Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2538
อินเตอร์เน็ตไทย ทางด่วนสายนี้ต้องรอ…             
โดย วรสิทธิ ใจงาม
 

 
Charts & Figures

พฤติกรรมการใช้ Internet ของนิสิตนักศึกษา
Internet ในสายตาของนิสิตนักศึกษา
การมี Account Internet ของนิสิตนักศึกษา
เปรียบเทียบราคาค่าบริการบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่าง เคเอสซี อินเตอร์เน็ต-อินเตอร์เน็ต ประเทศไทย (หน่วย : บาท)


   
search resources

Networking and Internet




อินเตอร์เน็ตในไทยเป็นคำพูดที่ฮิตมาก แต่อินเตอร์เน็ตเชิงธุรกิจก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น นักธุรกิจและองค์กรต่างๆ เข้ามาในเครือข่ายแบบประปราย แต่ดูเหมือนว่าจะบูมเฉพาะผู้ให้บริการเครือข่ายและนักคอมพิวเตอร์ผู้นิยมก๊อปปี้ของฟรีและดูภาพโป๊ ซึ่งอันหลังนี้ดูกลับได้รับความนิยมในการเปิดดูมากที่สุด หรือว่า..วงการอินเตอร์เน็ตไทยจะหยุดอยู่แค่เพนท์เฮ้าส์ เพลย์บอย

อินเตอร์เน็ต (INTERNET) คำนี้มีการพูกันหนาหูขึ้นในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป หรือนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เนื่องจากตัวเอง สามารถทำให้คอมพิวเตอร์ต่างระบบและต่างชนิด สื่อสารเชื่อมโยงหรือติดต่อกับผู้ที่อยู่ในเครือข่าย หรือจะเข้าไปอ่านข้อมูลที่อยู่ในหน่วยเก็บข้อมูลใหญ่ขององค์กรที่เข้ามาในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือข้อความ ถือเป็นการแชร์ข้อมูลกันอ่านได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก ด้วยกรรมวิธีแห่งโลกการสื่อสาร ทั้งแบบผ่านสารโทรศัพท์, เคเบิลใยแก้ว หรือดาวเทียม

มันจึงเสมือนเป็น "เครือข่ายมนุษยชาติ" ก็ว่าได้ จากความไม่มีขีดจำกัดและขอบเขตแดนของมัน

หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล เอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปทั่วโลก สนใจที่จะเข้ามาในเครือข่ายนี้ เพราะมีแค่คอมพิวเตอร์, ซอฟต์แวร์, หมายเลขโทรศัพท์กับโมเด็มหนึ่งเครื่อง พร้อมทั้งหมายเลขประจำตัวของเราในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เป็นสมาชิกไว้ เราก็สามารถใช้บริการนี้ได้แล้ว ซึ่งไม่นานมานี้ ได้มีการสำรวจ พบว่ามีการเชื่อกันแล้วทั่วโลกถึงกว่า 32 ล้านคน ใน 80 กว่าประเทศ จากจำนวนกว่า 10,000 เครือข่าย

ส่วนในประเทศไทยทั้งประเทศเป็นตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ประมาณ 40,000 คน จากจำนวนสิบกว่าเครือข่าย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับยอดจำหน่าย เฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ที่มีถึงกว่า 250,000 เครื่อง ยังไม่นับระบบใหญ่ในองค์กรต่างๆ

ผู้ใช้ส่วนใหญ่ในยุคแรก เป็นนักวิชาการมากที่สุด โดยใช้ติดต่อกันในลักษณะอีเมล์ (คล้ายจดหมายทั่วไป แต่ส่งกันทางสายโทรศัพท์) ถึงนักวิชาการด้วยกัน หรือจะใช้เพื่อการสอบถามข่าวคราว ติดต่อนัดหมาย หรือสนทนาพูดคุยอย่างอื่น หรือใช้ดูบทความ ข้อมูลวิจัยที่เหล่านักวิชาการได้สร้างผลงานไว้

