|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
รัฐบาลโดดร่วมวง"แบงก์-ประกัน-กองทุนรวม" ชิงเงินออมในประเทศ พลาดท่าผลตอบแทนไม่จูงใจ-พันธบัตรขายอืด แถมเจอส่วนต่างดอกเบี้ยต่างประเทศสูง การเมืองเริ่มระอุ คนไทยโยกเงินออก ต่างชาติเมิน คนวงการเงินหวั่นปีหน้ารัฐบาลเจองานหนัก ถูกบีบให้เพิ่มต้นทุนดอกเบี้ย โครงการประชานิยมอาจชะงัก หากเลี่ยงไม่ได้ผู้ว่าแบงก์ชาติอาจถูกเปลี่ยนตัว
สงครามชิงเงินออมจากภาคประชาชนของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างดุเดือด ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปกติของเหล่าธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษ 4 เดือนหรือ 8 เดือนบ้างตามแต่โปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร
การล่าเงินออมของธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ฝ่ายธนาคารขนาดเล็กต้องช่วงชิงลูกค้าหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ต้องรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ให้อยู่กับธนาคาร การเสนอดอกเบี้ยฝากอัตราพิเศษนี้มีมาตั้งแต่ปี 2550 แต่มีการแข่งขันกันมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางที่ธนาคารพาณิชย์ช่วงชิงเงินฝากระหว่างกัน ในส่วนของธุรกิจประกันชีวิตก็มีการแข่งกันหาลูกค้าเงินฝากเช่นกันด้วยกรมธรรม์ประกันแบบออมทรัพย์ที่มีแบบให้เลือกมากมาย ทั้งรูปแบบการตั้งเคาท์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้า ดิสเคาท์สโตร์ หรือผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันนั้น
ตามมาด้วยการออกมาแข่งดูดเงินออมของพันธบัตรออมทรัพย์งบประมาณปี 2551 และล่าสุดคือพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ เพื่อเสนอขายกับประชาชนรายย่อย มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เสนอขายผ่านธนาคารกรุงเทพและกรุงศรีอยุธยาระหว่าง 2-11 เมษายนนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ 3.6% อายุพันธบัตร 2 ปี และยังมีพันธบัตร 30 ปีมูลค่า 5 พันล้านบาทที่เตรียมเสนอขายอีก
ขณะเดียวกันคู่แข่งสำคัญที่แย่งชิงเงินออมอีกรายที่มาแรง คงหนีไม่พ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่มีพระเอกตัวที่ดูดเงินออมของคนไทยได้ไม่น้อยในเวลานี้คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุน FIF ที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีขายกันเกลี้ยง เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างสูงคือระดับ 3.6% ขึ้นไป และที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นคือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ชูอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 7%
นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เตรียมออกสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดดอกไม้ไทยเสนอขายตั้งแต่ 29 เมษายน 2551 อายุ 3 ปี เสนอขายกันอีกครั้งมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อตามนโยบายในปี 2551
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหลายหน่วยงานที่ต่างเร่งระดมเงินจากภาคประชาชน เพื่อนำมาใช้ตามแผนงานของแต่ละแห่ง
ฝากแบงก์ดอกเบี้ยพิเศษ
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเงินออมมีการแย่งชิงของหลายหน่วยงานมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แม้ว่ากว่าจะเหลือวงเงินที่ให้ความคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาทในอีก 5 ปี แต่ผลทางจิตวิทยาเกิดขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับผู้ที่มีเงินฝากมากรวมถึงนักลงทุนสถาบัน เพราะในปีหน้าจะลดวงเงินคุ้มครอง 100% เพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายบัญชีของลูกค้าเงินฝาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กที่ถูกมองในเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องหาวิธีที่จะดึงให้เงินฝากเหล่านั้นอยู่กับธนาคารให้มากและนานที่สุด จึงต้องมีการเสนออัตราดอกเบี้ยจูงใจ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ถูกดึงลูกค้าเงินฝากไปไม่น้อย จึงต้องงัดกลยุทธ์ด้านดอกเบี้ยเข้ามาสู้
ประกันออมทรัพย์ฮิต
อีกด้านหนึ่งที่โหมดูดลูกค้าเงินฝากคือบริษัทประกันชีวิต ที่ออกกรมธรรม์ประเภทออมทรัพย์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แม้เมื่อคำนวณผลตอบแทนแล้วจะให้ผลตอบแทนต่อปีราว 2% แต่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้มีเงินออมปัจจุบัน เนื่องจากต้องส่งเบี้ยประกันต่อเนื่องเหมือนกับบังคับให้เกิดการออมเงินไปในตัว นอกจากนี้ยังมีเงินคืนมาระหว่างทางจำนวนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ และยังมีการคุ้มครองกรณีเสียชีวิตให้อีกจำนวนหนึ่ง แถมยังสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีก
