หมอมิ้งไอเดียกระฉูดเตรียมศึกษา แผนตั้งกองทุนใหม่ อุ้มหนี้บริษัทบางจากดึงประชาชนเข้ามาร่วมทุนคล้าย
"กองทุนวายุภักษ" ก่อนรุกคืบเจรจาคลังหนุน โดยกองทุนฯนี้รัฐการันตีและให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝาก
ขณะที่แผนแปรรูป กิจการไฟฟ้าเตรียมจ้างที่ปรึกษาดูแผนภาพรวมยันยังไม่ได้เลือกที่ปรึกษาใดๆ
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าหลังจากที่รัฐบาล
เห็นชอบแนวทางการศึกษาของนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เป็นประธานศึกษาการแก้ไขปัญหาบริษัทบางจากปิโตรเลียม
จำกัด (มหาชน) ไปแล้วนั้นล่าสุดตนมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนขึ้นมารับภาระหนี้สินของบริษัทบางจากที่กำหนดครบชำระปีนี้
6,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้จะมาจากเงินของรัฐบาลและจากการระดมทุนของประชาชนทั่วไปวงเงินอาจจะมีประมาณ
4,000-5,000 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลืออาจมาจากผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม
(EBITDA)ของบางจากฯในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่มีมากกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับกองทุนดังกล่าวจะเป็นคนละกองทุนกับ กองทุนวายุภักษ์ที่กระทรวงการคลังจะจัดตั้งขึ้นมา
ใหม่ แต่หลักการคล้ายกัน คือ จะให้ผลตอบแทน ต่อประชาชนที่เข้ามาซื้อตราสารหรือหุ้นกู้แปลงสภาพเพื่อร่วมทุนในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ
1% โดยอัตราผล ตอบแทนอาจจะอยู่ประมาณ 3-4% จึงเชื่อว่าประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือบางจากฯจะเข้ามาซื้อตราสารดังกล่าว
ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องล้น ระบบและประชาชนก็ไม่มีความเสี่ยงเพราะรัฐบาล จะเข้ามาค้ำประกันผลตอบแทนให้
น.พ.พรหมินทร์กล่าวว่าเมื่อกองทุนฯดังกล่าวตั้งขึ้นมาแล้วจะไปรับสภาพหนี้ของบางจากฯ
6,000 ล้านบาท จากหนี้ของบางจากฯที่มีทั้งหมด 20,000 ล้านบาท และเมื่อกองทุนฯรับสภาพหนี้แล้ว
บางจากฯจะมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนลดลง จากปัจจุบัน 4.36 ต่อ 1 เหลือ 2.2 ต่อ 1 แต่ความสามารถการชำระหนี้จะเพิ่มจาก
1.24 เท่าเป็น 2.8 เท่า ทำให้บางจากฯสามารถกู้เงินหรือระดมทุนได้ เองในการดำเนินกิจการ
ประกอบกับธุรกิจของบางจากฯสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองหากไม่มีปัญหา หนี้ ดังนั้น หนี้ที่เหลือก็จะสามารถจัดการได้
และ ในอนาคตเมื่อบางจากฯมีผลประกอบการดีขึ้น กองทุนฯก็อาจจะแปลงตราสารมาเป็นหุ้นสามัญในบางจากฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวถึง นโยบายการแปรรูปกิจการไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง
(กฟน.) ว่ากระทรวงพลังงานเตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดูภาพรวม การแปรรูป 3 การไฟฟ้าว่าควรจะดำเนินการ
รูปแบบใด โดยจะเป็นการว่าจ้างควบคู่ไปกับแต่ละองค์กรที่ว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดูแผนการแปรรูปของตนเอง
ซึ่งการมองถึงภาพรวม เนื่อง จาก 3 การไฟฟ้า มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกันในเรื่องการขายไฟฟ้า
หากองค์กรใดมีรายได้มาก เกินไป ก็อาจจะทำให้กระทบต่อราคาหุ้นของหน่วยงานที่เหลือ
"ปัจจุบัน กฟน.ต้องเข้าไปจ่ายเงินช่วยเหลือ ค่าไฟฟ้าแก่กฟภ. เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศ
ซึ่งกรณีนี้คงไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมต่อ กฟน. ดังนั้น รูปแบบใหม่ก็อาจจะให้กฟผ.
กำหนดราคาขายแก่ กฟภ.ต่ำกว่า กฟน. และอาจ จะไม่จำเป็นต้องมีการตั้งองค์กรกำกับดูแลมาดูเรื่องระบบไฟฟ้าทั้งหมดก่อนแปรรูปโดยกระทรวง
พลังงานอาจจะเข้ามาดูตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาจะต้องมีการเปรียบเทียบว่าแนวทาง
ไหนจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ" น.พ. พรหมินทร์ กล่าว
สำหรับกรอบการแปรรูปโดย กฟผ.จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนมีนาคม
2547 กฟน.จดทะเบียนไตรมาสที่ 3 ปี 2547 และกฟภ.จดทะเบียนในไตรมาสที่ 4 ปี 2547
มีมูลค่าการกระจายหุ้นรวมกันนับแสนล้าน บาท ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานยังเน้นการ
จัดทำยุทธศาสตร์การลดการใช้พลังงานโดยจะนำเรื่องอัตราโบนัสมาใช้สำหรับระบบราชการ
ซึ่ง หากหน่วยงานใดไม่สามารถลดการใช้พลังงานได้ ตามกำหนดในสัดส่วน 5% ก็จะลดการให้โบนัส
ส่วนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก็จะชักจูงด้วยการลดภาษีเงินได้