|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตลาดหุ้นไทยผันผวนสวนทางตลาดหุ้นเอเชีย หลังเฟดหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.75% "ธีระชัย" เตือนนักลงทุนไทยอย่าตระหนก เหตุฝรั่งตัดใจขายเพราะถูกบังคับขาย เชื่อเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน ด้าน "ปกรณ์" ชี้ปัญหาเงินเฟ้อสูงกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่มั่นใจลดเหลือ 1% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่โบรกเกอร์ แจงต้องจับตามปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะเข้ามากระทบตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะการพิจารณายุบพรรคร่วมรัฐบาล
ภาวะการลงทุนตลาดหุ้นไทยวานนี้ (19 มี.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนจะเจอแรงขายทำกำไรจนไม่สามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ สวนทางกับตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับปัจจัยบวกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับตัวลดลง 0.75% ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องคดีใบแดง-ยุบพรรค
โดยดัชนีปิดที่ 807.67 จุด ลดลง 4.65 จุด หรือลดลง 0.57% จุดสูงสุดระหว่างวันที่ 818.89 จุด ต่ำสุด 807.56 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,969.86 จุด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 228.76 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 98.19 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 326.95 ล้านบาท
เตือนนักลงทุนอย่าตื่นตระหนก
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นทั่วเอเชียยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีแรงเทขายออกมาจากกลุ่มนักลงทุนเก็งกำไร (เฮจฟันด์) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกแต่ประสบปัญหาขาดทุนจนถูกบังคับขายเงินลงทุน
ขณะเดียวกันผู้ถือหน่วยลงทุนได้มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่สถานการณ์ต่างๆ จึงทำให้ต้องขายสินทรัพย์ที่ลงทุนในตลาดหุ้นที่มีกำไร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
"ความจริงแล้วกองทุนไม่ได้ต้องการขายหุ้นออกมา แต่ต้องถูกบังคับขายหลังจากที่ต้อง mark to market และต้องนำเงินไปคืนผู้ถือหน่วยที่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนทำให้ต้องขายหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีกำไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย การขายในรอบนี้ถือว่าเป็นการขายทั้งน้ำตา" นายธีระชัย กล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุนนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นจังหวะที่น่าจะเข้าไปลงทุนแม้นักลงทุนต่างชาติจะส่งสัญญาณขายหุ้นออกมาบ้าง แต่นักลงทุนไม่ควรที่จะตื่นตะหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกินไปเนื่องจากการขายที่เกิดขึ้นมีเหตุผลรองรับ
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดทุนโลก สามารถแบ่งผลกระทบออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทุน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าน่าจะเริ่มคลี่คลายไป เนื่องจากมีการรับรู้ผลขาดทุนจากเรื่องดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนที่ต้องถูกบังคับขายจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาเรื่องการส่งออก แต่จะส่งผลกระทบมากหรือน้อยคงต้องอยู่ที่การปรับตัวของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว
ฟันธงสิ้นปีเฟดลดดบ.เหลือ1%
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "Thailand: Global Slowdown Versus Pro Government" ว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเฟดลง 0.75% เหลือ 2.25% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1% แสดงให้เห็นว่าเฟดยังกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงเฟดต้องการรอผลจากมาตรการที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือเพียง 1%
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ของเฟด ทำให้ระยะห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเฟดกับอัตราดอกเบี้ยไทยห่างกันมากขึ้น (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 3.25% ส่วนเฟด 2.25% ต่างกัน 1%) ซึ่งจะส่งผลให้เงินต่างชาติไหลเข้าไทยมากขึ้น และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้
ส่วนราคาน้ำมันซึ่งปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น มองว่าจากการที่แหล่งน้ำมันของผู้ผลิตรายใหญ่กำลังจะหมดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ทำให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันต้องการรักษารายได้ให้เท่าเดิม ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาแรงๆ คงเป็นไปได้ยาก และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป
"จากกรณีที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ทำให้แบงก์ชาติต้องโฟกัสอยู่ที่การรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป แต่พรบ.การเงินฉบับใหม่ที่กำหนดให้แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อในทุกๆ ปี อาจจะทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาคือ แบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังร่วมกันกำหนดอัตราที่เหมาะสมขึ้นมา เช่น 2.5% โดยจะบวกหรือลบเท่าไหร่ก็กำหนดกรอบไว้ และปล่อยให้แบงก์ชาติเป็นผู้ดูแล รวมถึงยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศใช้กัน"
ตลาดหุ้นไทยปีนี้ผันผวน
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า นักลงทุนอยากเห็นรัฐบาลให้อิสระในการทำงานแก่ธปท. ในการดำเนินงานนโยบายการเงิน เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ค่อนข้างมากและยังมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้น
"ผมเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล เพราะปัจจุบันไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกในปีนี้คงชะลอตัวลง ดังนั้นการจะรักษาอัตราการเจริญเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมาย ต้องมีสิ่งที่ทดแทน คือ การลงทุน และการบริโภค ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการลงทุน ในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับมาทดแทนการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวในปีนี้ โดยรัฐบาลควรประกาศให้ชัดเจนว่ากรอบระยะเวลาการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะกลับมาจัดทำงบฯ แบบสมดุลภายในกี่ปี"
สำหรับทิศทางตลาดทุนไทยปีนี้ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นผันผวนค่อนข้างมาก แต่โดยรวมจะดีขึ้น จากการสนับสนุนของภาครัฐ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะทำให้เงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์ไปด้วย บวกกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
คาดธปท.ลดอาร์พีตามเฟด
นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับเฟดสูงถึง 1% จะทำให้เงินทุนจากสหรัฐฯ ไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
"การลดดอกเบี้ยของเฟด 0.75% จะเป็นแรงกดดันในการพิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. และคาดว่ากนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 9 เมษายนนี้ แต่คงต้องติดตามดูในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแค่ไหน"
ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศเริ่มมีความมั่นใจหลังเฟดมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงิน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจในการลงทุน จากค่า P/E ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านการเมืองในกรณีที่ศาลจะพิจารณาคำร้องคดีใบแดงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (20 มี.ค.)
ขณะเดียวกัน ปัจจัยลบเรื่องของการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือ พรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งส่งผลให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมากดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 812 จุด
"วานนี้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน โดยเปิดตลาดช่วงเช้าดัชนีปรับตัวอยู่ในแดนบวก แต่ไม่มากนัก ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมา สวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นตลาดหุ้นไทย กับอินโดนีเซียเท่านั้น ที่เจอปัญหาเรื่องของการเมืองเข้ามากดดัน" นายโกสินทร์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะนักลงทุนจะมีการขายทำกำไรจากการที่ดาวโจนส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้ย บวกกับตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 วัน ซึ่งจะทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมา โดยในระยะสั้นหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นนักลงทุนควรที่จะมีการขายทำกำไรออกมา หากยังมีมีปัจจัยบวกเข้ามาและธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีส่งสัญญาณที่จะมีการลดดอกเบี้ย โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 801-803 จุด แนวต้านที่ระดับ 815-817 จุด
ลดเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 898 จุด
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า การประกาศลดดอกเบี้ยของเฟดทำให้ตลาดหุ้นต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ แต่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก่อนจะติดลบในช่วงปิดตลาดการซื้อขาย เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็ก คิดเป็น 1%ของตลาดหุ้นในแถบเอเชียเท่านั้น
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ปรับลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 898 จุด จากปลายปีที่ผ่านมาตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 1,180 จุด สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศและปัญหาซับไพรม์ยังคงทวีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถผ่านแนวต้นที่ 820 จุดได้ โดยมีแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมากดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นปิดในแดนลบ เพราะตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองที่ยังไม่ความชัดเจน และมีเรื่องที่รอผลคำตัดสินอีกหลายเรื่อง เช่น การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นต้น รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากเงินทุนต่างประเทศที่อาจมีการโยกย้ายหลังส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯกับอัตราดอกเบี้ยไทยเพิ่มมากขึ้น ประเมินแนวต้านที่ 815 จุด และแนวรับที่ 800 จุด จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีอ่อนตัว
|
|
 |
|
|