|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบ 9 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จีน ช่องทาง-โอกาสการค้านักธุรกิจไทย พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนใหม่ มุ่งจัดซื้อสินค้าจีนพัฒนาสินค้าตัวเอง-พัฒนาแบรนด์ไทย และเน้นจ้างจีนผลิต หรือ ใช้จีนเป็นแหล่ง “เอาท์ซอรส์”ลดต้นทุนสินค้า
ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งนอกจากรัฐบาลที่เป็นเอกภาพแล้ว ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของจีนได้เติบโตอย่างเข้มแข็งจนมีขนาดใหญ่ราวครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของจีนทำให้จีนมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนกว่าหนึ่งพันแห่งทั่วประเทศ
ศึกษาการพัฒนาคลัสเตอร์จีน
ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยอาวุโส (เอเชียตะวันออก) จีน-ญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการศึกษาเรื่องการพัฒนาคลัสเตอร์ของจีน เพื่อนำความรู้มาเป็นประโยชน์ต่อการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในไทย
โดยรูปแบบของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมจีนนั้น พบว่าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของจีนมีการพัฒนามาจากการรวมตัวหลายลักษณะด้วยกัน ประกอบด้วย
คลัสเตอร์ที่เกิดจากเอสเอ็มอีของจีน โดยหลังจากจีนได้เปิดประเทศและปรับระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ทุนนิยมแบบจีน จึงเกิดเอสเอ็มอีทั่วประเทศจีน และพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น
“ตัวอย่างจากมณฑลเจ้อเจียง ลักษณะของคนที่นั่นมีจิตวิญญาณในการเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว พอมีโอกาสก็ทำให้พัฒนากลายเป็นนักการค้าที่เก่งมาก โดยเฉพาะคนเหวิ่นโจวที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งประเทศจีนว่าเก่งด้านการค้ามาก”
คลัสเตอร์ที่เกิดจากการลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออก เริ่มต้นจากมีบริษัทใหญ่เข้าไปลงทุนในจีน พอไปลงทุนก็เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมตามมา เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ ญี่ปุ่นได้ไปลงทุน 3-4 แห่งในกวางโจว หรือ กลุ่มฉางหง และ TCL เป็นตัวอย่างที่ดี ในการไปลงทุนที่เมือง Nantou ทำให้เกิดการลงทุนของผู้ผลิตอื่น ๆ ตามมาจำนวนมากจน Nantou กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของกวางตุ้งในปัจจุบัน
การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายให้แต่ละมณฑลมีศักยภาพในการแข่งขันกัน ทำให้บางเมืองเกิดความเชี่ยวชาญในบางอุตสาหกรรมขึ้นมา และรัฐบาลจีนได้ให้สิทธิประโยชน์พิเศษมากมายโดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านภาษีทำให้เกิดการรวมตัวเป็นคลัสเตอร์กันจำนวนมาก
คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฮเทค น่าสนใจมาก เพราะมีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคใกล้สถาบันการศึกษาต่าง ๆภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางจีน เช่น Zhonguancun (ZGC) ชานกรุงปักกิ่งแถบมหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหัว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของจีน เนื่องจากเป็นเขตการวิจัยและพัฒนาและศูนย์กลางการพัฒนาสินค้า IT ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
นอกจากนี้ก็เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกิดจากการอยู่ใกล้วัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมไม้แปรรูป ที่เมือง Pizhou มณฑลเจียงซู คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารที่เมือง Luohe มณฑลอันฮุย
สุดท้ายคือคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เช่น ตลาดอี้อู มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีนักธุรกิจเดินทางเข้ามาค้าขายวันละประมาณ 200,000 คน มีสินค้าให้เลือกซื้อถึง 320,000 รายการ จากกว่า 40,000 ร้านค้า และมีการค้าขายวันละเกือบ 300 ล้านหยวน โดยนักธุรกิจจากมณฑลใกล้เคียง รวมทั้งสินค้าจากส่วนอื่น ๆ ของจีนจะนำสินค้ามาจำหน่ายที่นี่สำหรับส่งออกไปทั่วโลก
9 แหล่งคลัสเตอร์อุตฯใหญ่ของจีน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวม แหล่งคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ของจีนได้ 9 แหล่งได้แก่
1.นครกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง เป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนจากฮ่องกง มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เสื้อผ้าและสิ่งทอ ICT ปิโตรเคมี ต่อเรือ อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น พลาสติก โลจิสติกส์
2. เมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง เป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนจากไต้หวัน มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ แว่นตา เหล็ก ของเล่น นาฬิกา กระดาษ การพิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทั้งนี้เมืองตงก่วนผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เช่น หัวอ่าน กล่องคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ หลายชนิดมากถึงร้อยละ 30 ของการผลิตทั่วโลก โดยมีผู้ผลิตจำนวนหลายพันราย
3.เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เป็นฐานการลงทุนจากต่างประเทศขนาดใหญ่แรก ๆ ของจีน มีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร เวชภัณฑ์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องจักรกล นาฬิกา เครื่องประดับ จักรยาน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
4.เมืองเหวิ่นโจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นแหล่งที่มีการเติบโตของธุรกิจ SME จีนจำนวนมาก คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เวิ่นโจวประกอบด้วย เสื้อผ้า รองเท้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ แพ็คเกจจิ้ง ไฟแช็ค แว่นตา เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ปากกา กระดุม เครื่องจักรกล ใยสังเคราะห์ เป็นต้น
5. นครเซี่ยงไฮ้ เปรียบเสมือนศูนย์กลางเศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำแยงซี คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ เหล็ก ปิโตรเลียม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน โรงไฟฟ้า ต่อเรือ เวชภัณฑ์ ของเล่น ยาสูบ เสื้อผ้า รองเท้า เคมีภัณฑ์
6.เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ได้รับความนิยมจากนักลงทุนจากไต้หวันในปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในตงก่วน อีกทั้งยังอยู่ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ แต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเซี่ยงไฮ้มากโดยยอดลงทุนด้าน IT ที่ซูโจวมีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ซูโจวยังมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอ ใยสังเคราะห์ โทรคมนาคม ใยแก้วนำแสง ปิโตรเคมี เครื่องจักรทอผ้าด้วย
7.เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ มีการลงทุนจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จำนวนมาก คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ เสื้อผ้า ต่อเรือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม เหล็ก เครื่องจักรกล เครื่องจักรสำหรับการขุดเจาะน้ำมัน
8.นครเทียนจิน เป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดทางภาคเหนือของจีน มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรกล เวชภัณฑ์ เหล็ก เสื้อผ้า เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ ต่อเรือและโลจิสติกส์
9.กรุงปักกิ่ง มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรม IT โทรคมนาคม ยานยนต์ เวชภัณฑ์ เปียโน เหล็ก เสื้อผ้า เครื่องจักรกล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แนะพัฒนาตัวสู่การสร้างแบรนด์-หยิบสินค้าจีนหนุน
ดร.สักกรินทร์ ระบุว่า ประโยชน์ของคนไทย นอกจากจะศึกษารูปแบบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของจีนมาพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของไทยแล้ว นักธุรกิจไทยยังสามารถนำความรู้นี้ไปทำการค้าการลงทุนกับจีนได้มากขึ้น
“คลัสเตอร์หนึ่งๆ จะมีทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราสามารถเข้าไปดูได้ว่ามีส่วนไหนยังขาดอยู่ และไปลงทุนในสิ่งที่ขาดได้”
นอกจากนี้อยากแนะนำให้นักธุรกิจไทยจับโอกาสตรงนี้เข้าไปทำการค้าการลงทุนใน 2 ลักษณะเพิ่มขึ้นคือ การจัดซื้อจัดจ้างและการว่าจ้างผลิต
การจัดซื้อจัดจ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นในอุตสาหรรมรถยนต์ นักธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้อะไหล่แท้ทั้งหมดในส่วนประกอบ แต่บางส่วนสามารถใช้อะไหล่เทียมได้ ตรงนี้จีนจะมีแหล่งผลิตอะไหล่ทดแทน หรือสินค้าประเภทที่ผลิตจำนวนมากๆ อยู่หลายชนิด ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น จะทำให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนได้มาก ตรงนี้สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอื่นๆ ได้เหมือนกัน
ส่วนการว่าจ้างผลิตหรือ เอาซอสซ์ นั้น ปัจจุบันได้มีคนไทยหลายรายได้หันมาใช้วิธีนี้กันมาก โดยจะเป็นการให้จีนผลิตสินค้าและนำมาติดแบรนด์ไทย ทำให้ต้นทุนลดลงอย่างมาก และต้องพยายามอัพเกรดตัวเองเป็นเจ้าของแบรนด์ให้มากขึ้น
ที่สำคัญนักธุรกิจไทยอย่าไปคิดว่าเราจะแข่งกับจีนได้อย่างไร แต่ควรไปศึกษาในรายละเอียดของจีนและมาต่อยอดการทำธุรกิจของเราได้ อย่างเมืองอี้อู ที่เป็นตลาดค้าส่งที่ใหญ่มาก นักธุรกิจไทยสามารถไปดูสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีกว่า 3-4 แสนรายการ มาทำธุรกิจของตัวเองได้ เช่นดูว่าสินค้าของเขาดีไหม ถ้าคุณภาพดีกว่า ถูกกว่า แล้วถ้าแบรนด์เราติดตลาดอยู่แล้ว โอกาสก็เยอะ จึงไม่ควรมองซัพพลายเออร์ในประเทศอย่างเดียว
|
|
|
|
|