มันช่วยให้นักวิชาการซึ่งอยู่ในโลกแคบ แค่ในห้องสี่เหลี่ยมได้รู้จักกันมากขึ้น ทั้งผ่านทางผลงานที่แต่ละคนเปิดอ่านซึ่งกันและกัน หรือการพูดคุยผ่านอีเมล์ จนบางครั้งก็มีการพูดล้อเล่นกันว่า อินเตอร์เน็ต คือเครื่องมือแก้เหงาให้แก่เหล่านักวิชาการเท่านั้น คุณค่าจริงๆ ของข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเปิดดูไม่ค่อยบ่อยนัก เพราะนักวิชาการที่เป็นนักคอมพิวเตอร์และค่อนข้างจะเล่นคอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่วนั้น ยังมีน้อยมากในบ้านเรา แต่ก็ถือว่า อินเตอร์เน็ตได้สร้างคุณประโยชน์แก่วงการนักวิชาการไทยได้บ้างไม่น้อยทีเดียว

ขณะที่นักวิชาการเล่นอินเตอร์เน็ตกันเพลินๆ กระแสของอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์จากทั่วทุกสารทิศได้แพร่กระจายสู่ในแวดวงคนไทยที่สนใจ จนต่อมามีการผลักดันของกลุ่มคนที่เห็นคุณประโยชน์ในเชิงธุรกิจ กลายมาเป็นบริษัท อินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด ซึ่งแยกตัวมาจากไทยสารอินเตอร์เน็ตของเนคเทค และบริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด (คอมเน็ค) ที่แยกตัวมาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ซึ่งมีสองค่ายนี้เท่านั้นที่สามารถเปิดให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ได้

จนล่าสุด การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็อนุญาตให้เอกชนอีก 3 ราย ในการให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ได้

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อเรียกร้องว่า อินเตอร์เน็ตประเทศไทยและคอมเน็ตให้บริการได้ไม่ทั่วถึง แต่กสท.ก็อนุญาต กลุ่มวัฏจักร, บริษัทล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น และบริษัท แอดวานรีเสริช (เออาร์) ไปแล้วแบบเงียบๆ ซึ่งนับว่าแปลกมาก เพราะขณะที่ 2 เจ้าแรกยังไม่สามารถสร้างความต้องการของตลาดได้มากเท่าที่ควร กสท.ก็เพิ่มมาอีก 3 ราย ผิดกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือซึ่งตลาดมีความต้องการมากมาย แต่รัฐก็ให้แค่ 2 ค่าย คือชินวัตรและยูคอม จนทั้งคู่อิ่มหมีพีมันแล้ว รัฐจึงเริ่มมีแนวคิดว่าจะเปิดเสรี

กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ คอมเน็ต กล่าวถึงกระแสที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เป็นที่นิยมว่า "เรื่องนี้ต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชน นักธุรกิจมีความเข้าใจมากกว่านี้ ซึ่งเมื่อให้ความรู้แก่ตลาดพอสมควรแล้ว ก็คาดว่ายอดสมาชิกจะเพิ่มมากขึ้น"

โดยในส่วนของคอมเน็ตล่าสุด จะเปิดให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ได้เข้ามาลงโฆษณาในเครือข่ายในลักษณะของอิเล็กทรอนิกส์ ชอปปิ้งมอลล์ เพื่อช่วยให้บริษัทเล็กๆ สามารถใช้สื่อนี้ได้โดยเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้ คอมเน็ตได้แยกเป็นบริษัทย่อยคือ บริษัท อินเตอร์เน็ต ชอปปิ้งมอลล์ และบริษัท โกลด์ไซท์ มาดูแลทั้งการตลาด การทำอาร์ตเวิร์ก ออกแบบ ให้กับเจ้าของสินค้าที่ต้องการจะนำผลิตภัณฑ์มาลงโฆษณาในอินเตอร์เน็ต ชอปปิ้งมอลล์ รวมทั้งประสานงานกับเอเยนซีโฆษณา ในการเป็นซับคอนแทรคของโกลด์ไซท์ในกรณีที่มีงานล้นมือ

กนกวรรณ แจงว่า รูปแบบก็เพียงเอาโฆษณาสินค้าหรือบริการของลูกค้ามาเข้าไว้ในคอมเน็ต เพื่อเผยแพร่ต่อไป ซึ่งข้อดีคือ สามารถให้ข้อมูลและภาพของผลิตภัณฑ์ในระดับราคาที่ต่ำกว่าช่องทางโฆษณาปกติอื่นๆ หลายเท่าตัว

โดยอัตราราคาโฆษณาในคอมเน็ตจะอยู่ระหว่าง 500-1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าบริษัทนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกคอมเน็ตก็สามารถลงโฆษณากับคอมเน็ตได้

