BECi จับมือ AE&C ของ ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย ตั้งบริษัท Digital Factory
ทำหน้าที่รวบรวมคอนเทนต์ พัฒนา แอปพลิเคชั่น ขายส่งในรูปบัตรพรีเพด เจาะตลาดองค์กร
หวังยอดขายเดือนละ 1 แสนใบ อนาคตพัฒนาไปสู่ไดเร็กต์มาร์เกตติ้งและเอ็มคอมเมิร์ซ
ส่วน BECi มุ่งทำหน้าที่การตลาด ในลักษณะมาร์เกตติ้ง โซลูชั่น อินเตอร์แอ็กทีฟ
เซอร์วิส
นายโชคศิริ รอดบุญพา กรรมการผู้จัดการบริษัท BECi Corporation ผู้ให้บริการข้อมูลแบบอินเตอร์แอ็กทีฟผ่านโทรศัพท์มือถือในกลุ่ม
บีอีซี เวิลด์ กล่าวว่า BECi ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Asian Entertainment &
Communication ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์
เกมออนไลน์ รวมถึงข้อมูล ต่างๆผ่านโทรศัพท์มือถือ ในสัดส่วน 51/49 เพื่อจัดตั้งบริษัท
Digital Factory หรือ DF โดยมีนายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัยเป็น COO และมีดร.แคทลีน
มาลีนนท์ เป็น CEO บริษัท DF
ภายใต้ DF จะมีบริการมากมายให้ดาวน์โหลดไม่ว่าจะเป็น โฟลีโฟนิค ริงโทน จำนวนเพลงนับพันเพลง,
MMS Cartoon, SMS, Java Application อย่างเกมออนไลน์ต่างๆ BECi กำลังเติบโตอย่างมาก
เมื่อดูจากจำนวนการดาวน์โหลดโลโก ริงโทน ที่มีจุดแข็งตรงที่มีคอนเทนต์ในกลุ่มช่อง
3 ศิลปินดารานักร้อง โดยมีดาวน์โหลดเดือนละประมาณ 1 ล้าน ทรานแซกชั่น เทียบกับต้นปี
เริ่มขยับตั้งแต่ 6 หมื่น 1 แสน 1.5 แสน
ยุทธศาสตร์ของบริษัท มุ่งที่จะทำหน้าที่ด้าน การตลาดให้แข็งแรง มากกว่าการทำหน้าที่สกรีน
คัดสรร หรือเข้าไปร่วมพัฒนากับคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ทั้งหลาย เพราะแนวทางดังกล่าวจะเหมือนเป็นการกระตุ้นและส่งผลดีเป็นประโยชน์
กับคอนเทนต์ โพรวายเดอร์มากกว่า ในขณะที่มาร์จิ้นหรือผลกำไรจากการดาวน์โหลด BECi
ได้รับในจำนวนน้อย
"เราพยายามทำมาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่น ในลักษณะอินเตอร์แอ็กทีฟเซอร์วิส เพราะการที่เรามี
DF สามารถให้บริการซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้ มีสื่อพร้อมทั้ง SMS ที่เราซื้อมาเป็นลอตใหญ่จากโอเปอเรเตอร์
รวมทั้งสื่อแบบเดิมอย่างทีวี ซึ่งการทำตลาดแบบนี้จะทำให้ได้ผลกำไร หรือมาร์จิ้นสูงกว่าแค่การดาวน์โหลด"
แนวคิดดังกล่าวคือการผลักภาระหน้าที่ด้าน การเลือกหาคอนเทนต์ การพัฒนาแอปพลิเคชั่น
ให้เป็นของ DF ในขณะที่ BECi จะโฟกัสให้ความสำคัญด้านการตลาด โดยเฉพาะเรื่องโมบาย
มาร์เก็ตติ้ง ที่กำลังพัฒนาบริการให้ส่วนลดผ่านมือถือทั้งในรูป SMS หรือการสแกนหน้าจอ
"DF ต้องทำงานอีกมา ในการหาคอนเทนต์ จากญี่ปุ่นให้ได้ ซึ่งในช่วงแรกจะได้คอนเนกชั่นจาก
AE&C เป็นฐานก่อน"
การร่วมทุนกับ AE&C เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งระหว่างกัน เพราะ BECi จะมีคอนเทนต์
ในประเทศในกลุ่มช้อง 3 และมีคอนเทนต์จากด้านตะวันตก ส่วน AE&C จะมีคอนเทนต์จากญี่ปุ่น
ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ซึ่งเป็นสิ่งที่ BECi ขาด
สำหรับค่าบริการ จะมีตั้งแต่ 5, 6, 10 และ 15 บาท ขึ้นอยู่กับการที่จะนำคอนเทนต์ไปทำตลาดต่อ
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งผลประโยชน์ในเรื่องส่วนแบ่งรายได้อีก 15-20% เนื่องจากจะมีเรื่องปริมาณการใช้งานเข้ามาประกอบ
"ตลาดใหญ่พอรองรับได้ เพราะประเทศไทยจะมีคนใช้โทรศัพท์มือถือ 19 ล้านคนในสิ้นปี
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ ส่ง SMS ได้และตลาด MMS ก็โตขึ้นทุกวัน"
นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย COO บริษัท DF กล่าวว่า DF จะเริ่มทำตลาดในรูปแบบบัตรพรีเพดการ์ด
โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนใบต่อ เดือน โดยมุ่งเจาะตลาดลูกค้าองค์กรที่ต้องการนำบัตรไปเป็นของพรีเมียมหรือของแถมให้กลุ่มลูกค้าของตัวเอง
โดยภายในบัตรสามารถกำหนด ราคา จำนวนครั้งที่จะให้ดาวน์โหลด เหมือนบัตรเติมเงินของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งบัตรพรีเพดของ DF ในอนาคตก็จะพัฒนาให้สามารถเติมเงินได้ จากในปัจจุบันเมื่อครบวันหมดอายุ
แล้ว หากต้องการใช้บริการก็ต้องซื้อบัตรใหม่
"DFจะทำหน้าที่คอนเทนต์ แอกกรีเกเตอร์ โดยใช้เทคโนโลยีแพลทฟอร์มจากญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่แล้ว"
เขากล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีแพลทฟอร์ม ที่มีอยู่ จะทำให้คนไทยในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น
สามารถดาวน์โหลดเพลงไทยเป็นเสียงเรียกเข้าโฟลีโฟนิคใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งการที่อิงคอนเทนต์ญี่ปุ่น
ทำให้สามารถยกคอนเทนต์ดังกล่าวมาไว้ในโทรศัพท์มือถือ CDMA ได้เกือบ 95% เนื่องจากบริษัท
AE&C ยังพัฒนาคอนเทนต์ให้ NTT DoCoMo และกำลังจะเข้าไป เจ โฟน
รายละเอียดบริการต่างๆ ของ DF จะพิมพ์ เป็นคู่มือแจกภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งการใช้บัตรพรีเพด
พ่วงกับโทรศัพท์มือถือจะทำให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้งานด้านนอนวอยซ์ของผู้ใช้บริการ
ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในแง่การทำไดเร็กมาร์เก็ตติ้ง และสามารถพัฒนาไปสู่
เอ็ม คอมเมิร์ซในอนาคต