Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2551
An Oak by the window…The Wisdom of Crowds             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
www resources

Wikipedia Homepage

   
search resources

Web Sites
Wikipedia




James Surowiecki คอลัมนิสต์ของนิตยสารนิวยอร์กเกอร์เขียนหนังสือ The Wisdom of Crowds : Why the Many Are Smarter than the Few and How Collective Wisdom Shapes Business, Economics and Societies and Nations เมื่อหลายปีก่อนพยายามอธิบายว่า คนกลุ่มใหญ่จะมีความฉลาดโดยรวมแล้วมากกว่าคนฉลาดจริงๆ เพียงไม่กี่คนที่อยู่ในกลุ่ม ซึ่งความฉลาดนี้วัดได้จากความสามารถในการแก้ไขปัญหา การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ การตัดสินใจที่ชาญฉลาด หรือแม้แต่การทำนายอนาคต

เขายกตัวอย่างกรณีของฟรานซิส กัลตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางไปงานแสดงประจำปีของสัตว์เลี้ยงประเภท สัตว์ปีก (ไก่, เป็ด, นก) และสัตว์สี่เท้าอย่างวัว ควาย แพะ แกะ ในเมืองพลีมัธทางตะวันตกของประเทศอังกฤษในฤดูใบไม้ร่วงปี 1906 กัลตันเดินเที่ยวงานจนกระทั่งไปพบกับซุ้มหนึ่งซึ่งจัดแข่งขันทายน้ำหนัก โดยจะมีการคัดเลือกแพะตัวอ้วนๆ ขึ้นมาสักตัวหนึ่งแล้วนำขึ้นมาให้ผู้เข้าชมทายน้ำหนักของมัน ในการทายน้ำหนักนั้น ผู้ชมจะต้องวางเงิน เดิมพันน้ำหนักของแพะตัวนั้น ใครทายได้ใกล้เคียงที่สุดก็จะได้รางวัลใหญ่ไป

มีคนเกือบ 800 คนร่วมทายน้ำหนักแพะตัวนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนขายเนื้อและเกษตรกร ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาดูน่าจะเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องการกะน้ำหนักของสัตว์เหล่านี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมทายน้ำหนักและพวกเขาแทบจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ประเภทนี้เลย นอกจากในฐานะผู้บริโภคเท่านั้น นั่นหมายความว่า มีผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยว ชาญเข้าร่วมการทายน้ำหนักด้วย

ภายหลังการแข่งขันจบลง กัลตันได้ขอยืมตั๋วทายน้ำหนักทั้งหมดจากเจ้าหน้าที่จัดงานและนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางสถิติ โดยเขานำผลการทายทั้งหมดในจำนวน 787 คนมาจัดเรียงตามลำดับจากสูงที่สุดไปต่ำสุด จากนั้นนำไปพลอตกราฟ นอกจากนี้เขายังนำ ผลการทายทั้งหมดมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นความสามารถหรือความฉลาดของประชาชนชาวพลีมัธ (ที่ไปร่วมการทายน้ำหนักแพะ) นั่นคือถ้าถือว่ากลุ่มคนทั้งหมดนี้เป็นคนคนหนึ่ง ค่าเฉลี่ยนี้สามารถแสดงถึงความสามารถในการทายน้ำหนักแพะ ของคนคนนั้นนั่นเอง

เดิมกัลตันเชื่อว่า ค่าเฉลี่ยของการทายน้ำหนักน่าจะเบี่ยงออกจากน้ำหนักจริงค่อนข้างมาก เพราะค่าเฉลี่ยนี้เกิดจากการผสมผสานของคนที่เก่งและฉลาดมากๆ สองสามคนเข้ากับกลุ่มคนที่ไม่เก่งนักแต่ค่อนข้างดี รวมกับคนที่ค่อนข้างโง่จำนวนมาก นั่นย่อมจะทำให้ค่าเฉลี่ยการทายแย่ไปด้วย แต่ปรากฏว่า เขาคิดผิดเพราะน้ำหนักแพะเท่ากับ 1,198 ปอนด์ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการทายเท่ากับ 1,197 ปอนด์ ซึ่งต่างกันเพียงปอนด์เดียว

ซึ่งกัลตันสรุปไว้ภายหลังในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ว่า บางทีเรื่องสายพันธุ์ อาจจะไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ควรจะเชื่อมั่นในการตัดสินแบบประชาธิปไตยหรือของคนส่วนมากมากกว่า

