|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารทิสโก้ ปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้เป็นรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อประสิทธิภาพในการกำกับกิจการแบบรวมกลุ่ม ระบุข้อดี 3 ประการ "ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ" ย้ำชัดหลังตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง สำเร็จตามแผนจะมีโครงสร้างบริหารและฐานะการเงินเหมือนเดิมทุกประการ และผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแลกเปลี่ยนหุ้น คาดจัดการแล้วเสร็จ ต.ค.นี้ ระบุไม่เปิดกั้นพันธมิตรใหม่
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง โดยจัดตั้งบริษัทมหาชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นบริษัทแม่ของธนาคารทิสโก้นั้น เป็นการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นที่ได้เคยยื่นขอต่อกระทรวงการคลังเมื่อปี 2549 ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มาแต่ติดที่ข้อกฎหมายในขณะนั้นไม่เอื้อให้กระทรวงการคลังมีอำนาจลงนาม แต่เมื่อจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ธนาคารทิสโก้จึงดำเนินการขอจัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงินภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มอีกครั้ง
โดยการขอจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ยังคงเป็นไปตามหลักการและเหตุผลสำคัญ 3 ประการเดิม คือ เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพื่อใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความยืดหยุ่นในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่มีบริษัทโฮลดิ้งเข้ามา ทำให้ธนาคารทิสโก้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทย่อยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคาร ทำให้ความเสี่ยงซ้ำซ้อนระหว่างธุรกิจหายไป ส่งผลให้ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจโดยรวมของกลุ่มลดลง
สำหรับขั้นตอนการปรับโครงสร้างถือหุ้นจะเริ่มจากการจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นธนาคารทิสโก้ ร้อยละ 98.5 จากนั้นบริษัทโฮลดิ้งจะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้มีลักษณะโครงสร้างเดียวกับทุนจดทะเบียนปัจจุบันของธนาคารทิสโก้ และจะจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ทั้งหมดของธนาคารทิสโก้ เพื่อซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยมีอัตราส่วนในการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เท่ากับ 1 : 1 โดยราคาของการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์จะคำนวณจากราคาตลาดหุ้นของธนาคารทิสโก้ และมีระยะเวลาในการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เท่ากับ 25 วันทำการ
จากนั้นบริษัทโฮลดิ้งจะเข้าซื้อเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัทย่อยจากธนาคารทิสโก้ ให้เท่ากับมูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 50 ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท หลังจากนั้นจะนำ บริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นของธนาคารทิสโก้ต่อไป
สำหรับรายละเอียดของแนวทางการกำกับดูแลกิจการแบบรวมกลุ่มนั้น ภายหลังจากการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการและการบริหารงานของกลุ่มทิสโก้ และฐานะการเงินจะยังมีลักษณะเช่นเดิม โดยคณะกรรมการหลักจะกำกับดูแลกิจการโดยรวมของบริษัทในกลุ่มทั้งหมดตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งรวมถึงแนวทางปฏิบัติในการกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
"การปรับโครงสร้างในครั้งนี้เป็นเรื่องเก่าที่เอามาทำใหม่ เพราะเดิมเคยขอไว้แต่ติดแค่ส่วนของกระทรวงการคลัง แต่วันนี้ธปท.สามารถเป็นผู้ตัดสินใจได้ก็เลยเอาเข้ามาใหม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเรื่องเดิมก็เคยได้ผ่านความเห็นชอบจากธปท.ไปแล้วและยืนยันว่าการปรับโครงการสร้างนี้ไม่ได้มีเหตุผลเพราะเรื่องพันธมิตรเป็นหลัก แต่มาจากต้องการให้ธุรกิจมีความชัดเจนในแต่ละประเภทและความคล่องตัวสูงสุด ส่วนกระบวนการในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นทั้งหมด ทั้งการแลกหุ้นและการซื้อเงินลงทุนของบริษัทย่อยของธนาคารทิสโก้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจะเสร็จสิ้น และคาดว่าบริษัทโฮลดิ้งจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ประมาณเดือน ต.ค.นี้" นายปลิว กล่าว
ไม่ปิดประตูหาพันธมิตร
นายปลิว กล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเข้ามาในขณะนี้ และยังไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน โดยคาดว่าใน 3 ปีนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเข้ามา แต่ธนาคารก็มีการมองหาพันธมิตรที่มีรูปแบบธุรกิจที่จะสามารถเข้ามาเสริมธุรกิจของธนาคารให้มีประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไร ให้มีการเติบโตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งธนาคารเองก็มีความสนใจที่จะซื้อหุ้นของธนาคารอื่นที่มีขนาดของสินทรัพย์ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยได้มีการพิจารณาอยู่โดยตลอดไม่ได้ปิดกั้น
"ขนาดแบงก์เรามีแค่ 100,000 ล้านบาทหากจะให้ไปซื้อแบงก์ที่มีขนาด 500,000 ล้านบาทก็คงเกินตัวไป และสิ่งที่เราจะพิจารณาก็คือรูปแบบของการเข้าซื้อที่จะต้องช่วยให้เราเติบโตได้ มีสาขาที่มากพอในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากช่วงใน 3 ปีมีข้อเสนอที่ดีมาก ๆ ก็อาจมีปรับเปลี่ยนได้ "
|
|
|
|
|