|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2551
|
|
ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้มุ่งมั่นจะพลิกฟื้นเกาหลีใต้ให้กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการโละทิ้งนโยบายซ้ายและกลับไปคืนดีกับสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีใครยอมให้ความร่วมมือ
Lee Myung-bak ประธานาธิบดีหมาดๆ วัย 66 ปีของเกาหลีใต้จะต้องเผชิญ กับปัญหามากมายกับการที่เขาพยายามจะดันเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทรงพลัง แต่กลับซวดเซอยู่ในขณะนี้ให้กลับมายืนผงาดอยู่ในแถวหน้าของเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง Lee มีแผนจะสร้างความเข้มแข็งทั้งพื้นฐานธุรกิจของเกาหลีใต้และความสัมพันธ์กับภายนอก หลังจากที่เกาหลีใต้ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลนิยมซ้ายมานาน 10 ปี ซึ่งทำให้การใช้จ่ายด้านสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับอ่อนแอ และความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่สดใส Lee มั่นใจว่า เขามีทางแก้สำหรับทุกปัญหาข้างต้น เขาจะดึงดูด การลงทุนจากต่างประเทศ จะกลับไปคืนดีกับพันธมิตรเก่าๆ และจะส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ Lee ซึ่งเป็นคนที่มีความเป็นสากลและเป็นมิตรกับธุรกิจ เรียกแผนการนี้ว่า "Global Korea" และพร้อมกันนั้น เขายังจะลดภาษี ลดการใช้จ่ายภาครัฐและลดกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจ
แต่เกาหลีใต้พร้อมจริงหรือกับการที่จะใช้นโยบายสไตล์เดียวกับประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งหันกลับไปญาติดีกับสหรัฐฯ ยอมรับภาษาอังกฤษ และเป็นมิตรกับธุรกิจขนาดใหญ่ หรือการที่จะโละทิ้ง "อุดมการณ์เสรีนิยม" ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนๆ เหตุผลหนึ่งคือ เกาหลีใต้มีทัศนคติที่ไม่ชัดเจนต่อโลกภายนอก ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ซึ่งเกิดจากการส่งออก ทำให้ชะตากรรมของเกาหลีใต้ผูกพันกับประเทศ อื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เกาหลีใต้ยังนิยมส่งลูกหลานไปเรียนภาคฤดูร้อนที่สหรัฐฯ หรือฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ก็ยังคงมีความรู้สึกที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับการรู้สึกถูกลบหลู่เกียรติ จากการที่มักถูกมหาอำนาจต่างชาติรุกรานและยึดครองเป็นอาณานิคมหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่จิตใจของคนเกาหลีใต้จะแกว่งไกวหวั่นไหวไปมา ระหว่างความรู้สึกสากลนิยมกับโรคหวาดกลัวต่างชาติ
ความจริงแผนการของ Lee เจอตอตั้งแต่ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้น สู่ตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้ นักสิ่งแวดล้อมและสหภาพแรงงานซึ่งทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้ ต่างพากันโจมตีแผนส่งเสริมโลกาภิวัตน์ของ Lee ว่า เป็นภัยคุกคามเกียรติภูมิของชาติ และเป็นการพยายามจะนำลัทธิ เสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ มาใช้ ซึ่งเน้นการพัฒนาสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำตามแผนการ Global Korea ของเขา Lee ถึงกับคิดจะนำชาวต่างชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล แต่ถูกต้านจากกลุ่มชาตินิยมในเกาหลีใต้ ความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินโลก ทำให้ Lee ต้องยอมเลิกราจากการให้คำสัญญาระหว่างหาเสียงว่า จะทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้กลับมาเติบโตในระดับที่ไม่เคยเห็นกันในเกาหลีใต้มานานหลายปีแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Lee ยังคงยืนยันว่า เขาจะไม่ยอมละทิ้งแผนการนี้ "เราเคยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโลกาภิวัตน์" และเขาเชื่อว่า โลกาภิวัตน์จะยังคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการพลิกฟื้นเกาหลีใต้
