โดยบุคลิกแล้วผมเป็นคนมีความจริงใจเป็นหลัก ผมจะใช้สิ่งนี้เป็นตัวเบิกทางในการบริหาร
จากนี้ต่อไปจะขึ้นอยู่กับผมเพียงคนเดียวแล้ว"
คำพูดของ กิตติ มาไพศาลสิน เมื่อต้นเดือนมกราคม 2535 หลังการเปิดตัวรถยนต์ฮุนไดที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยได้ไม่นานนัก
เป็นคำพูดที่มุ่งหวังจะสร้างตำนานสินค้าจากเกาหลีใต้ ให้มีฐานตลาดอย่างมั่นคงถาวร
ด้วยหลักความคุ้มค่าที่ตลาดจะได้รับ มิใช่หลักความฉาบฉวย และมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ
กิตติ มาไพศาลสิน นับเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญในการร่วมเปิดตำนานรถยนต์ฮุนไดในประเทศไทย
แม้มิใช่เจ้าของกิจการ แต่แผนงานสำคัญๆ ถูกกำหนดโดยชายผู้นี้
กิตติ มาไพศาลสิน อยู่กับเครือข่ายพระนครยนตรการที่มีบันเทิง จึงสงวนพรสุข
เป็นหุ้นส่วนใหญ่มาถึง 18 ปี และตลอด 18 ปีที่ผ่านมา กิตติผู้นี้ได้สร้างงานในกิจการต่างๆ
ที่เครือข่ายแห่งนี้เข้าไปลงทุน ที่สำคัญกิตติจะอยู่ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
หรือกล่าวโดยเฉลี่ยแต่ละแห่งที่เข้าไปวางฐานไว้จะไม่เกิน 5 ปี
จากนั้นกิตติจะเริ่มมองหางานใหม่ๆ ในเครือข่ายแห่งนี้ ซึ่งบันเทิงก็เห็นด้วยที่จะให้นักสร้างสรรค์อย่างกิตติวางเค้าโครงการต่างๆ
ไว้ และที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้สร้างให้อาณาจักรแห่งนี้โดดเด่นในวงกว้างมากนัก
แต่เมื่อมองถึงการดำเนินธุรกิจแล้ว ทุกอย่างก็ไปได้ดี
สำหรับการเปิดตลาดรถยนต์ฮุนไดก็เช่นกัน กิตติเป็นผู้สร้างมาตั้งแต่ต้น และนับเป็นงานชิ้นใหม่ที่ดูจะท้าทายความสามารถมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
เพราะขณะนั้นตลาดรถยนต์เมืองไทยร้อนแรงมาก
ในที่สุดกิตติก็สามารถวางแนวทางได้สำเร็จ สามารถปลุกตลาดรถยนต์ฮุนไดให้เกิดขึ้นมาได้
ทั้งที่เป็นรถยนต์เกาหลีใต้ ที่ยังไม่มีใครเคยได้สัมผัสกี่มากน้อย
กิตติวางแผนค่อนข้างจะรัดกุม เมื่อตลาดเกิดขึ้น ผู้ซื้อให้ความสนใจ งานต่อเนื่องที่จะต้องเร่งรีบกระทำก็คือ
ช่องทางการจำหน่าย จากนั้นก็มาถึงงานบริการ และเมื่อทุกอย่างไปได้ดี การเข้าสู่การประกอบในประเทศจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้
ถ้าหวังจะเติบโตและยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมและธุรกิจนี้
กิตติมีความมั่นใจลึกๆ ว่า ฮุนไดไปได้ และความฝันที่จะให้ฮุนไดยิ่งใหญ่ในเมืองไทย
ผงาดเหนือรถยนต์ค่ายใหญ่ๆ จากญี่ปุ่นอยู่ไม่ไกลนัก
แต่ความมั่นใจของกิตติ ดูจะเป็นเรื่องที่ใครบางคนยังไม่แน่ใจนัก
ในช่วงแรกแผนงานทุกอย่างดูจะราบรื่นดีอยู่ บริษัท ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ (ประเทศไทย)
จำกัด ที่ค่ายพระนครยนตรการตั้งขึ้นมาเพื่อขายรถยนต์ฮุนได กำหนดแนวทางชัดเจนว่า
จะใช้ระบบการจำหน่ายผ่านดีลเลอร์ เพื่อการรุกเร็วที่ได้ประสิทธิภาพและใช้เงินลงทุนของบริษัทน้อยที่สุด
บริษัทยูไนเต็ดฯ จึงกลายเป็นผู้ค้ารถยนต์รายใหม่ที่มีการแต่งตั้งดีลเลอร์เร็วที่สุดและมากที่สุดของเมืองไทยเลยทีเดียว
