"จากตัวชี้วัดต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าการวิจัยและพัฒนาของไทย ยังตามหลังประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา ดังนั้น หากเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค เราต้องรีบพัฒนาในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด"
เป็นคำพูดของ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งถูกตีพิมพ์ไว้ในส่วนแรกของเอกสาร "ตัวชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ สวทช. เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา
เป็นที่น่าเสียดายที่รายละเอียดซึ่งบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับนี้ ไม่ได้ถูกพูดถึงในการแถลงข่าวครั้งนี้แม้แต่น้อย
สวทช.ได้จัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งบอกถึงการจัดประชุมประจำปีของ สวทช. (NAC 2008) ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม ซึ่งได้มีการนำผลงานวิจัยสำคัญๆ ของ สวทช. และหน่วยงานในเครือมาแสดง อาทิ กล้าต้นสักที่สกัดได้จาก ยีนของไม้สักที่นำมาใช้เป็นเสาหลักและเสารองของเสาชิงช้า การแสดงโมเดลจำลองโครงการวิจัยเพื่อการทดลองปลูกข้าวไทยในอวกาศ ความคืบหน้าของเทคโนโลยีนาโนคริสตอลสำหรับใช้ทำเซลล์แสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำ รวมถึงเทคโนโลยีการทดสอบคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลที่รวดเร็ว สะดวก และต้นทุนต่ำ ฯลฯ
ดังนั้นเนื้อหาในการแถลงข่าวจึงเน้นไปกับการเชิญชวนประชาชน นักวิจัย และนักลงทุน ให้ไปเยี่ยมชมงานดังกล่าว จนไม่มี เวลาที่จะพูดถึงเนื้อหาในเอกสารที่นำมาแจก ซึ่งมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
ในเอกสารชิ้นนี้ระบุว่าจากตัวชี้วัดที่สำคัญ 3 ประการ แสดงให้เห็นว่าไทยจะต้องเร่งผลักดันประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานความรู้
ตัวชี้วัดดังกล่าวประกอบด้วย
1. การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2548 อยู่ที่ 0.24% ขณะที่ประเทศมาเลเซีย มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเมื่อเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 0.63% มากกว่าไทยถึง 2.5 เท่า ส่วนในประเทศอุตสาหกรรมใหม่และประเทศอุตสาหกรรม ต่างๆ มีสัดส่วนมากกว่าไทยถึง 8-10 เท่า (รายละเอียดดูแผนภูมิ ประกอบ)
ในทางเดียวกัน ในแต่ละปีอัตราค่าใช้จ่ายรวมในด้านวิจัยและ พัฒนาของไทย เมื่อเทียบกับจีดีพีก็มีเพิ่มขึ้นน้อยมาก โดยอยู่ระหว่าง 0.24-0.28% มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งในเวลาเดียวกัน เมื่อเทียบกับประเทศ อื่น เช่น เกาหลี จีน และอิสราเอล มีค่าใช้จ่ายตัวนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
ขณะที่ตัวเลขในปี 2548 ประเทศไทยได้ใช้เงินไป 16,560 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนา โดย 60% ของเงินจำนวนนี้มาจากภาครัฐ ที่เหลืออีก 40% จึงมาจากภาคเอกชน ซึ่งต่างจากในหลายๆ ประเทศที่ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านนี้มากกว่าภาครัฐ
2. จำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาเมื่อเทียบกับประชากร ทั้งหมดในประเทศไทย ก็อยู่ในระดับต่ำ โดยปี 2548 มีบุคลากรด้านนี้ เพียง 5.7 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกาหลีมี 44.8 คน ไต้หวัน 65.5 คน และสิงคโปร์ 65.8 คน ส่วนในประเทศอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่นมีสูงถึง 70.2 คน
ในปีเดียวกัน ประเทศไทยมีบุคลากรด้านนี้อยู่ทั้งสิ้น 37,000 คน เพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 เท่าจากปี 2542 ที่มีเพียง 20,047 คน
3. จำนวนสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ก็อยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2548 ไทยมีจำนวนสิทธิบัตรไม่ถึง 1 สิทธิบัตรต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่เกาหลีมีจำนวน 874 สิทธิบัตร สิงคโปร์มี 991 สิทธิบัตร และไต้หวันมี 1,230 สิทธิบัตร
ปีที่แล้ว (2550) ประเทศไทยมีสิทธิบัตรที่จดทะเบียนใหม่จำนวน 1,824 สิทธิบัตร ลดลงจากปี 2549 ที่มี 1,878 สิทธิบัตร และปี 2547 ที่มี 2,044 สิทธิบัตร แต่สูงกว่าปี 2548 ที่มี 1,322 สิทธิบัตร
ตอนท้ายของเอกสารเดียวกันได้บอกถึง 6 เทคโนโลยีที่ได้เกิด ขึ้นและกำลังมีบทบาทสำคัญภายในปี 2558 ว่าประกอบด้วยเทคโน โลยียีนบำบัด (Gene Therapy) การสื่อสารไร้สาย (Wireless Communica-tion) การเข้าใจและแปลความหมายภาพ (Image Understanding) การโคลนหรือการตัดแต่งสิ่งมีชีวิต (Cloned or Tailored Organisms) ระบบเครื่อง กลไฟฟ้าจุลภาค (Micro Electro Mechanical Systems-MEMS) และนาโนเทคโนโลยี (Nano Technology)
คงจะดีไม่น้อยหากจากนี้ไปเนื้อหาที่มีความสำคัญเช่นนี้จะถูกนำมาขยายความให้คนทั่วไปได้เข้าใจอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น
|