แม้ว่าเมื่อดูผลตอบแทนที่ 2% จะดูน้อยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แต่ต้องไม่ลืมว่าเบี้ยประกันที่ส่งไปนั้นสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 1 แสนบาท อย่างน้อยเงินที่ได้คืนขั้นต่ำที่ 10% ของเบี้ยที่ส่งไปตามฐานภาษีของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าส่งเบี้ยประกัน 1 หมื่นบาทต่อปีก็จะได้เงินคืน 1,000 บาทเมื่อขอคืนภาษี เท่ากับได้ผลตอบแทนต่อปีราว 12%
ประกันประเภทนี้ตลาดตอบรับค่อนข้างดี บริษัทประกันหลายแห่งเปิดขายทั้งผ่านระบบตัวแทนและขายผ่านธนาคารพาณิชย์ เพราะประโยชน์ที่ได้ค่อนข้างลงตัว ทำให้มีเงินออมจำนวนหนึ่งไหลเข้าไปลงทุนในกรมธรรม์ประเภทนี้ไม่น้อย
พันธบัตรขายอืด
ขณะเดียวกันการเข้ามาบริหารประเทศของพรรคพลังประชาชน ที่ต้องการฟื้นเศรษฐกิจด้วยหลากหลายมาตรการ ได้ปูทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ตอบรับต่อพันธบัตรของรัฐบาลที่จะออกมาเสนอขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เฉพาะพันธบัตรที่เสนอขายให้กับประชาชนในประเทศสำหรับรัฐบาลชุดนี้ได้ออกมาล่าสุด 1.2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.6% อายุ 2 ปี และยังมีพันธบัตรออมทรัพย์ปกติที่ทยอยขายครั้งละ 500 ล้านบาทผ่านธนาคารกรุงเทพในแต่ละเดือน
"จริง ๆ แล้วอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรชุดใหม่ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.06% แต่รัฐบาลเพิ่มให้อีก 15% เท่ากับเป็นค่าภาษีที่ผู้ซื้อพันธบัตรต้องถูกหักเมื่อได้รับดอกเบี้ย"แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้กล่าว
เขากล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือระยะที่ผ่านมาพันธบัตรรัฐบาลได้รับการตอบรับจากตลาดไม่คึกคักเหมือนอดีต ตอนนี้บางรุ่นขายไม่หมด ส่วนหนึ่งเกิดจากมีพันธบัตรทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง หากผลตอบแทนไม่จูงใจพอบวกกับระยะเวลาที่ต้องถือพันธบัตรนาน 3 ปีเป็นต้นไปนั้น ผู้มีเงินออมจึงเลือกที่จะรอพันธบัตรรุ่นต่อไป จึงทำให้พันธบัตร 2 ปีที่เพิ่งออกจำหน่ายต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเป็น 3.6%
กองทุน FIF แรง
ตัวเลือกน่าสนใจในเวลานี้คือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงคือพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ 3.6-3.9% อัตราผลตอบแทนดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตร และระยะเวลาในการลงทุนราว 1 ปี 3 เดือน หรือ 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ผู้บริหารกองทุนจะทำการคุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว ส่วนบลจ.ใดจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเข้าไปถือในพันธบัตรรุ่นใดและช่วงเวลาใด
ที่มาแรงในเวลานี้คือพันธบัตรรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่สร้างผลตอบแทนราว 7% แต่การลงทุนในพันธบัตรนิวซีแลนด์จะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรเกาหลี เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้บริหาร บลจ.มักจะทำการคุ้มครองความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเฉพาะเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองความเสี่ยงดอลลาร์นิวซีแลนด์กับดอลลาร์สหรัฐ
เพราะว่าทิศทางของค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงจากปัญหาวิกฤติซับไพร์ม ดังนั้นจึงทำให้เงินสกุลนิวซีแลนด์แข็งขึ้น ผลตอบแทนในพันธบัตรย่อมสูงขึ้นตาม แต่ก็มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้นั่นหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนอาจได้ต่ำกว่า 7% แต่มีความเป็นไปได้น้อย
จุดเด่นของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์คือเป็นพันธบัตรของรัฐบาลจึงมีความมั่นคงค่อนข้างสูง ระยะเวลาลงทุนค่อนข้างสั้น ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องนำมาหักภาษีอีก 15% เหมือนการลงทุนในพันธบัตรในประเทศ
หลายค่ายออกไปแล้ว 4-5 รุ่นก็ยังได้ผลตอบรับที่ดี บางค่ายก็หันไปลงทุนในพันธบัตรออสเตรเลียที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศค่อนข้างห่างกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุน FIF ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศกันค่อนข้างมาก
"ตอนนี้ยังมีตลาดพันธบัตรที่น่าสนใจอย่างจีนและอินเดียที่มีผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก แต่คงต้องรอให้ทั้ง 2 ประเทศนี้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปซื้อพันธบัตรได้ ส่วนในย่านอาเซียนด้วยกันก็มีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความมั่นคงถือว่าเป็นรองจีนและอินเดีย" แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าว
