เรื่องราวระหว่างเนชั่นในไอทีวี มีพัฒนาการที่น่าสนใจ
ด้วยคำว่า "ทีวีเสรี" และ "เสรีภาพของสื่อ" มีพลังทำให้บทบาทนำของ เนชั่น
ในการบริหารมีอย่างต่อเนื่องมา 2 ปีเต็มในไอทีวี ทั้งๆ ที่เนชั่น ถือหุ้นเพียง
10% ในกิจการร่วมทุน ที่มีหลายฝ่าย โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่
กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ มีแรงบันดาลใจสูง ในการสร้างธุรกิจสื่อสาร และมีเดีย
ท่ามกลาง สถานการณ์ "ผู้มาใหม่" เกิดขึ้นอย่างน่าเกรงขามในธุรกิจ "สื่อ"
และ "สื่อสาร" การดำเนินการอย่างครึกโครม ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินอย่างแข็งขันจากธนาคาร
ก็ไม่อาจทำให้ธุรกิจ ที่ขยายตัวอย่างบ้าคลั่ง ไร้ทิศทาง ด้วยการจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
ประสบความสำเร็จได้ ในที่สุดกลุ่มสยามทีวีฯ ก็กลายเป็นตำนานความล้มเหลวของธนาคารไทยพาณิชย์ไป
ในช่วงนั้น มีแต่ไอทีวีเท่านั้น ที่เหลืออยู่ และสามารถ สร้าง "ความหวัง"
ได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ เนชั่นในไอทีวีจึงมีบทบาทต่อเนื่องต่อมา แม้ว่าภาวะธุรกิจขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
"ชำระประวัติศาสตร์ใหม่ไอทีวี" ของนิตยสารผู้จัดการในฉบับเดือน สิงหาคมปีที่แล้ว
อรรถาธิบายความเป็นไป ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในไอทีวีอย่าง ทะลุปรุโปร่ง
โดยเฉพาะการประเมิน ผลธุรกิจ ที่ทุกฝ่ายประสบการขาดทุน กันหมด ยกเว้นเนชั่นได้ผลการตอบแทนการลงทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด
แม้ไม่ใช่ตัวเงินก็ตาม
เนชั่นได้รับการยอมรับในฐานะอาณาจักรธุรกิจสื่อครบวงจร ที่ทรงอิทธิพลรายเดียวในประเทศไทย
"แนวความคิด" จากคำอธิบายครั้งนั้น มีพลานุภาพอย่างมากมาย โดยเฉพาะมีน้ำหนักอย่างมาก
จนลบล้างคำกล่าวอ้างลอยๆ ที่ว่าด้วย "เสรีภาพของสื่อ" ไปได้มากทีเดียว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ ที่กล่าวอ้าง "เสรีภาพสื่อ" ไม่มีพลานุภาพเพียงพอ
ในการต่อต้านการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในไอทีวีของชินคอร์ปได้ การเ ปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ในไอทีวี
จึงเกิดขึ้น
ในความเห็นของผม "เสรีภาพของสื่อ" จำเป็นต้องมี และสัมพันธ์กับการทำงานอย่างมืออาชีพ
ซึ่งสาธารณชนเป็นผู้ประเมินผล และให้ "ความเชื่อถือ" เอง โดยไม่มีใครสามารถอ้างกันเองได้