|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2551
|
|
ภาพคุณยายบนเก้าอี้โยกกับไหมพรมและไม้ถักนิตติ้งในมือที่เห็นจากหนังฝรั่งย้อนยุคเก่าๆ อาจเป็นสิ่งแรกที่หลายคนจินตนาการถึงในทันทีที่พูดถึงงานถักไหมพรม แต่ใครเลยจะนึกว่ามาถึง พ.ศ.นี้ "ฮ็อบบี้" ของคุณยายจะกลายมาเป็นแฟชั่นอินเทรนด์ของวัยรุ่นเด็กแนวและสาวออฟฟิศยุคดิจิตอล โดยมีนวัตกรรมเส้นไหมเป็นเครื่องช่วยนำพาให้ข้ามผ่านความโบราณ
ภายใต้ร้านสีขาว กำแพงกลุ่มไหมที่มีหลายเฉดสีและลวดลายหลาก texture ยิ่งถูกขับให้ดูโดดเด่นเตะตา โต๊ะสี่เหลี่ยมกลางร้านเต็มไปด้วยไหมหลายกลุ่ม กล่องใส่อุปกรณ์นิตติ้ง และคู่มือสำหรับงานถักไหมพรม หากมองผิวเผินหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าร้านที่มี ชื่อว่า "Big Knit" แห่งนี้เป็นสมาคมแม่บ้าน
เมื่อก้าวเข้ามาในร้านจะเห็นว่าด้วยบรรยากาศที่ตกแต่งสไตล์โมเดิร์นดูสบายตาและอบอุ่นเหมือนบ้าน พร้อมบริการที่เป็นกัน เอง ร้านนี้จึงเป็นเหมือน "บ้านหลังที่สอง" ของคนรักการถักนิตติ้ง (หมายเหตุผู้เขียน : ในที่นี้ นิตติ้งหมายรวมถึงโครเชต์ด้วยทุกครั้ง) ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้มีวงจำกัดอยู่ในกลุ่มป้าๆ แม่บ้านหรือคนวัยคุณยายอีกต่อไป แต่กลับแทนที่ด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเป็นช่วงเย็นหลังเลิกงาน Big Knit จะเป็น ราวชมรมสาวออฟฟิศ ส่วนในช่วงปิดเทอมและวันเสาร์-อาทิตย์ สมาชิกในร้านแห่งนี้ก็จะเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมและมัธยม ในช่วงใกล้สอบ บ่อยครั้งที่เจ้าของร้านต้องขอร้องแกมบังคับให้น้องๆ นักเรียนเหล่านี้งดมาถักนิตติ้งที่ร้าน แล้วกลับไปนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบกันบ้าง
ภาพเด็กนักเรียนกับสาวทำงานนั่งถักนิตติ้งในร้านถือเป็นภาพคุ้นตาของผู้คนที่ใช้เส้นทางในซอยสุขุมวิท 49 แต่บ่อยครั้งที่ร้านนี้มักจะมีภาพน่ารักๆ ที่แปลกตาออกไป เช่น ภาพเด็กน้อยวัย 4 ขวบวุ่นกับการปั่นไหมเป็นตุ๊กตาหรือพยายามถักไหมพรมเป็นกระเป๋าใส่ดินสอบ้าง ผ้าพันคอบ้าง ภาพคุณทวดอายุ 94 ปีขะมักเขม้นถักเสื้อไหมพรมให้เหลน และแม้แต่ภาพผู้ชายมาดแมนที่กำลังเคร่ง เครียดกับการถักทอเส้นไหมสีหวานเป็นของขวัญให้แฟน
"คิดว่าที่เขากลับมาฮิตถักนิตติ้งกันในช่วงหลังนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเทรนด์ที่ดาราฮอลลีวูดหลายคนเขาถักกันแล้วก็เข้ามาฮิตที่เมืองไทย ยิ่งพอบวกกับสมัยนี้มีไหมเก๋ๆ ที่มี texture แปลกๆ มีลวดลาย มีลูกเล่นและสีสันหลากหลาย มันก็เลยดูทันสมัย ไม่เชย ไม่แก่ ดูเป็นแฟชั่นและงานศิลปะมากขึ้น" ไน้ส์ ตันศรีสกุล เจ้าของ ร้านวัย 24 ปี กล่าวในฐานะผู้จัดการร้าน