ในขณะที่ James Surowiecki สรุปว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม กลุ่มจะมีความฉลาดอย่างเด่นชัด และบ่อยครั้งที่จะฉลาดกว่าคนที่ฉลาดที่สุดในกลุ่มของพวกเขา กลุ่มโดยรวมไม่จำเป็นต้องถูกบดบังโดยคนที่ฉลาดสุดๆ เพื่อที่จะทำให้กลุ่มฉลาดได้ ถึงแม้ว่า คนส่วนใหญ่ในกลุ่มจะไม่ใช่คนที่รู้มากหรือมีเหตุมีผล แต่พวกเขาทั้งหมดก็ยังสามารถมีการตัดสินใจโดยรวมที่ถูกต้อง (อย่าง ชาญฉลาด) ได้

ในทางเศรษฐศาสตร์ เฮอร์เบิร์ต ไซมอน เรียกมนุษย์ซึ่งไม่ใช่คนที่มีการตัดสินใจที่สมบูรณ์ว่าเป็น "boundedly rational" ซึ่งอธิบายว่าในการตัดสินใจใดๆ มนุษย์มีข้อมูลน้อยกว่าที่เราต้องการ ทำให้เรามีข้อจำกัดในการคาดการณ์อนาคต ทำให้ในการคำนวณผลได้ผลเสียอย่างมีประสิทธิภาพไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราจะเลือกหนทาง ที่ดูดีที่สุด และเรามักจะเอาอารมณ์มามีผลต่อการตัดสินใจใดๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่ไม่สมบูรณ์นั้นเมื่อนำมารวมกัน อย่างเหมาะสม ความฉลาดโดยรวมก็จะกลายเป็นความปราดเปรื่องได้ ซึ่ง James Surowiecki เรียกว่าเป็น "wisdom of crowds"

มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ความสำเร็จของ Wikipedia ซึ่งผมนำมาพูดถึงในคอลัมน์นี้หลายต่อหลายครั้งนั้น เป็นความสำเร็จที่เกิดจาก 'Wisdom of crowds' ซึ่งเป็นผลกระทบที่คนจำนวนมากมาร่วมกันสร้างบทความเล็กๆ ร่วมกัน หรือเป็นแรงผลักดันของกลุ่มอัจฉริยะเพียงไม่กี่คนที่ร่วมกันทำงาน

งานวิจัยเรื่อง Power of the Few vs. Wisdom of the Crowd : Wikipedia and the Rise of the Bourgeoisie ได้ศึกษาถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากคนสองกลุ่มคือ กลุ่มคน ระดับอัจฉริยะกับกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของ Wikipedia ตลอด มา ผลปรากฏว่า แม้ Wikipedia จะได้รับ การผลักดันจากกลุ่มคนที่ชาญฉลาดในช่วงแรกๆ แต่ในช่วงหลังนั้นหน้าที่เหล่านี้ก็ได้โยกมาอยู่กับประชาชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป เช่นเดียวกับที่งานศึกษานี้เห็นในเว็บไซต์ del.icio.us

ในปี 2003-2004 ผู้ใช้ระดับ Adminis-trator ของ Wikipedia เป็นคนสร้างข้อมูลประมาณครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่า นี่เป็นช่วงของ 'Power of the few' กำลังโดดเด่น โดยคนกลุ่มนี้จะมีอำนาจค่อนข้างมาก ตั้งแต่ กำหนดนโยบาย การสั่งห้ามยูสเซอร์บางคนไม่ให้ใช้งาน ช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปจนถึงการดูแลให้ระบบและเว็บไซต์ สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการแก้ไขข้อมูลใน Wikipedia จะพบว่า จำนวนของคำที่เปลี่ยนแปลงโดยเหล่า Admin (เมื่อเทียบกับจำนวนคำที่เปลี่ยนแปลงโดยทั้งหมด) ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกไปจนถึงระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ก่อนที่จะลดลงจนเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าจำนวนยูสเซอร์ ที่มีจำนวนการแก้ไขหรือส่งบทความไม่กี่บทความมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนใหญ่ของจำนวนประชากรใน Wikipedia ไปแล้ว นั่นคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม ผู้ทรงอิทธิพลจากกลุ่ม Admin ที่มีการจัดการ บทความจำนวนมากๆ ไปสู่ยูสเซอร์ทั่วๆ ไปที่มีการจัดการบทความเพียงไม่กี่บทความ

เว็บไซต์อิงสังคมทั้ง Wikipedia และ Digg ซึ่งดูเหมือนจะสร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากการเป็นเว็บที่เน้นความเป็นประชาธิปไตยหรือเสียงส่วนมากเป็นหลัก โดยเป็นเว็บที่ผู้ใช้ งานจำนวนหลายล้านคนจะทำหน้าที่เป็นทั้ง คนเขียน บรรณาธิการ และผู้ให้คะแนนนั้น มีคนจำนวนไม่กี่คนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด ซึ่งงานวิจัยเรื่อง "Power of the Few vs. Wisdom of the Crowd" กล่าวไว้ว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ Wikipedia จะรับผิดชอบดูแลครึ่งหนึ่งของข้อมูลบนเว็บไซต์ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เรียกว่า 'bot' ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาทำหน้าที่ในการควบคุมมาตรฐาน การควบคุมพฤติกรรมของผู้ใช้ และ การควบคุมความสงบเรียบร้อยของเว็บ

