|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2551
|
|
เสรี แฟคตอรี่ แลนด์ ถือเป็น SME ที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยากให้มาเป็นลูกค้า เพราะนอกจากทำธุรกิจรับสร้างโรงงานให้กับเหล่า SMEs ด้วยกันแล้ว บริษัทนี้ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในการกู้เงิน ล่าสุดมีบทบาทสำคัญทำให้ธนาคารกสิกรไทยออกแคมเปญปล่อยกู้ให้ SMEs นาน 10 ปี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
"ในช่วงนี้ลูกค้า SME ที่ขอสินเชื่อแทบจะไม่มีเลย อาจเป็นเพราะว่ายังไม่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ" เป็นคำบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ สาขาสยาม ที่เป็นศูนย์รวมธุรกิจที่มีการค้าขายมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
แม้ว่าธนาคารทุกแห่งจะเปิดกว้างและมีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ก็ตาม แต่ด้วยเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ธนาคารเหล่านั้นได้ออกแบบไว้
โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ ไม่มีเงินทุน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน แทบจะหมดโอกาส ที่จะเริ่มต้นได้จากธนาคาร เพราะธนาคารต้องการธุรกิจที่ดำเนินงานมาอย่างน้อย 3 ปี มีผลกำไรติดต่อกัน และสามารถเขียนแผนธุรกิจให้ธนาคารเห็นภาพ ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้เงินที่ปล่อยกู้ออกไปกลับคืนมา
บริษัทเสรี แฟคตอรี่ แลนด์ จำกัด ผู้บริหารโครงการ และบริษัททีแอลเอฟ ฟูดส์ ซัพพลาย จำกัด ถือเป็นภาพสะท้อนจากมุมมองของผู้ประกอบการ SME ที่ขอสินเชื่อจาก ธนาคารว่าสิ่งที่เขาคิดและต้องการคืออะไร
เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคาร กสิกรไทยได้เปิดตัวบริการสินเชื่อระยะยาว (K-SME Extend) ที่ให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนาน 10 ปี ในวงเงินสูงสุด 12 ล้านบาท ให้กับธุรกิจ SME ซึ่งบริษัทที่อยู่เบื้องหลังและมีส่วนช่วยให้เกิดบริการนี้ขึ้นก็คือ บริษัท เสรี แฟคตอรี่ แลนด์ จำกัด
"ตอนที่ธนาคารกสิกรไทยมาหาผมให้ช่วยหาลูกค้า SME ไปกู้เงิน ผมเห็นเงื่อนไข กู้เงินที่มีระยะเวลาเพียง 4-5 ปีเท่านั้น ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลูกค้าจะชำระเงิน หรือคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น ลูกค้าควรมีเวลา ที่ยาวกว่านั้น และที่สำคัญดอกเบี้ยที่จ่ายต้องเป็น MLR-"
จากการผลักดันของวาทิน เสรีดีเลิศ วัย 58 ปี ประธานกรรมการ บริษัทเสรีฯ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเปิดบริการใหม่บริการ ผ่อนชำระยาวนานออกไป 10 ปี จากเดิมที่ให้ชำระในเวลา 5 ปี
นอกเหนือจากนั้น วาทินมองว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่ธนาคารกำหนดให้เงินกู้กับธุรกิจ SME นั้นจะต้องมองที่ความต้องการของผู้ประกอบการเป็นหลัก มากกว่าเงื่อนไขที่ธนาคารต้องการ
ด้วยประสบการณ์การเจรจาต่อรองเงินกู้กับธนาคารมานานหลายสิบปี บริษัทจึงทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการกู้เงินให้กับลูกค้า SME ที่มาซื้อโรงงานในโครงการเสรี แฟคตอรี่ แลนด์
หลังจากเปิดให้บริการมา 2 เดือน มีลูกค้าประมาณ 15 ราย ลูกค้าเกือบทั้งหมด ได้ขอความช่วยเหลือกู้เงินจากธนาคาร ส่วนผู้ประกอบการมีทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ประกอบธุรกิจหลายประเภท อาทิ โรงงานพลาสติก โรงงานปั๊มเหล็ก โรงงานผลิตยาง และโรงงานผลิตเอทานอล
ธนาคารที่ให้กู้สำหรับธุรกิจรายย่อยมีอยู่ 3 รายที่ติดต่อกับบริษัทคือ ไทยธนาคาร ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารสินเอเชีย โดยแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป
ไทยธนาคารมีจุดแข็งปล่อยสินเชื่อเฉพาะที่ดินเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารอื่นๆ จะไม่สนใจปล่อยสินเชื่อเฉพาะที่ดินเปล่า ส่วน ธนาคารกสิกรไทยมีข้อดีคือให้ระยะผ่อนชำระ นาน 10 ปี ในขณะที่ไทยธนาคารปล่อยสินเชื่อ เพื่อการพาณิชย์เพียง 5-7 ปี
วรพจน์ เสรีดีเลิศ วัย 28 ปี ลูกชาย วาทินที่มีส่วนร่วมให้คำปรึกษา ได้อธิบายว่า "ผมจะดูลูกค้าแต่ละคนว่าเขามาซื้ออสังหา ริมทรัพย์ของผมประเภทไหน ถ้าเป็นแบบโรงงานเดี่ยวผมก็ยื่นกสิกรไทย เพราะว่ามัน 10 ปี ถ้าเขาซื้อที่ดินเปล่าแล้วต้องการสินเชื่อ ผมก็ยื่นไทยธนาคาร"
