มีเรื่องน่าจับตาเกี่ยวกับ "เครือข่ายสื่อสาร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับธุรกิจบริการข้อมูลแบบออนไลน์
หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการมีรถแล้วก็ต้องมีถนนให้วิ่ง เช่นเดียวกับการมีข้อมูล
แต่หากไม่มีเครือข่ายที่จะส่งผ่านไปถึงผู้ใช้ ธุรกิจบริการแบบเรียลไทม์คงต้องตีบตัน
ผู้ให้บริการออนไลน์ข้อมูลในยุคแรกๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้บริการข้อมูลราคาซื้อขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์
มักจะให้บริการผ่านคู่สายโทรศัพท์และโมเด็ม ต่อมาเมื่อมีดาต้าเน็ต บริการข้อมูลผ่านคู่สายโทรศัพท์
ที่เพิ่มความสะดวกมากขึ้น เพราะส่งได้ทั้งข้อมูล และยังใช้โทรศัพท์ได้ด้วย
ผู้ให้บริการเริ่มหันไปใช้ควบคู่กับการเช่าใช้การส่งผ่านดาวเทียม จากผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม
(วีแซท) เพื่อให้บริการข้อมูลแก่ลูกค้าในต่างจังหวัด
"สื่อ" ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ให้บริการข้อมูลนิยมใช้ คือ การส่งข้อมูลเกาะไปกับสัญญาณทีวี
โดยลูกค้าหรือผู้รับข้อมูลจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ดีโคดเดอร์ (แปลงสัญญาณ) ด้วย
สื่อประเภทนี้เรียกว่า VBI : VERTICAL BLANK INTERVAL ปัจจุบันมีสถานีทีวีที่อนุญาตให้บริการลักษณะนี้เพีง
2 ช่อง คือ ช่อง 5 และไอบีซีเคเบิลทีวี
"อินเตอร์เน็ต" เครือข่ายสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่กำลังเป็นที่ฮือฮามาก
และเมื่อเร็วๆ นี้ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้อนุมัติให้มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีก
3-4 ราย อาทิ ล็อกซเล่ย์ วัฏจักร จากเดิมที่มีอยู่เพียง 2 ราย กลุ่มเอแบค
และเนคเทค ทำให้ทางเลือกของผู้ให้บริการข้อมูลเพิ่มขึ้น
สำหรับเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของไทยที่น่าจับตาอีกสื่อหนึ่ง คือ คอมไลน์
หรือบริการวีดีโอเท็กซ์ ที่กลุ่มซีพี โดยเทเลคอมโฮลดิ้งได้ตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้น
100% บริษัทไลน์ เทคโนโลยี จากนายเทียรี่ ดาร์เกวิฟ หนุ่มฝรั่งเศลที่เคยเข้ามาขอสัมปทานวิดีโอเท็กซ์
ซึ่งเป็นบริการสื่อสารข้อมูลออนไลน์ผ่านคู่สายโทรศัพท์แบบสองทางจากองค์การโทรศัพย์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ไปแบบเงียบๆ
การเทคโอเวอร์กิจการวิดีโอเท็กซ์ ทำให้ซีพีได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เพราะค่ายชินวัตรเคยปฏิเสธที่จะลงทุนมาแล้ว ตามที่นายดาร์เกวิฟเคยชักชวนมาแล้ว
อีกทั้งไม่ได้รับความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ ยกเว้นฝรั่งเศลต้นตำรับเท่านั้น
ไลน์ เทคโนโลยี ต้องเจอผลลัพธ์ดังคาดหมายไว้ เมื่อในวันที่ต้องเปิดเครือข่ายบริการตามที่กำหนดไว้กับทศท.ไลน์
ทำได้แค่ให้ลูกค้าไปทดลองใช้โดยไม่เก็บสตางค์
เหตุผลสำคัญมาจากการไม่ได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้ให้บริการข้อมูล หรืออินฟอร์เมชั่น
โพรไวเดอร์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า ไอพี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของบริการประเภทนี้
เรียกว่า มีถนนแล้วแต่ไม่มีรถมาวิ่ง แล้วจะเก็บค่าผ่านทางจากผู้ใช้ได้อย่างไร
ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกสำหรับคอมไลน์พอสมควร
สิ่งที่คอมไลน์ค้น ก็คือ การเป็น "สื่อ" ประเภทใหม่ ทำให้ผู้ให้บริการข้อมูลคิดหนัก
"ไม่ใช่ผู้ให้บริการข้อมูลเขาไม่อยากมาใช้ แต่เพราะความพร้อมในเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูล
เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก แม้แต่คนที่มีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ก็ยังต้องคิดหนัก
กว่าจะเชื่อมต่อเข้าเครือข่าย เพื่อให้ข้อมูลออนไลน์เข้ามาได้ ก็ต้องใช้เวลา
