่นล้านบาท เหตุราคาเม็ดHDPE สดใสและรับรู้รายได้จากTOL มั่นใจธุรกิจเติบโตทุกปีละเฉลี่ย 15%ไปอีก 5ปี แย้มเตรียมออกหุ้นกู้ปีนี้ 1.4 หมื่นล้านบาทใช้ลงทุนเพิ่มเติม รวมทั้งศึกษาลู่ทางลงทุนโครงการผลิตโพลีคาบอเนตในอนาคต ด้านบมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ยอมรับราคาน้ำมันผันผวน ฉุดมาร์จินอะโรเมติกส์หดและค่าการกลั่นทั้งปีแค่ 5-6 เหรียญ/บาร์เรล แต่โชคดีปีนี้จะรับรู้รายได้จากโครงการอะโรเมติกส์เฟส 2 และโครงการอัพเกรด คอมเพล็กซ์ ทำให้มีน้ำมันเข้ามาเพิ่มอีก 4 หมื่นบาร์เรล/วัน เผยผู้ถือหุ้นไฟเขียวออกหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีนี้จะใช้เงินลงทุน 557 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTCH) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทได้ปรับเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นล้านบาทจากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ 8 หมื่นล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้ของบริษัทไทยโอลีโอเคมี (TOL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจำนวน 8 พันล้านบาท โรงงานเดินเครื่องผลิตเต็มที่โดยไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงเหมือนปีที่แล้ว ราคาผลิตภัณฑ์ยังพลาสติกยังมีราคาสูง แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์MEGจะอ่อนตัวลงจาก 1,600 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐ/ตันก็ตาม แต่ปีนี้ราคาเม็ดพลาสติกชนิดHDPE มีราคาโดดเด่นมากล่าสุดอยู่ที่ตันละ 1,600 เหรียญสหรัฐ ทำให้มาร์จินสูงอยู่ แต่ครึ่งปีหลังราคาHDPEน่าจะอ่อนตัวลงมา
จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ราคาแนฟธา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้นตามจนปัจจุบันอยู่ที่ 880-900 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้บริษัทมีการปรับลดการใช้แนฟธาลง หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์แทน ซึ่งราคาก๊าซฯเองก็มีการปรับขึ้นไปไม่มากประมาณ 20% ต่ำกว่าแนฟธาที่ปรับขึ้นไป 100% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทต่ำกว่าคู่แข่งที่ใช้แนฟธาเป็นวัตถุดิบ
รวมทั้งบริษัทได้มีการกระจายความเสี่ยงโดยหันไปลงทุนต่อยอดในธุรกิจขั้นปลายน้ำ (ดาวน์สตรีม) เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวัฎจักรราคาขาลง หากมีกำลังการผลิตใหม่ๆเกิดขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง ทั้งนี้ บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้จะขยายตัวต่อเนื่องปีละ 15%เป็นเวลา 5 ปีนับจากนี้ โดยปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท เป็นผลจากการรับรู้รายได้โครงการการลงทุนต่างๆแล้วเสร็จ
นายอดิเทพ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯมีแผนใช้เงินลงทุนโครงการต่างๆประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากผลการดำเนินงานและการออกหุ้นกู้ โดยเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 3.9 หมื่นล้านบาท บริษัทฯได้มีการสว็อปหนี้สกุลเงินอื่นๆเป็นดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว 65% และมีเป้าหมายจะทยอยสว็อปหนี้เป็นสกุลดอลลาร์ให้ได้ 80%ของหนี้รวม เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้และค่าใช้จ่ายที่อิงดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
ส่วนกรณีที่บริษัทฯได้ซื้อทรัพย์สินของบริษัท เอชเอ็มที โพลีสไตรีน จำกัด (HMT) โดยบริษัท ไทยสไตรีนิคส์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัทย่อย คือ พีทีที โพลีเอทิลีน นายอดิเทพ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มชนิดสินค้าพลาสติกสนองความต้องการของลูกค้าที่เดิมมีจำหนายแต่ผลิตภัณฑ์เม็ดHDPE LLDPE และLDPE โดยบริษัทฯจะเข้าไปบริหารงาน ทำให้เม็ดพลาสติกโพลีสไตรีน (PS) จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่พ.ค.เป็นต้นไป
HMT เป็นผู้ผลิตโพลีสไตรีน ในไทย ที่กำลังการผลิตรวม 90,000 ตันต่อปี ทรัพย์สินที่เข้าซื้อดังกล่าวประกอบด้วย โรงงานผลิตโพลีสไตรีน รวมทั้งอาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในบริเวณ โรงงาน ในราคา 99 บาท โดยบริษัทฯจะใส่เงินทุนหมุนเวียนอีก 100 ล้านบาทในการดำเนินธุรกิจ คาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการนี้ไม่มากนัก
นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการผลิตโพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากBPA มาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตโพลีคาร์บอเนตอยู่ 2 แห่ง ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศปีละหลายแสนตัน
ทั้งนี้ บอร์ดบริษัทฯอนุมัติลงทุนโครงการ Bis-Phenol-A (BPA) ภายใต้การดำเนินการของบริษัท พีทีทีฟีนอล จำกัด (PPCL) ซึ่งถือหุ้นโดยบมจ. ปตท. 40% บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น 30% และบริษัทฯ 30% ใช้เงินลงทุนรวม 251 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินที่บริษัทฯลงทุน 1,280 ล้านบาท โดยใช้ฟีนอลและอะซีโตนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด เป็นวัตถุดิบ
