|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ทวิสเตอร์”จุดชนวนสงคราม ในตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 100% ระลอกใหม่ เบนเข็มทิศปลุกตลาด "น้ำส้ม” เป็นสินค้าเรือธง แก้เกมสแปลช ด้วยบรรจุภัณฑ์ขวดคืน และคอนเซ็ปต์การตลาดใหม่ "เปรี้ยวหวานลงตัวเป๊ะ " แตกต่างจากคู่แข่งที่เน้นสื่อสารด้านรสชาติด้วย "ความสดชื่นแบบรสเข้มเต็มรสส้ม”
นอกจาก เป๊ปซี่ -โคล่า (ไทย) จะเปิดเกมในตลาดน้ำผลไม้ ส่งน้ำผลไม้ทรอปิคานา ทวิสเตอร์ ลงในตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ที่เป็นแต้มต่อเพราะเป็นช่องทางที่มีความสะดวกและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจากที่เคยจับจ่ายใช้สอยในโมเดิร์นเทรดมากกว่าร้านค้าย่อยทั่วไป
แต่การขยายตลาดด้วยบรรจุภัณฑ์แบบขวดคืนเพื่อเข้าไปขายในช่องทางเทรดดิชันนัลเทรด หรือร้านค้าย่อยทั่วประเทศ ก็เป็นอีกเกมรุกที่สำคัญของน้ำส้มทวิสเตอร์ ที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากน้ำส้มสแปลช ของบริษัท โคคา-โคล่า ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญจากค่ายน้ำอัดลม ที่ลงหลักปักฐานอยู่ในตลาดขวดคืนมาก่อน
การเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ขวดแก้วดีไซน์ทันสมัย ในรูปแบบขวดคืน ขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 10 บาท นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการขายเข้าไปตีตลาดขวดคืนของคู่แข่งแล้ว ยังนับว่าเป็นการเคลื่อนไหว ครั้งสำคัญ เพราะเป็นการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่เดินเกมเพื่อปูพรมสินค้าให้มีบรรจุภัณฑ์ครบในทุกๆช่องทางการขาย และเพื่อจะแจ้งเกิดให้ทวิสเตอร์ไปสู่เป้าหมาย ขึ้นเป็นผู้นำตลาดแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้กลยุทธ์ด้านบรรจุภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อนตลาด
ชาลี จิตจรุงพร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า "ผลตอบรับปีกว่าที่ผ่านมาแบรนด์ทวิสเตอร์ มียอดขายเพิ่ม 25% ซึ่งเป็นการวัดศักยภาพแบรนด์ก่อนเดินหน้าต่อ โดยแนะนำสินค้าใหม่แบบคืนขวดเข้าตลาด ซึ่งเป็นการนำแบรนด์ไปอีกก้าวหนึ่งของตลาดในเมืองไทยและตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำตลาดแทนที่สแปลช ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งมากกว่า 20% สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 15% จากการมีอัตราการเติบโต 2 เท่าตัว”
สำหรับการขยับตัวครั้งใหม่ของทวิสเตอร์ ด้วยการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยกลยุทธ์ด้านบรรจุภัณฑ์นั้น จะเป็นตัวสร้างโอกาสทางการตลาดที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ยิ่งกว่านั้นบรรจุภัณฑ์แบบขวดคืนมีจุดเด่นที่จะเพิ่มศักยภาพช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น เพราะตลาดน้ำส้มความเข้มข้น 10% ที่มีจุดขายความสดชื่นนั้น จะมีตลาดหลักที่บรรจุภัณฑ์แบบขวดคืน และขายผ่านช่องทางเทรดดิชันนัลเทรด 60% ส่วนช่องทางโมเดิร์นเทรด มีสัดส่วน 40% ส่วนใหญ่จะเน้นบรรจุภัณฑ์ในแบบขวดเพ็ต และขวดวันเวย์