เว็บไซต์อย่าง Digg.com ซึ่งเป็นเว็บประเภท Web 2.0 เหมือนกัน โดย Digg เป็นศูนย์กลางของบุ๊คมาร์ค (Bookmark) ไปยังเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจโดยผู้คนจะเข้ามาส่ง เรื่องราวและให้คะแนนเรื่องราวของคนอื่นๆ โดยลิงค์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจะปรากฏอยู่ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ โดยจะมีอัลกอริทึมในการจัดการว่าจะให้เรื่องไหนขึ้นหน้าหนึ่ง ซึ่งอัลกอริทึมนี้จะเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอัลกอริทึมนี้ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้งานที่เข้ามาใช้งานอยู่เป็นประจำ โดยพบว่า ผู้เข้ามาเขียน เรื่องราวใน Digg.com ซึ่งเรียกว่า Digger จะส่งเรื่องราวประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวที่เป็นที่นิยมทั้งหมด ในปี 2006 คนกลุ่มนี้มีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 56 เปอร์เซ็นต์

อาจจะกล่าวได้ว่า คน 100 คนทำให้เว็บไซต์นี้เดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม อิทธิพล ของคนกลุ่มนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่อ Digg.com เปลี่ยนอัลกอริทึมใหม่อีกครั้งซึ่งทำให้คนกลุ่ม นี้ไม่ค่อยพอใจนักและเริ่มบอยคอตต์

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Wikipedia และ Digg.com ต่างก็มีความเป็นประชาธิปไตยใน บางแง่มุม โดยเฉพาะการเลือกกลุ่มคนที่มามีอิทธิพลในแต่ละเว็บไซต์ก็ไม่ได้เกิดจากการคัดเลือกของบอร์ดบริหาร แต่เป็นคนที่มีส่วนเข้ามาใช้งานเว็บนั้นๆ บ่อยครั้งมากกว่า

นอกจากนี้ Ed Chi แกนนำงานวิจัย Power of the Few vs. Wisdom of the Crowd ยังพบว่า เหล่าผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ยังทำหน้าที่ในการลบข้อความในเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ โดยกลุ่มคนที่เขียนหรือแก้ไขบทความ 10,000 บทความขึ้นไปจะเพิ่มคำประมาณสองเท่าของคำที่พวกเขาลบทิ้งไป ในขณะที่คนที่เขียนหรือแก้ไขบทความ 100 บทความจะลบคำมากกว่าที่พวกเขาใส่เข้าไป นั่นคือ คนจำนวนเล็กน้อยทำหน้าที่เขียนบทความในขณะที่คนที่ใช้เว็บไซต์น้อยกว่าจะทำหน้าที่แก้คำผิด

นี่อาจจะเป็นพัฒนาการในลักษณ์เดียว กับอินเทอร์เน็ตที่เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะทำให้มันขยายเติบโตกว้างไกลด้วยการบอกต่อและใช้งานกันอย่างกว้างขวาง และขณะนี้กลไกนี้ก็กำลังจะมาทำให้เว็บไซต์แต่ละเว็บกลายเป็นอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายย่อยๆ ในเครือข่ายยักษ์ใหญ่ที่มีระบบการปกครองและดูแลตัวเอง มีพัฒนาการและการเลี้ยงดูตัวเอง

นี่อาจจะกลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเติบโตขึ้นในประเทศเผด็จการได้ โดยอาศัยศักยภาพของอินเทอร์เน็ตและชุมชนย่อยๆ ที่วางบนเครือข่ายความสัมพันธ์เหล่านี้

Wisdom of the Crowds กำลังจะมาเปลี่ยนโฉมหน้าการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกเราแล้ว เร็วๆ นี้ครับ

อ่านเพิ่มเติม
1. Kittur, A., Chi. E, Pendleton, B., Suh, B and Mytkowicz, T., Power of the Few vs. Wisdom of the Crowd: Wikipedia and the Rise of the Bourgeoisie, http://www.viktoria.se/altchi/submissions/submission_edchi_1.pdf

2. Chi, E. (2007), 'Long Tail of user participation in Wikipedia,' http://asc-parc.blogspot.com/2007/05/long-tail-and-power-law-graphs-of-user.html

3. Wilson, C. (2008), 'The Wisdom of the Chaperones,' Feb 22, 2008, http://www.slate.com/id/2184487/   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us