แต่แผนสร้างความยิ่งใหญ่ของฮุนไดต้องมาสะดุด เมื่อแนวคิดของกิตติกับบันเทิงกลับสวนทางกัน
การลงทุนเป็นประเด็นเดียวที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นแผนงานด้านบริการที่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านของการสต็อกอะไหล่
หรือแม้แต่แผนลงทุนในเรื่องของการประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายซึ่งจะต้องมีต้นทุน
ที่ต้องรอเวลาคืนทุน
บันเทิงผู้มีบุคลิกการลงทุนที่ไม่หวังยิ่งใหญ่อะไรนัก แค่ขอให้ธุรกิจทำกำไรก็เพียงพอแล้ว
ทั้งที่บางครั้งโอกาสมาถึง
สำหรับกิตติมองว่าการได้ฮุนไดมาไว้ในมือ มันเป็นโอกาสแล้ว ที่จะสร้างอาณาจักรที่เขาเติบโตมาพร้อมกันให้ยิ่งใหญ่ได้
มิเพียงกิตติเท่านั้น นักบริหารการตลาดมืออาชีพที่แวะเวียนมายังบริษัท ยูไนเต็ดฯ
ในช่วงระยะเวลา 3 ปีเศษ ต่างก็ประสบอุปสรรคเช่นเดียวกัน
ถ้าจะบันทึกสถิติ อาจกล่าวได้ว่าบริษัทยูไนเต็ดฯ เป็นองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงผลัดเปลี่ยนบ่อยที่สุด
นับจากก่อตั้งบริษัทมา
ไม่ว่าจะเป็นไพโรจน์ ปิติเสาวภาคย์ มือการตลาดที่มีฝีมือคนหนึ่งจากสวีเดนมอเตอร์ส
ผู้ค้ารถยนต์วอลโว่ ที่เข้ามายังบริษัทยูไนเต็ดฯ เพียงช่วงสั้นในปี 2535
ทั้งที่เริ่มแรกมีแผนจะเข้ามาสร้างอาณาจักรค้าขายรถยนต์ฮุนไดให้ยิ่งใหญ่
หรือไม่ว่าจะเป็นกิตติวุฒิ ศิริรัตนะคุ้มวงศ์, ชินทัต ตันตราวงศ์ และผู้บริหารอีกหลายรายที่เข้ามาในช่วงสั้น
ต่างก็ประสบอุปสรรคด้านแนวคิดที่ยากจะประสานกัน
แนวคิดการค้ารถยนต์แบบระมัดระวังเรื่องการลงทุนจนเกินไป เริ่มส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดในเมืองไทยไม่เป็นไปตามที่คาดหวังกันไว้
จนทำให้ความไม่ลงรอยระหว่างผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นร้าวลึกทุกที
เข้าตำราต่างฝ่ายต่างโยนความผิด
มิเพียงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยูไนเต็ดฯ จะจากลาเท่านั้น เหล่าดีลเลอร์ที่เคยทำมาค้าขายอย่างคล่องตัวกับรถยนต์ฮุนได
ก็มีอันต้องมาตีจากไปด้วย
ศูนย์กลางรถยนต์มหานครหรือเอ็ม.ซี.ซี. ซึ่งเคยเป็นดีลเลอร์ที่มียอดจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดมากที่สุดเมื่อปี
2536 ขอเลิกสัญญา แม้จะอ้างเหตุเพราะว่าต้องการจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพ ซึ่งฮุนไดยังไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายก็ตาม
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาคืออะไร
ครึ่งปี 2538 รถยนต์ฮุนไดจำหน่ายได้เพียง 3,400 คัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้
และทั้งปี 2538 นี้ บริษัทวางเป้าหมายว่าฮุนไดจะจำหน่ายได้ 8,000 คัน
ปี 2535 บริษัท ยูไนเต็ดฯ เปิดตลาดฮุนไดในไทยด้วยยอดกว่า 5,000 คัน ตามด้วยยอดกว่า
8,000 คัน ในปี 2536 ซึ่งครั้งนั้นใครๆ ก็คาดหวังกันว่าฮุนไดจะเป็นรถยนต์ที่จะทำให้ค่ายญี่ปุ่นสะท้าน
แต่ปี 2537 ฮุนไดกลับจำหน่ายได้เพียง 7,150 คัน
สาเหตุที่ทำให้ตลาดฮุนไดตกต่ำลงเป็นเพราะฮุนไดไม่มีรถรุ่นใหม่เข้ามาป้อนตลาด