แต่จนถึงบัดนี้ โฆษณาบนคอมเน็ตก็ยังไม่ค่อยมีองค์กรไหนมาให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว ถึงมีก็มีไม่กี่ราย ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก และจากการสอบถามผู้ใช้บริการคอมเน็ต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เปิดมาดูที่หน้าจอโฆษณาเท่าใดนัก

ซึ่งจากที่ "ผู้จัดการ" ไต่ถามว่า เปิดเพลย์บอยหรือเพนเฮ้าส์หรือไม่ ร้อยทั้งร้อย..เปิดและก๊อบปี้ไปด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ทางคอมเน็ตเคยคาดไว้ว่า ต่อไปจะได้เห็นเนชั่นออนไลน์ ร้านขายหนังสือดวงกมล ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านขายดอกไม้ ห้องสมุดแทบทุกแห่งในประเทศ บริษัทต่างๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในระบบธุรกิจ รวมทั้งแหล่งข้อมูล มีเดีย และสินค้าบริการทั่วไป จะเข้ามาในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครสนใจเข้ามาในคอมเน็ต

ซึ่งคงเป็นไปดั่งที่กนกวรรณว่าไว้แต่แรกคือ ต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย แต่เธอก็ไม่ได้ระบุไปอีกว่าจะอีกกี่ปี จะรอให้ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องโตขึ้น หรือให้อยู่ในระดับราคาลดลงมากกว่านี้หรือเปล่าไม่ทราบ เนื่องจากเท่าที่สำรวจตลาดมาและความเห็นทั่วไป ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ของพวกนี้ยังค่อนข้างแพงอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพทั่วไปในปัจจุบัน

อินเตอร์เน็ตประเทศไทย พร้อมรุกตาม

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล จากเนคเทค ผู้มีส่วนก่อตั้งอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ให้ความเห็นในส่วนอินเตอร์เน็ตประเทศไทยว่า "แม้ที่ผ่านมาทางเราจะมีกิจกรรมทางการตลาดน้อยมาก แต่เราก็ไม่ได้นิ่งเฉย เรามีกิจกรรมอินเตอร์เน็ตแทบทุกเดือน ถึงแม้จะเปิดมาตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ยังต้องสร้างความเข้าใจแก่ตลาดอยู่มาก มันเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนรู้จักกันแล้วก็ตาม แต่บริการในรูปธุรกิจที่มีอยู่ในเทคโนโลยีนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายแก่คนทั่วไป ฉะนั้นนอกจากให้ความรู้แก่ตลาด เรายังต้องเร่งสร้างความแตกต่างด้านการให้บริการให้โดดเด่นกว่าที่เป็นอยู่ และต้องโดดเด่นกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วย"

โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ อินเตอร์เน็ตประเทศไทย จะเปิดศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตอ่ยางเป็นทางการที่อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์อีกด้วย

ศูนย์บริการนี้จะเป็นโชว์รูม รวมถึงการให้บริการเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้สนใจหรือผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกทราบว่า บริการต่างๆ ทั้งแบบสาธารณะและต้องเสียค่าบริการในเครือข่ายเป็นอย่างไรบ้าง และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างไร

ล่าสุดในงานไอทีวี '95 จะเห็นว่า อินเตอร์เน็ตประเทศไทยได้แสดงความพร้อมในเรื่องการนำเสนอ การตอบข้อสงสัยในเรื่องอินเตอร์เน็ตแก่ผู้เข้าชมงานได้อย่างน่าประทับใจ เพียงแต่ไม่เน้นการชี้ชวนในเชิงการตลาดหรือพูดอีกนัยก็คือ เป็นเซลล์หาสมาชิกเข้าเครือข่ายไปด้วย จึงเหมือนกับว่าผู้ชมกำลังฟังนักวิชาการอธิบายยังไงยังงั้น อย่างไรก็ตามอินเตอร์เน็ตก็ได้รับความสนใจอย่างมาก แม้ว่าจะมีผู้สมัครสมาชิกไม่มากนัก อินเตอร์เน็ตจึงอาจต้องสรุปบทเรียนในการทำตลาดและหาสมาชิกอย่างเต็มที่มากขึ้น

ผิดกับค่ายคอมเน็ตที่แม้จะเป็นบูทเล็กๆ ในงาน ไม่มีแม้เครื่องพีซีสักเครื่องแสดงให้ดู ทว่าทั้งใบสมัครที่แจกฟรี และหนังสือไดเร็คทอรี่ที่บอกถึงที่อยู่ของผู้ที่อยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั่วโลก กลับได้รับความสนใจขอรายละเอียดและซื้อหนังสือที่ว่าเป็นอย่างมาก

การแข่งขันเชิงการตลาดในชั้นต้น สามารถพูดได้ว่า อินเตอร์เน็ตประเทศไทยคือผู้ให้ข้อมูลความรู้ผู้ชม แต่ผู้เข้าชมหรือผู้สนใจกลับไปใช้บริการคอมเน็ตด้วยการซื้อและขอเป็นสมาชิก

แต่ด้วยความฉับไวและเข้าใจสถานการณ์ ดร.ทวีศักดิ์ก็ให้ข่าวแก้แก่สื่อมวลชนทุกสำนักว่า "อินเตอร์เน็ตประเทศไทยพร้อมทางด้านบุคลากร และมีทีมงานทำตลาดทางด้านนี้อยู่มากกว่า 20 คนแล้ว ซึ่งมีศักยภาพสูงสุดในการให้บริการลูกค้าได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจ หรือกลุ่มโฮมยูส ซึ่งให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ"

"ไม่ว่าลูกค้าต้องการบริการแบบไหน เราก็รองรับได้ทั้งหมด" ดร.ทวีศักดิ์ ย้ำถึงความพร้อมของทีมงานอีกครั้ง

เดค-ลอจิก เส้นขนานด้านการตลาด

อย่างไรก็ตาม คอมเน็ตและอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ก็คือผู้ให้บริการเครือข่ายในการที่จะให้ลูกค้ามาเช่าคู่สาย หรือช่องสัญญาณ (BANDWIDTH) ในเรื่องฮาร์ดแวร์อื่นๆ ทั้งคู่ก็เพียงแต่ให้ข้อแนะนำ หรือความรู้เท่านั้น การจะติดตั้งและออกแบบเครือข่ายเหล่านี้ จะต้องติดต่อผ่านบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งทางอินเตอร์เน็ตประเทศไทยก็หัวไวตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาแล้ว แต่จะเล่นเกมการตลาดได้ช่ำชองเพียงใด อีกไม่นานคงได้รู้กัน

แต่ก่อนที่อินเตอร์เน็ตประเทศไทยจะเปิดศูนย์บริการขึ้น สองค่ายยักษ์อย่างบริษัท ดิจิตอล อีควิปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (เดค) และบริษัท ลอจิก จำกัด ก็ได้เปิดศูนย์ให้บริการอินเตอร์เน็ตมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยศูนย์บริการของเดคใช้ชื่อ ศูนย์อินเตอร์เน็ตเอ็กซ์เปอร์ไทส์ เซ็นเตอร์ และของลอจิกใช้ชื่อว่า ศูนย์อินเตอร์เน็ต ซิสเต็ม อินติเกรเตอร์

บุญชัย พัฒนธนานนท์ ผู้จัดการศูนย์ของลอจิก กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทางศูนย์เริ่มหน่วยงานอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่มาจริงจังในเรื่องของศูนย์อินเตอร์เน็ตประมาณ 2 เดือนมาแล้ว ศูนย์นี้พูดง่ายๆ ก็คือให้บริการทุกอย่างที่จะทำให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ ทั้งรูปแบบขององค์กรหรือจะส่วนบุคคล โดยมีบริษัทในเครือซีดีจีช่วยประสานอย่าง บริษัท ทีซีเอส โทเทิล คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น ช่วยขายอุปกรณ์คอมมูนิเคชั่นเน็ตเวิร์ค (อุปกรณ์ต่อเชื่อให้เป็นเน็ตเวิร์ก), ลอจิก จะช่วยขายฮาร์ดแวร์ ออกแบบและติดตั้งระบบและบริษัทซอฟต์แวร์ ซิตี้ จะซัพพอร์ตซอฟต์แวร์ที่จำเป็นบางตัว

นับได้ว่า ลอจิกคือผู้ที่ทำตลาดบริการผู้ใช้อินเตอร์เน็ตครบวงจรเป็นเจ้าแรกในไทยก็ว่าได้

