|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อการแข่งขันในตลาดนมถั่วเหลือง และน้ำส้ม ต่ำกว่า 20% เริ่มร้อนระอุขึ้น ส่งผลทำให้บริษัทกรีน สปอต จะต้องเผชิญศึกหนักทั้ง 2 ด้าน เพราะสินค้าสร้างรายได้หลักคือ ไวตามิ้ลค์ ที่เป็นสัดส่วนรายได้ 96% โดยตลาดนมถั่วหลือง ถูกไล่บี้โดยบรรดาผู้เล่นรายใหม่ที่เปิดฉากเข้ามาท้าชิงส่วนแบ่งตลาด เพราะมองเห็นโอกาส และอนาคตทางการตลาดอันงดงามของนมถั่วเหลืองที่มาแรงในกระแสสุขภาพ ในขณะที่กรีนสปอต สินค้าสร้างรายได้ในสัดส่วน 4 % ยังโดนกระหน่ำจาก 2 ค่ายยักษ์คือ สแปลช ของโค้ก ส่วนเป๊ปซี่ ส่งทวิสเตอร์ เข้ามาเปิดศึกในตลาดน้ำส้มด้วยเช่นกัน
การรักษาฐานลูกค้านั้น เรียกว่าต้องเปิดศึกรอบด้าน เพราะสินค้าของบริษัทกรีนสปอต มีทั้ง ไวตามิ้ลค์ ในตลาดนมถั่วเหลือง วีซอย ตลาดนมไฮแคลเซียม และกรีนสปอต ในตลาดน้ำส้ม ต่ำกว่า 20% ซึ่งการทำตลาดมีระดับความยากง่ายที่ต่างกัน เพราะแม้จะมีส่วนแบ่งตลาดนมถั่วเหลืองเป็นลำดับต้นๆ ทว่าตลาดน้ำส้มนั้น หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กรีนสปอต เจอกับคู่แข่งรายใหญ่อย่างสแปลช และทวิสเตอร์ ที่เข้ามาสร้างยอดขายในตลาดน้ำส้มต่ำกว่า 20% ในตลาดขวดคืนนั้น ก็ทำให้ตัวเลขยอดขายน้ำส้มกรีนสปอต ที่สัดส่วนสูงถึง 80% มีบรรจุภัณฑ์เป็นแบบขวดคืน และขายผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไปได้รับผลกระทบ และส่งผลทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ยังส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการของบรรจุภัณฑ์แบบขวดคืนที่ต้องวิ่งรถไป 2 เที่ยว เพราะนอกจากการจัดการส่งแล้วต้องรับขวดด้วย ซึ่งบางครั้งไปรับขวดแต่มีไม่เต็มลัง
ที่สำคัญหากเปรียบเทียบการแข่งขันของตลาดน้ำส้ม ต่ำกว่า 20 %ในยุคนี้ นับว่าเปลี่ยนไปจากอดีตมาก เพราะจากเดิมที่มีผู้เล่นไม่มากนัก และมี ไบเล่ ที่เป็นคู่แข่งเพียงแบรนด์เดียว ซึ่งมีความแข็งแกร่งเทียบเท่ากรีนสปอต ซึ่งในระยะหลัง ไบเล่ ก็มีการปรับตัวทางด้านแพ็กเก็จจิ้ง ออกขวดเพ็ต และเพิ่มรสชาติใหม่ๆเข้ามาทำตลาด ดังนั้นกรีนสปอต ผู้นำตลาดในอันดับต้นๆ จึงต้องออกมาแก้เกมในเชิงรุก เพื่อรับมือกับสภาวะที่จะต้องเผชิญศึกรอบด้าน เพราะในยุคใหม่ของการแข่งขันที่เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดน้ำส้มนั้น หากโฟกัสในตลาดน้ำส้มต่ำกว่า 20% แม้ว่าผู้เล่นจะมีไม่กี่รายคือ สแปลช ทวิสเตอร์ และเซกิ แต่เมื่อยักษ์รบกัน ก็ทำให้ กรีนสปอต ต้องปรับตัวเองมาวางกลยุทธ์การทำตลาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
พลิกเกม ชูความเก๋าแบรนด์ เน้นตลาดน้ำส้มขวดวันเวย์
ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้น การปรับวางยุทธศาสตร์ " 4 P" ของกรีนสปอตใหม่ นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุกๆด้านที่เริ่มโดนจู่โจมจากคู่แข่งรายใหม่อย่างสาหัส นับตั้งแต่ปี 2549 เริ่มปรับทางด้านบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยลดสัดส่วนขวดคืนวันเวย์เหลือ 50% และหันมาโฟกัสขวดวันเวย์เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 50% อีกทั้งการทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้า รวมทั้งลดจุดอ่อนของกรีนสปอตที่ซื้อหาได้ยาก โดยเพิ่มช่องทางการขายที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 4,000 สาขาทั่วไประเทศ ส่วนสเตปต่อไปคือ การขยายตลาดต่างจังหวัดในร้านค้าที่ยังไปไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่จะมีขายเฉพาะภาคกลาง
อย่างไรก็ตามหลังจากปีแรกที่เริ่มปรับใหม่นั้น ทำให้อัตราการเติบโตของกรีนสปอต บรรจุภัณฑ์ขวดวันเวย์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในปีแรกของการปรับตัว มีการเติบโตถึง 1,048% ซึ่งจากนี้ไปขวดวันเวย์จะเป็นบรรจุภัณฑ์หลักของการทำตลาดน้ำส้มกรีนสปอต
นอกจากปรับยุทธศาสตร์ทางด้านบรรจุภัณฑ์ใหม่แล้ว กรีนสปอต ยังหันมาให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์การทำตลาดที่มุ่งเน้นในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ โดยการเปลี่ยนโพซิชันนิ่งสินค้าใหม่ และปรับโลโก้ เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าใหม่ ในกลุ่มอายุ 18-25 ปี จากเดิมที่จับกลุ่มเป้าหมายอายุ 30 ขึ้นไป
รวมทั้งปรับแพกเกจจิ้งให้ดูทันสมัย ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานั้น ได้เปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีการออกแบบลวดลายกราฟิกข้างขวด และหลังจากนั้นมีการวิจัยผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์กรีนสปอตพบว่า ผู้บริโภคจะเริ่มเห็นแบรนด์กรีนสปอตมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อให้ดูทันสมัย
ส่วนการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อนั้น กรีนสปอต มีงบการทำตลาดปีละไม่ถึง 10 ล้านบาท เพราะหากเทียบกับผู้เล่นในตลาดรายอื่นที่ทุ่มงบปีละกว่า 100 ล้านบาท โดยจะเน้นการสื่อสารผ่านป้ายบิลบอร์ดในกรุงเทพฯ 4 ป้าย และสื่อผ่านลวดลายกราฟฟิกที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสื่อ ณ จุดขาย ในรูปแบบที่เข้าถึงและรองรับลูกค้าทั้งสองกลุ่ม
ชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการตลาด บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มกรีนสปอต ไวตามิ้ลค์ และวีซอย บอกว่า "ในอดีตโฆษณา กรีนสปอตยอดน้ำส้ม ภาพสาวใส่บิกินี่ ที่สื่อความเป็นสาวเปรี้ยวหน่อยๆ ตอนนี้เชื่อว่ายังรักษาฐานโทนได้ โดยปรับให้มาเป็นสาวร่วมสมัย หรือเป็นผลไม้ที่เปรี้ยวอมหวาน ที่สำคัญคือความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ด้วยการย้ำจุดขายความเป็นแบรนด์ที่อยู่มานานแต่ร่วมสมัย และการแบรนดิ้งที่มีมานาน เพราะใครก็เป็นน้ำส้มได้ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้กรีนสปอตต่อกรกับคู่แข่งที่เป็นแบรนด์ใหม่มาครบเครื่องทั้งบรรจุภัณฑ์ ความสะดวก บวกราคา และมีเดียไม่อั้น นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าค่ายใหม่ที่ลงมาทำตลาด ที่เป็นกลุ่มน้ำผลไม้นั้น จะชูการแบรนดิ้งเป็นเรื่องสำคัญ"
ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขภายในช่วง 2 ปีหลังกลยุทธ์เปลี่ยนโพซิชันนิ่ง จากเดิมที่มีรส "ออเรนจ์" เป็นธุรกิจหลักของบริษัทนั้น ยังมีการแตกไลน์สินค้าใหม่ โดยเพิ่มรสชาติใหม่คือ "เลม่อน" เข้ามาเสริมศักยภาพการทำตลาดเฉพาะในช่องทางร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยแผนการตลาดเดิมจะขายเป็นซีซันนัล แต่จนถึงปัจจุบันขยายเวลามาเป็น 6 เดือน ซึ่งหลังจากที่มีรสชาติเลม่อน เข้ามาช่วยขยายตลาดเป็น 2 รสชาติ ทำให้ภาพรวมธุรกิจของน้ำส้มกรีนสปอตมีอัตราการเติบโตมาก โดยยอดขายในปี 2550 เติบโต ถึง 24%
สำหรับการวางกลยุทธ์การตลาดในปีนี้ ชนิต กล่าวว่า "เมื่อการปรับ กรีนสปอต ให้ทุกอย่างลงตัวแล้ว ตอนนี้กำลังดูเรื่องแพกเกจจิ้ง และวางแผนในช่วงกลางปีนี้ จะเปิดตัวสินค้าใหม่ออกมาอีกหลายระลอก ซึ่งในปีนี้ได้เตรียมงบประมาณการทำตลาดไว้ 15 ล้านบาท เพื่อจะมองหาช่องว่างในตลาดที่ไม่ไปรบกวนแบรนด์ใหญ่ เพราะในตลาดรวมน้ำส้มต่ำกว่า 20% มูลค่า 4.5 พันล้านบาท แต่ละค่ายก็พยายามสร้างจุดแตกต่างและหาตลาดที่ต่างกัน"
แตกไลน์สินค้า เจาะตลาดทุกกลุ่มกลยุทธ์ปกป้องตลาดนมถั่วเหลือง