รวมทั้งบรรจุภัณฑ์แบบขวดคืนยังมีการต่อยอดไปถึงกลยุทธ์การตั้งราคาที่เรียกว่า "magic price point" ในราคาขวดละ 10 บาท ทำให้ซื้อง่าย ก็จะเป็นหัวรบที่สำคัญเพื่อขยายฐานลูกค้าเข้าไปในช่องทางเทรดดิชันนัลเทรดที่มีขนาดตลาดใหญ่กว่าช่องทางโมเดิร์นเทรดด้วยเช่นกัน
หากดูในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับการลงตลาดครั้งแรกของทวิสเตอร์ เปิดตัวด้วยบรรจุภัณฑ์ 2 ขนาดคือขวดเพ็ต 350 มิลลิลิตร ราคา 18 บาท จะขายให้กับร้านค้าโมเดิร์นเทรด และขวดแก้ว วันเวย์ ขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 13 บาท จะขายให้กับร้านค้าย่อย ทว่าหากดูกลยุทธ์ความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์จะเป็นตัวสร้างโอกาสการตลาดที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคของสแปลช ที่เป็นสินค้าคู่แข่งจากบริษัท โคคา-โคล่า แล้ว ทันทีที่ทวิสเตอร์ ได้เปิดตัวลงมาทำตลาด สแปลช ก็แก้เกมบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ด้วยการออกบรรจุภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดอีกเป็นระลอก ซึ่งเป็นการทลายอุปสรรคซึ่งจากเดิมมีแต่บรรจุภัณฑ์ขวดเท่านั้น โดยล่าสุดออกบรรจุภัณฑ์ยูเอชที ในราคากล่องละ 10 บาท เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย และช่วยเพิ่มศักยภาพขยายสู่ช่องทางจำหน่ายในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะขวดคืนขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 10 บาท ที่เน้นวางจำหน่ายในช่องทางร้านอาหาร และขวดวันเวย์ ขนาด 250 มิลลิลิตร ในราคา 13 บาท เจาะตลาดในส่วนของช่องทางจำหน่ายที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านตู้แช่ และโมเดิร์นเทรดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การเดินเกมของทวิสเตอร์ เพื่อต่อกรกับสแปลชนั้น ไม่เฉพาะกลยุทธ์ด้านบรรจุภัณฑ์เท่านั้น เพราะการทำตลาดที่ผ่านมาของทวิสเตอร์ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากเน้นการทำตลาดสร้างการรับรู้ตราสินค้ามาในระดับหนึ่ง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ทวิสเตอร์ได้เปิดเกมรุกการทำตลาดในขั้นที่สอง เปิดตัวแคมเปญโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคที่ยังไม่เคยดื่มมาทดลองดื่ม รวมทั้งสร้างพฤติกรรมการซื้อซ้ำด้วยเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันทรอปิคานา ทวิสเตอร์ ครองส่วนแบ่งตลาด 20% ในตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 100% เฉพาะในช่องทางโมเดิร์นเทรด ขณะที่ในตลาดรวมมูลค่า 4,500 ล้านบาท ที่มีการขายผ่านทุกช่องทางนั้น ทรอปิคานา ทวิสเตอร์ มีส่วนแบ่งตลาด 10% โดยในปีที่ผ่านมา มียอดขายเติบโต 25%