ไน้ส์เป็นคนหนึ่งที่หันกลับมาคลั่งไคล้การถักนิตติ้งหลังจากเลิกถักมาตั้งแต่เด็ก แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาจับไม้นิตอีกครั้งมาจากศิลปะบนเส้นไหมจากประเทศ แถบยุโรป จากนั้นเธอก็ต่อยอดความชื่นชอบนวัตกรรมตรงนี้มาเป็นธุรกิจ "นิตติ้งคาเฟ่" บนความเชื่อที่มาจากความรู้สึกส่วนตัวว่า ลวดลาย ลูกเล่น และสีสันที่หลากหลายของไหมพรมจะช่วยทำให้คนรักนิตติ้งบรรเลงเพลงถักทอได้สร้างสรรค์และสนุกสนานขึ้น
ผ้าพันคอสีรุ้ง ผ้าคลุมโซฟาหลากสี ปลอกหมอนขนนุ่มฟู พวกกุญแจตุ๊กตาไหมพรม หมอนข้างไหมพรม กระเป๋าใส่ดินสอ กิ๊บติดผมและกำไลแนว "ฟังกี้" เข้าชุดกัน กระเป๋าไหมพรมดูโมเดิร์น เสื้อไหมพรมเอวลอยโชว์สะดือ หมวกฮิปฮอบสีแสบทรวง โมบายทำจากไหมพรม ฯลฯ เหล่านี้เป็นผลงานของไน้ส์ คุณแม่ พนักงาน และลูกค้า ซึ่งจัดวางไว้เต็มร้านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้าคนอื่นๆ ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน นิตติ้งที่แปลกใหม่ด้วยไหมพรมที่มี texture แตกต่างไป
กำแพงกลุ่มไหมที่ร้าน Big Knit นับร้อยนับพันสีและลายที่คละกัน เมื่อบวกกับสต็อกบนออฟฟิศชั้น 3 อาจมีไหมพรมให้เลือกหลากหลายถึง 5 พันแบบเลยทีเดียว โดยทั้งหมดมาจาก 6 แบรนด์ชั้นนำระดับโลก ทั้งในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่น โดยจะมีการนำเข้าไหมรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทุกเดือน สนนราคาไหมที่ขายในร้านก็มีตั้งแต่ 170-680 บาท
"ไหมแต่ละประเทศจะโดดเด่นต่างๆ กัน อย่างไหมฝรั่งเศสเด่นเรื่องความนิ่มและให้ความอบอุ่น ไหมอิตาลีเด่นเรื่องลูกเล่น ดิ้นทอง กากเพชร หรือรวมเส้นไหมหลายๆ สีไว้ในหนึ่งเส้น ส่วนไหมสเปนเน้นสีสันสดใส สีสะท้อนแสงยังมีเลย" ไนส์ไม่ได้จบแฟชั่น แต่เธอจบเกียรตินิยมอันดับสองจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อสองปีที่แล้ว
หากก่อนหน้านั้นไม่นาน เธอและ "สุรีย์วรรณ" คุณแม่ของเธอไม่ไปหลงเสน่ห์แฟชั่นเส้นไหมที่บังเอิญเห็นในร้านไหมพรมแห่งหนึ่งขณะท่องเที่ยวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันนี้เธอก็คงเป็น AE หรือทำงาน ในบริษัทเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ "Think Big" ของคุณแม่ตรงตาม สายที่เธอเรียนมาแล้ว
ด้วยสีและ texture ที่แปลกตาของไหมพรมทำให้ทั้งคู่หอบหิ้วกลับมาเต็มกระเป๋าใบใหญ่ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะนำมาใช้อะไร จากนั้นไม่นาน ความสวยเก๋ของไหมพรมจุดประกายให้ทั้งคู่ถักทอออกมาเป็นผลงานต่างๆ นานา ทั้งผ้าพันคอและผ้าคลุมโซฟาโดยฝีมือคุณแม่ กำไล กิ๊บติดผม และของจุกจิกโดยคุณลูก
แล้วความน่าหลงใหลของเส้นไหมก็ยังดึงดูดให้เพื่อนๆ ของทั้งคู่ และเพื่อนของเพื่อนมาขอซื้อต่อ จนมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น ธุรกิจนำเข้าไหมพรม
