|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2551
|
|
แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอย แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในชาติร่ำรวยกลับกำลังเริงร่ากับตลาดเกิดใหม่
เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอ่อนแอ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่งกลับกำลังร่าเริงสุดๆ IBM ทำให้นักวิเคราะห์ต้องอุทานอย่างประหลาดใจเมื่อเดือนก่อน เมื่อประกาศผลกำไรของบริษัทในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 24% ขณะที่รายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าคาดการณ์อีก 1 พันล้านดอลลาร์ พรอคเตอร์&แกมเบิลยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภครับรองต่อนักลงทุนว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะดูมืดมน แต่แบรนด์สินค้าตลาดบนของบริษัท เช่น Pampers และ Tide ยังคงสามารถเอาชนะยี่ห้ออื่นที่ราคาถูกกว่าได้
Cadbury Schwepps ยักษ์ใหญ่ขนมและเครื่องดื่มประกาศรายได้เพิ่มขึ้น 7% และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อปีกลาย ในตลาดหลัก 8 แห่งจากทั้งหมด 12 แห่ง บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ตั้งแต่โคคา-โคลา และ General Electric ยันผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ อย่าง Sikorsy และบริษัทรถแทรกเตอร์อย่าง John Deere ล้วนมียอดขายเพิ่มขึ้น Mike Mack ประธานบริษัทเมล็ดพันธุ์การเกษตรและ เคมีการเกษตรยักษ์ใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์ว่า ยอดขายของบริษัทจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักตลอดปี 2010
สิ่งที่น่าสนใจคือนอกจากผลกำไรที่เพิ่ม ขึ้นเหมือนๆ กันแล้ว บริษัทเหล่านั้นแทบไม่มีอะไรเหมือนกันอีกเลย ยกเว้นเพียงเรื่องเดียว ทั้งหมดต่างขยายธุรกิจใหญ่โตในตลาดเกิดใหม่หรือ emerging-market nation ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเพิ่มรายได้ ผลกำไรและส่วนแบ่งตลาดให้แก่ธุรกิจที่มาจากโลกพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่มิได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แนวคิดที่เรียกว่า economic decoupling จะเป็นความจริง (economic decoupling เป็นแนวคิดที่ระบุว่า ชาติกำลัง พัฒนาอาจสามารถเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ แม้ว่าชาติร่ำรวยจะพบกับสภาวะชะงักงัน)
Morgan Stanley Asia ชี้ว่า "Chindia" (ศัพท์ใหม่ที่ใช้เรียกจีนกับอินเดีย รวมกัน ในฐานะตลาดเกิดใหม่ 2 แห่งที่สำคัญที่สุด) ยังคงมีการบริโภคคิดเป็นสัดส่วน เพียง 1 ใน 6 ของการบริโภคในสหรัฐฯ จึงเป็นไปไม่ได้ที่การบริโภคในจีนและอินเดีย จะสามารถชดเชยการบริโภคที่ลดลงในสหรัฐฯ ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทที่ชาญฉลาดในโลกตะวันตกแล้ว การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่ร่ำรวยมากขึ้น และแม้กระทั่งกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำในโลกกำลังพัฒนา ไม่เพียงช่วยเพิ่มผลกำไรและรายได้ให้แก่บริษัท แต่ยังทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ต้องคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับความหมายของบริษัทข้ามชาติสำหรับศตวรรษที่ 21
เบื้องหลังผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง คือการที่ผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้นได้เกิดการเปลี่ยน แปลงการรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาส บริษัทระดับ blue chip ของตะวันตกเคยคุ้นกับการมองเห็นชาติกำลังพัฒนาเป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบและแรงงานราคาถูก แต่ขณะนี้พวกเขากำลังขายสินค้าสำเร็จรูป และบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าในชาติกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Carrefour, Unilever