อันที่จริงดูเหมือนว่าเกาหลีใต้จะเก่งฉกาจไม่ใช่น้อยเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ตัว Lee เองเคยเป็นอดีตประธาน Hyundai และนายกเทศมนตรีกรุงโซล และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เนื่องจากชาวเกาหลีใต้จำนวนมากโทษนโยบายของอดีตประธานาธิบดี 2 คนก่อนคือ Roh Moo Hyun และ Kim Dae Jung ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในสภาพแน่นิ่ง นโยบายของ Roh และ Kim ซึ่งเลียนแบบโมเดลสังคมของประเทศในยุโรปเหนือ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมเฉลี่ย 18% ต่อปี ส่งผลให้ภาครัฐขยายตัวเบ่งบาน ขณะที่มีการเก็บภาษีสูงและธุรกิจภาคเอกชนต้องต่อสู้กับกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอดีตประธานาธิบดี Roh เน้นการกระจาย ความมั่งคั่งไปสู่คนจน ในขณะที่จุดยืนสนับสนุนชนชั้นแรงงานและต่อต้านบริษัทขนาดใหญ่ของเขา ทำให้การลงทุนหดหาย ปีที่แล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) เตือนว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคง "ค่อนข้างโดดเดี่ยว" โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงจาก 7% ในปี 2002 เหลือ 5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เท่ากับการถดถอยในความรู้สึกของเกาหลีใต้ อัตราการว่างงานในคนวัยหนุ่มสาวพุ่งสูงถึงระดับเลข 2 หลัก และเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงเวลา 5 ปี นักวิเคราะห์บางคนถึงกับชี้ว่า ยุคของประธานาธิบดี Kim และ Roh นัยว่าเป็น "10 ปีที่หายไป" ของเกาหลีใต้
Lee หวังจะแก้ปัญหาด้วยการปิดหรือยุบรวมหน่วยงานราชการ ที่ขยายตัวมากเกินไป ลดภาษีบริษัทและทรัพย์สินและลดกฎเกณฑ์ เขายังมีฝันใหญ่ที่จะสร้างลำคลองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมแม่น้ำสายต่างๆ ในภาคเหนือและภาคใต้ของเกาหลีใต้ อันจะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือสะดวกง่ายดายมากขึ้น และยังจะเป็น การกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตที่ห่างไกลรวมทั้งสร้างงานใหม่ๆ เขายังพยายามจะดึงดูดการลงทุนทั้งจากผู้นำธุรกิจของเกาหลีใต้เองและจากต่างชาติ
เช่นเดียวกับประธานาธิบดี Sarkozy ของฝรั่งเศส Lee คิดจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งเสียหายอย่างหนักในยุคของ Roh ผู้ซึ่งต้องการให้เกาหลีใต้เป็นอิสระจากสหรัฐฯ พันธมิตรดั้งเดิม และหันไปสนิทสนมกับเกาหลีเหนือมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ยิ่งหมางเมินมากขึ้น ในกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของ Kim Jong Il ผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อสหรัฐฯ ต้องการให้ ใช้ไม้แข็ง เช่นการใช้มาตรการลงโทษ แต่เกาหลีใต้ยืนยันให้ใช้รางวัล คือเพิ่มความช่วยเหลือให้แก่เกาหลีเหนือ
สำหรับ Lee ประกาศไว้ว่า เกาหลีเหนือจะไม่ได้รับรางวัลใดๆ เพิ่มอีกต่อไป โดยปราศจากการสร้างความคืบหน้าในประเด็นนิวเคลียร์ Lee ประกาศชัดเจนว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ควรจะแสวงหาความมั่งคั่งร่วมกันพร้อมไปกับการรักษาสันติภาพ แต่เตือนว่าเกาหลีใต้ จะไม่ยอมสร้างสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการรวมชาติถ้าหาก เกาหลีเหนือยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือนี้ยังจะช่วยทำให้เกาหลีใต้กับสหรัฐฯ กลับคืนสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นดังเดิมได้ง่ายขึ้น
Lee ยังกล่าวชัดเจนอีกว่า สหรัฐฯ หาใช่เกาหลีเหนือ ที่เกาหลีใต้จะยังคงถือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เพราะเกาหลีใต้คงจะไม่มีทางเจริญรุ่งเรืองอย่างทุกวันนี้ หรือเป็นประชา ธิปไตยได้หากปราศจากการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ความบูชาอเมริกาของ Lee ทำให้สภาผู้แทนสหรัฐฯ ถึงกับลงมติแสดงความยินดีกับ Lee เมื่อเขาชนะเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สภาล่างสหรัฐฯ ให้เกียรติเช่นนี้ต่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ขณะเดียวกันเพื่อเดินหน้าวิสัยทัศน์ Global Korea ของเขา Lee วางแผนปฏิรูปการเรียนภาษาอังกฤษ โดยจะว่าจ้างครูสอนภาษาอังกฤษ เพิ่มขึ้นอีกหลายพันคน เพื่อทำให้ชาวเกาหลี ใต้ทั่วไปสามารถพูดอังกฤษได้คล่องแคล่ว
แต่แผนการที่กระตือรือร้นทั้งหลายของ Lee ล้วนถูกต่อต้านคัดค้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การที่ Lee ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายนั้น อาจไม่ได้เป็นเพราะประชาชนสนับสนุนนโยบายของเขา แม้ว่า Lee จะเอาชนะคู่แข่งจากค่ายเสรีนิยม Chung Dong Young ค่ายเดียวกับอดีตประธานาธิบดี Roh ไปได้อย่างขาดลอยด้วยคะแนนที่มากกว่าถึงสองเท่าตัว แต่คะแนนที่เขาชนะนั้นอาจมาจากการที่ Roh เป็นผู้นำที่ประชาชนไม่นิยมเลย (คะแนนนิยมของ Roh ตกต่ำสุดเหลือเพียงเลขหลักเดียวในช่วงปลายยุคของเขา) อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ ของ Lee
นอกจากนี้สิ่งที่จะยิ่งทำให้ Lee ต้องยุ่งยากมากขึ้นอีกคือ การที่ฝ่ายค้านเสรีนิยมยังครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ Lee อาจไม่สามารถผลักดันการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปใดๆ ได้ในช่วงนี้จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ไปเสียก่อน และหวังว่าพรรคของเขาจะสามารถช่วงชิงเสียงข้างมากในสภามาจากฝ่ายค้านได้
อย่างไรก็ตาม ศัตรูของ Lee ไม่ได้มีเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย พรรคการเมืองปีกขวาที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดย Lee Hoi Chang อดีตผู้ช่วยของ Lee เอง ซึ่งมีนโยบายอนุรักษนิยมที่ยิ่งไปกว่า Lee อาจขโมยคะแนนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้และทำลาย โอกาสของ Lee ที่จะได้ครองเสียงส่วนใหญ่ ในสภา
แม้ว่าคะแนนนิยมของประธานาธิบดี Lee จะยังคงสูงเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฮันนีมูน แต่ก็ลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ โครงการสอนภาษาอังกฤษของเขาถูกตำหนิอย่างหนักว่าไม่สมเหตุสมผล และยังเป็นการหลู่เกียรติภูมิของชาติโดย Lee เคยเสนอถึงขนาดให้เปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยมทั่วเกาหลีใต้ ส่วนการตัดสินที่จะปฏิรูปกลไกภาครัฐ ก็ทำให้เขาปะทะกับฝ่ายค้านมาแล้ว
ทางด้านกลุ่มเสรีนิยมต่างๆ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านต่างกล่าวหา Lee ว่า คิดจะนำนโยบายเศรษฐกิจแบบผู้ชนะรวบทุกอย่าง แบบสหรัฐฯ มาใช้ ฝ่ายเสรีนิยมกล่าวโต้ Lee อีกว่า ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของเกาหลีใต้ ยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่าย ดังกล่าวในประเทศอย่างสวีเดน ดังนั้นจึงไม่ควรลดงบประมาณสวัสดิการสังคม และพวกเขายังคัดค้านโครงการสร้างคลองเชื่อมแม่น้ำทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าอาจสร้างหายนะด้านนิเวศวิทยา ฝ่ายค้านกล่าวหา Lee หมกมุ่นกับการพัฒนามากเกินไป ในขณะที่เวลานี้ควรเป็นเวลาที่จะให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