ผลการดำเนินงานของปตท.เคมิคอลในปี 2550 บริษัทฯมีรายได้รวม 7.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 7.38 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.91 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.82 หมื่นล้านบาท
รายได้กลุ่มโรงกลั่น-ปิโตรฯเริ่มลด
นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. กล่าวว่า ในปีนี้ผลการดำเนินงานของปตท.ยังเติบโตต่อเนื่อง มาจากการรับรู้รายได้ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)ที่จะมีผลประกอบการดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีมีแนวโน้มที่จะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา และราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องราคาน้ำมัน ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ(สเปรด)แคบลง แต่เชื่อว่าผลการดำเนินงานของบมจ.ปตท.เคมิคอลยังดีอยู่ และมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจีนและอินเดียยังเป็นตลาดที่สำคัญ แม้ว่าทั้ง 2ประเทศจะมีโรงปิโตรเคมีทะยอยแล้วเสร็จก็ตาม
"ช่วงนี้นักลงทุนมีการขายทิ้งหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีค่อนข้างมาก เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่จากตะวันออกกลางและอินเดียเข้ามามาก ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์อ่อนตัวลง แต่เชื่อว่าคงมีบางโครงการต้องดีเลย์ออกไป เพราะราคาวัตถุดิบปรับตัวสูง ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้ยังไม่ใช่วัฎจักรขาลง"นายพิชัย กล่าว
น้ำมันพุ่งฉุดค่าการกลั่นต่ำ-สเปรดอะโรฯหด
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)(PTTAR) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ผันผวนทำให้สเปรดของธุรกิจอะโรเมติกส์แคบลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบคือคอนเดนเสทมีราคาสูงขึ้น จึงได้มีการนำรีฟอร์เมทจากโรงกลั่นไปใช้ผลิตแทนบางส่วน ทำให้ต้นทุนต่ำลง และเมื่อโครงการUpgrading Complex แล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทฯสามารถจัดหาน้ำมันดิบที่มีคุณภาพด้อยมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันได้บาร์เรลละ 1 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าการกลั่นของบริษัทในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ไม่รวมสต็อกน้ำมัน) เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวน และต้องจับตาดูผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯว่าจะลุกลามแค่ไหน
"ขณะนี้ราคาพาราไซลีนอยู่ที่ตันละ 1,320 เหรียญสหรัฐ เบนซีน 1,075 เหรียญสหรัฐ/ตัน และแนฟธาอยู่ที่ 880 เหรียญสหรัฐ ทำให้สเปรดค่อนข้างแคบลงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมามีการใช้สต็อกพาราไซลีนไปมาก เชื่อว่าจะมีดีมานด์พาราไซลีนเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3นี้ ส่วนราคาจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในช่วงนั้น โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5.8 แสนบาร์เรล/วันของอินเดียจะดีเลย์หรือไม่ "
สำหรับแผนการลงทุน 5ปีนี้(2551-2555) บริษัทจะใช้เงินลงทุน 1,223 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะใช้เงินลงทุนในโครงการรีฟอร์เมท(อะโรเมติกส์ คอมเพล็กซ์เฟส 2) โครงการUpgrading Complex โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร่วม (ซินเนอจี้ โปรเจ็กต์) โครงการยูโร 4 และโครงการบริษัทย่อย
โดยปีนี้บริษัทฯจะใช้เงินลงทุน 557 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขการลงทุนโครงการยูโร 4 ที่จะใช้เงินลงทุน 100 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ว่าจะอาจจะปรับลดการใช้เงินลงได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในพ.ค.นี้ แต่บริษัทฯได้ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯวานนี้(10 เม.ย.) เพื่อออกหุ้นกู้สกุลบาทหรือสกุลต่างประเทศเทียบเท่าหรือไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5ปีนี้ เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้ตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงเร็ว และอัตราภาวะดอกเบี้ยต่ำ น่าจะเป็นจังหวะเหมาะที่จะออกหุ้นกู้เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการต่างๆหรือรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิมประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"บริษัทอาจะออกหุ้นกู้เป็นสกุลบาทแล้วสว็อปเป็นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะดีกว่าการออกหุ้นกู้สกุลเงินสหรัฐฯ โดยจะเป็นการทยอยออก ส่วนจะเป็นเมื่อไร และเท่าไรขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะตลาดที่ดีที่สุด"
นายชายน้อย กล่าวว่า บริษัทฯจะรับรู้รายได้จากโครงการอะโรเมติกส์ เฟส 2 ขนาดกำลังผลิต 1.1 ล้านตันในช่วงเดือนส.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะมีปริมาณการผลิตในปีนี้จำนวน 2.5 แสนตัน และปลายปี2551 จะมีผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาเพิ่มอีก 4 หมื่นบาร์เรล/วันจากโครงการUpgrading Complex ทำให้รายได้บริษัทฯขยายตัวขึ้น
|