เมื่อวันที่ 10 - 11 มกราคมที่ผ่านมา องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเรื่อง
"วิดิโอเท็กซ์" (VIDEOTEX) ขึ้น โดยจัดร่วมกับฟรานซ์ เทเลคอม (FRANC
TELECOM) ซึ่งเป็นองค์กรเทียบเท่ากระทรวง มีหน้าที่ดูแลโทรคมนาคมสื่อสารของประเทศฝรั่งเศส
ครั้งนั้น ฟรานซ์ เทเลคอม ได้อธิบายถึงระบบการสื่อสารแบบวิดิโอเท็กซ์ โดยอธิบายถึงเครือข่ายวิดิโอเท็กซ์ในฝรั่งเศส
ความสำเร็จของวิดิโอเท็กซ์และปัจจัยสำคัญที่วิดิโอเท็กซ์เป็นที่แพร่หลายในฝรั่งเศส
โดยความเป็นจริงเรื่องวิดิโอเท็กซ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทย เพราะมีกระแสข่าวมาเป็นระยะ
และตามธนาคารบางแห่งก็มีบริการทำนองนี้แล้ว เช่น อินโฟ แบงกิ้ง ของไทยพาณิชย์
ซึ่งเป็นบริการข้อมูลการเงินธนาคารให้ลูกค้าโดยเฉพาะ ผ่านคอมพิวเตอร์แบบพีซี
แต่ครั้งนี้ที่วิดิโอเท็กซ์กลับมาเป็นเรื่องที่ "ผู้จัดการ" หยิบยกขึ้นมาพูดอีก
เพราะในวันสัมมนาถัดมา คือ วันที่ 11 ฟรานซ์ เทเลคอมได้เชิญนักธุรกิจ ผู้บริหารในภาคเอกชน
เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และองค์กรธุรกิจเกือบ 30 รายเข้าฟังด้วย และในวันแถลงข่าวของพลเอก
จรวย วงศายัณห์ ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การโทรศัพท์คนใหม่ เมื่อ 6 ก.พ.
ก็กล่าวว่า องค์การโทรศัพท์จะนำวิดิโอเท็กซ์มาบริการในเร็ว ๆ นี้
สรุปง่าย ๆ จากกระแสข่าวที่ต่อเนื่อง เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่สำหรับเมืองไทย
คือ "วิดิโอเท็กซ์" นั้นมาแน่ ๆ และมาแบบบุกถึงตัวถึงบ้านคนมีโทรศัพท์ทุกรายเสียด้วย
แต่ปัญหาคือ วิดิโอเท็กซ์คืออะไร และเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้มากแค่ไหน
?
เข้าใจกันแบบง่าย ๆ วิดิโอเท็กซ์ก็คือ การส่งข้อมูลผ่านคู่สายโทรศัพท์ ข้อมูลที่ส่งไปจะปรากฏบนจอภาพ
ซึ่งอาจจะเป็นเทอร์มินัลสำหรับวิดิโอเท็กซ์โดยเฉพาะ หรือคอมพิวเตอร์แบบพีซีก็ได้
ในต่างประเทศ วิดิโอเท็กซ์ได้รับการพัฒนาและขานชื่อต่างกันไป เช่น ที่ฝรั่งเศสเรียกว่า
TELETEL ในสหรัฐอเมริกาเรียก ALEX ในยุโรปมีระบบ BETEX ในสิงคโปร์เรียก TELENEWS
ออสเตรเลียเรียก VIATEL ในฮ่องกงเรียก VIEWDATA ในอังกฤษเรียก PRESTEL
แต่ละประเทศก็จะมีลักษณะการทำงานแตกต่างกันไป ทั้งโดยตัวเครือข่าย ระบบชุมสายขึ้นกับความสอดคล้องกับเครือข่ายขององค์การโทรศัพท์แต่ละประเทศ
ส่วนจอรับภาพหรือเทอร์มินัลก็มีความแตกต่างไป บางประเทศใช้ได้กับเทอร์มินัลเฉพาะ
บางแห่งใช้พีซี ถ้าสนุกหน่อยก็เป็นแบบสิงคโปร์ที่เอาเครื่องรับโทรทัศน์มาใช้
หลักสำคัญของมันมีอยู่อย่างเดียว คือ โทรศัพท์ไปติดตั้งที่ไหน วิดิโอเท็กซ์ก็สามารถตอบไปถึงที่นั่น
เพราะข้อมูลที่ส่งไปจะต้องไปตามสายโทรศัพท์แค่นั้นเอง
เปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ ก็คือ วิดิโอเท็กซ์นั้นเทียบได้กับสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์
แต่แทนที่ผุ้ใช้จะต้องมาเปิดสมุดก็มาคีย์แป้นเทอร์มินัล อยากรู้เบอร์โทรศัพท์ใครก็คีย์นิดเดียว
หมายเลขก็จะปรากฏบนจอ ส่วนเอกชนที่จะมาเอี่ยวในการขายข้อมูลเปรียบได้กับการซื้อพื้นที่ใน
"สมุดหน้าเหลือง" นั่นเอง แต่วิดิโอเท็กซ์มีข้อได้เปรียบกว่า นอกเหนือไปจากการมอบหมายเลขโทรศัพท์และรายละเอียดการให้บริการ
