หากถามหาร้านค้าตำราเรียน เด็กนักเรียนแทบทุกคน จะต้องนึกถึงร้าน "ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์"
ร้านค้าขององค์การค้าของคุรุสภา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นเจ้าตลาดผู้ค้าตำราเรียนและอุปกรณ์การสอนมากว่า
45 ปี
พื้นที่ใช้สอยบริเวณร้านศึกษาภัณฑ์ ยังคงใช้ไปกับการวางตำราเรียน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน
แม้จะมีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนไปเป็นฟู้ดเซ็นเตอร์ และมินิมาร์ท จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคไปบ้าง
แต่ศึกษาภัณฑ์ยังคงรักษาภาพลักษณ์เดิม ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
จนกระทั่งเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว พื้นที่บางส่วนของร้านกลับมีอุปกรณ์สมองกล
เช่น พีซี คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมอย่างวิทยุสื่อสาร เฉพาะกลุ่มวางจำหน่ายปะปนไปกับตำราเรียนเหล่านี้
ยิ่งไปกว่านั้น องค์การค้าฯยังผันตัวเองไปเป็นดีลเลอร์ พีซีคอมพิวเตอร์ให้กับผู้ผลิตอย่างคอมแพค
และไอบีเอ็ม รวมทั้งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (ทรังก์เรดิโอ)
เกิดอะไรขึ้นกับองค์การค้าของคุรุสภาแห่งนี้ ?
สมมาตร์ มีศิลป์ รองผู้อำนวยการ องค์การค้าของคุรุสภา อดีตบัณฑิต วิศวกรรมศาสตร์
สาขาไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งหันมาเอาดีทางวิชาชีพอาจารย์
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การหันมาเป็นตัวแทนจำหน่ายพีซีคอมพิวเตอร์เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น
เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ การนำระบบมัลติมีเดียมาใช้เป็นสื่อการสอน
ภารกิจขององค์การค้าฯต่อจากนี้ นอกเหนือจากการผลิตสื่อการสอนแบบดั้งเดิม
ในรูปของตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทำมา 45 ปีแล้วคือ การผลิตสื่อ
วิดีทัศน์ และโปรแกรมช่วยการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ CAI (COMPUTER
AIDED INSTRUCTION) ซึ่งเป็นหารเรียนรู้ด้วยระบบมัลติมีเดีย
"สาเหตุที่เราเลือกผลิตสื่อสองประเภทนี้ เพราะเราเชื่อว่า ระบบมัลติมีเดียจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการเรียนการสอน
จะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา คุณคิดดูสิว่า เด็กต่างจังหวัดจะได้เรียนรู้เท่ากับเด็กในกรุงเทพฯ
ซึ่งในอดีตนั้นทำไม่ได้ง่ายๆ นอกจากนั้นวิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น"
สื่อการสอนในรูปแบบวิดีทัศน์ ที่องค์การค้าฯกำหนดไว้ จะมีอยู่ 3 ประเภท
คือ วีดีโอเทป เคเบิลทีวี และฟรีทีวี
ส่าวนสื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนหรือ CAI จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
การจัดทำในรูปแบบของซีดีรอม จัดอยู่ในประเภทของหรือ OFF LINE และแบบส่งผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม
หรือ ON LINE
อาจารย์สมมาตร์เล่าว่า สื่อประเภทซีดีรอม จะมีข้อดี คือนักเรียนจะสามารถซื้อแผ่นซีดีเหล่านี้และนำไปใช้กับเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ที่มีระบบมัลติมีเดีย
ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้วิชาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญ การเป็นระบบอินเตอร์แอคทีฟ
จะทำให้การเรียนรู้ง่ายยิ่งขึ้น
ส่วนระบบ ON LINE จะเป็นการให้บริการผ่านคู่สายโทรศัพท์สำหรับนักเรียนที่มีเครื่องพีซีติดตั้งอยู่ที่บ้าน
จะสามารถเรียนหนังสือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่องค์การค้าจะส่งข้อมูลออนไลน์ผ่านคู่สายโทรศัพท์มาให้ถึงบ้าน
เรียกว่า องค์การค้าฯ จะทำทั้งสื่อที่อยู่ในรูปของสินค้าที่จับต้องได้ คือวิดีโอเทป
และแผ่นซีดี รวมทั้ง การแพร่กระจายไปตามสื่อและเครือข่ายโทรคมนาคม ในรูปแบบของเคเบิลทีวี
ฟรีทีวี และออนไลน์
ขั้นตอนการผลิตสื่อทั้งสองประเภทนี้ ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ เนื้อหา
การผลิต และการจัดจำหน่าย
ในส่วนของเนื้อหานั้น องค์การค้าฯอาศัยการจับมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตั้งแต่สำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กรมอาชีวศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน
กรมพลศึกษา และจะมีกรมวิชาการคอยช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
(ส.ส.ว.ท.) เป็นที่ปรึกษาร่วมผลิตเนื้อหาที่จะบรรจุลงในสื่อทั้งสองประเภท
วิธีการจับมือกับหน่วยงานเหล่านี้ จำทำให้องค์การค้าฯมีเนื้อหาวิชาเรียน
ครอบคลุม ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงม.6 รวมทั้งระดับปวช.และปวส. ตลอดจนวิชาทางด้านกีฬา
รวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน
"เราจะสนับสนุนทุกอย่าง ในกรณีของกรมสามัญ เราให้เขาเขียนเนื้อหา ให้ค่าเบี้ยเลี้ยง
ค่าเดินทาง เขามีหน้าที่อย่างเดียวเขียนให้ดีเท่านั้น ที่เหลือเราจัดการเอง"
เมื่อได้เนื้อหาแล้ว มาถึงขั้นตอนการผลิต อาจารย์สมมาตร์เล่าว่า การผลิตวิดีทัศน์นั้น
องค์การค้าจะร่วมมือกับบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนท์รายหนึ่งของไทย ในการถ่ายทำเป็นวีดีโอเทป
เพื่อนำไปจัดจำหน่ายและให้เช่า รวมทั้งส่งผ่านทางเคเบิลทีวี และฟรีทีวี ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ
สำหรับ CAI หรือการผลิตซีดีรอม ขณะนี้องค์การค้าของคุรุสภาได้เข้าไปร่วมทุนจำนวน
21% ใน "มัลติมีเดียครีเอชั่น" ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อมัลติมีเดีย
ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในตลาดการศึกษา เพื่อผลิตแผ่นซีดีที่จะบรรจุเนื้อหาวิชา
แน่นอนว่ามัลติมีเดียครีเอชั่นไม่ได้ลังเลที่จะเปิดทางให้คุรุสภาเข้ามาถือหุ้นด้วยความเต็มอกเต็มใจ
"หากคิดมูลค่าของแผ่นซีดีนั้นไม่แพงเลย แผ่นละ 30 บาทเท่านั้น แต่สิ่งที่แพงคือข้อมูลที่บรรจุอยู่ในแผ่นซีดี
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนสูง" สมมาตร์กล่าว
เมื่อผลิตสินค้าทั้งสองประเภทออกสู่ตลาดแล้ว องค์การค้าฯไม่ต้องกังวลเรื่องการหาตลาดเลย
เพราะมีโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ 40,000 แห่ง ที่องค์การค้าฯผูกขาดการผลิตตำราเรียนอยู่แล้ว
ที่สำคัญใช้งบประมาณในการจัดซื้ออีกด้วย
แต่สิ่งที่องค์การค้าฯกังวลกลับเป็นเรื่องการกระจายถึงมือนักเรียนให้เร็วที่สุด
"กรมต่างๆ ที่เราให้เขาเป็นผู้เขียนเนื้อหา เขาก็ต้องมาใช้ของเรา ที่สำคัญ
แม้เราสามารถคัดลอกวิชามาจากตำราเรียนได้ เราไม่ต้องกลัวในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์
ไม่เหมือนกับคนที่เขาเคยทำ CAI ที่ผ่านมา เขาทำได้แค่ซื้อมาจากต่างประเทศและมาแปลเอา
แต่นี่เราทำเนื้อหาวิชาเรียนตามหลักสูตรได้เลย"
จากการเป็นผู้กุม "ซอฟต์แวร์" ในมือนี้เอง ทำให้องค์การค้าเนื้อหอม
เพราะได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้ผลิตพีซีคอมพิวเตอร์ บรรดาโอปะเรเตอร์สื่อสาร
ตลอดจนบรรดาสื่อ และเครือข่ายโทรคมนาคมทั้งหลายเป็นอย่างดี
"ในเรื่องของเครือข่ายเราไม่เป็นห่วง เวลานี้มีเคเบิลทีวีหลายค่ายที่ติดต่อเข้ามา
เพราะเขาขาดซอฟต์แวร์ แต่เรามี แต่เรายังสงวนท่าทีอยู่ ซึ่งเราจะให้ซอฟท์แวร์เขาไปฟรีเลย
เพราะการช่วยเด็กมากกว่าเราไปเสริมใช้เขาในเรื่องของการศึกษา หรืออย่างพีซี
ก็มีอีกหลายยี่ห้อที่มาติดต่อเรา แต่เรายังไม่ได้เลือก หรือแม้แต่เพจเจอร์ราชการของกลุ่มสามารถ"
ในทางกลับกันย่อมกระทบกับบรรดาดีลเลอร์ค้าพีซี ที่เคยครองตลาดสถาบันการศึกษาอยู่
ก่อนหน้านี้ แต่อาจารย์สมมาตร์กลับมองว่า ไม่ได้ไปแข่งขัน แต่กลับไปช่วยกระตุ้นตลาดมากกว่า
เพราะเอกชนที่ทำตลาดอยู่ก็ไม่มีซอฟต์แวร์
"เราเป็นผู้จุดพลุให้กับวงการ CAI เพราะองค์การค้าฯดูแลหนังสืออยู่แล้ว
ดังนั้นเมื่อเราทำ เราที่อิงตำราเรียน แต่คนอื่นเขาก็ทำ เขาจะมองในเชิงธุรกิจ
เขาก็จะซื้อซีเอไอเข้ามา เขาจะได้ภาษอังกฤษอย่างเดียว เราต้องลงทุนวิชาละ
2 ล้านบาท เราทั้งหมด 280 วิชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าทำกำไรสู่การศึกษา"
อาจารย์สมมาตร์เล่าว่า องค์การค้าฯยังมองยาวไกลไปถึงการมีเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง
เพื่อผลิตตำราผ่านเครือข่ายเหล่านั้นกระจายไปยังเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
การปรับตัวขององค์การค้าฯในวันนี้ จึงเป็นเหมือนสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในวิ4ใหม่ของคลื่นลูกที่สาม
แต่สิ่งที่คุรุสภาต้องไม่ลืมว่า คุรุสภาจะสลัดครอบหน่วยงานราชการที่อืดอาดมาสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างไร
!