ธพว.สนองนโยบายนโยบายรัฐบาลเปิดสินเชื่อ SMEs ยุคใหม่ใช้ IT 300 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการ
SMEs นำไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการได้รายละไม่เกิน
3 แสนบาท ล่าสุดมีผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ร่วมโครงการแล้ว 16 รายและกำลังตัดสินใจเพิ่มอีก
4 ราย เผยสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้ SMEs ไทยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับตัวรับการแข่งขัน
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (ธพว.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร
ธพว.ที่มีนายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ได้อนุมัติโครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม
(SMEs) ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เพื่อพัฒนาศักยภาพของ ผู้ประกอบการและส่งเสริมอุตสาห-กรรม
ไอซีที ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ของบุคคลากรด้านไอซีทีของไทยด้วย
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวธพว.ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งบอร์ดเห็นชอบโครงการสินเชื่อดังกล่าวโดยเรียก
ว่า สินเชื่อ SMEs ยุคใหม่ใช้ IT วงเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม
3% ต่อปี โดยธพว.จะไม่จ่ายเงินสดให้ลูกค้าแต่จะให้เป็น Voucher เพื่อนำไปแลกคอมพิวเตอร์
จากบริษัทคอมพิวเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อลูกค้าได้รับคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที
บริษัทผู้ขายสินค้า ดังกล่าวก็จะนำ Voucher นั้นๆ มา ขึ้นเงินกับธพว.ได้
สำหรับสินเชื่อดังกล่าวจะดำเนิน การได้ทันที โดยหลักเกณฑ์กำหนดให้วงเงินสินเชื่อให้กู้ตามค่าใช้จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อราย ระยะเวลากู้กรณีกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทระยะกู้ไม่เกิน 24
เดือน หากเกิน 1 แสนบาทแต่ไม่เกิน 3 แสนบาทระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 เดือน ซึ่งมีเงื่อนไขการกู้สำคัญคือจะต้องไม่เป็นหนี้ที่
ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เว้นแต่จะ ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และ การกู้จะต้องนำไปซื้อคอมพิวเตอร์
ซอฟต์แวร์ พรินเตอร์ สแกนเนอร์ เซิร์ฟเวอร์ เครื่องอ่านบาร์โค้ด พีโอเอส ผ่านบริษัทที่ขึ้นทะเบียนร่วมโครงการ
กับธพว.เท่านั้น
แหล่งข่าวกล่าวว่าสินเชื่อดังกล่าวกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2 กรณีคือ ลูกค้าธพว.ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเดิม
หากไม่เพียงพอให้ใช้บุคคล/นิติบุคคลค้ำประกัน หากเป็น ลูกค้าใหม่ ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับสินเชื่อประเภทอื่น
(ถ้ามี) หากไม่มีหลักทรัพย์ให้ใช้บุคคล/นิติบุคคลค้ำประกัน โดยขั้นตอนการดำเนินงาน
ดังนี้ 1.บริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ส่งรายละเอียดสินค้าพร้อมราคาให้แก่ธพว.เพื่อตกลงราคามาตรฐานขึ้นทะเบียนไว้
2.บริษัทที่ขึ้นทะเบียนแล้ว หากได้รับการซื้อสินค้าจากลูกค้าของ ธพว.จะต้องทำการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมต่างๆ
ให้ผู้สั่งซื้อด้วย
3.ลูกค้าแสดงความประสงค์ขอสินเชื่อไอทีกับธพว.และธพว.ให้รายละเอียดบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้
รวมทั้งรายชื่อบริษัทผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ขึ้นทะเบียนไว้ 4.เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าอนุมัติสินเชื่อตามกระบวน
การสินเชื่อ Fast Track ที่จะอนุมัติ ภายใน 7 วันนับจากที่ได้รับเอกสารครบ 5.เจ้าหน้าที่แจ้งการอนุมัติ
มอบ /สำเนา Voucher และให้ลูกค้าเซ็นสัญญา รวมทั้งแจ้งบริษัทที่ลูกค้าแสดง ความประสงค์จะซื้อคอมพิวเตอร์ให้มารับ
Voucher 6. บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายแจ้งยืนยันการซื้อกับลูกค้า พร้อมส่งมอบสินค้า
และรับสำเนา Voucher จากผู้ประกอบการ 7.บริษัท ผู้ผลิตและจำหน่ายนำ Voucher ทั้งฉบับจริงและสำเนาที่มีลายเซ็นลูกค้ามาเบิกเงินกับธพว.
สำหรับรายชื่อบริษัทฮาร์ดแวร์ที่เข้าร่วมโครงการมี 8 บริษัทประกอบ ด้วย 1. บ.เลเซอร์
คอมพิวเตอร์ 2. บ. วีไทย ดอท 3.บ.ไวร่าคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 4.บ. โฟร์
ซิสเตมส์ 5.บ.ลิเบอร์ต้า เทคโนโลยี 6.บ.เบลต้า คอมพิวเตอร์ 7. บ.ดีคอมพิวเตอร์
8. บ.ไมโครชิป ส่วนรายชื่อบริษัทซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วม 8 บริษัทได้แก่ 1.บ.คอมพิวเตอร์ไมโครซอฟแวร์
2.บจ.ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ 3.บ.เอ็กซ์เพรสซอฟต์แวร์กรุ๊ป 4.บ. บ้านเชียงซอฟท์
5. บ.ออโต้ไฟลท์ 6. บ.บิซิเนส ซอฟท์ 7.บ.อิซี่วิน 8. บ.แนทซอฟท์ และมีอีก 4 บริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจเข้าร่วม
โครงการคือ 1. บ.มีทติ้ง ซอฟท์ 2.บ. คริสตอลซอฟต์แวร์แพ็คเกจ 3. บ. โปรซอฟท์ คอมเทค
4. บจ.คอมพิวเทคไมโครซอฟแวร์
โดยตัวอย่างสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์รุ่น Intel Processor Celeron 1.7 GHz ราคา
18,700 บาทโดยรวม ซอฟต์แวร์ให้ด้วย ส่วนรุ่น Intel Pentium IV Processor 2.66 GHz
ราคา 42,200 รวมซอฟต์แวร์ และ Intel Processor Celeron 1.7 GHz ราคา 16,220 บาทเป็นต้น