ส่วนตลาดนมถั่วเหลือง มูลค่าประมาณ 6,500 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้น 10-15% ที่มีแบรนด์ ไวตามิ้ลค์ เป็นตัวทำตลาดนั้น นอกจากจะต้องแข่งขันเพื่อรักษาบัลลังก์กับคู่ปรับรายเดิมคือ แลคตาซอย ที่มีการส่งรสชาติใหม่ และบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก และใหญ่ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงรุกแล้ว ยังถูกจู่โจมอย่างหนัก จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีสายป่านยาวและพร้อมจะทุ่มเม็ดเงินทำตลาดแบบครบเครื่องอย่าง โฟร์โมสต์ ไฮไฟว์ ซึ่งนับตั้งแต่ค่ายยักษ์ใหญ่เปิดฉากลงมาถล่มในตลาดนมถั่วเหลืองนั้น ทางไวตามิลค์ ก็ออกมาเคลื่อนไหวรับมือ ที่มีทั้งเกมรับ และในเชิงรุก ล่าสุดคือการออกไวตามิ้ลค์ทูโก ที่ออกแบบแพกเกจจิ้ง และเพิ่มปริมาณที่เหมาะสม สอดคล้องกับการวางตำแหน่งสินค้าที่เป็นนมถั่วเหลืองสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ชาย
รวมทั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดตัว "วีซอย" นมถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นไฮแคลเซียม ซึ่งตลาดนมไฮแคลเซียมที่วีซอย เข้ามานั้นมี "ดีน่า" ของค่ายดัชมิลล์เป็นเจ้าตลาด โดยเข้ามาทำตลาดก่อนประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยชูจุดขายในคุณค่าของ "งาดำ" ที่เน้นจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่วัยทำงาน แต่วีซอย วางจุดขายนมถั่วเหลืองไฮแคลเซียม ที่เน้นจับกลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ปีขึ้นไป พร้อมทั้งวางแนวทางการตลาดเพื่อตอกย้ำแนวคิดของแบรนด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เราจะแข็งแร็งไปด้วยกัน"
ส่วนวิธีการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนี้ นอกจากสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณาแล้วยังมี การแจกสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าได้ทดลอง จากปีที่แล้วแจก 1 ล้านชิ้น ส่วนปีนี้ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับส่งทีม "คลินิกย่อย" เข้าไปให้บริการตรวจแล้ววิเคราะห์มูลกระดูกไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ตามออฟฟิศบิลดิ้ง และตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 50 จุด โดยใช้งบการทำตลาด 55 ล้านบาท
การลงตลาดนมไฮแคลเซียมของวีซอยนั้น ถือว่าหลีกเลี่ยงการชนกับแบรนด์อื่นๆที่อยู่ในตลาด เพราะเห็นได้ว่าภาพในตลาดโดยรวม ส่วนใหญ่จะขยายกลุ่มเป้าหมายลงมา และไม่มีแบรนด์ไหนทำตลาดโดยตรงกับกลุ่มอายุ 40 ปี ซึ่งวีซอยเข้ามาปักหลักกลุ่มนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยนำครอบครัวของปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มาเป็นพรีเซนเตอร์
"เพราะใครๆก็ลืมวัยเริ่มต้น ทำให้ง่ายกับการทำตลาด ที่สำคัญผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนเกือบ 40 % ของประชากรทั้งประเทศ" ชนิต กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของแต่ละค่ายในตลาดนมไฮแคลเซียม ส่วนใหญ่จะเริ่มปรับเป้าหมายการทำตลาดไปจับกลุ่มเป้าหมายที่แข่งขันในตลาดเดียวกัน ล่าสุด นมแอนลีน มีการปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยจากเดิมที่สื่อสารการตลาดผ่านพรีเซนเตอร์จาก ป้าจิ๊-อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เปลี่ยนมาเป็น มาช่า วัฒนพานิช ขณะที่การทำตลาดนมไฮแคลเซียมของโฟร์โมสต์ ก็ออกแคลซีเม็กซ์ บิวตีว่า เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุน้อยลงเช่นกัน