ไม่นานนัก อำนาจของ word-of-mouth ในกลุ่มคนที่ชอบนิตติ้ง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยก็ทำให้ออฟฟิศขายไหมบนชั้น 3 ของตึก The Natural Park เต็มไปด้วยลูกค้าที่มานั่งรอซื้อไหมพลางถักนิตติ้งไปพลาง จากที่นั่งถักเล่นๆ ไม่กี่ชั่วโมงกลายเป็นถักเพลินจนลืมกินข้าวกินปลา ไม่นานออฟฟิศขายไหมก็กลายเป็นแหล่งชุมนุมที่แออัดไปด้วยกลุ่มคนที่หลงรักการถักนิตติ้ง
"การถักนิตติ้งมันไม่เหมือนรักแรกพบ แต่เป็นรักที่เกิดจากการได้เรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งรัก ถ้าได้ลองนั่งถักก็จะติด เพราะพอนึกภาพว่าเดี๋ยวมาถึงตรงนี้ต้องเลี้ยว ตรงนี้ด้านโค้ง ขึ้นปลาย ตรงนี้ หรือพอเปลี่ยนไหมสีนี้แล้วมันจะออกมาเป็นยังไง เราก็ลุ้นและอยากจะเห็นแล้วว่างานจะออกมาเป็นยังไง มันเหมือนการได้ค้นหา" ไน้ส์อธิบายที่มาของความลุ่มหลงที่อยู่ในตัวนักถักทั้งหลาย
เจ็ดเดือนที่แล้ว ไน้ส์และแม่จึงตัดสินใจเปิดร้าน Big Knit ที่ชั้นล่างของตึกเดียวกับออฟฟิศเป็นร้านขายไหมนำเข้าและขายอุปกรณ์นิตติ้งเก๋ไก๋น่ารักๆ จากญี่ปุ่น โดยมีโซฟาสบายๆ สำหรับลูกค้าจะได้มานั่งถักกันเป็นเรื่องเป็นราว และมีบริการร้านอาหารขาย ที่ขายทั้งอาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง เค้กและเครื่องดื่มไว้พร้อม เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องอดข้าวอดน้ำหรือ ไม่ต้องลำบากไปตระเวนหาที่อื่น
อีกทั้งยังมีทีวีและ wireless internet ไว้ให้บริการกับบรรดาหนุ่มๆ ที่มานั่งรอแฟนสาวด้วย และเร็วๆ นี้จะเปิดสปาและซาลอนในพื้นที่ใกล้ๆ กันด้วย
หลังจากเปิดร้านเพียงไม่นาน ปัจจุบันร้าน Big Knit มีลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกอยู่กว่า 800 คน ร้านแห่งนี้กลายเป็นราวกับสมาคมคนรักนิตติ้งของชาวกรุงเทพฯ ไปแล้ว เพราะลูกค้าหลายคนไม่ได้เพียงมาซื้อไหม แต่มาเริ่มต้นเรียนรู้และเริ่มถักนิตติ้งที่นี่ โดยจะมีพนักงานประจำร้านคอยสอนและให้คำแนะนำฟรี ส่วนคนที่เป็นมาบ้างก็มักจะชอบมานั่งถักและถกกับเพื่อนฝูงที่ร้านนี้
นอกเหนือจากเว็บไซต์ที่บรรดาผู้ชื่นชอบถักนิตติ้งทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่มักใช้เป็นช่องทางสื่อสารเรื่องราวการถักนิตติ้ง ระหว่างกัน ร้าน Big Knit แห่งนี้ก็ถือเป็นอีกช่องทาง
"มือใหม่" บางคนที่ตั้งใจจะถักปลอกหมอนแต่กลับย้วย ยาวกลายเป็นผ้าพันคอ หรือบางคนที่ตั้งใจถักตุ๊กตาหมีแต่ออก มาเป็นตุ๊กตาหมู อยากจะมาที่นี่เพื่อมาขอกำลังใจและขอกลเม็ดเคล็ดไม่ลับกลับไปแก้มือ ขณะที่บางคนก็มาเพื่อดูผลงาน และมองหาไอเดียใหม่ๆ จากลูกค้าคนอื่นในร้าน
