แบงก์กสิกรไทย ชักธงรบ เล่นบทผู้นำแบงก์เอกชนประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ สู้ศึกแบงก์รัฐที่จุดชนวนโดย
"กรุงไทย" ที่ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือ 5.75% "บัณฑูร
ล่ำซำ" ชี้เมื่อกติกาเปลี่ยน เพราะกลไกรัฐเป็นผู้กำหนดราคา ก็พร้อมปรับตัวแข่ง
และจากนี้ไปธุรกิจธนาคารในประเทศไทยจะถูกประเมินใหม่
นายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) ว่า ธนาคารได้รับลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะเงินกู้ลงอีก
0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ลดลงเหลือ 5.75%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดเหลือ 6.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี
(MRR) ลดเหลือ 6.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปอยู่ที่
MRR + 2.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผิด นัดชำระหนี้จะอยู่ที่ 13.50% ทั้งนี้มี
ผลตั้งแต่วันนี้ (24 มิ.ย. 2546) เป็น ต้นไป
ธนาคารกสิกรไทย ได้แสดงปฏิกิริยาตอบรับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารภาคเอกชน
ที่ตอบโต้การตลาดเชิงรุกของธนาคารกรุงไทย ที่ประกาศลดอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ลงทุนประเภทร้อยละ
0.75 ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธนาคารรัฐแห่งนี้เหลือเพียงร้อยละ 5.75 โดยมีผลตั้งแต่วันที่
19 มิถุนา-ยนที่ผ่านมา
การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยครั้งนี้ นับว่าต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์
เพราะช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่ แม้จะปรับลดดอกเบี้ยจนเอ็มแอลอาร์ ลดเหลือ
6.25% เอ็มโออาร์ เหลือ 6.50% และเอ็มอาร์ อาร์เหลือ 6.75%แต่ธนาคารกรุงไทย ก็ได้สร้างประวัติการณ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเทศเหลือเพียง
5.75%
นายบัณฑูร กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามด้วย และเชื่อว่าวันต่อๆ
ไป ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่รายอื่นก็ต้องปรับตามด้วย ไม่เช่นนั้นลูกค้าต้องหันไปหาแหล่งเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า
นายบัณฑูร ชี้ให้เห็นว่า โดยหลักการแล้ว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินได้รับก็เป็นการเตรียมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
"แต่ขณะนี้มีคนตัดสินใจแทน โดยกำหนด ตัวเลขที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ผลจะเป็นอย่างไร
ก็ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์"
นายบัณฑูร กล่าวว่า ความเสี่ยงกับราคา โดยหลักแล้วต้องไปด้วยกัน โดยทางทฤษฎีจะเชื่อว่า
กลไกตลาดจะปรับให้ราคาสอดคล้องกันระหว่างความเสี่ยงกับราคา แต่ขณะนี้ดูเหมือนรัฐไม่คำนึงถึงความเสี่ยงจึงกำหนดราคาเช่นนี้
"ในระยะสั้น คนน่าจะพอใจที่ได้กู้เงินราคาถูก แต่จะบอกว่าถูกหรือผิดคงต้องรอดูผลในอนาคต"
นายบัณฑูร กล่าว
เขากล่าวว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชน์ปัจจุบันจะถูกลดมูลค่าจากตลาด เพราะถูกลดความสามารถในการทำกำไร
แต่เพราะภาวะตลาดหุ้นยังดี ซึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลที่มีทั้งการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจระดับพื้นฐาน
และการขายของถูก อีกทั้งตัวเลขด้านต่างๆ ล้วนมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าดัชนีทางเศรษฐกิจ
ภาษีที่เก็บได้มากขึ้น
"ถึงแม้จะมีข้อถกเถึยงถึงปรัชญาการบริหารเศรษฐกิจ แต่พวกนักลงทุนอยู่ในสภาพปากด่าว่านโยบายของรํฐไม่ได้นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
แต่กระแสตลาดขาขึ้นยั่วใจให้ต้องเอาเงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น เพราะเงินที่เหลืออยู่ต้องมีที่ไป
เพื่อหาแหล่งทำกำไร"
ธปท.เล็งปรับนโยบายเงินเฟ้อใหม่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.
เตรียม ที่จะพิจารณาทบทวนนโยบายการใช้อัตราเงิน เฟ้อในการดูแลเศรษฐกิจใหม่ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
ทั้งนี้สืบเนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังคงขยายตัวสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ
แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ที่อยู่ในในระดับต่ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากนัก
ทั้งนี้ตามทฤษฎีแล้ว ในภาวะที่อัตราเงิน เฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำจะฉุดให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำไปด้วย
โดยภาวะโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ทำให้กำแพงภาษีสินค้าขาเข้าระหว่างประเทศหมดไป ราคาสินคาปรับตัวขึ้นยาก
ประกอบกับประเทศจีนซึ่งมีกำลังการผลิตที่ใหญ่มากผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาด ทำให้ราคาสินค้าต่ำและเกิดภาวะอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก
ซึ่งตามปกติแล้วเป็นเรื่องอันตรายเนื่อง จากส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าต่ำ
ธุรกิจไม่ขยายตัว เพราะไม่มีกำไร แต่ขณะนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ทฤษฎีเดิม ที่เงินเฟ้อต่ำและดอกเบี้ยต่ำทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอาจจะใช้ไม่ได้ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน
จะเห็นได้ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก แต่เศรษฐกิจหลายประเทศยังคง
ขยายตัวสูงอยู่ บางประเทศเงินเฟ้อติดลบ หรือของเราต่ำ แต่ยังมี Growth อยู่
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น มันอาจจะมีปัจจัยอะไรแฝงอยู่นอกจากดอกเบี้ยถึงทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อไปได้
ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันในวงธนาคารกลางชาติต่างๆ และทางฝ่ายวิชาการของเรากำลังศึกษาอยู่
แต่ผมเห็นว่าไม่ควรจะยึดติดกับทฤษฎีเดิมๆ อะไรปรับเปลี่ยนได้และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศก็เปลี่ยน
เพียงแต่ต้องระวัง ไม่ผลีผลาม