และในประเทศที่ 48% ของคนหนุ่มสาววัย 20-30 ปีขึ้นไปต่อต้านอเมริกา จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล จุดยืนนิยมสหรัฐฯ ของ Lee และความแข็ง กร้าวต่อเกาหลีเหนือ ดูเหมือนจะต้องเผชิญปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มชาตินิยมในเกาหลีใต้ได้โจมตีนักลงทุนตะวันตก ซึ่งเข้ามากว้านซื้อทรัพย์สินที่มีปัญหาด้วยราคาแสนถูก หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997 แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเคยช่วยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่างเช่น Daewoo Motors รอดพ้นจากการล้มละลายก็ตาม
Lee ยังมีปัญหาอีกประการคือ การอ่อนประสบการณ์ทางการ เมือง เขาเคยสัมผัสประสบการณ์ในฐานะผู้กำหนดนโยบายแห่งชาติมาเพียงครั้งเดียว เมื่อครั้งที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในช่วงทศวรรษ 1990 ถ้าไม่นับที่เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซล 4 ปี แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า การเป็นประธานาธิบดีแตกต่างจากการเป็นผู้บริหาร บริษัทหรือผู้บริหารระดับเมือง และ Lee จะค้นพบว่ายากที่จะนำความเป็นผู้นำแบบ CEO ที่เขาเชี่ยวชาญมาจาก Hyundai มาใช้ในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ รวมทั้งการที่ Lee แสดงความรังเกียจวิธีการแบบหมูไปไก่มา ซึ่งเป็นเรื่องปกติในวงการเมือง จะทำให้เขาล้มเหลวหากพยายามจะปกครองด้วยการออกคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม อย่าดูแคลนคนที่มีประวัติการเป็นนักสู้ที่ทรหดและประสบความสำเร็จอย่างสูงภายใต้สภาวการณ์ที่ขัดแย้งสุดๆ อย่าง Lee ในปี 1965 หลังจากที่ Lee เพิ่งผ่านพ้นชีวิตการเป็นวัยรุ่น จนๆ ที่ต้องหารายได้ด้วยการเก็บขยะไปขาย เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน Lee ได้เข้าทำงานที่ Hyundai และได้รับตำแหน่งผู้จัดการควบคุมการก่อสร้างถนนในไทย เพียง 12 ปีให้หลัง เขากลายเป็นคน ร่ำรวยและก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ซึ่งทำให้ Lee ได้รับฉายาว่า "มนุษย์เงินเดือนที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเกาหลี" และ "รถแทรกเตอร์"
Lee Choon Lim อดีตประธาน Hyundai และนายเก่าของ Lee ยังจำได้ดีถึง Lee หนุ่มผู้คลั่งงานและมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับความยากจน ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงโซลระหว่างปี 2002-2006 Lee แสดงความห่วงใยในเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่างๆ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาในตำแหน่งดังกล่าว หาใช่การสร้าง หากแต่เป็นการทำลายทางหลวงยกระดับ ซึ่งเป็นเส้นทางจราจรสำคัญของกรุงโซล และคืนแม่น้ำและธรรมชาติที่เคยถูกทางหลวงดังกล่าวบดบัง กลับคืนสู่คนเมืองหลวง ผลงานดังกล่าวของ Lee ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะแม่น้ำสายนั้นได้กลายเป็นสถานที่สำคัญประจำกรุงโซลไปจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ผ่านมาของ Lee ยังคงเป็นเรื่องกระจ้อย เมื่อเทียบกับการบริหารประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 11 ของโลก และเป็นประเทศที่อ่อนไหวและขัดแย้งในด้านความรู้สึกที่เกี่ยวกับเกียรติภูมิของชาติ แม้ Lee จะชนะศึกใหญ่ๆ มาแล้วมากมาย แต่ศึกหนักที่สุดของเขากำลังเพิ่งเริ่มต้น
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 3 มีนาคม 2551
|
|
|
|
|