เปิดรายชื่อที่ปรึกษาชิงดำงานแปรรูป กฟผ. มี 16 ราย ในประเทศ-ลูกครึ่ง 6 ราย ต่างประเทศ
10 ราย กฟผ.เผยจะคัดเลือกให้เหลือในประเทศ 2 รายและต่างประเทศ 2 ราย หวังเร่งศึกษาแผนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไตรมาสแรกปี
2547 แนะกระจายหุ้นไม่เกิน 30% มูลค่าประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยรับไหว
นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่า การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่าหลังจาก
กฟผ. ประกาศรับสมัครผู้จะเสนอเป็นบริษัท ที่ปรึกษาแปรรูป กฟผ. ขณะนี้มีผู้ยื่นเสนอเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแล้ว
16 ราย เป็นบริษัทในประเทศ 6 รายและต่างประเทศ 10 ราย คาดว่าภายใน 2 เดือน จากนี้
จะสามารถคัดเลือกได้ โดยจะเลือกบริษัทในประเทศและต่างประเทศ อย่างละ 2 ราย
16 บริษัทชิงดำ
รายชื่อทั้ง 16 บริษัท แยกได้ดังนี้ ที่ปรึกษาในประเทศ-ลูกครึ่ง 6 บริษัท
ประกอบด้วย บล. ทิสโก้ (TISCO) บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร (Merril Lynch Phatra) ในเครือกลุ่มเมอร์ริล
ลินช์จากแดนมะกัน บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) บริษัท ฟินันซ่า (FINANSA) บล.บัวหลวง และ
บล.ธนชาติ
ขณะที่ปรึกษาต่างชาติ 10 รายได้แก่ โกลด์แมนแซค (Goldman Sachs) ซิตี้กรุ๊ป (Citi
Group) ซีเอส เฟิรส์ท บอสตัน (CS First Boston) จากแดนมะกัน เครดิตเลยองเนส์ (CLSA)
จากฝรั่งเศสยูบีเอส วอร์เบิร์ก (UBS Warburg) เมอร์ริล ลินช์ (Merril Lynch) มอร์แกน
สแตนเลย์ (Morgan Stanley) เลห์แมน บราเดอร์ส (Lehman Brothers) เจพี มอร์แกน (JP
Morgan) จากแดนมะกัน และฮ่องกงเซียงไฮ้แบงก์ (HSBC) จากอังกฤษ
มาร์เกตแคป 3 แสนล้าน
แนะกระจายหุ้น 30%
"การศึกษา จะครอบคลุมทั้งตลาดในและต่างประเทศ และขอยืนยันว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใส
เลือก ประสิทธิภาพการทำงานที่เหมาะสมที่สุด เพราะกฟผ.มีมาร์เกตแคป ใหญ่ ที่สุดถึง
3 แสนล้านบาท ก็ต้องการที่ปรึกษาที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดผลดีในการแปรรูปให้ได้ประโยชน์สูงสุด"
ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว
ขอบเขตการทำงานของที่ปรึกษา การเงิน นายสิทธิพรกล่าวว่า จะต้องศึกษาทั้งระบบ
ตั้งแต่สัดส่วนการกระจายหุ้น ว่าควรจะเป็นเท่าใด ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหลังแปรรูป กฟผ.จะต้องมีสัดส่วนที่รัฐถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51%
แนะกระจายหุ้นไม่เกิน 30%
แต่เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ใหญ่ หากแปรรูปสัดส่วนหุ้นสูงเกินไป
เกรงว่าตลาดหุ้นไทยจะรับไม่ไหว โดยหากแปรรูป ถึง 33.5% ของทุนชำระแล้วของ กฟผ.
ก็จะมีหุ้นในตลาดฯ ถึง 100,000 ล้านบาท โดยในส่วนตัวแล้ว นายสิทธิพรกล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับสหภาพแรงงาน
กฟผ.ที่ควรจะกระจายหุ้นไม่เกิน 30% หรือประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท น่าจะเป็นสัดส่วนที่ตลาดหุ้นไทยพอรับได้
นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาการเงินจะต้องศึกษาธุรกิจไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ
(เอฟที) ว่าควรกำหนดอัตราเท่าใด คิดจากต้นทุนอะไรบ้าง ปัญหาเรื่องการค้าส่งไฟฟ้าระหว่าง
กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควรจัดการอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้
จะส่งผลทำให้ราคาหุ้น กฟผ.เป็นที่ดึงดูดนักลงทุน
อาจถอนยวง 2 บริษัทไฟฟ้า
การศึกษาดังกล่าว จะครอบคลุมบริษัทใน เครือ กฟผ. อีก 2 แห่ง คือบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี
โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน ว่า เมื่อกฟผ.เข้าตลาดหุ้นแล้ว
ควรจะถอนทั้ง 2 บริษัท หรือไม่ด้วย โดยผลศึกษาทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ผู้ว่าฯกฟผ.กล่าวว่า สำหรับการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ระยะเวลาที่เหมาะสม
น่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกปี 2547 เนื่องจากปกติ ตลาดหุ้นช่วงนี้จะคึกคัก อย่างไรก็ตาม
ปัจจัยราคาหุ้น ยังขึ้นกับนโยบายรัฐบาล เรื่ององค์กรกำกับดูแลค่าไฟฟ้า ด้วยว่า
จะกำกับอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจค่าไฟฟ้า และความโปร่งใสในการดำเนินการ
การคัดเลือกที่ปรึกษาการเงิน คัดเลือกจากประสบการณ์ทำงานของบริษัท และคุณสมบัติเจ้าหน้าที่
สัดส่วนประเภท 30% อีก 40% เป็นการให้คะแนนจากคอนเซ็ปต์ดำเนินการ โดยที่ปรึกษาพิจารณาจากสัดส่วนเปอร์เซ็นต์มูลค่าการแปรรูป
ส่วนใหญ่ จะเสนอ 2-2.5% โดยหากกระจายหุ้น 80,000 ล้านบาท จะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า
1,600 ล้านบาท