สำหรับบริษัท ลอจิก จำกัดนั้น อาจถือได้ว่าเป็นผู้แทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์เวิร์คสเตชั่น และเซิร์ฟเวอร์ของซันรายแรกที่ประกาศตัวเข้าสู่เส้นทางธุรกิจอินเตอร์เน็ต จากเป็นผู้ริเริ่มผู้ติดตั้งอุปกรณ์และวางเครือข่ายบางส่วน เฉพาะลูกค้าที่ซื้อเครื่องอินเตอร์เน็ตโหนด (NODE คือ จุดให้บริการในเครือข่ายคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเครื่องใดที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ในระบบอินเตอร์เน็ตตัวโหนดมักจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์สื่อสารทำงาน) ในช่วงที่การใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ในรูปการศึกษาโดยเนคเทคในชื่อ "ไทยสาร"

ลอจิกมีสินค้าที่เป็นส่วนผสมระหว่างฮาร์ดแวร์ได้แก่ SUN NETRA กับซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นเกตต์เวย์เชื่อมเข้าอินเตอร์เน็ตโดยตรง ลูกค้าเดิมที่ใช้เครื่องซันที่ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตสามารถติดต่อให้ลอจิกวางเครือข่ายให้ได้หากต้องการ

มาที่ "เดค" บริษัทเก่าแก่ซึ่งได้ปิดทองหลังพระให้วงการอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีนี้แก่เนคเทคจนเกิดไทยสารขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 ก็ได้ตั้งศูนย์อินเตอร์เน็ต เอ็กซ์เปอร์ไทส์ เซ็นเตอร์ ในเวลาไล่เลี่ยกับลอจิก โดยให้บริการแบบครบวงจรเช่นกัน

ลินิฐฎา สุขสมสถาน ผู้ดูแลและควบคุมศูนย์ฯ อินเตอร์เน็ตของเดคอธิบายว่า ศูนย์ของเดคในที่นี่ได้ถือว่า เป็นศูนย์ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งด้านการตลาดเราสามารถรองรับทั้งบุคคลตลอดจนองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีสาขาทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังทำหน้าที่สนับสนุนและฝึกอบรมให้กับบริษัทอื่นที่สนใจจะทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตด้วย

ซึ่งหลังจากที่ "ผู้จัดการ" ได้พูดคุยทั้งทางเดคและลอจิกแล้ว ทั้งคู่พูดคุยถึงประสิทธิภาพของระบบความปลอดภัยของเครือข่ายจากการถูกกระทำโดยหน่วยงานผู้ไม่หวังดีด้วย ในลักษณะเกทับกัน เกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือของตนในเรื่องอินเตอร์เน็ต จนเสมือนว่า หากบริษัทใดใช้เครื่องซันซึ่งขายโดยลอจิก บริษัทนั้นก็คงยากที่ลอจิกจะเปิดโอกาสให้ไปใช้ระบบของเดค ฉันใดก็ฉันนั้นหากใครใช้เครื่องดิจิตอลที่เดคเป็นเจ้าของ ก็คงยากที่เดคจะปล่อยให้ลอจิกเป็นผู้ให้บริการ

เส้นขนานระหว่างเดคและลอจิกใช่ว่าจะไม่ดี เพราะตราบใดมีการแข่งขัน มีคู่ต่อสู้ เรื่องผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายต้องแข่งขันกันให้ลูกค้าก็จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุดเช่นกัน

อินเตอร์เน็ตกับนักศึกษา

สำหรับตลาดในส่วนของนักศึกษานั้นทางบริษัท บริการข้อมูลผู้จัดการ จำกัด (เอ็มไอเอส) ก็ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของนักศึกษาจำนวนกว่า 300 คน ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน (ดูตารางประกอบ) พบว่า

นักศึกษาใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลเพื่อทำรายงานมากที่สุดคิดเป็น 15.8% รองลงมาคือมีไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ 15.4% และใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงและข่ายงานอื่นๆ 14% ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขของการใช้ค้นหาข้อมูลเพื่อทำรายงานและมีไว้เฉยๆไม่ได้ใช้ เป็นตัวเลขที่ใกล้กันมาก ซึ่งหากถามต่อไปอีกว่า ถ้าอาจารย์ไม่สั่งทำรายงานล่ะ จะใช้อินเตอร์หรือไม่ ทุกคำตอบมาอยู่ที่ "มีไว้เฉยๆ" เกือบทั้งสิ้น