จากรุ่นคุณยายที่เคยนั่งถักนิตติ้งอย่างหงอยเหงาคนเดียว แต่ยุคนี้นิตติ้งกลายเป็นอีก platform ของการสร้าง social network ไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกไม่น้อยที่อยากเป็น "มือโปร" ในการถักนิตติ้ง ไน้ส์จึงลงทุนจ้างครูสอนนิตติ้งชาวญี่ปุ่นซึ่งจบทางด้านการสอนนิตติ้งโดยตรงจากมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นมาสอนกันเลยทีเดียว โดยเปิดเป็นคอร์สสอนตั้งแต่พื้นฐานที่ถูกต้องตามสถาบันที่ครูชาวญี่ปุ่นคนนี้ได้ประกาศนียบัตรมา สอนถักลวดลายต่างๆ ไปจนถึงขั้นที่ผู้เรียนสามารถเขียนแพทเทิร์นเสื้อไหมพรมได้เอง คิดเป็นค่าใช้จ่ายคอร์สละ 5 พันบาทต่อคนต่อ 20 ชั่วโมง
สำหรับสาวออฟฟิศหลายๆ คน แง่งามของการถักนิตติ้งคือการบำบัดความเครียด การได้ปลีกตัวเองออกจากเรื่องกวนใจรกสมองเพราะ ใช้เวลาจดจ่ออยู่กับไหมและไม้นิตในมือช่วยผ่อนคลายอารมณ์หงุดหงิดและตึงเครียดที่ติดมาจากการทำงานหรือเรื่องส่วนตัวให้ลดดีกรีความแรงลง พร้อมๆ กับเป็นการฝึกสมาธิและความอดทนไปด้วยในตัว
"ปกติตัวเองจะสมาธิสั้น ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามีสมาธิได้นานขึ้น แต่เคยมีเคสของลูกค้าเล่าให้ฟังว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนเลย จากที่เคยหงุดหงิดง่ายจนลูกน้องไม่กล้าเข้าหา เดี๋ยวนี้ลูกน้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าใจเย็นขึ้น และเหมือนจังหวะชีวิตของเขาช้าลง สงบขึ้น" ไน้ส์เล่าประสบการณ์ที่ได้รับและ ได้ยินมา
ส่วนวัยรุ่นมักนิยมถักนิตติ้งเป็นของใช้ส่วนตัวหรือให้เป็นของขวัญ เพราะนอกจากจะหมายถึงของชิ้นนั้นมีชิ้นเดียวในโลก ภาพลักษณ์งานนิตติ้ง ที่ดูเหมือนทำยากจะยิ่งช่วยเพิ่มพูนคุณค่าและความหมายทางจิตใจให้กับผู้รับได้อย่างมาก แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดผูกพันกับงานชิ้นนั้นจนไม่ยอมให้ใคร
หลายคนบอกว่า เสน่ห์ของนิตติ้งอยู่ที่ความหลากหลายของอารมณ์ตั้งแต่เริ่มคิดที่จะถักนิตติ้งจนถึงขั้นที่ผลงานนั้นสำเร็จ ความรื่นรมย์อาจเริ่ม ตั้งแต่จินตนาการถึงแบบที่จะถัก ความสนุกอาจอยู่ที่การมิกซ์แอนด์แมตช์ ไหมพรมสีต่างๆ ให้เข้ากัน ความตื่นเต้นอาจอยู่ในทุกๆ การตวัดไม้นิตหรือ การควักไหมโดยเฉพาะช่วงเลี้ยว ช่วงโค้ง ช่วงเปลี่ยนไหม หรือช่วงจบความปิติอาจอยู่ที่ได้ผ่านพ้นแต่ละ "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ" ของการถักนิตติ้งมาได้
ส่วนสารแห่งความสุขและความภูมิใจไม่ว่าจะมากหรือน้อยจะถูกหลั่งออกมาพร้อมกับผลงานที่เสร็จสิ้น โดยความสุขและความภูมิใจจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อมีคนอื่นมาชื่นมชมผลงานชิ้นนั้น โดยเฉพาะเป็นคนที่ผู้ถักตั้งใจมอบผลงานชิ้นนั้นให้เป็นของขวัญ
"แต่ไม่ว่าคนอื่นจะว่าอย่างไร อย่างน้อยก็เชื่อว่าคนถักนิตติ้งเกือบทุกคนก็ได้รับความสนุกและมีความสุขตั้งแต่ที่ได้ทำในสิ่งที่รักแล้ว" นั่นเป็นประสบการณ์ตรงของไน้ส์ อันเป็นประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าของเธอ จนกลายมาเป็นคำขวัญของร้านที่ว่า "All you knit is love"
|
|
|
|
|