รัฐบาลจีนใช้เวลาเตรียมการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปีนี้มาอย่างยาวนานนับสิบปี อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 (ค.ศ.2001)
ปลายปีที่แล้วผมอ่านหนังสือพิมพ์เจอรายงานในสื่อจีนระบุว่ารัฐบาลจีนลงทุนกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ไปทั้งสิ้น 35,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่าล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนทางตรง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินลงทุนทางอ้อมอีก 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวน 4 เท่าของโอลิมปิกที่เอเธนส์ กรีซ และถือเป็นการลงทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกีฬาโอลิมปิกครั้งใดๆ[1]
แน่นอนว่าด้วยเงินลงทุนมหาศาลขนาดนี้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำต้องคาดหวังผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกมากกว่า รายได้จากการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศ หรือเพื่อยกศักดิ์ศรี-ความภาคภูมิใจของคนในชาติจากการได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โดยจีนนั้นมุ่งหวังว่าการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ เหมือนๆ กับที่เกาหลีใต้เคยทำได้หลังการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2531 (ค.ศ.1988)
อย่างไรก็ตาม การวางแผนอันยาว นานนับสิบปีของจีนนั้นเดินทางมาถึงจุดสุ่มเสี่ยงครั้งใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์การนองเลือดที่กรุงลาซา เมืองเอกของทิเบตขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ล่าสุดขณะที่ผมกำลังปิดต้นฉบับอยู่นั้น สื่อรัฐบาลจีนระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ขณะที่รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียระบุจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่รัฐบาลจีนระบุถึง 8 เท่า หรือเท่ากับ 80 ราย
การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และพลเรือนนั้นมีสาเหตุ อันเนื่องมาจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องเอกราชของทิเบต ในวาระครบรอบ 49 ปีของการลี้ภัยออกจากทิเบตของทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตใจของชาวทิเบตรวมทั้งเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2532 (ค.ศ.1989) หนึ่งในศัตรูเบอร์ต้นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ จีน โดยการชุมนุมเรียกร้องเอกราชนี้มีการขยายวงไปทั่วโลก ทั้งยังมาพร้อมคำขู่ของชาวทิเบตที่ลี้ภัยอยู่ ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดียว่าจะเคลื่อนทัพเพื่อเหยียบทิเบตในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย
ความรุนแรงในทิเบตที่เกิดขึ้นก่อนกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นไม่ถึง 5 เดือนดีนั้น เปรียบได้กับประกายไฟที่ปะทุขึ้นบนพื้นที่นองด้วยน้ำมัน เนื่องด้วยแต่เดิมทีรัฐบาลจีนก็ถูกนานาชาติโจมตีอย่างหนักอยู่แล้วในหลายๆ ประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การวางตัวเฉยกับปัญหาภายในของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น พม่า หรือ เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ในแอฟริกาที่รัฐบาลจีนถือเป็นผู้ขายอาวุธและยุทโธปกรณ์รายใหญ่ให้แก่รัฐบาลซูดาน
สำหรับท่าทีนิ่งเฉยของรัฐบาลปักกิ่งต่อเหตุการณ์ที่ดาร์ฟูร์นั้นถึงกับทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สตีเฟน สปิลเบิร์ก ผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ ขอยกเลิก การเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์พิธีเปิดและปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง โดยให้สาเหตุว่าเนื่องจากรัฐบาลจีนไม่พยายามยุติปัญหาความขัดแย้งในดาร์ฟูร์[2]
แท้จริงแล้วก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนและชาวจีนมีการคาดการณ์มาตลอดว่าก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นอาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ทิเบต เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นปัญหากวนใจรัฐบาลจีนนั้นมีมากมายหลายเรื่องที่ดูจะก่อให้เกิดความรุนแรงได้มากกว่าปัญหาทิเบต ตั้งแต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดอย่างเช่น ความพยายามที่จะแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันที่นำโดยประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน ประเด็นการก่อการร้ายที่เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์-ซินเจียง โดยกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมในนามขบวนการแห่งอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก หรือ ETIM (East Turkestan Islamic Movement) รวมไปถึงสถานการณ์ในอิหร่านและเกาหลี เหนือด้วย
กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับไต้หวันนั้น เดิมทีถึงกับมีการข่มขู่ว่าอาจก่อให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งจะลามกินพื้นที่ทั่วชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีน เนื่องจากทางไต้หวันก็ตอบโต้คำข่มขู่ของจีนเช่นกัน โดยระบุว่าถ้าหากจีนใช้กำลังทหารกดดันไต้หวันอย่างรุนแรง หรือยกพลขึ้นยึดเกาะ ฝ่ายไต้หวันก็อาจจะใช้วิธีการยิงขีปนาวุธตรงไปยังศูนย์กลางทางการทหารและการเมืองอย่างกรุงปักกิ่งเพื่อตอบโต้เช่นกัน และนั่นก็หมายความว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่งคงจะต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย
ซึ่งในประเด็นนี้เมื่อหลายปีก่อนในหมู่ประชาชนชาวจีนเคยมีการสำรวจความเห็นไว้เช่นกันว่า หากเกิดความขัดแย้งใหญ่ระหว่างจีนกับไต้หวันขึ้นจริงประชาชนบนผืนแผ่นดินใหญ่จะยอมให้กีฬาโอลิมปิกยกเลิกหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ของจีนให้ความสำคัญกับเรื่องไต้หวันมากกว่ากีฬาโอลิมปิก
กระทั่งล่าสุดปัญหาเรื่องสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันนั้นแทบจะเลิกพูดถึงกันไปแล้ว เนื่องจากในช่วงหลังมานี้ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 ที่ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง เหลียน จั้น บุกไปจับมือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน หู จิ่นเทา ถึงมหาศาลาประชาชนกลางกรุงปักกิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันก็ดีขึ้นเป็นลำดับ และชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเลือกตั้งใหญ่ของพรรคก๊กมินตั๋งในปีนี้ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า สงครามใหญ่ระหว่างจีนกับไต้หวันคงไม่เกิดขึ้นแน่ๆ อย่างน้อยๆ ก็ในปีนี้ รวมไปถึงอีกหลายปีข้างหน้าด้วย
กระนั้นเหตุการณ์ ณ ปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าเชื้อไฟแห่งความรุนแรงปะทุขึ้นมาก่อนนั้นกลับไม่ใช่สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่อยู่คนละซีกของช่องแคบไต้หวัน แต่กลับกลายเป็นเชื้อไฟที่ปะทุขึ้นในประเทศจีนเองบนดินแดนหลังคาโลก และเริ่มขยายวงลุกลามออกไปกว้างขึ้นทุกทีๆ
โดยหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทิเบต คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีนักกีฬาชั้นนำหลายคนอาจตัดสินใจไม่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม เนื่องจากหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัยและต้องการประท้วงรัฐบาลจีนในฐานะเจ้าภาพ[3] ขณะที่ก็มีคณะกรรมการโอลิมปิกสากลของบางประเทศที่ออกมาปฏิเสธความเชื่อมโยงกันของความรุนแรงในทิเบตกับกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง อย่างเช่น นายจอห์น โคตส์ ประธานกรรมการโอลิมปิกออสเตรเลียออกมาระบุว่าออสเตรเลียจะไม่บอยคอตต์โอลิมปิกที่ปักกิ่ง และจะส่งทัพนักกีฬา 500 คนเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน[4]
ในความเป็นจริงแล้วการแสดงทัศนะและท่าทีของรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลของโลกตะวันตกต่อกรณีความรุนแรงในทิเบต ณ ชั่วโมงนี้นั้นก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่จีนได้เติบโตกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้หากจะย้อนกลับไปพลิกหน้าประวัติศาสตร์ดู ประเทศมหาอำนาจ ของโลกทั้งหลายต่างก็เคยมีปัญหาและชนักติดหลังอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งต่างก็เคยกระทำในลักษณะเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทำกับทิเบตแถมยังอาจจะรุนแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ
สำหรับปัญหาจีนและทิเบตเอง เวลานี้ดูเหมือนว่าประเด็นปัญหาจะไม่ได้อยู่ที่องค์ทะไล ลามะ ที่พระองค์ยึดแนวทางสันติวิธีในการประกาศเอกราช แต่อยู่ที่กลุ่มเรียกร้องเอกราชของทิเบตสายเหยี่ยวที่นิยมวิธีตาต่อตาฟันต่อฟันกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เพื่อชะลอไม่ให้เหตุรุนแรงลุกลามไปมากกว่านี้ รัฐบาลจีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งการเปิดเจรจากับองค์ทะไล ลามะ เพื่อยุติเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้เหตุการณ์สงบลงชั่วคราวเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงมหกรรมโอลิมปิก ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ไปเสียก่อน
อ่านเพิ่มเติม
[1] 18 ตุลาคม 2550
[2] ผู้จัดการออนไลน์, "สปีลเบิร์ก" บายพิธีเปิด-ปิดโอลิมปิก เหตุขอจีนช่วยยุติวิกฤติดาร์ฟูไม่สำเร็จ, 13 กุมภาพันธ์ 2551
[3] ผู้จัดการออนไลน์, "ไอโอซี" แย้มนักกีฬาดังส่อบอยคอตต์ "ปักกิ่งเกมส์", 17 มีนาคม 2551
[4] AFP, Australia won't support boycott of Beijing Games : Olympic chief, 17 มีนาคม 2551
|