และรุ่นรถน้อยลงเพราะการยกเลิกการประกอบฮุนได เอ็กเซล 1300 ซีซี
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นเพราะแผนการประกอบเพื่อรองรับรุ่นรถยนต์ที่หมดไป
ถูกตัดสินใจช้าเกินไป เนื่องจากการเปลี่ยนรุ่นรถที่จะประกอบจะต้องมีต้นทุนพอสมควร
ความลังเลจึงเกิด
อย่างไรก็ดี กิตติได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการลาออกจากบริษัทยูไนเต็ดฯ
โดยปฏิเสธกระแสข่าวความขัดแย้งทุกเรื่อง
"ไม่ใช่ความขัดแย้ง ไม่มีเลย คือเห็นว่าสินค้าไปได้แล้ว และตัวเราเองอยากจะไป
ก็เท่านั้น"
แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ว่า เป็นผู้สร้างฮุนไดมาตั้งแต่ต้น และอยู่ที่ค่ายพระนครยนตรการมาร่วม
20 ปี แต่ถึงวันนี้จะต้องจากไป
กิตติเงียบชั่วครู่ก่อนตอบเพียงสั้นๆ ว่า "ก็ไม่เป็นไร ที่จริงผมยังไม่อยากคุยถึงเรื่องนี้เลย"
"จริงๆ แล้วอยากจะพักผ่อนเสียด้วยซ้ำ หลังออกจากที่นี่ แต่งานที่ใหม่ก็ค่อนข้างรีบ"
น้ำเสียงของกิตติที่เปรยขึ้นระหว่างสนทนา ได้บ่งบอกถึงความเหนื่อยล้ากับงานเต็มทน
กิตติเริ่มงานที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ในตำแหน่งกรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป
โดยรับหน้าที่ดูแลการเปิดตลาดรถยนต์เซียต (SEAT) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศสเปน
แต่โฟล์กสวาเก้น กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 99% และกิตติยังเป็นกรรมการบริหารของบริษัท
เยอรมัน มอเตอร์เวอร์ค ตัวแทนค้าโฟล์กสวาเก้น และเอาดี้อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
กิตติกล่าวถึงการเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของยนตรกิจกรุ๊ปว่า "ที่มีข่าวว่า
ผมกับคุณวิสิทธิ์ ลีนุตพงษ์ เป็นเพื่อนกันนั้น ไม่ใช่ที่ผมเข้ามาที่นี่เพราะว่ามีความรู้จักกับท่านประธานของยนตรกิจกรุ๊ปอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาก็มีการคุยกัน ทุกอย่างน่าสนใจก็เลยตัดสินใจมาที่นี่ แต่ตอนนี้ยังคงพูดอะไรได้ไม่มาก"
กิตติได้เจรจากับอรรถพร ลีนุตพงษ์ โดยตรง และเมื่อทุกอย่างลงตัว กิตติจึงหาที่ยืนอย่างองอาจได้อีกครั้ง
แม้เจ้าตัวอยากจะพักผ่อนเพียงชั่วครู่ก็ยังไม่อาจทำได้
และดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ของยนตรกิจกรุ๊ปจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของกิตติไม่น้อยทีเดียว
ถึงขนาดที่ว่าห้ามทายาทและหุ้นส่วนที่มีอยู่ให้ข่าวเรื่องนี้เด็ดขาด ถ้ามีอะไร
กิตติจะเป็นผู้ให้ข่าวเอง
การลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูไนเต็ด โอโต
เซลส์(ประเทศไทย) จำกัดของกิตติ ดูจะมีความหมายไม่น้อยที่อาจจะทำให้บันเทิง
จึงสงวนพรสุข ต้องกลับมาสำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วน
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม สำหรับ "กิตติ มาไพศาลสิน" แล้ว
การตัดสินใจครั้งนี้ดูเหมือนว่า เขาเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก