Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2538
ชุมพล ธีระโกเมน อย่าเผลอให้ "แอร์ยอร์ค" ก็แล้วกัน             
 


   
search resources

แอร์โร่มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ชุมพล ธีระโกเมน
Investment
ยอร์ค แอร์คอนดิชั่นนิ่ง แอนด์ รีฟริจเจอเรชั่น (ประเทศไทย), บจก.




การเซ็นสัญญาระห่างบริษัท ยอร์ค แอร์ คอนดิชั่นนิ่ง แอนด์ รีฟริจเจอเรชั่น องค์ กับบริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อร่วมทุนในบริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 นับเป็นก้าวรุกสำคัญก้าวที่ 2 ในไทยของยอร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ของโลก

ก้าวรุกแรกของยอร์ค อินเตอร์เนชั่นแนลในไทย เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนด้วยการตัดสินใจเข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในชื่อ บริษัท ยอร์ค แอร์ คอนดิชั่นนิ่ง แอนด์ รีฟริจเจอเรชั่น องค์ เดือนพฤษภาคม 2533 พร้อมทั้งดึงสินค้าคือ เครื่องปรับอากาศยอร์ค จากบริษัท จาร์ดีน แมทธีสัน (ประเทศไทย) จำกัด มาทำตลาดเอง หลังจากปล่อยให้จาร์ดีนฯเป็นผู้ทำตลาดมานานกว่า 30 ปี

ไม่เพียงเท่านั้นยอร์คได้ดึงชุมพล ธีระโกเมน อดีตผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดและการขาย แผนกวิศวกรรม ของบริษัท จาร์ดีน แมทธีสัน มารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เพราะยอร์ครู้ดีว่าถ้าต้องการใช้คนที่รู้เรื่องแอร์ยอร์คดีที่สุดในประเทศไทยแล้ว ก็ต้องชุมพลนี่แหละ

ชุมพลสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุกิจจากสถาบันศศิรนทร์ เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในตำแหน่งวิศวกรรมฝ่ายขายแผนกขายแอรยอร์ค ที่บริษัท จาร์ดีน แมทธีสัน ผู้แทนจำหน่ายแอร์ยอร์คเมื่อปี 2515 และนับจากนั้นชีวิตของเขาก็ผูกพันกับยอร์คต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จะห่างหายไปบ้างก็ช่วงสั้นๆ จนชุมพลพูดล้อตัวเองให้ฟังว่า เขาทำอะไรไม่เป็นนอกจากแอร์

"ผมไม่รู้เหมือนกันว่ายอร์คเป็นสิ่งเสพติดหรือเปล่า"

นอกจากชุมพลจะเป็นคีย์แมนคนสำคัญให้ยอร์คเริ่มต้นก้าวแรกในไทยอย่างไม่ติดขัด เพราะเขาสามารถนำประสบการณ์ที่ทำงานให้แอร์ยอร์คในจาร์ดีนฯมาใช้ในการตั้งบริษัทใหม่แล้ว ชุมพลยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ก้าวรุกที่สอง คือ การตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยของยอร์คเป็นจริง

ชุมพลเล่าว่า ยอร์คคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยตั้งแต่เข้ามาตั้งสาขาใหม่ๆ เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองในช่วงนั้น ยอร์คจึงลังเล และเบนเข็มการลงทุนจากประเทศไทยไปยังเม็กซิโก โคลัมเบีย อาร์เจนตินา อุรุกวัย

"แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปประชุมกับยอร์คในต่างประเทศ มีผู้บริหารของยอร์คมาบอกกับผมว่า เขาพบแหล่งผลิตแอร์ที่ดี ซึ่งสามารถซัปพลายของให้เขาได้มาก ซึ่งเมื่อผมไปเห็นแอร์ตัวที่เขาอ้างว่ามาจากแหล่งผลิตที่ดี ผมรู้ทันทีเลยว่าเป็นแอร์เมด อิน ไทยแลนด์ แต่เมื่อบอกเขาก็ไม่เชื่อ" ชุมพลเล่าให้ฟัง

แม้จะยังไม่เชื่อในสิ่งที่ชุมพลบอก แต่ยอร์คอินเตอร์ฯ ก็ส่งคณะกรรมการสำรวจหาแหล่งผลิต เดินทางเข้ามาดูโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของผู้ประกอบการท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย ไล่ตั้งแต่เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งชุมพลพาไปตระเวนดูโรงงานผลิตแอร์หลายแห่ง และพบว่ามีโรงงานผลิตแอร์ของคนไทย 3-4 รายน่าสนใจ

ความคิดเรื่องการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศไทยของยอร์คเริ่มขึ้นตรงนี้เอง เพราะถ้าได้หุ้นส่วนที่มีโรงงานอยู่แล้ว ก็จะช่วยยอร์คชดเชยเวลาที่สูญเสียไปกับความลังเลได้

สาเหตุที่ยอร์คตัดสินใจเลือกร่วมลงทุนกับแอร์โร่มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของสิทธิศักดิ์ จงอุดมฤกษ์ มีหลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มจากประสบการณ์การผลิตแอร์ที่ยาวนานของแอร์โร่มาสเตอร์ตั้งแต่ปี 2511 คุณภาพของสินค้าเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ เพราะสามารถส่งออกไปทำตลาดได้ตั้งแต่ปี 2525 ปัจจุบันแอร์โร่มาสเตอร์ส่งออกไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย เอเชีย และยุโรป ซึ่งแอร์ตัวที่ชุมพลบอกกับผู้บริหารยอร์คว่าเมด อิน ไทยแลนด์ ก็คือ แอร์ที่แอร์โร่มาสเตอร์ผลิตให้กับคนกลางไปขายต่อให้ยอร์คนั่นเอง

