|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติเตรียมจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทย เน้นพิจารณาผลประกอบการ คุณภาพของการบริหารสินทรัพย์ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ส่วนแผนมาสเตอร์แพลน 2 ที่เน้นการเปิดเสรีในการแข่งขันมากขึ้นล่าสุดมีข้อเรียกร้องจากสาขาต่างชาติให้คิดเงินกองทุนตามบริษัทแม่ในต่างประเทศ ขณะเดียวกันพบสาขาธนาคารต่างชาติ 1 แห่งลงทุนในซับไพรม์ แต่จิ๊บจ๊อย
นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างเข้าไปตรวจสอบและติดตามฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทย รวมทั้งสาขาธนาคารต่างชาติ และจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ รวมถึงจัดอันดับตามระดับต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบลดลงไม่มากนัก ประกอบกับปัญหาการเมือง และการนำมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39(IAS39) มาใช้ ทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสร้างให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข่งแกร่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งเริ่มมีระดับที่ดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยในปีนี้ธปท.จะพิจารณาการจัดอันดับของสถาบันการเงิน โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องผลประกอบการ คุณภาพของการบริหารสินทรัพย์ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอสเรโช) และการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งต่างกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศอย่างบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์(เอสแอนด์พี)และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสที่จะเน้นเรื่องเอ็นพีแอลและผลประกอบเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้มีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ออกมารองรับการเปิดเสรีมากขึ้น โดยในประเด็นหนึ่งของแผนดังกล่าวที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา คือ สาขาธนาคารต่างชาติเรียกร้องให้ธปท.คิดเงินกองทุนจากเงินกองทุนของบริษัทแม่ที่เปิดสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ จากเดิมที่คิดจากเงินที่บริษัทแม่นำส่งมาให้สาขาต่างประเทศที่เปิดในไทย โดยคาดว่าจะสรุปผลเรื่องนี้ได้ในช่วงต้นปี 2552 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียบกันในการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยกับสาขาธนาคารต่างชาติ
โดยทั่วไปแล้วธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ได้ไม่เกิน 25%ของเงินกองทุน ซึ่งหากคำนวณเงินกองทุนของบริษัทแม่ในต่างประเทศของสาขาธนาคารต่างชาติที่เปิดในไทยจะมีจำนวนมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันได้ทั้งขนาดที่เล็กกว่าและเงินกองทุนน้อย แต่หากไม่เปิดการแข่งขันนักลงทุนต่างชาติก็ไม่เข้ามาทำธุรกิจในไทย จึงจำเป็นต้องพิจารณาเงินกองทุนโดยยึดธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหลัก เพราะมีส่วนแบ่งในการตลาดมากถึง 80% เทียบกับสาขาธนาคารต่างชาติ 20% แม้จะมีจำนวนสถาบันการเงินเท่ากัน คือ 17 แห่งก็ตาม
“เรามองว่าบริษัทแม่ในต่างชาติต้องการให้สาขาธนาคารต่างชาติปล่อยกู้มากก็ควรเอาทุนเข้ามาใส่มาก ซึ่งไม่ใช่คิดจากเงินกองทุนของบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะหาประโยชน์จากการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากเงินทุนที่ส่งมากให้สาขาธนาคารต่างชาติในไทยก็ควรมีหลักเกณฑ์อะไรเป็นตัวล็อกด้วย เช่น อย่างน้อยอนุญาตให้สาขาธนาคารต่างชาติเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการแข่งขันในไทยด้วย”
นายพงศ์อดุล กล่าวว่า สำหรับปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ของสหรัฐเท่าที่ธปท.ตรวจสอบ นอกเหนือจากสถาบันการเงินไทย 4 แห่งก็ยังมีสาขาธนาคารต่างชาติ 1 แห่ง แต่มีจำนวนที่น้อยมาก ประกอบกับมีแหล่งเงินทุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ จึงซึ่งเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและฐานะ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหานี้ ธปท.มีการแนะนำให้สถาบันการเงินมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อลดความเสียหาย ขณะเดียวกันธปท.เองก็มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้สถาบันการเงินลงทุนในหุ้นไม่เกิน 20%ของเงินกองทุนสถาบันการเงินนั้นๆ และไม่เกิน 10%ของเงินกองทุนบริษัทที่สถาบันการเงินนั้นไปลงทุนด้วย
|
|
 |
|
|