รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท (RGR) เทกบริษัท โรงแรม ราชดำริ (RHC) เจ้าของโรงแรมรีเจ้นท์
เกือบ 43% ส่งผลวิลเลี่ยม ไฮเนกกี้ เจ้าพ่อพิชซ่าเมืองไทย ซึ่งเป็นชาวมะกันที่ได้ดีในไทย
ผู้ถือหุ้นใหญ่ RGR กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯแห่งนี้
เขาหวังสยายปีกการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ครอบคลุมทั่วเอเชียแปซิฟิก จากธุรกิจกลุ่มอาหารสู่โรงแรม
และหาก โอกาสเปิดจะขยายการลงทุนเพิ่มอีก
บริษัท รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท จำกัด (มหาชน) (RGR) ซึ่งนาย วิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้
ก่อตั้งและถือหุ้น ใหญ่ เพิ่มการลงทุนในบริษัท โรงแรม ราชดำริ (RHC) จำกัด (มหาชน)
เจ้าของโรงแรมรีเจ้นท์ โรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ จาก 30.29% เป็น 42.84% ซึ่งโรงแรมราชดำริถือหุ้น
26.04% ในโรงแรมรีเจ้นท์ รีสอร์ท เชียงใหม่ ส่งผลให้นายไฮเนคกี้ ชาวมะกันที่ได้ดีในเมืองไทย
และ RGR พลอยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมเชียงใหม่แห่งนี้ด้วย จากเดิมที่ถืออยู่แล้ว
44.87% เป็น 48.14%
ดีลผ่านบิ๊กล็อต
ขณะที่การซื้อดีลนี้ ทำผ่าน บล. ไทยพาณิชย์ สำหรับหุ้นโรงแรมราชดำริ ส่วนที่กลุ่มโกลแมน
ซาค วาณิชธนากรยักษ์ใหญ่จากแดนมะกัน ถืออยู่ โดยผ่านการซื้อขายกระดานรายใหญ่ 41%
หุ้นโรงแรมรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ ในตลาดหลักทรัพย์ไทยวานนี้
RGR ขณะนี้เป็นเจ้าของ และบริหารโรงแรม 9 แห่งในประเทศไทย ซึ่งมีห้องพักรวมกัน
2,056 ห้อง ภาย ใต้เชนระดับโลก และของไทย อย่าง แมริออท (Marriott) รีเจ้นท์ (Regent)
อนันตรา (Anantara) บ้านโบราณ และรอยัลการเด้น (Royal Garden) ที่ตั้งอยู่ทั้งในเวียดนาม
และ ประเทศไทย
บริษัท รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท (RGR) ลงทุนเพิ่มเติมบริษัท โรงแรม ราชดำริ 5,647,641
หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 43.47 บาท รวมเป็นเงินลงทุน 245,508,448.35 บาท ซื้อผ่านตลาด
หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ทำให้ RGR ถือหุ้นรวม 19,277,965
หุ้น หรือ 42.84% หลังการลงทุนครั้งนี้
การซื้อหุ้น RHC ครั้งนี้ ถือเป็น การซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ RGR มีหุ้น
RHC โดยทยอยซื้อเก็บไว้ในมืออยู่แล้ว 30%
หวังคุมธุรกิจทั่วเอเชีย-แปซิฟิก
แหล่งข่าว RGR กล่าวว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ เป็นการลงทุนธุรกิจที่เอื้อ ประโยชน์ธุรกิจของกลุ่ม
และถือว่า เป็นการขยายเครือข่ายทำธุรกิจ เพื่อครอบคลุมทั่วเอเชียแปซิฟิก
"แม้ว่าหุ้นตัวนี้ คือ RHC จะไม่มีสภาพคล่อง การซื้อขาย แต่ผลตอบให้ผู้ถือหุ้นดีมาก
เราเก็บหุ้นนี้ไว้ในมือ และทยอยเก็บมาเรื่อยๆ ซึ่งเราก็มีธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง
ที่บริหารอยู่ก่อนแล้ว และเราก็มีสภาพคล่องการเงินเหลืออยู่มาก การนำเงินไปลงทุน
เพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมายังบริษัท น่าจะดีกว่าเก็บเงินไว้เฉยๆ" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการซื้อกิจการบริษัท เดอะไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MINOR) ของนายไฮเนกกี้ก่อนหน้านี้
เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์การลงทุนเช่นกัน เพราะ MONOR เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าอาหาร
คือสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังทำธุรกิจจัดการให้บริษัทในเครือ และทั่วไป โดยการได้ MINOR ไว้บริหารเองจะลด
ต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทด้วย ยังจะเอื้อประโยชน์ให้แก่กันด้วย เพราะธุรกิจโรงแรมจำเป็น
ต้องใช้สินค้าเหล่านี้บริการลูกค้าอยู่แล้ว และวัตถุดิบ บางอย่าง RGR ก็ต้องใช้จาก
MONOR มาก่อนหน้านี้แล้ว
เม.ย. ปีนี้ RGR ลงทุนบริษัท สมุย รีซอร์ท แอนด์ สปา จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
1 ล้านบาท บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัท สมุย รีซอร์ท แอนด์ สปา 100% เพื่อดำเนินกิจการโรงแรม
ส่วนการลงทุนธุรกิจอื่น ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง และเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจโรงแรม
แหล่งข่าวกล่าวว่าการซื้อหุ้นลงทุน ต้องเป็นนโยบายจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะซื้อหุ้น
ลงทุนบริษัทอื่นใดอีกในระยะใกล้
กระทบจากซาร์ส
สำหรับผลของโรคหวัดมรณะ (ซาร์ส) ระบาด นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวเช่นกัน
แต่ขณะเดียวกันบริษัทก็พยายาม ลดต้นทุน ด้วยการควบคุมต้นทุนอย่างมาก เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นๆ
เท่านั้น แต่ระยะยาว การดำเนินงานธุรกิจโรงแรมจะเหมือนเดิม
ไฮเนคกี้มะกันที่ได้ดีในไทย
นายวิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้ ก่อตั้งไมเนอร์ โฮลดิ้งส์ ปี 2510 อีก 3 ทศวรรษต่อมา
เติบโตกลายเป็นเดอะ ไมเนอร์ กรุ๊ป ครอบคลุมบริษัทในเครือมากกว่า 30 แห่ง อาทิ โรงแรมแมริออท
รอยัลการ์เด้น กรุงเทพฯ หัวหิน และพัทยา โรงแรม รีเจ้นท์ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
โรงแรมอนันตรา เดอะพิซซ่า คอมปะนี แดรี่ ควีนส์ ซิซซ์เล่อร์ เบอร์เกอร์ คิงส์ เสื้อผ้า
Esprit เครื่องสำอาง Red Earth
นายบิลล์ ไฮเนคกี้เดินทางมาไทยพร้อมกับบิดามารดาของเขา ปี 2506 เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ
สมรส และก่อตั้งบริษัทแห่งแรกของเขา ที่ตั้งชื่อว่า "ไมเนอร์ โฮลดิ้งส์" ปี 2510
นับตั้งแต่นั้น ไมเนอร์ โฮลดิ้งส์พัฒนาก้าวหน้า และลงทุนธุรกิจการตลาด การผลิต
อุตสาหกรรมอาหารและอสังหาริมทรัพย์ โดยจ้างงานมากกว่า 12,000 คน และรายได้สุทธิมากกว่าปีละ
300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ เขายังเคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย 2 ครั้ง และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านการลงทุนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี
ตลอดจนร่วมเดินทางไปอเมริกาและยุโรปกับคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเป็น ทางการหลายครั้ง
เขาโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทยปี 2524
ปี 2543 นายไฮเนคกี้เปิดธุรกิจที่เขย่าธุรกิจอาหารตะวันตก คือเดอะ พิซซ่า คอมปะนี
ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ่นจากประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่เขาบริหาร ธุรกิจพิซซ่า ฮัท
ในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มแรก จนปัจจุบัน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี้ คือร้านพิซซ่า ที่ยอด
ขายอันดับหนึ่งในไทย
โครงสร้างการถือหุ้นใหญ่ RGR ประกอบด้วย HSBC (Singapore) Nominees Pte Ltd ถือหุ้น
18.62% บริษัท ไมเนอร์ โฮลดิ้ง (ไทย จำกัด 18.54% นายนิติ โอสถานุเคราะห์ 9.77%
บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 9.77%
นายวิลเลียม ไฮเน็ค 5.41% กองทุนบำเหน็จนำนาญข้าราชการ 3.37% บริษัท ไมเนอร์
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3.29% บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว
2.56%
โครงสร้างการถือหุ้น RHC ประกอบด้วย Goldman Sachs & Co ถือหุ้น 35.39% บริษัท
รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท 30.29% ธนาคารกสิกรไทย 8.36% บริษัท ทุนลดาวัลย์ 6.20% Bangkok
Hotel Holdings Ltd 5.60% พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 3.47% บริษัท
คอม-ลิงค์ จำกัด 1.56%
ผลดำเนินงานไตรมาสแรก RGR กำไรสุทธิ 345.52 กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.26 บาท ขณะที่กำไรสุทธิงวดเดียวกันปีก่อนเพียง
261.81 ล้านบาท และกำไร สุทธิต่อหุ้น 96 สตางค์
ขณะที่วานนี้ (10 มิ.ย.) หุ้นกลุ่มที่ RGR ถืออยู่ ล้วนปิดแดนบวกทั้งสิ้น โดย
RGR ปิด 9.65 บาท เพิ่มขึ้น 35 สตางค์ เพิ่มขึ้น 3.76% มูลค่าซื้อขายเพียง 3.66
ล้านบาท
MINOR ปิด 8.90 บาท เพิ่มขึ้น 15 สตางค์ เพิ่มขึ้น 1.71% มูลค่าซื้อขาย 1.93
ล้านบาท และ RHC ปิด 41 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท เพิ่มขึ้น 5.13% มูลค่าซื้อขาย 29,000
บาท