ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยกำไรบจ.งวดปี 50 วูบเกือบ 5 หมื่นล้าน หรือ 10% สวนทางยอดขายโตทะลุ 6 ล้านล้านบาท ปตท. ยังนำโด่งกำไรแตะแสนล้าน ตามมาด้วยปูนใหญ่กำไรกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรแบงก์ทรุดกว่า 90% หลังต้องตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อยหน้ากำไรหายวับ 43%
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 526 บริษัท หรือ 97% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 541 บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 16 กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 โดยมีกำไรรวม 422,154 ล้านบาท ลดลง 48,378 ล้านบาท หรือ 10%
ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้มีกำไรสุทธิลดลงจากปี 2549 ประมาณ 4% ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนโดยรวม (SET และ mai) สามารถทำยอดขายได้ 6,089,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2549 ที่มียอดขายรวม 5,582,039 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรลดลงเนื่องจากในปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ให$ 17;่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS39) ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี รวมถึง กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ลดลงจากเดิม
ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 343,564 ล้านบาท คิด 81% ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (422,154 ล้านบาท) ลดลง 5% ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 11% ขณะที่บริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 377,659 ล้านบาท คิดเป็น 89% ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (422,154 ล้านบาท) ลดลง 9% เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 11%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มเทคโนโลยีมีกำไรสุทธิ 38,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, กลุ่มทรัพยากร มีกำไรสุทธิ 207,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิ 34,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.34% โดยบริษัทที่มีกำไรสูงสุด 5 บริษัท คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP, ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และบมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP
นางภัทรียา กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำส่งงบการเงิน ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (NC) และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (NPG) รวม 458 บริษัท มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม โดยมีกำไรสุทธิ 425,332 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไรสุทธิ 207,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น13,967 ล้านบาท หรือ 7%
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 69,397 ล้านบาท ลดลง 12,904 ล้านบาท หรือ 16%, กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไรสุทธิ 40,774 ล้านบาท ลดลง 18%
กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 38,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,307 ล้านบาท หรือ 28%, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 34,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.34% และกลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิ 18,292 ล้านบาท ลดลง 71%
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 5,507 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 เท่ากับ 46,924 ล้านบาท หรือลดลง 90% โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) ขณะที่บริษัทในหมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 18 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 2,522 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% ด้านบริษัทประกันภัย 17 แห่งและประกันชีวิต 1 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 4,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%
ส่วนของกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิรวม 10,074 ล้านบาท ลดลง 19% และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย หมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 6,902 ล้านบาท ลดลง 558 ล้านบาท หรือ 7%
|