|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2551
|
|
การเปิดตัว CEO ของ 2 ธนาคาร ทั้งธนาคารเอชเอสบีซี และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ในเวลาใกล้เคียงกันมีความหมายหลายๆ อย่าง เพราะสถาบันการเงิน 2 แห่งนี้เป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยกว่าหนึ่งศตวรรษ
ธนาคารเอชเอสบีซีในเมืองไทยมีอายุครบ 120 ปีในปีนี้ ในขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีอายุ 114 ปี!!!
ธนาคารเอชเอสบีซีเลือกเปิดตัว วิลลี แทม วัย 47 ปี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 หลังจากที่เขามารับมอบหมายงานก่อนหน้านั้นในเดือนพฤศจิกายน ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดตัว มาร์ค เดวาเดสัน วัย 46 ปี (Mark Devadason) ในวันที่ 18 มีนาคมปีนี้ ทิ้งช่วงระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 3 เดือน
จะด้วยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ธนาคารทั้ง 2 แห่งได้เลือกเปิดตัวผู้บริหาร ณ ห้อง Library 1918 โรงแรมดุสิตธานี ในห้องเดียวกัน เป็นห้องที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมตั้งชื่อห้องนี้ให้สอดคล้องกับพระที่นั่งอุดร ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2461 (1918) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดุสิตธานีแห่งที่ 1 เป็นห้องที่เก็บของที่ระลึก โชว์นิทรรศการ และยังเป็นห้องอ่านหนังสือในบางช่วง เวลาที่ไม่มีการจัดงาน
ห้องนี้ได้สะท้อนถึงความเก่าแก่และมีตำนานถึง 90 ปี เสมือนกับที่ธนาคารเอชเอสบีซีและธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กำลังบอกให้รู้ว่าเป็นธนาคารที่เติบโตเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ของไทย
ผู้บริหารทั้ง 2 คนเป็นคนเอเชีย วิลลี แทม มีสัญชาติมาเลเซีย ส่วนมาร์ค เดวาเดสัน เป็นลูกครึ่งระหว่างศรีลังกาในฝั่งของบิดา ส่วนมารดาเป็นคนอังกฤษ
ด้านการศึกษาทั้งแทม และเดวาเดสัน เรียนจบที่ประเทศเดียวกันคือ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของทั้งสอง ธนาคาร แทมจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมโยธา จากอิมพีเรียล คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ส่วนเดวาเดสันจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบริสทอลในอังกฤษ และในปี 2528 ได้เรียนเพิ่มเติมในสาขาปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ ผ่านหลักสูตรการบริหารจัดการต่างๆ เช่น INSEAD, เท็มเปิลตัน และลอนดอน บิซิเนส สคูล
นอกจากสถาบันการศึกษาจะอยู่ในประเทศเดียวกันแล้ว เขาทั้งสองยังเริ่มทำงานในปีเดียวกันคือ ปี 2528 แทมทำงานในเอชเอสบีซีมาเป็นเวลา 23 ปี ซึ่งเท่ากับเดวาเดสันที่ทำงานใน สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 23 ปีเช่นเดียวกัน
ในช่วงเวลา 23 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองได้ถูกส่งไปทำงานหลาย ประเทศ และไปทำงานที่ประเทศเดียวกันก็หลายแห่ง อย่างเช่น อังกฤษ และฮ่องกง
แทมเป็นผู้บริหารระดับสูง และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายประเทศในช่วงตลอด 23 ปีที่ผ่านมา เขาทำงานในฮ่องกง สหรัฐอเมริกา มาเก๊า มาเลเซีย อังกฤษ กาตาร์ และก่อนจะมาดำรงตำแหน่งซีอีโอที่ประเทศไทย เขามีตำแหน่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนเดวาเดสันมีประสบการณ์ที่หลากหลายและประจำอยู่หลายประเทศ ลอนดอน ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และก่อน ที่จะมาประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ 8 เขามีตำแหน่งซีอีโอในญี่ปุ่น แต่การมาประจำอยู่ในเมืองไทยไม่ใช่ครั้งแรกของเขา เพราะก่อนหน้านี้ได้เข้ามาบริหารธนาคารในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่อยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น
การกลับมาครั้งนี้ เดวาเดสันได้ขอบริษัทแม่ด้วยตัวเองเพื่อมาบริหารธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย และเขามีเป้าหมายที่จะอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ด้วยประสบการณ์ของทั้งสองที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับคนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซีอีโอทั้ง 2 จึงถูกส่งมาบริหารในประเทศไทย และมาในช่วงจังหวะที่รัฐบาลจัดตั้งแล้วเสร็จ ไทยเริ่ม กลับมาขับเคลื่อนธุรกิจอีกครั้ง หลังจากที่มีการชะลอการลงทุนอย่างเห็นได้ชัดในห้วงเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา
แทมมีความชำนาญด้านสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านปฏิบัติ การธุรกรรมธนาคาร ควบคุมความเสี่ยงและด้านบริหารจัดการด้านเดวาเดสัน มีความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจการเงินและการลงทุน และมีความชำนาญด้านฝึกอบรมสถาบันธนกิจ
นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางด้านการเงินแล้ว ซีอีโอทั้งสองคนยังรับเป็นกรรมการหอการค้าอังกฤษในประเทศไทย ส่วนแทมยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการกิตติมศักดิ์ของสมาคมธนาคารต่างชาติอีกด้วย
ในด้านสังคมหรือ CSR ยังมีกิจกรรมที่คล้ายคลึงและกิจกรรม ที่กล่าวถึงบ่อยครั้ง ก็คือการช่วยเหลือคนพิการในรูปแบบต่างๆ จนทำให้เอชเอสบีซีได้รับรางวัลเป็นองค์กรดีเด่นที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านคนพิการ ประจำปี 2550 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานประจำ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจัดโครงการช่วยเหลือผู้พิการ ทางสายตา หรือที่เรียกว่า seeing is believing หรือแม้แต่ในวันแถลงข่าวซีอีโอยังบอกเล่าเรื่องราวที่ทำทางเดินพิเศษให้กับคนพิการ หลังจากที่เขามารับตำแหน่งได้เพียง 2 สัปดาห์ ที่อาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ถนนสาทรเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
การเปิดตัวของซีอีโอของธนาคารต่างชาติทั้งสองแห่ง แม้ว่า สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะย้ำหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นธนาคารไทยที่ได้ใบอนุญาตดำเนินกิจการด้านการเงินก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบหรือเสียเปรียบด้านผลิตภัณฑ์มากนัก
สิ่งสำคัญนับจากนี้ไปน่าจะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการในเชิงรูปธรรมมากกว่าถ้อยแถลงของทั้ง 2 ธนาคารนี้ ว่าจะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตด้วยวิธีใด หลังจากที่เปิดตัวแนะนำกันอย่างเป็นทางการต่อหน้าสื่อมวลชน จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|