"ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต" เบียดแทรกสารพัดช่องทางขาย โดยเฉพาะช่องทาง "นอน แบงก์" ทั้งกองทัพตัวแทน และเทเลมาร์เก็ตติ้ง แต่ยังต้องพึ่งพาบทบาท สาขาและบริษัทในเครือ แบงก์ใบโพธิ์เป็นฐานกำลังหลัก เพื่อขยายเบี้ยใหม่ ....
ปีนี้เป็นปีแรกที่ การประกาศตัวเลขผลประกอบการ ปี 2550 ของ บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต มีตัวแทนจากฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์มานั่งประกบอยู่ข้างๆ
และก็ไม่ผิดหวัง ตัวเลขผลประกอบการยังมี หน้าตาสะสวย จากเบี้ยรับปีแรก 6,160 ล้านบาท ขยายตัว 21% เบี้ยปีต่อไปอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท เติบโต 22%คิดเป็นเบี้ยรับรวม 12,200 ล้านบาท ขยายตัว 22% ครองอันดับ 5 ในตลาด
โดยปีนี้ ช่องทางขายผ่านสาขาแบงก์หรือ แบงแอสชัวรันส์ ยังครองพื้นที่หลัก มีเบี้ยรับปีแรก 4,980 ล้านบาท ขยายตัว 18%
ขณะที่ช่องทางอื่นที่ไล่ตามหลัง และทำท่าจะเป็นดาวเด่นก็คือ ช่องทางตัวแทน และเทเลมาร์เก็ตติ้ง โดนฝ่ายแรกมีเบี้ยรัยปีแรก 634 ล้านบาท ขยายตัว 33% มีตัวแทนใหม่ 2,378 คน เพิ่มขึ้น 28% ส่วนสายงานธุรกิจเฉพาะ ทั้ง ตลาดองค์กร เทเลมาร์เก็ตติ้ง เครดิตไลฟ์ และประกันกลุ่ม มีเบี้ยรับปีแรกรวม 540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 395
ว่ากันว่า ตลาดนอนแบงก์ ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงกว่า แหล่งรายได้หลักหรือ แบงแอสชัวรันส์ เป็นปีแรก โดยเฉพาะช่องทางตัวแทน ที่มีการขยายตัวสูงสุดในรอบ 32 ปี เพราะเป็นพื้นที่ใหม่ ที่เพิ่งจะเทน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
การถือหุ้นคนละครึ่งกับ แบงก์ใบโพธิ์ คือ จุดแข็งสำหรับ ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ และที่ผ่านมาประกันชีวิตก็ถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ได้สูงสุด โดยปี 2550 มีรายได้ค่าธรรมเนียม 2,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด
ขณะที่ธุรกิจบริษัทจัดการกองทุน ที่เติบโตไม่แพ้กัน ยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพียง 800-900 ล้านบาทเท่านั้น โดยตั้งเป้าหมายว่า ประกันชีวิตจะทำรายได้ค่าธรรมเนียมให้ไม่น้อยกว่า 15-20% ในปีนี้
อดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์เงินฝาก และการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ทุกสาขาทั้ง 800 แห่งจะมีสินค้าทางการเงินวางขาย หลังจากเริ่มต้นมาได้ 4-5 ปี แต่ลูกค้ายังไม่คุ้นเคย แต่ปัจจุบันคนเริ่มยอมรับมากขึ้น แต่ฐานลูกค้าในธนาคารที่ซื้อกรมธรรม์ยังน้อยอยู่ ดังนั้นในสาขาธนาคารจึงต้องมีสินค้าหลากหลายมาผสมกันเพื่อให้เหมาะกับลูกค้า
" เริ่มจาก เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรามีฐานลูกค้าธนาคารซื้อกรมธรรม์เพียง 1 หมื่นกว่าคน จนปี 2549 ลูกค้าใหม่เพิ่มเป็น 1 แสนคน ในปี 2550 มีลูกค้าธนาคารเพิ่มเป็น 1.2 แสนคน และปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 3.5 แสนราย โดยปีนี้จะให้ความสำคัญกับตัวสินค้าที่จะสร้างรายได้ให้กับธนาคาร โดยธนาคารจะมีการซัพพอร์ต เน้นให้คุณภาพพนักงาน การบริการ และให้คำปรึกษาการวางแผนทางการเงินได้"
ปัจจุบัน สาขาไทยพาณิชย์ มีพนักงานที่มีไลเซ่นส์ขายประกันชีวิตได้ ราว 1,800 คน ทั่วประเทศ และจะเพิ่มการฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้ในเรื่องสินค้า และการวางแผนการเงิน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ธุรกิจขยายตัว 20-30%
โดนัลด์ คาร์ดีน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ยอมรับว่า ผลงานของสายงานตัวแทน ทำให้เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของตลาด และเป็น 1 ใน 3 ของเบี้ยปีแรกสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยจะผลักดันนโยบายขยายช่องทางนอน แบงก์เพื่อให้ทัดเทียมกับช่องทางแบงแอสชัวรันส์ต่อไป
" แบงแอสชัวรันส์ยังเป็นแหล่งทำรายได้หลัก แม้จะต้องเสริมทัพตัวแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งก็มียอดขายสูงสุดในกลุ่มธุรกิจเฉพาะ คือ ขยายตัวถึง 67%"
โดนัลด์ อธิบายว่า การขายผ่านช่องทางแบงก์ ก็จะขยายเข้าไปในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ในส่วนของเครดิตไลฟ์ ในขณะที่ช่องทางอื่น ก็จะผลักดันให้เติบโตมากขึ้น อาทิ ประกันกลุ่ม ที่ปีนี้ขยายตัวถึง 246% เวอร์คไซส์ มาร์เก็ตติ้ง ในกลุ่มข้าราชการ จะเพิ่มพนักงานขายอีก 50%
ส่วนเทเลมาร์เก็ตติ้ง ที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาจึงมีทั้งบริหารเอง และว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการให้ ในส่วนประกันกลุ่มก็จะมองหาตลาดใหม่ โดยจะร่วมกันพันธมิตรโบรกเกอร์มากขึ้น ขณะที่ตลาดอื่นก็มี สหกรณ์ออมทรัพย์ และลิสซิ่งที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายในอนาคต
รุ่งโรจน์ กิติยานุภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตัวแทน ตั้งเป้าปีนี้จะมีตัวแทนใหม่ 3,000 คน เป็นตัวแทนทำงาน2,551 คน และวางแผนจะมีส่วนแบ่งการตลาดช่องทางตัวแทนให้เท่ากับช่องทางแบงแอสชัวรันส์ในปี 2555 ในสัดส่วน 50 ต่อ 50
ทั้งนี้จะเน้นการเติบโตใน 5 ส่วนหลัก จาก เบี้ย จำนวนราย ตัวแทนใหม่ อัตราการทำงาน และวัดความคงอยู่ของตัวแทน โดยปี 2551 จะขยายสาขาเพิ่มอีก 8 แห่ง...
|