และ Costco ต่างกำลังเอาอกเอาใจลูกค้ารายได้ต่ำ ผู้ที่กำลังกระตือรือร้นอยากเข้าร่วม ในเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภค พร้อมกันนั้นก็ล่อใจลูกค้าชนชั้นกลางที่ต้องการสินค้าระดับบน ตั้งแต่สเต๊กฟิเลต์มิยงไปจนถึงเบียร์แบรนด์เนม และกล้องดิจิตอลไฮเทค บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ Hitachi (ผลิตเครื่องจักรขุดเหมือง) และ 7-Eleven หรือ Nokia ของฟินแลนด์ และธนาคาร Banco Santander ของสเปน ไปจนถึง Bombardier (เครื่องบินสำหรับผู้บริหาร) ของแคนาดา ต่างกระโดดเข้าร่วมขบวนตลาดเกิดใหม่
และแน่นอนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือกำเนิดขึ้นในชาติกำลังพัฒนา เอง อย่างเช่น Embraer บริษัทต่อเครื่องบินขนาดกลางของบราซิล Hon Hai ยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ย่อมไม่พลาดที่จะขอมีเอี่ยวแบ่งเค้กชิ้นนี้ด้วย ใช่แต่เท่านั้น ตลาดประเทศเกิดใหม่ยังเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของบริษัทรุ่นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศโลกที่หนึ่งด้วย ซึ่งหวังที่จะวางอนาคตไว้กับตลาดเกิดใหม่ในซีกโลกใต้และตะวันออก
หลังจากกระแสโลกาภิวัตน์พัดโหมกระหน่ำมานานหลายปี จึงไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ จะหวังให้ตลาดต่างประเทศสร้างรายได้ให้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด แต่ที่แปลกคือ ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากต่างกำลังต้องการให้ตลาดชาติกำลังพัฒนา เป็นแหล่งรายได้หลักที่เติบโตรวดเร็วที่สุด ขณะนี้ 40% ของยอดขายของคอลเกต มาจากผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่ 27% สำหรับพรอคเตอร์&แกมเบิล ซึ่งยังคาดการณ์อีกว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2010 โคคา-โคลารายงานว่า ยอดขายในละติน อเมริกาและยูเรเชียเพิ่มสูงกว่าในอเมริกาเหนือเท่ากับ 2 ต่อ 1 แล้วในปีนี้ (2008) United Technologies คาดว่า ธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในชาติกำลังพัฒนาจะขยายตัวเป็น 2 เท่าของธุรกิจในตลาดชาติ พัฒนาแล้วในปีนี้
บริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรปและญี่ปุ่นย่อมไม่ยอมน้อยหน้า ปีที่แล้ว Cadbury Schweppes ของอังกฤษ ประกาศแผนปิดโรงงาน 10 แห่งและปลดคนงาน 7,800 คนภายในปี 2011 แต่ธุรกิจของบริษัท ในตลาดเกิดใหม่อย่างบราซิล จีน อินเดียและเม็กซิโก กลับเติบโตขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการเติบโตของบริษัท และสร้างรายได้เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด Syngenta บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเมล็ดพันธุ์ไบโอเทคและยากำจัดศัตรูพืช มีกิจการเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละตินอเมริกา ซึ่งรายได้กระโดดขึ้นไป 37% ในปีที่แล้ว เนื่องจากการผลิตภาคเกษตรขยายตัว
เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันแล้ว ที่แคนนอนมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% ต่อปีในจีน จากสินค้าอย่างกล้อง เครื่องถ่ายเอกสารและแฟกซ์ ในขณะที่ Hitachi ประสบรายได้ตกต่ำในสหรัฐฯ เมื่อไตรมาสก่อน แต่ธุรกิจในจีนกลับรุ่งเรืองดี และคาดว่าจะทำยอดขายได้ 1 หมื่นล้าน ดอลลาร์ในจีนในปีนี้ Goldman Sachs ชี้ว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาจตกต่ำและนอกสหรัฐฯ อาจอ่อนตัว แต่บริษัท ที่มีธุรกิจนอกสหรัฐฯ ด้วยจะมีรายได้รวมดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การกระจายธุรกิจคือหนทางรอด