ส่วนแนวทางการสื่อสารการตลาดล่าสุดนั้น ยังมีการปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ โดยเน้นการสื่อสารแบรนด์ "ทวิสเตอร์” เพื่อสร้างการจดจำได้ง่ายมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้สื่อสารเป็นทรอปิคานา ทวิสเตอร์ และชูคอนเซ็ปต์ "สดชื่น แบบคนอินเลิฟ” พร้อมกับชูคอนเซ็ปต์ใหม่ "เปรี้ยวหวานลงตัวเป๊ะ" ซึ่งได้มาจาก Consumer Inside ที่ต้องการสร้างให้มีความแตกต่างจากน้ำส้มในท้องตลาด ที่ส่วนใหญ่มีรสชาติไม่ลงตัว
อีกทั้งทำการตลาดแบบ 360 องศา เพื่อผลักดันสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุด ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจร ทั้งสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ และสถานีรถไฟฟ้า ภายใต้งบ 40 ล้านบาท เพื่อเปิดแนวรุกขยายฐานลูกค้าทั้งกลุ่มผู้หญิงและชายในช่วงหน้าร้อนนี้ ซึ่งเป็นฤดูการขายเครื่องดื่ม ที่มียอดขายเติบโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงปรกติ โดยเปิดตัวแคมเปญโฆษณาใหม่ "เฟอร์เฟค บาลานซ์”ที่มี แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ และโฬม-พัชฏะ นามปาน มาเป็นพรีเซนเตอร์ สื่อสารภาพลักษณ์ของน้ำส้มทวิสเตอร์เปรี้ยวหวานลงตัวเป๊ะ อีกทั้งจัดกิจกรรมการตลาดครบวงจร แจกสินค้าตัวอย่าง 1.5 ล้านแก้วในมหาวิทยาลัย และร้านค้าทั่วประเทศ
ขณะที่ทวิสเตอร์ วางเป้าหมายจะเข้าถึงลูกค้าตลาดแมส โดยมีพรีเซนเตอร์คู่ดาราชายหญิงที่อยู่ในกระแสนิยม ด้านคู่แข่ง หลังเข้าสู่ตลาดกว่า 2 ปี และกวาดมาร์เกตแชร์ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มต่ำกว่า 25% มาครองได้ถึง 19% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สแปลช ก็ส่งหนังโฆษณาชุดใหม่ 2 เรื่อง ในชื่อ "ส้มคุณภาพ" และ "คั้น" ออกมากวาดยอดขายปลายปี พร้อมเปิดตัว นิชคุณ หรเวชกุล แบรนด์แอมบาสซาเดอร์คนแรก เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้แคมเปญใหม่ "สแปลชความสดใสให้ชีวิต" กระจายความสดชื่นแบบรสเข้มเต็มรสส้ม ด้วยสแปลชบัส สวนส้มเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน
สำหรับการย้ำคอนเซ็ปต์ ความสดชื่นแบบรสเข้มเต็มรสส้มนั้น นับว่าสอดคล้องกับจุดเปลี่ยนการทำตลาดใหม่ของ ทวิสเตอร์ ที่มาเน้นสื่อสารคอนเซ็ปต์ใหม่ "เปรี้ยวหวานลงตัวเป๊ะ "แทนที่ "สดชื่น แบบคนอินเลิฟ”ที่วางตำแหน่งสินค้าให้เป็นน้ำผลไม้ให้ความสดชื่น นัยว่าเป็นการประกาศจุดยืนใหม่ เพื่อเปลี่ยนเกมลงมาช่วงชิงในตลาดน้ำผลไม้ กลุ่มน้ำส้มอย่างชัดเจน
เพราะครั้งแรกที่บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า เปิดตัวน้ำผลไม้ทวิสเตอร์ลงสู่ตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นการเปิดตัวน้ำผลไม้ 10% ที่มี 2 รสชาติ คือ รสส้ม และผลไม้รวม อีกทั้งการโฟกัสในตลาดน้ำส้มนั้นยังเป็นการทำตลาดที่สอดรับกับเหตุผลที่ว่า น้ำส้มเป็นตลาดใหญ่ในสัดส่วน 60% ส่วนอีก 40% เป็นน้ำผลไม้รสชาติอื่นๆ 40% ของตลาดรวมน้ำผลไม้มูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภาพรวมของตลาดน้ำผลไม้ในวันนี้ หลายๆค่ายเปลี่ยนแนวรบใหม่มาฟาดฟันกันในตลาดน้ำส้มมากขึ้น ส่งผลทำให้การช่วงชิงตลาดกันในระดับพรีเมียมแบรนด์นั้นมีความรุนแรงขึ้น โดยนอกจากจะเป็นการสู้รบกันระหว่างแบรนด์อินเตอร์ที่มีทรอปิคานา ทวิสเตอร์ แบรนด์นำเข้าจากอเมริกา และมินิ เมด สแปลช ซึ่งช่วงแรกๆเปิดตัวด้วยคอนเซ็ปต์ น้ำส้มที่คัดมาจากส้มแคลิฟอเนีย