ซึ่งสมุดหน้าเหลืองทำหน้าที่นี้อยู่ วิดิโอเท็กซ์สามารถป้อนข้อมูลให้ทันสมัยได้อยู่เสมอแบบวันต่อวัน
ไม่จำเป็นต้องรอเปลี่ยนหรือรอพิมพ์เป็นปีแบบสมุดหน้าเหลือง
ดังนั้นวิดิโอเท็กซ์จึงกลายเป็นเรื่องของการบริหารข้อมูลข่าวสารอย่างทันเหตุการณ์
เช่นรายนามและหมายเลขผู้ใช้โทรศัพท์ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ราคาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ราคาพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย การสำรองที่พัก
โปรแกรมภาพยนต์ รายการช็อปปิ้งทุกสุดสัปดาห์ เล่นเกมส์วิดิโอ อ่านหนังสือพิมพ์
รวมทั้งประกาศหาคู่
แต่อย่าลืมว่าข้อมูลทุกชิ้นไม่ได้คีย์ขึ้นมาใช้ฟรี ๆ แต่ต้องเสียตางค์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแบ่งได้เป็นสามส่วนคือ
หนึ่งค่าเช่าบริการวิดิโอเท็กซ์ซึ่งอาจคิดเป็นรายเดือน
สอง-ค่าบริการข้อมูลต่อหน้า เช่น รายการช็อปปิ้งของเซ็นทรัลก็ 1 หน้า ของเดอะมอล์ลก็อีก
1 หน้า เท่ากับต้องเสียค่าบริการทั้ง 2 หน้า
สาม-เวลาในการใช้บริการดังนั้นเวลาที่ใช้บริการมาก ต้องการข้อมูลมากหลายหน้าและใช้เวลานาน
ผู้ใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้เองคือรายได้ขององค์การโทรศัพท์ในฐานะเจ้าของและผู้ลงทุน
VIDIOTEX SERVICE CENTER และรายได้ส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับเอกชนที่ทำธุรกิจขายข้อมูลในเครือหรือไอพี
(INFORMATION PROVIDE) ตามอัตราการเรียกใช้และเวลาที่ไอพีเจ้านั้น ๆ ให้บริการ
จุดที่เป็นข้อถกเถียงกันมาก คือ ถ้าสมมุติว่าตัวองค์การโทรศัพท์ในประเทศใดก็ตามพร้อมจะลงทุนในการติดตั้งวิดิโอเท็กซ์อย่างแน่นอน
ปัญหาก็คือ ผู้ใช้บริการจะต้องลงทุนติดตั้งเทอร์มินัล ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินเกือบหมื่นบาท
แล้วจะมีคนอยากจะลงทุนซื้อติดตั้งเองสักเท่าไร เรื่องแบบนี้เอกชนก็เลยต้องคิดมากว่าจะลงทุนเปิดบริการขายข้อมูลดีหรือไม่
เพราะขืนเปิดบริการแล้วมีตลาดนิดเดียวมันก็ไม่คุ้ม
หรือถ้าผู้ใช้บริการคิดจะซื้อเทอร์มินัลมาติดตั้งจริง ๆ ปัญหาของผู้ใช้บริการ
คือ ข้อมูลที่ให้บริการนั้นมันคุ้มค่าแค่ไหนที่จะต้องซื้อ
เรื่องของเรื่องก็เลยเป็นปัญหา "ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่"
จากการสัมมนาเรื่องวิดิโอเท็กซ์ครั้งนั้น ฟรานซ์ เทเลคอม กล่าวว่า ในฝรั่งเศสก็ประสบปัญหาเช่นกัน
จนกระทั่งฟรานซ์ เทเลคอมใช้วิธีแจกเทอร์มินัลเสียเลย
เทอร์มินัลที่ฟรานซ์ เทเลคอมแจกนี้เรียกกันในนาม "มินิเทล" (MINITEL)
ซึ่งผลิตและพัฒนาโดยอัลคาเทล (ALCATEL) แจกไปทั้งสิ้น 4 ล้านเครื่อง จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ทั้งสิ้น
10 ล้านเลขหมาย เมื่อฟรานซ์ เทเลคอม ขจัดปมไปได้เปราะหนึ่ง เอกชนก็พร้อมที่จะให้บริการในรูปของไอพีมากขึ้น
มีทั้งที่ดำเนินธุรกิจอื่นอยู่ แล้วมาพ่วงข้อมูลเข้ากับเครือข่าย และที่มาลงทุนทำธุรกิจเป็นไอพีเต็มรูปแบบก็มี
"แต่ถ้าคุณพิจารณาในรายละเอียดสถิติการใช้วิดิโอเท็กซ์ในประเทศอื่น
ๆ นะ จะพบว่า แท้จริงอัตราการใช้ยังต่ำมาก ลองเฉลี่ยการใช้เครื่องต่อเดือนดู
บางประเทศมีการใช้ 3 - 6 ครั้งต่อเดือนต่อเครื่องเท่านั้น และมีลูกค้าอยู่ในระดับ
3 - 4 พันราย นับว่าน้อยมาก" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิดิโอเท็กซ์ กล่าว
นั่นหมายความว่า โดยตัววิดิโอเท็กซ์ แม้จะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง
แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
ปัญหาคือ หนึ่ง - ตัวเทอร์มินัลที่ไม่ได้มีกันทุกคนในหลายประเทศไม่มีนโยบายแจกตัวเทอร์มินัลแบบฝรั่งเศส
หรือแม้แต่ในสิงคโปร์ซึ่งใช้โทรทัศน์ก็มีปัญหาเรื่องที่คนในครอบครัวอยากดูรายการประจำอื่น
ๆ
สอง - ค่าใช้จ่าย
"คุณลองคิดดู ยกหูโทรศัพท์ คุณก็ต้องเสียแล้ว 3 บาท คุณอาจจะไม่คิดอะไร
แต่พอคุณจะต้องซื้อข่าว ซื้อข้อมูล ทุกหน้าทุกนาทีมันเป็นเงินทั้งนั้น พอคุณจะคีย์ข้อมูลขึ้นมาคุณก็ต้องคิดแล้ว"
แหล่งข่าวในองค์การโทรศัพท์คนเดิมกล่าว
สำหรับเหตุผลที่องค์การโทรศัพท์มีนโยบายจะนำระบบนี้เข้ามาก็เพื่อบริการประชาชนเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านอื่น
ๆ ในอนาคต เช่น อาจจะนำไปเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหน่วยราชการและเอกชน
ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีหน่วยคอมพิวเตอร์ของตนเอง เมื่อมีวิดิโอเท็กซ์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันจะสะดวกและรวดเร็วขึ้น
โดยใช้วิดิโอเท็กซ์เป็นสะพานเชื่อมโยง
ถึงตรงนั้นไม่ทราบว่าระบบ DPZ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังจะทำนั้นจะมีความจำเป็นอยู่หรือเปล่าในแง่เทคโนโลยี
อีกทั้งการลงทุนด้านนี้ก็ไม่มากนัก ต่ำสุดก็ 10 ล้านบาท แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์มีช่องสัญญาณมากก็อาจจะถึง
50 ล้านบาท รองรับสมาชิกได้ระดับหมื่นราย
"วิดิโอเท็กซ์ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารองค์การโทรศัพท์แล้ว
ตอนนี้เพียงแต่ศึกษาเพื่อเลือกระบบของประเทศไหนจะดีที่สุด" แหล่งข่าวในองค์การโทรศัพท์กล่าว
"ส่วนปัญหาที่กลัวว่า คนไทยจะไม่นิยมใช้หรือเรื่องที่เรายังไม่มีเครื่องเทอร์มินัลแจกนั้น
ยังเป็นปัญหารอง ปัญหาที่สำคัญ คือ องค์การโทรศัพท์มีเทคโนโลยีแบบใหม่ ๆ
ให้พวกเราได้ใช้ คุณจะใช้ให้มันเกิดประโยชน์อย่างไร หมายความว่า ถ้าคุณอยากจะเป็นไอพีคุณจะเอาข้อมูลอะไรมาขายให้ลูกค้า
ให้เขาอยากจะซื้อและเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้เป็นประเด็นสำคัญมากกว่า
ถ้าเขาเห็นว่าข้อมูลของคุณมีค่า วิดิโอเท็กซ์มันก็จะเกิดขึ้นเอง" ผู้เชี่ยวชาญในองค์การโทรศัพท์ให้ความเห็น
ผู้สันทัดกรณีในวงการมีเดีย กล่าวว่า ในขั้นนี้ที่เห็นว่า จะสามารถนำวิดิโอเท็กซ์ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
คือ เรื่องค้าขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น บริษัทวิจัย เช่น ดีมาร์ บริษัทโฆษณา
หรือธุรกิจหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
ถ้าไม่มีความล่าช้าไปกว่านี้ คนกรุงเทพฯ จะได้สัมผัสกับวิดิโอเท็กซ์ในราวต้นปี
2534 อย่างแน่นอน
ก็เช่นที่มีคนกล่าวไว้ เทคโนโลยีรอคุณอยู่ข้างหน้า คุณจะใช้ประโยชน์อย่างไรกับมัน
และที่สำคัญจะทำเงินทำทองกับมันอย่างไรเสียละมากกว่า