เพราะคอมพิวเตอร์เป็นคนละระบบ" ผู้บริหารของคอมไลน์สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
กระนั้นก็ตาม ผู้บริหารคอมไลน์ยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคอมไลน์เท่านั้น
แต่จะเกิดขึ้นกับทุกสื่อ ที่จะต้องใช้เวลาในการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน
บทเรียนเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้คอมไลน์ต้องถอย เพราะเมื่อเดินมาไกลขนาดนี้แล้ว
สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ต้อง "เดินหน้า" เพียงอย่างเดียว
คอมไลน์ เงียบหายไปจากกระแสพอสมควร พร้อมกับการซุ่มปรุงแต่บริการ
จนกระทั่งในเดือนเมษายนปีนี้เอง คอมไลน์เริ่มเปิดรับสมาชิก ที่จะมาจ่ายสตางค์
พร้อมกับการเปิดบริการข้อมูลประเภทต่างๆ คือ บริการข้อมูลเกี่ยวกับราคาหุ้น
และข่าวสารจากตลาดหลักทรัพย์, ข้อมูลการเงินและธนาคาร ในรูปแบบของโฮมแบงกิ้ง
ของไทยพาณิชย์ บริการข่าวธุรกิจ จากบริษัทข้อมูลผู้จัดการ หรือเอ็มไอเอส
บริการข้อมูลชีวิตประจำวัน เช่น รายชื่อร้านอาหาร หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญๆ
รายงานตารางเที่ยวบิน รวมทั้งบริการเกม
คอมไลน์ กลับมาพร้อมกับสถานการณ์ที่เริ่มเปลี่ยนไป
สรรเสริญ วิสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิสเท็กส์ อินโฟโปร ให้ความเห็นว่า
"ในช่วงต้นอาจจะลำบาก แต่ผมว่าเป็นธุรกิจที่ดี เพราะการที่เขามีความพร้อม
ทั้งในเรื่องของเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน หรือแม้กระทั่งเคเบิลทีวียูทีวี
มาช่วยได้เยอะ ทั้งในเรื่องของช่องทางตลาด และเครือข่ายที่จะมาสนับสนุน"
บุญเติบ ต้นตระกูล ผู้จัดการทั่วไปไลน์เทคโนโลยีกล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจให้บริการในอนาคต
ควรจะมีการแบ่งบทบาทกันให้ชัดเจน ระหว่างผู้บริหารเครือข่ายและผู้ให้บริการข้อมูล
เพราะผู้ให้บริการข้อมูล ไม่ต้องมายุ่งกับเครือข่าย ทั้งในเรื่องการทำตลาด
การเก็บเงิน ซึ่งผู้บริหารเครือข่ายจะทำให้
เช่นกรณีคอมไลน์ ที่จะวางตัวเองเป็นผู้บริหารเครือข่ายสาธารณะขนาดใหญ่
"เรามองตัวเราเป็นโพรดิจี้" ผู้บริหารตอกย้ำ "โพดิจี้"
คือบริการออนไลน์ ข้อมูลทางธุรกิจ 1 ใน 5 รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
กระนั้นก็ตามเครือข่ายขนาดใหญ่อย่าง อเมริกาออนไลน์ หรือโพดิจี้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบ
10 ปี กว่าจะเป็นเครือข่ายใหญ่ขนาดนั้น แต่พอขึ้นได้ระดับแล้วก็จะวิ่งฉิวไปได้
หากเปรียบเป็นรถยนต์แล้ว คอมไลน์ขึ้นไปที่เกียร์สองแล้ว และกำลังขึ้นสู่เกียร์สาม
สิ่งที่คอมไลน์เน้นค่อนข้างมาก คือ การใช้งานง่าย ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้รายย่อย
แต่สิ่งที่ โพรดิจี้ของไทย หรือคอมไลน์ จะมองข้ามไม่ได้คือ การเข้ามาของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ที่กำลังฮือฮาอยู่ในเวลานี้
ผู้บริหารคอมไลน์มองว่า แม้อินเตอร์เน็ตจะเป็นเครือข่ายสาธารณะที่มีประโยชน์มหาศาล
แต่อินเตอร์เน็ตไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
นั่นเพราะอินเตอร์เน็ตกับคอมไลน์ ขายของคนละอย่าง
หากเปรียบเทียบแล้ว ข้อมูลของอินเตอร์เน็ตจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ แม้จะเป็นระบบเปิด
แต่ข้อมูลบางประเภทยังต้องสมัคร ในขณะที่คอมไลน์เปรียบเสมือนเป็นโพดิจี้
ที่จะเน้นข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากกว่า
"ในแง่ของคอมไลน์ ลูกค้าใช้บริการง่าย ได้ข้อมูลที่ตรงประเด็นกับสิ่งที่เขาต้องการ
นี่คือเป็นลักษณะโฉมหน้าของคอมไลน์ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากข้อมูลของเรา
และลูกค้าไม่ต้องห่วงรูปแบบ" ผู้บริหารคอมไลน์ ตอบเป็นเสียงเดียว
กระนั้นก็ตาม เมื่อถามถึงยอดลูกค้าแล้ว เป็นคำตอบเดียวที่ผู้บริหารคอมไลน์ปฏิเสธที่จะพูดถึง
!