แม้ในปัจจุบันจะมีโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทั้งโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไปและรักษาโรคเฉพาะทาง
แต่จริงๆ แล้วก็ยังขาดโรงพยาบาลที่สนองตอบต่อประชาชนผู้ใช้บริการกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง
นั่นคือโรงพยาบาลอิสลาม
คุณหญิงแสงดาว สยามวาลาได้พยายามรื้อฟื้นแนวคิดการจัดตั้งโรงพยาบาลดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง
โดยมีเป้าหมายสองประการคือ หนึ่ง-เพื่อให้บริการแก่มุสลิม
สอง-เพื่อบริการแก่ประชาชนผู้ยากไร้ โดยไม่คิดค่าบริการโรงพยาบาลแห่งนี้ดำเนินงานภายใต้ชื่อ
"มูลนิธิโรงพยาบาลอิสลามเพื่อประชาชาติแห่งประเทศไทย" โดยมีคุณหญิงแสงดาว
สยามวาลาเป็นประธานมูลนิธิ
คุณหญิงแสงดาว วัย 74 นั้นได้ชื่อว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ผู้อุทิศตัวให้กับสังคมไทยผู้หนึ่ง
โดยเฉพาะด้านประชาสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มมุสลิมที่เคยเข้าใจประเทศไทยผิดได้เข้าใจในทางที่ดีและถูกต้อง
อีกทั้งเคยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมแก้ปัญหาในการที่โจรอาหรับเข้ายึดสถานฑูตอิสราเอลได้สำเร็จเมื่อปี
2515
ความจำเป็นที่จะต้องมีโรงพยาบาลเพื่อมุสลิมโดยเฉพาะนั้น เพื่อให้การบริการตามแบบคนไข้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ซึ่งปกติจะมีปัญหาเรื่องอาหารการกิน รวมไปถึงเรื่องของศาสนกิจที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วนเมื่อผู้ป่วยที่เป็นมุสลิมเสียชีวิตลง
สำหรับคุณหญิงแสงดาวแล้วมองว่า นอกจากเพื่อมุสลิมแล้วโรงพยาบาลแห่งนี้ต้องการให้การบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทุกชาติศาสนา
คุณหญิงแสงดาวตั้งใจให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาสในด้านสาธารณสุขและให้โอกาสแก่ผู้มีรายได้ต่ำในการรักษาพยาบาล
มูลนิธิโรงพยาบาลอิสลามฯตั้งเป้ามูลค่าก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาทในขั้นต้น
โดยมีโครงการขนาด 100 เตียงและจะขยายเป็น 300 เตียงในอนาคตประกอบไปด้วยอาคารผู้ป่วยนอก
และผู้ป่วยใน แผนกศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช แผนกสูตินรีเวช และแผนกฉุกเฉิน
ห้องแล็บต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังจะมีแผนกทันตกรรม แผนกตา หู คอ จมูก โรคผิวหนัง
กายภาพบำบัด รวมทั้งอาคารที่พักของแพทย์ พยาบาล และอาคารจอดรถ
แล้วถ้ามูลนิธิโรงพยาบาลอิสลามฯให้การบริการโดยไม่คิดมูลค่าสำหรับผู้ไม่มีความสามารถนั้น
โรงพยาบาลจะมีเงินทุนหมุนเวียนจากไหน คุณหญิงแสงดาวเล่าว่า "เราจะรับเงินบริจาคจากประเทศต่างๆ
โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิมที่ยินดีให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าโรงพยาบาลนี้จะเป็นโรงพยาบาลมุสลิมแห่งแรกในประเทศไทย
ดิฉันได้เคยทำสำเร็จมามากมาย ต่างชาติเขาซึ้งใจที่คนไทย ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
และดิฉันได้เปลี่ยนแนวคิดของชาติอาหรับมาแล้วถึงเรื่องการเมือง การแบ่งแยกดินแดนคราวนี้หลายชาติอย่าง
มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศในกลุ่มอาหรับทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือกับเราอย่างเต็มที่"
ขณะที่นายแพทย์สมัย ขาววิจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระคนปัจจุบันพูดถึงเรื่องนี้ในฐานะรองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลอิสลามฯว่า
"ในโรงพยาบาลของรัฐบาลที่มีตึกมุสลิมมีอยู่แห่งเดียวคือที่โรงพยาบาลวชิระ
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สำหรับโรงพยาบาลที่มุสลิมเป็นเจ้าของก็เหมือนร้านอาหารมุสลิม
มุสลิมชอบที่จะเข้าไปรับประทาน"
โรงพยาบาลอิสลามเพื่อประชาชาติแห่งประเทศไทยเป็นโรงพยาบาลที่จะสร้างขึ้น
เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ
50 ปี นอกเหนือไปจากเพื่อบริการประชาชน
โรงพยาบาลนี้ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธ ิเพื่อสาธารณกุศลมีโครงการขอแรงสนับสนุนทางการเงินจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งในและนอกประเทศ
โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้าง 70-100 ล้านบาท งบประมาณเครื่องมือการแพทย์อีก
100 ล้านบาท และงบดำเนินการ 100 ล้านบาท
ส่วนกำหนดการก่อสร้างนั้นจะทำการก่อสร้างในปี 2539 บนที่ดิน 10 ไร่ที่ทางโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้ใช้ที่ดินจากมัสยิดมหานาค
ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองมหานาคเพื่อใช้ทำประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ดินผืนนี้แต่เดิมมัสยิดมหานาคเองก็ได้รับการจากการบริจาคของลูกหลานผู้วายชนม์ตระกูล
"ตั้งตรงจิตร" ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาร่วมใจ ตำบลทรายกองดิน เขตมีนบุรี
สำหรับข้อตกลงในการให้ใช้ที่ดินดังกล่าวให้ใช้ได้ไม่จำกัดระยะเวลาโดยไม่คิดมูลค่า
ทั้งนี้กรรมการมัสยิด 2 คนจะต้องเข้าร่วมเป็นกรรมการดำเนินการด้วย ภายใต้ข้อแม้เพียงข้อเดียว
ถ้าไม่นำที่ดินที่ได้รับอนุญาตนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์-พยาบาลภายในระยะเวลา
10 ปี มัสยิดจะขอยึดกลับคืนเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลมุสลิมใช่ว่าจะเป็นแนวคิดของคุณหญิงแสงดาวและคณะกรรมการคณะนี้เป็นครั้งแรกทีเดียว
แต่เดิมได้เคยมีกลุ่มมุสลิมทำธุรกิจโรงพยาบาลมุสลิมมาเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว
ตั้งอยู่แถวๆ บางกะปิแต่ก็ต้องมีอันพับฐานไป เนื่องเพราะการบริหารที่ผิดพลาด
น่าจะเป็นบทเรียนที่ควรจดจำแก่ผู้ริเริ่มรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
การเริ่มต้นสร้างโรงพยาบาลมุสลิมครั้งใหม่ของคุณหญิงแสงดาวและคณะ จึงเป็นการพิสูจน์ศรัทธาและจิตใจอันเป็นกุศลท่ามกลางการเติบโตของสังคมธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง