|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติเผยแม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง เหตุผู้ประกอบการธุรกิจกังวลราคาน้ำมันและสินค้าจ่อปรับขึ้นมีผลกดดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ผลประกอบการลดลง เผยเงินเฟ้อ 5.4% ขณะที่ดุลการค้าขาดดุล 620 ล้านเหรียญ นับเป็นเดือนแรกในรอบ 10 เดือน เหตุภาคการส่งออกชะลอตัว
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและภาคการเงินในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมายังคงอยู่ในทิศทางที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของอุปทานที่ขยายตัวได้ดี โดยปริมาณและราคาพืชผลปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวดี 14.7% ถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภาคใต้ที่มีเทศกาลตรุษจีนทำให้คึกคักกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของอุปสงค์ภายในประเทศในเดือนนี้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ เนื่องจากฐานปีก่อนต่ำ ส่วนหมวดก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการชะลอของภาคอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.พ.ปรับลดลงจากระดับ 45.6 มาอยู่ที่ระดับ 44.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นคำสั่งซื้อที่ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงเช่นกันจากระดับ 51.8 มาอยู่ที่ระดับ 51.6 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันและสินค้าต่างๆที่จะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลประกอบการของบริษัทต่างๆ อาจจะลดลงด้วย
ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามในหมวดเชื้อเพลิงและหมวดยานยนต์ยังคงเร่งตัวขึ้นขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาษีสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกใหม่ (E20) ทำให้ผู้บริโภคเลื่อนการซื้อจากช่วงปลายปีก่อนมาเป็นช่วงต้นปีนี้ ส่วนปริมาณจำหน่ายจักรยานยนต์ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำของปีก่อน
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมสูงขึ้นจากระดับ 78.1 ในเดือนก่อนมาเป็นระดับ 79.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกรายการทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต
“ความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังต่อไป ในส่วนของภาคต่างประเทศ คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลที่เกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐสหรัฐถดถอย ส่วนปัจจัยภายในประเทศส่วนใหญ่จะเกิดจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเชื่อว่าเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ดี แต่ก็ต้องจับตาดูต้นทุนที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อด้วย”
นางอมรา กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 5.4% แม้ว่าราคาในหมวดพลังงานจะค่อนข้างทรงตัว แต่ราคาอาหารสดเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ราคาเครื่องประกอบอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์เร่งตัวขึ้น ทำให้การส่งผ่านไปยังราคาอาหารบริโภคในและนอกบ้าน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้น 1.5%
การค้าขาดดุลรอบ 10 เดือน
ด้านภาคต่างประเทศดุลการค้าขาดดุล 620 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขาดดุลเดือนแรกในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญมาจากการนำเข้าที่เร่งตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกจะชะลอตัวบ้าง โดยการส่งออกขยายตัวลดลง 16.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 12,894 ล้านเหรียญ เป็นการชะลอลงในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูง ซึ่งเป็นไปตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องหนังเป็นสำคัญ และเกิดจากไม่มีการเร่งส่งออกทองคำมากเช่นช่วงก่อนหน้า รวมถึงการส่งออกในหมวดสินค้าประมงหดตัวตามการส่งออกกุ้งแช่แข็ง อย่างไรก็ตามในหมวดสินค้าคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี
การนำเข้ามีอัตราขยายตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ระดับ 32.5% คิดเป็นมูลค่า 13,514 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นไปตามการนำเข้าในทุกหมวด โดยสินค้าทุนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการนำเข้าวัตถุดิบตามการส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากผลของราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 1,372 ล้านเหรียญเป็นผลจากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนนี้เกินดุล 752 ล้านเหรียญ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,396 ล้านเหรียญ เนื่องจากการขาดดุลการค้า และดุลการชำระเงินเกินดุล 6,751 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,300 ล้านเหรียญ
นางอมรากล่าวถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายล่าสุดในเดือนมกราคม 2551 ว่า ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 684 ล้านเหรียญ โดยมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรธปท.ในตลาดรองจำนวน 105 ล้านเหรียญ และมีนักลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองจำนวน 112 ล้านเหรียญ ส่วนภาครัฐวิสาหกิจมีเงินทุนไหลเข้า 9 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการถอนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และภาคธนาคารมีเงินทุนไหลเข้า 337 ล้านเหรียญ โดยเกิดจากธนาคารพาณิชย์มีการลดสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิ เนื่องจากการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับผู้มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งเงินทุนไหลเข้าบางส่วนจากการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 122 ล้านเหรียญ ซึ่งเกิดจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เงินลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ และเงินกู้จากต่างประเทศ รวมถึงได้รับสินเชื่อการค้า โดยเฉพาะสินเชื่อน้ำมัน ประกอบกับเงินทุนไหลออกจากเงินทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยในนักลงทุนไทยในเดือนนี้ชะลอลง อย่างไรก็ดีเงินลงทุนในตลาดหุ้นยังมีนักลงทุนต่างชาติบางส่วนขายหุ้นนำเงินออกไป เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์) ในสหรัฐ
ส่วนภาคการเงิน เงินฝากของสถาบันการเงินขยายตัว 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากจากภาคครัวเรือน หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจัดโปรโมชั่นเสนอเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อจูงใจผู้ฝาก ทั้งนี้ หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินเข้าไปในเงินฝากแล้วจะส่งผลให้เงินฝากของสถาบันการเงินขยายตัว 6.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ด้านสินเชื่อก็เร่งตัวขึ้นในอัตรา 5.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
|
|
 |
|
|