|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ผู้ว่าแบงก์ชาติออกโรงแจงเหตุส่งสัญญาณคงดอกเบี้ย กนง. ระบุเป็นเรื่องยากที่จะใช้นโยบาย "ดอกเบี้ย" เพียงอย่างเดียวในการดูแลทั้งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จี้นำนโยบายการคลังร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การประชุม SEACEN ชี้เหตุที่เกิดปัญหาซับไพรม์เกิดจากความไม่พอดีใน 3 ด้าน คือ ธนาคารกลางใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้เงินมาสร้างภาระผูกพัน และความไม่เข้าใจในการลงทุนที่มีความซับซ้อน
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยว่า การดำเนินนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำของธปท.ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะใช้ดอกเบี้ยตัวเดียวมาดูแลทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ควรนำนโยบายการคลังเข้ามาช่วยเป็นบทบาทหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย และธปท.จะใช้เครื่องมือทางการเงินตัวอื่นร่วมกับมาตรการอื่นๆ แทน
“ธปท.จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินไม่ให้มีความผ่อนปรนจนเกิดปัญหาฟองสบู่ ซึ่งหากปัญหาฟองสบู่จะเกิดขึ้นก็เฉพาะในบางภาคธุรกิจเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในบางประเทศแม้เศรษฐกิจโดยรวมดีหรือเงินเฟ้อไม่สูงก็มีปัญหาฟองสบู่เกิดขึ้นกับราคาสินทรัพย์สูงได้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ธปท.ตรวจสอบยังไม่พบว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีสัญญาณที่จะแสดงให้เห็นผิดปกติแต่อย่างใด แต่ธปท.ก็มีการติดตามดูแลปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจ 7-8 ปัจจัยอย่างใกล้ชิดต่อไป"
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20-22 มี.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกจำนวน 16 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา ฟิจิ อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล พม่า ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน เวียดนาม และไทย
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ในที่ประชุม SEACEN ครั้งนี้ต่างมองว่าปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ของสหรัฐที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอดีของ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากเกินไปหรือใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ของสภาพยุโรป(G3) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ระบบมีสภาพคล่องจำนวนมาก จึงมีการหาแหล่งลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น
“ในที่ประชุม SEACEN มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในขณะนี้เป็นยุคหนึ่งที่ยาก เพราะมีข้อจำกัดมากทั้งความเสี่ยงของการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งธปท.จะมีความระมัดระวังผลกระทบจากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงและด้านการเงิน”
2.การกู้เงินมาสร้างภาระผูกพันมากเกินไป โดยในช่วงที่ผ่านมาพวกกองทุนเพื่อการเก็งกำไร(Hedge Fund) ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4 เท่า เทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 20 เท่า และบริษัทประกัน ซึ่งทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อในตราสารต่างๆ ประมาณ 50-100 เท่า และ3.การลงทุนในลักษณะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ในแง่ของผู้กำกับและผู้เล่นในตลาดบางรายไม่เข้าใจนัก
สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากเกิดปัญหาซับไพรม์ส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังประเทศต่างๆ ลดลงค่อนข้างมาก ทำให้สภาพคล่องไหลเวียนมายังประเทศอื่นน้อยลง รวมทั้งไทยด้วย โดยเดือนม.ค.51 มีเงินทุนเคลื่อนย้าย 20,000 ล้านเหรียญ เทียบกับช่วงกลางปี 2550 ที่มีทั้งสิ้น 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพคล่องในตลาดโลกหดหายลง ก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
“ในช่วงที่ผ่านมาธปท.ได้ออกมาตรการ เพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทแล้ว เช่นเดียวกับควบคุมเงินทุนไหลออกหรือกีดกันไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามายังไทยง่ายเกินไป เราก็ดำเนินการแล้ว ส่วนที่เหลือก็มีเล็กๆ น้อยๆ ในแง่ปฏิบัติ ซึ่งหากธุรกรรมใดที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะมีการปรับบ้าง แต่เท่าที่หารือร่วมกันกับธนาคาพาณิชย์ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมาตรการอะไรออกมาดูแล”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับพวงจากปัญหาซับไพรม์น้อย เนื่องจากมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่แข่งแกร่ง สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและสภาพคล่องจำนวนมาก ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศยังคงดีอยู่ แม้ภาคการส่งออกชะลอลงบ้าง ขณะเดียวกันนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 40 ในหลายประเทศมีการพัฒนาตลาดทางการเงินที่หลากหลายและเปิดเสรีมากขึ้น ถือเป็นการสร้างประโยชน์ที่ต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงเชื่อว่าแนวทางที่ธปท.ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาและในขณะนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และในระยะต่อไปจะพัฒนาตลาดอื่นๆ ให้มีความเข้มแข็งขึ้นมากขึ้น
“แม้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โตช้าลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ดีพอสมควร ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สูงขึ้นบ้าง แต่ไม่เป็นระดับที่น่าตกใจ ซึ่งปกติเอ็นพีแอลในระบบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโตน้อย และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หละหลวม แต่เท่าที่ตรวจสอบดูเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่า จึงยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่เข้ามาควบคุมในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้ ดังนั้น การกำกับดูแลของธปท.ในแง่ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งธปท.จะแนะนำให้สถาบันการเงินคำนึงถึงพื้นฐานความเสี่ยงประกอบการลงทุนต่างๆด้วย”
|
|
 |
|
|