ปีที่ผ่านมายอดขายวีซอยเติบโตเพิ่มขึ้น 50% และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เพิ่มเป็น 5.3% จากตลาดรวมนมไฮแคลเซียมมูลค่า 2,621 ล้านบาท ที่มีการเติบโต 13.6% จากตลาดนมพร้อมดื่มทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากลูกค้ากลุ่มนมโคไฮแคลเซียมที่มีการสวิตช์แบรนด์ เนื่องจากมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาดนมโคไฮแคลซียมลดลง รวมทั้งปัจจัยด้านการเปิดตัวสินค้าใหม่ อาทิวีซอย ผสมข้าว 3 ชนิด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง และข้าวสีนิล ซึ่งเป็นสูตรที่พัฒนาขึ้นตามสูตรชีวจิต และยังเป็นรสชาติที่ตลาดต่างจังหวัดมีความคุ้นเคยด้วยเช่นกัน ส่วนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของวีซอยเพิ่มขึ้นอีก 40% และมีส่วนแบ่งการตลาด 6% ของนมไฮแคลเซียม
นายชนิต กล่าวอีกว่า นอกจากการสื่อสารผ่านสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ภายใต้แนวคิด "เราจะแข็งแรงไปด้วยกัน" ของวีซอยแล้ว ทางบริษัทจะมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ในลักษณะมินิคลินิก การตรวจมวลกระดูก การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 50 จุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับการแจกสินค้าตัวอย่างอีกกว่า 1 ล้านชิ้นด้วย ขณะเดียวกันจะมีการขยายจุดจำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์เกตตามหัวเมืองหลักๆ ทั่วประเทศด้วย
ส่วนแนวทางการขยายตลาดของวีซอยที่อยู่ในเซกเมนต์ไฮแคลเซียม จากนี้ไปนั้นจะเน้นที่ 2 ตลาด ทั้งตลาดนมโค และนมถั่วเหลือง และจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มเป้าหมายอายุ 35 ปี ที่น่าสนใจการโฟกัสตลาดเป้าหมายที่กลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ ส่วนหนึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ วีซอย ซึ่งเป็นนมถั่วเหลือง ช่วงชิงตลาดมาจากแบรนด์ที่เป็นนมโคไฮแคลเซียมได้ นั่นเป็นเพราะว่ากลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกบางส่วนใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับการดื่มนมวัว โดยสัดส่วนระหว่างนมถั่วเหลือง และนมโค ในตลาดไฮแคลเซียม มีสัดส่วนพอๆกัน ประมาณ 32% ของตลาดรวมนมไฮแคลเซียมในปี 2550 มูลค่า 2.6 พันล้านบาท โดยมีดีน่า ครองอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 39.7% แคลซีเม็กซ์และบิวตีวา มีส่วนแบ่งรวมกัน 29% แอนลีน 8.5% ตามลำดับ
ทางด้านพฤติกรรมของบริโภคที่มีต่อนมไฮแคลเซียม แม้ว่าผู้บริโภคยังไม่นิยมกัน แต่แนวโน้มไฮแคลเซียมจะเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีนมถั่วเหลืองไฮแคลเซียม ที่ราคายังไม่สูงมากเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด ส่วนการทำตลาดของวีซอยที่ผ่านมานั้น ไม่ต้อง Educate ตลาดมากนัก เพราะจุดแข็งของการมีสินค้าทั้ง 2 ตลาดนั้น วีซอย เน้นจับกลุ่มระดับเอบี ส่วนตลาดแมสเป็นหน้าที่ของไวตามิลค์เป็นตัวบุก ซึ่งมีแบรนด์ไวตามิ้ลค์ แชมป์ ที่เป็นสะพานเชื่อมตั้งวัยเด็ก ประถมปีที่ 6 ส่วนไวตามิลค์ เข้ามารับช่วงมัธยมการศึกษาไปจนถึงอายุ 35 ปี หลังจากนั้นวีซอย มารับต่อจากไวตามิ้ลค์ ที่เรียกว่าดื่มได้ทั้งครอบครัว
ชนิต กล่าวในตอนท้ายว่า มูลค่าตลาดรวมของนมไฮแคลเซียมในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโต 9% มากกว่าตลาดนมรวมที่เติบโตประมาณ 6% ขณะที่นมยูเอชทีเติบโต 9% ส่วนนมสเตอริไรซ์ที่มีผู้เล่นในตลาดหลักเพียงแบรนด์เดียวคือ นมตราหมี มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือ 72%
|
|
|
|
|