ภาพหลอน-มีความต้องการแต่ไม่ยอมเป็นสมาชิก

และเมื่อพิจารณาถึงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตประเทศไทย, คอมเน็ต, ลอจิก, เดค ตลอดจนเนคเทค ทั้งหมดต่างได้กระหน่ำลงแรงให้ความรู้ ให้ข่าวสาร เปิดสัมมนาแสดงนิทรรศการอย่างมาก ในเรื่องเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต แต่ตัวเลขจริงๆ ก็ไม่มีใครสำรวจได้ว่ามีเท่าไหร่ เพียงแต่นับจากที่เป็นสมาชิกกับคอมเน็ตและอินเตอร์เน็ตประเทศไทยได้เท่านั้นว่า มีราว 2,000-3,000 รายโดยรวมผู้ใช้ในแวดวงนักวิชาการที่เป็นสมาชิกกับเนคเทคและจุฬาด้วยประมาณ 3,000 กว่าราย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากนักศึกษาเอแบคที่กึ่งถูกบังคับ (เป็นวิชาบังคับ) ให้เป็นสมาชิกอีกกว่า 19,400 ราย

แม้ทั้งหมดจะทำให้คนไทยรู้จักอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นก็ตาม แต่ในเชิงนักธุรกิจและความต้องการใช้ของนักธุรกิจหรือองค์กรทางธุรกิจจริงๆ กลับไม่ได้สนองรับกระแสตรงนี้มากนักเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในอเมริกา

จากจำนวนยอดขายเครื่องพีซีของปีนี้ประมาณ 240,000 เครื่อง เป็นสมาชิกอินเตอร์เน็ตเพียง 30,000-40,000 กว่าคนเท่านั้น เป็นนักธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจที่เข้ามาเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทางธุรกิจไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ และที่เข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว ส่วนมากก็ใช้ในลักษณะผิดวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจ คือถ้าไม่นับเรื่องอี-เมล์แล้ว หลายคนเพียงเข้ามาเพื่อก๊อบปี้เกม ก๊อบปี้ไฟล์และดูภาพอนาจารเท่านั้น โดยเฉพาะอันหลังนี้เกิดขึ้นมากทั้งในอเมริกาเองและก็ในสมาชิกคนไทย

จนมีคนสำรวจเป็นตัวเลขออกมาว่า ในอเมริกามีการเปิดดูสิ่งลามกอนาจารกันมากถึงกว่า 80% จากข้อมูลและสาระทั้งหมดในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นตัวเลขที่พอๆ กับบ้านเรา มิหนำซ้ำบ้านเราจะเป็นตัวเลขมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลและสาระสำคัญอื่นๆ ในอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งยากแก่การเข้าใจ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจกันมากนัก

ตลาดอินเตอร์เน็ตของไทย ณ ตอนนี้จึงสรุปว่า เป็นตลาดที่แปลกอย่างมาก เนื่องจากเมื่อดูตัวเลของค์กรธุรกิจหรือนักธุรกิจที่เข้ามาใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ยังมีน้อยมาก ไม่สมดุลกับเครือข่ายที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้น ผิดกับตัวเลขความต้องการจริงที่ผู้จัดการได้สำรวจดู กว่า 90% ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อสร้างมูลค้าเพิ่มให้องค์กรและตนเอง

มีดีมานด์ มีซัปพลาย แต่ดีมานด์ไม่ยอมเป็นสมาชิก

ตรงนี้คือการบ้านสำหรับคอมเน็ต, อินเตอร์เน็ตประเทศไทย และ 3 รายน้องใหม่ กลุ่มวัฏจักร, บริษัทล็อกซเล่ย์อินฟอร์เมชั่นและบริษัท แอดวานรีเสริช (เออาร์) ว่าทั้งหมดจะสามารถแปรดีมาน์ดตรงนี้ ให้เป็นสมาชิกตนเองได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะราคาค่าบริการ, ข้อมูล, ความเข้าใจที่ยังไม่ดีพอของตลาด, ทีมงานน้อยไป หรืออย่างอื่นอีกหลายเหตุผลที่ทั้ง 5 รายจะต้องมาไล่หาและตีประเด็นให้แตกต่อไป ซึ่งหากรายไหนตีประเด็นนี้แตก พูดได้เลยว่ามีแต่ได้กับได้อย่างเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us