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเตรียมออกสลากออมทรัพย์ชุดใหม่ออกมา แม้ว่าผลตอบแทนกรณีไม่ถูกรางวัลราว 1% แต่สลากออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส.ก็ยังมีแฟนประจำที่รอซื้ออยู่ ทั้งจากรายเก่าที่ถือจนครบกำหนดหรือรายใหม่ที่เพิ่มช่องทางในการลงทุนให้กับตัวเอง ที่มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ 20 ล้านบาทต่องวด และยังมีรางวัลอื่นรองลงมาอีก
ประชานิยมรัฐสะดุด
นี่เป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของการช่วงชิงเงินฝาก เงินออมของแต่ละหน่วยงาน ผลที่จะตามมานั่นคือเงินฝากหรือเงินออมที่มีจำหน่วยหนึ่งจะโยกจากผลตอบแทนต่ำไปหาผลตอบแทนที่สูง
เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดของการออมแต่ละประเภทจะพบว่า ที่ต้องช่วงชิงกันเป็นพิเศษคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉพาะอัตราดอกเบี้ย ไม่มีสิทธิประโยชน์อื่นเช่น หักลดหย่อนภาษี มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการแข่งขันกันระหว่างการหาเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ พันธบัตรรัฐบาลไทยและกองทุนรวม FIF
กองทุน FIF ได้เปรียบในเรื่องของการที่ไม่ต้องเสียภาษี 15% เหมือนพันธบัตรรัฐบาลไทยและเงินฝากของธนาคาร ที่น่าจะเสียเปรียบคือผู้ออมเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ ที่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับต่ำกว่าดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลไทย
แม้ลูกค้าเงินฝากส่วนหนึ่งจะไหลไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย แต่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ผันตัวเองเป็นผู้จำหน่ายพันธบัตรโดยได้รับค่าธรรมเนียมในการขายเป็นรายได้แทน เช่น รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ
อย่างไรก็ตามความได้เปรียบของกองทุนรวม FIF ก็อาจหมดไปได้หากหน่วยงานภาครัฐไม่เพิ่มวงเงินที่นำออกไปลงทุน จากเดิมที่ให้วงเงินไว้ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์เหลือวงเงินอยู่เพียง 2.55 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
การแย่งชิงเงินฝากที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ส่งผลให้เงินจำนวนไม่น้อยถูกล็อกไว้กับแหล่งลงทุนนั้น ดังนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นผู้ที่ต้องการจะระดมเงินรายใหม่ และที่น่าจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากคือพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่เตรียมจะออกพันธบัตรอีกหลายรุ่น โดยเฉพาะความต้องการที่จะเสนอขายต่อนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ที่กำลังเงินในการซื้อพันธบัตรจะมีน้อยลง
แม้ว่ารัฐบาลจะมีทางเลือกในการเปลี่ยนไปขายให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศแทนที่มีทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคมหรือพอร์ตลงทุนของบริษัทประกัน แต่ผลตอบแทนที่จะจูงใจพอหรือไม่ เช่นเดียวกับการเสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ แต่จากความแตกต่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศยังมีอยู่มาก ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองของไทยที่เริ่มระอุขึ้น อาจทำให้การขายพันธบัตรของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นนัก
พันธบัตรรัฐบาลชุดต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจนักลงทุน แต่นั่นหมายถึงต้นทุนในการออกพันธบัตรย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วย การจัดเก็บรายได้จะมากพอสำหรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือไม่
"เรามองว่าในปีหน้าพันธบัตรรัฐบาลที่เสนอขายนั้นอาจจะประสบความสำเร็จน้อยลง สิ่งที่จะตามมานั่นคือ หากการขายพันธบัตรทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ย่อมส่งผลต่อการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เน้นโครงการประชานิยม" แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์กล่าว
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้นั่นคือการกดอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้ต่ำ นั่นหมายความว่าต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรลง ท่ามกลางที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายแบงก์ชาติได้ส่งสัญญาณว่าจะเน้นที่การคุมอัตราเงินเฟ้อ และถ้ารัฐบาลไม่สามารถกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่
|
|
 |
|
|