จุดเด่นอีกประการของแอร์โร่มาสเตอร์ คือ ไม่ทำแอร์ผี หรือแอร์ครึ่งผีครึ่งคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอร์ครับไม่ได้

การร่วมลงทุนระหว่างยอร์คและแอร์โร่มาสเตอร์ในครั้งนี้ นับเป็นการประสานผลประโยชน์ที่ลงตัวของทั้งสองฝ่าย เริ่มจากยอร์คจะมีโรงงานทันทีโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ลูกค้าของแอร์โร่มาสเตอร์ติดมาด้วย ขณะที่แอร์โร่มาสเตอร์จะได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหาร การจัดการที่ได้มาตรฐานจากยอร์ค รวมทั้งได้ยอร์คเป็นลูกค้าเพิ่มขึ้นมาด้วย

ขณะที่ทางแอร์โร่มาสเตอร์เองก็เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมทุน

"เรามองเห็นอันตรายที่ว่าอนาคตบริษัทแอร์ไทยจะอยู่ตามลำพังลำบาก ถ้าไม่มีพาร์ทเนอร์ต่างชาติที่แข็งแกร่งคอยช่วยเหลือ เพราะเมื่อแกตต์และอาฟต้ามีผลบังคับใช้ ภาษีนำเข้าแอร์ต้องลดลง เท่ากับเป็นการเปิดตลาดให้คู่แข่งจากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโปร เข้ามาแข่งได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งแอร์ไทยจะเสียเปรียบมาก ทั้งในแง่ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เพราะกำลังการผลิตน้อยกว่า" สิทธิศักดิ์เล่าถึงสาเหตุที่เขายอมร่วมทุนกับยอร์ค โดยเป็นฝ่ายถือหุ้นในบริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำนวน 1 ใน 3 ของทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท โดยให้ยอร์คถือหุ้น 2 ใน 3 ที่เหลือ

"งานนี้ถ้ายอร์คให้ผมถือหุ้นมากกว่าผมคงไม่ตกลง เพราะถ้าเขาถือหุ้นน้อยกว่าเขาอาจจะไม่ให้ความสนใจกับธุรกิจร่วมทุนมากเท่าที่ควร ขณะที่ถ้าเขาถือมากกว่า เขาต้องรับผิดชอบเต็มที่ อีกอย่างถ้าเราถือหุ้นมากกว่าเขาอาจะจะกลัวเราโตก็ได้" สิทธิศักดิ์ให้เหตุผล

แผนการแรกของแอร์โร่มาสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ หลังจากการร่วมทุนก็คือ การขยายกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก (1-5 ตัน) ซึ่งเดิมมีกำลังการผลิต 60,000 เครื่องต่อปี เป็น 120,000 เครื่องต่อปี ใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นจะผลิตให้กับแอร์ยอร์ค เพื่อส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมด

"บริษํทจะดูแลยอร์คประหนึ่งลูกค้าโออีเอ็ม (รับจ้างผลิต) อีกราย และพยายามรักษาลูกค้าโออีเอ็มรายอื่นเอาไว้เช่นเดิม เรามั่นใจว่าการที่แอร์โร่มาสเตอร์ร่วมทุนกับยอร์คครั้งนี้จะไม่กระทบกับลูกค้าโออีเอ็มเดิม ตรงกันข้ามเขาน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น จากเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ยอร์คจะเข้ามาช่วยเหลือ" ชุมพลกล่าว

สำหรับการทำตลาดในประเทศไทยนั้นทั้งยอร์คและแอร์โร่มาสเตอร์จะยังเป็นคู่แข่งกันต่อไป โดยบริษัทที่จะรับผิดชอบและทำตลาดแอร์โร่มาสเตอร์คือ บริษัท แอร์โร่มาสเตอร์ กรุ๊ป อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคนในตระกูล "จงอุดมกฤกษ์" คนอื่นที่ไม่ใช่สิทธิศักดิ์ ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 เครื่องต่อปี

ปัจจุบันยอร์คมีส่วนแบ่งตลาดแอร์เล็ก 7-8% ของตลาดรวม 7,000 ล้านเครื่อง และมีส่วนแบ่งตลาดแอร์ขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดรวม 2,000 ล้านเครื่อง โดยในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายจาก 1,200 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็น 2,000 ล้านบาท

"เป้าหมายทางการตลาดของแอร์ยอร์คในประเทศไทย ใครจะเป็นอันดับหนึ่งก็แล้วแต่ เราจะขอเป็นผู้ตามที่ดีที่สุด เราเองยังมีหลายสิ่งหลายอย่างต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาตลาด บุคลากร" ชุมพลพูดถึงเป้าหมายของยอร์คซึ่งไม่ค่อยหวือหวานัก พ่อนที่จะย้ำทิ้งท้ายทีเล่นทีจริงให้คู่แข่งสะดุ้งเล่นว่า

"เราโลว์โปร์ไฟล์ แต่อย่างเผลอ"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us