ทางฟากแบรนด์โลคัล อย่างค่าย โออิชิ ก็ปั้น "เซกิ”ลงมาทำตลาดด้วย ซึ่งทุกรายล้วนแต่มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายและช่องทางการตลาดที่ไม่แพ้กัน เซกิก็มีเครือข่ายของโออิชิในการเจาะตลาด หรือสแปลชก็มีเครือข่ายของไทยน้ำทิพย์รุกตลาด ส่วนทรอปิคาน่าก็อาศัยช่องทางของเสริมสุขในการเจาะตลาด นอกจากนั้น ว่ากันว่าการเบนเข็มลงมาเล่นในตลาดน้ำส้มกันอย่างถล่มทลายคราวนี้ ชนกับตลาดน้ำส้มกรีนสปอตและไบเล่ ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 50 ปี แต่ด้วยการวางตำแหน่งสินค้าที่ขายควบคู่กับน้ำอัดลมมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคมองว่าทั้ง 2 แบรนด์เป็นน้ำส้มที่อยู่คนละตลาดกัน แต่ก็มีการทำตลาดตั้งรับโดยไบเล่ ได้เพิ่มรสชาติใหม่ และเพิ่มบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก (พีอีที) เป็นครั้งแรก ส่วนกรีนสปอตมีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทำลวดลายในช่วงเทศกาลเพื่อเป็นกิมมิกในการทำตลาด
"ภาพการแข่งขันในตลาดน้ำส้มที่ดูจะเข้มข้นขึ้นในทุกขณะนั้น เป็นเพียงศึกด้านเดียวเท่านั้น เพราะเป้าหมายของแบรนด์ทวิสเตอร์ไม่ได้โฟกัสเฉพาะตลาดน้ำส้มเท่านั้น แต่วางแผนจะต่อยอดทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบ โดยเตรียมจะเปิดตัวน้ำผลไม้หลากหลายรสชาติ ซึ่งปัจจุบันในพอร์ตน้ำผลไม้มีสินค้าหลากหลายตัว เพื่อเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดน้ำผลไม้ด้วยเช่นกัน แต่จะต้องรอดูจังหวะและสถานการณ์ตลาดโดยเฉพาะความพร้อมของผู้บริโภค" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวและให้มุมมองอีกว่า
ชาลีกล่าวในตอนท้ายว่า การแข่งขันในตลาดนี้ต้องเป็นการวิ่งแบบมาราธอน เพราะเกมนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่กลยุทธ์ราคาอย่างเดียว แต่เป็นการแข่งขันด้านคอนเซ็ปต์และคุณภาพ ทำให้ภาพการแข่งขันที่จะเกิดจากนี้ไป จะเริ่มเปลี่ยนไปเน้นคอนเซ็ปต์แบรนด์และคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มน้ำผลไม้มาเป็นไลฟ์สไตล์ ซึ่งจากเดิมเป็นไปตามเทรนด์ ดังนั้นจะส่งผลทำให้ผู้เล่นในตลาดน้ำส้มกลุ่มไพรซ์แบรนด์ราคาต่ำกว่า 10 บาทจะมีสัดส่วนลดลงเป็น 50% และประเมินสถานการณ์ว่าน้ำส้มกลุ่มนี้จะเริ่มหายไปจากตลาด ส่วนในปีนี้แนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 100% มูลค่า 4,500 ล้านบาท คาดว่าเติบโตไม่ต่ำกว่า 16-20% จากปีที่ผ่านมาเติบโต 16% เนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมียมแบรนด์ อาทิ ทวิสเตอร์ กับ สแปลช ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนราว 50%
|
|
|
|
|