บริษัทจำนวนมากเริ่มกระจายธุรกิจออกสู่วงกว้างขึ้น หลังจาก เกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2001 หลังจากที่ฟองสบู่ตลาดไฮเทคแตกและการเกิดเหตุวินาศกรรมช็อกโลก "9/11" ในขณะที่บริษัทหลายแห่งลดพนักงานและปิดโรงงาน แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ ของตะวันตกอย่าง IBM และ Unilever กลับปรับตัวเองใหม่ ด้วยการ ออกสู่ตลาดนอกสหรัฐฯ ไปยังจีนและอินเดีย และการลงทุนที่เริ่มตั้งแต่ครั้งนั้นกำลังผลิดอกออกผลในขณะนี้ ข้อดีของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้คือ วงจรธุรกิจของแต่ละที่ในโลกนี้ไม่ได้สัมพันธ์กันเสมอไป
การที่ GDP ในจีนและอินเดียยังคงขยายตัว 10 และ 8.4% ตามลำดับ เป็นผลดีต่อบริษัทอย่าง Starbucks ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบในสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันที่วิตกเรื่องเศรษฐกิจถดถอย เลิกดื่มกาแฟแก้วละ 4 ดอลลาร์ และหันไปดื่มกาแฟที่ถูกกว่าแทน โชคดีที่ Starbucks เริ่มขยายธุรกิจนอกสหรัฐฯ ตั้งแต่หลายปีก่อนและขณะนี้ยอดขายในตลาดต่างประเทศของ Starbucks เพิ่มขึ้น 31% จากปี 2006 ถึง 2007 ขณะที่ยอดขายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 19%
อย่างไรก็ตาม นี่มิได้หมายความว่าตลาดเกิดใหม่เป็นตลาดที่ง่ายต่อการเจาะเข้าไป ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้อาจบิดเบือนรายได้ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ซึ่งรายงานรายได้เป็นเงินดอลลาร์ให้ดูสวยงามเกินจริง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์กำลังอ่อนค่า และแม้ชาติกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเติบโตสูง แต่ก็ยังคงมีสัดส่วนเพียง 14% ของ GDP โลกเท่านั้น นอกจากนี้ธุรกิจต่างชาติในตลาดกำลังพัฒนายังคงปวดหัวกับปัญหาเดิมๆ เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่น และกฎเกณฑ์ที่คลุมเครือ
ตลาดชาติกำลังพัฒนายังมีปัญหาที่ท้าทายอีกประการคือการ ที่ธุรกิจอาจต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขายในตลาดรายได้น้อยโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็ต้องใช้กลวิธีต่างกัน ในขณะที่ Unilever ประสบความสำเร็จในการขายสบู่ยกแพ็กในอินเดีย Cadbury กลับเอาใจลูกค้าในเม็กซิโกและเซาเปาโล ที่ชอบจ่ายด้วยเหรียญ ด้วยการขายหมากฝรั่ง Trident และ Bubbaloo เป็นชิ้นแทนเป็นกล่อง
แต่สินค้าไฮเทคอาจมีปัญหาในการขายสินค้าให้แก่ธุรกิจขนาด ย่อมที่มีงบประมาณน้อย ซึ่งมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนในชาติกำลังพัฒนา ทางออกทางหนึ่งคืออินเทอร์เน็ตแทนที่จะพยายามขายซอฟต์แวร์ การบริหารอย่างดีราคาแพง บริษัทอย่างกูเกิ้ล และไมโครซอฟท์กลับเสนอบริการซอฟต์แวร์ผ่านเว็บด้วยสนนราคาที่ถูก ซึ่งผู้ค้าปลีกหรือบริษัทสามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเสียค่าบริการที่ต่ำกว่า
การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา IT ในตลาดเกิดใหม่โตขึ้น 7% ต่อปี มากกว่าอัตราเติบโตในสหรัฐฯ 2 เท่า บริษัทหลายแห่ง ถึงกับย้ายแผนกวิจัยและพัฒนาทั้งแผนกไปยังตลาดเกิดใหม่ IBM ย้ายพนักงาน 2 ใน 3 ออก นอกสหรัฐฯ และอัดฉีดเงิน 8 พันล้านดอลลาร์ เข้าสู่อินเดีย ตามแผนเพิ่มรายได้จากตลาดเกิด ใหม่เป็น 2 เท่า คือเพิ่มเป็น 9 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2010 GE เพิ่งย้ายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ GE Hydro จากแคนาดาไปยังบราซิล และย้ายสำนักงานใหม่ของธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค GE Money จากคอนเนตทิคัตไปยังลอนดอน เพื่อให้อยู่ใกล้ตลาดในซีกโลกตะวันออกมากขึ้น Ferdinando Beccalli-Falco ประธาน GE International ซึ่งดูแลกิจการทั่วโลกของ GE หรือ General Electric ชี้ว่า หมดยุคการเข้า ไปในตลาดประเทศอื่นอย่างไม่จริงจัง ยุคนี้บริษัทจะต้องฝังตัวในประเทศนั้น และเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและบริษัทในท้องถิ่น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในประเทศนั้นๆ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวส์วีค 3 มีนาคม 2551
|
|
|
|
|