ด้านเอกสารที่ต้องเตรียมยื่นให้กับธนาคาร ผู้ประกอบการต้องยื่นหนังสือรับรอง งบดุล ส่วนบริษัทเสรีฯ จะยื่นแบบก่อสร้าง หลังจากนั้นบริษัทจะติดตามและประสานงาน กับธนาคาร จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าผ่านก็เริ่มกู้ธนาคารตามกระบวนการ แต่กรณีไม่ผ่านบริษัทจะคืนเงินจองให้ เช่น จอง 100,000 บาท จะคืนเงินให้ 90,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือเป็นค่าดำเนินการ
อย่างไรก็ดี จากจำนวนผู้ประกอบการ SME ที่จะมาเช่า-ซื้อโรงงานแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ธนาคารโทรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของบริษัททุกสัปดาห์ แต่บริษัทจะเลือกธนาคารที่ลูกค้าต้องการและเหมาะสมเท่านั้น
ส่วนบริษัทต่างชาติที่มาซื้อโรงงานในโครงการหลายแห่งจะไม่ใช้เงินกู้ของธนาคารในประเทศไทย แต่จะใช้เงินกู้จากประเทศของตนเอง อย่างเช่นโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น หรือโรงงานจากเกาหลี จะมีดอกเบี้ยเพียง 2-3% เท่านั้นแตกต่างจากธนาคารในไทยที่เก็บดอกเบี้ยสูง 5-6% ทำให้ผู้ประกอบการในไทยมีทางเลือกไม่มาก และต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง
นอกเหนือจากเป็นที่ปรึกษาให้กับ SME แล้ว บริษัทยังต้องบริหารโครงการเสรีแฟคตอรี่ แลนด์ เพื่อก่อสร้างโรงงานโดยใช้เงินทุน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน ส่วนตัว 400 ล้านบาท และขอสินเชื่อจากธนาคาร 600 ล้านบาท
บริษัทได้ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา แต่ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อเพราะสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองในตอนนั้นไม่มีความมั่นคง จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นเรื่องขอ กู้เงินอีกครั้งหนึ่งและได้รับอนุมัติวงเงินจำนวน 585 ล้านบาท
ก่อนที่จะได้รับอนุมัติวงเงินดังกล่าว บริษัทต้องใช้เวลา 2 เดือนในการดำเนินการยื่นเอกสารโดยเฉพาะงบการเงินที่ต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี
ช่วงเวลาสำคัญที่สุดคือช่วงเวลาที่ธนาคารบอกจำนวนเงินที่ให้กู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ตรงกับที่ยื่นขอ หรือได้เพียง 60% ของวงเงินกู้เท่านั้น
วรพจน์บอกว่า ช่วงเวลานี้เขาจะให้ วาทินเข้ามาช่วยเจรจากับธนาคาร และบอกเหตุผลที่ต้องได้เงินเท่ากับจำนวนที่ขอไป และดอกเบี้ยต้องได้ตามที่บริษัทเป็นผู้เสนอ รวมถึงระยะเวลาชำระเงิน
"เราได้น้อยกว่านิดหนึ่ง เพราะเขาจะดูตัวเลขที่ขอสินเชื่ออาจจะเกินจริงไปนิดหนึ่ง เพราะธนาคารมองว่าที่ดิน การลงทุน ทางด้านสาธารณูปโภคผมลงทุนไปแล้ว อะไร ที่ผมลงทุนไปแล้วธนาคารเขาจะไม่ให้เยอะ แต่ส่วนที่สร้างใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ธนาคารจะให้ถึง 65% เพราะธนาคารก็อยากเห็นความคืบหน้า และอยากจะดูว่าอย่างแรกเรามีเงินทุนของตัวเราเองประมาณเกือบ 400 ล้านจริงหรือเปล่า เขาเช็กจากงบดุลของเราและรายรับแต่ละเดือนของบริษัทในกลุ่มว่ามีประมาณเท่าไหร่"
บริษัทเสรีก่อตั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาด้วย เงินทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีเป้าหมาย สร้างโรงงานเพื่อขายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บนเนื้อที่ 300 ไร่ ในเขตตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ทั้งหมดได้ถูกจัดสรรไว้เรียบร้อยแล้วและโครงการแฟคตอรี่ แลนด์ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2551-2553)
โรงงานของที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะถูกออกแบบให้เป็นทั้งออฟฟิศ ที่พักอาศัยและโรงงานในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งวรพจน์ บอกว่าเป็นเพราะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความ ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี บริษัทเสรีฯ อาจเป็นตัวอย่างภาพสะท้อนในการทำธุรกิจของ SME ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ส่วนหนึ่งว่าการเจรจาต่อรองกับธนาคารต้องมียุทธวิธีและวางแผนให้รอบคอบ
|
|
|
|
|