Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน4 มีนาคม 2551
อินไซด์ 30% ฟันกำไรบาทเลี้ยบขออุ้มธาริษา 3 เดือน             
 


   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
Currency Exchange Rates




"หมอเลี๊ยบ" ขึงขังยังไม่ปลด "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ ยันยังเข้าขากันดี ปัดตอบ "ธีระชัย" เหมาะสมกว่า "ธาริษา" แบงก์ชาติหวัง พ.ร.บ.ธปท.ช่วยคุมบาทได้ผลดีขึ้น ขณะที่บาทวานนี้ถูกแทรกแซงจนอ่อนค่าที่ 31.60 เอกชนจวกยับเลิก 30% ไร้มาตรการควบคุม เชื่อมีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) รวยค่าเงิน เหตุ 7 วัน บาทแข็งค่า 5% แถมออกมาตรการทีหลัง-ไร้ผล ให้เวลา 1 สัปดาห์หากบาทยังแข็งกว่าภูมิภาค รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการและต้องเป็นยาแรง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดปลดนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตามการที่จะบอกว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คงบอกไม่ได้ แต่ขอเรียนว่าในระยะเวลาช่วงประมาณ 3-4 เดือนนี้ จะมีงานที่จะต้องประสานกันเรื่องการเงินการคลัง ตนยังมีความมั่นใจว่าการทำงานกับผู้ว่าฯธปท. สามารถทำได้ในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่มีเหตุใดๆ

"ในช่วงที่ผ่านมาตลอด 2 สัปดาห์ ภายหลังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าฯ ธปท.ในเรื่องมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ท่านผู้ว่าฯ ธปท.และผมเองมีแนวคิดแบบเดียวกันคือว่า ได้เวลาแล้วที่จะต้องมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับเมื่อมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง ดังนั้นการทำงานก็เป็นไปในรูปแบบที่มีการประสานสอดคล้องระหว่างนโยบายทางด้านการเงินและการคลัง จึงไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีการปลดผู้ว่าฯ ธปท.ในขณะนี้เลย" นพ.สุรพงษ์กล่าว

ส่วนกระแสข่าวนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะได้เข้านั่งในตำแหน่งดังกล่าว นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การคาดการณ์ว่าจะมีใครเข้าไปทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ธปท. เป็นเพียงการคาดการณ์จากผู้ที่อยู่วงนอก ซึ่งอาจจะผิดจากข้อมูลที่ตนมีอยู่ และการตัดสินใจว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็เป็นอำนาจของ รมว.คลัง ที่จะต้องเสนอต่อ ครม. ดังนั้นผู้ที่คาดการณ์อาจจะคาดการณ์ได้โดยที่ไม่สามารถกดดันใครได้ แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของ รมว.คลัง

เมื่อถามว่า หากผู้ที่ต้องการนั่งในตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.แทนนางธาริษา แสดงว่าเตรียมวืดได้เลยใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการดำรงตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นความต้องการการก้าวหน้าของทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องพิสูจน์ด้วยฝีมือในการทำงาน และขณะเดียวกัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เมื่อทำงานมีประสิทธิภาพสามารถที่จะทำให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าไปได้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดการหวั่นไหว และเป็นปัญหาในการทำงาน

เมื่อถามว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าฯธปท.จำเป็นต้องส่งสัญญาณก่อนหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งใดๆ ส่วนใหญ่จะมีที่มาที่ไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพหรือเรื่องการถูกกล่าวหา มันจะมีข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งมาถึงผู้บังคับบัญชาก่อนหน้านี้ จึงไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจใด ๆ จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ขอเรียนว่าในหลาย ๆ ส่วนที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่มีการประเมินผลการทำงานหรือการถูกกล่าวหาไว้ก่อนทั้งสิ้น

นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่า ไม่เคยถูกกดดันและก็ไม่มีใครสามารถกดดันได้ การที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต้องเกิดขึ้นจากการที่การทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชามีปัญหาจริง ๆ ตนเองมีความประสงค์ให้การทำงานร่วมกันระหว่างตนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ถ้าหากการทำงานมีปัญหาน่าจะขบคิดร่วมกันแก้ปัญหาก่อนเมื่อแก้ไม่ได้จริงๆ จึงจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล วันนี้ยังไม่เจอปัญหาในลักษณะที่ว่าการทำงานไม่สามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้

นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า ไม่มีการหารือมาตรการ 30% กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ตั้งใจไว้ว่า จะยังไม่ไปพบ และไม่นำเรื่องนี้ไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะว่าหากนำไปหารือเกรงว่าจะกลายไปเป็นประเด็นการเมือง และจะกลายไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รู้ข้อมูล คงรอให้ผลของมาตราการ 30% ยกเลิกชัดเจนก่อนก็จะเข้าพบ

“ผมไม่ได้ไปพบหรือคุยทางโทรศัพท์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนี้เลย ให้เข้าเครื่องจับเท็จก็ได้” รมว.คลังกล่าวและว่า การขอคำปรึกษาจากพ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการขอให้เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เชื่อว่าหากพ.ต.ท.ทักษิณ จะให้คำปรึกษาอาจจะเป็นการแนะนำ เช่น การเขียนบทความลงในเวปไซต์ เป็นต้น โดยตนอาจจะนำความเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งมาประกอบการตัดสินใจหรือปรับใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากนักวิชาการ หรือข้อมูลจากตลาดทุน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ดี หรืออาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ธปท.เผยภาวะบาทหลังล้ม 30 %

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินทุนสำรองระยะสั้น ปรากฏว่าวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันขยับตัวอยู่ที่ระดับ 50-60 สตางค์ หลังยกเลิกมาตรการแล้ว ซึ่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีทั้งซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มสมดุลมากขึ้น และหากพิจารณาค่าเงินบาทระหว่างเงินบาทในประเทศ(ออน-ชอร์)และตลาดเงินบาทในต่างประเทศ(ออฟ-ชอร์)เริ่มเข้าหากันแล้ว ซึ่งห่างกันเพียง 52-55 สตางค์เท่านั้น

ขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ได้รับจากพันธบัตรลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อประกาศยกเลิกมาตรการนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ช่วยสนับสนุนให้กระทรวงการคลังและภาคเอกชนสามารถออกตราสารหนี้ระดมทุนได้โดยไม่ต้องรอให้ธปท.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ประกอบกับคลังออกมาตรการเสริมมาช่วยสนับสนุนหลังจากยกเลิกมาตรการนี้แล้ว เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนให้มีมากขึ้น

ลุ้น พ.ร.บ.ช่วยแบงก์ชาติคุมบาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พ.ร.บ.ธปท.ได้มีการลงนามราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีบังคับใช้ในวันนี้ (4 มี.ค.) โดยเชื่อว่ากฎหมายการเงินฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธปท.และคลังสามารถมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องและการดูแลค่าเงินบาทที่ดีขึ้น โดยธปท.สามารถรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์และจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในแง่การดูแลสภาพคล่องโดยไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรและกระทบผลตอบแทนพันธบัตรด้วย รวมทั้งไม่ต้องขอวงเงินออกพันธบัตรจากกระทรวงการคลัง ซึ่งส่วนนี้เมื่อมีข่าวออกมากระทบใดๆ พร้อมทั้งส่งผลให้ต่อไปธปท.มีความอิสระในการใช้เครื่องมือด้วยจากการลงทุนที่มีขอบเขตกว้างขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) ธปท.มีการเชิญเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 14.00-16.30 น. ประมาณ 200 คน โดยนางสุชาดา กล่าวว่าในการเชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์มา เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงเหตุผล รวมถึงการปฏิบัติต่างๆ หลังจากยกเลิกมาตรการนี้ โดยพบว่ามีเงินทุนไหลเข้าทั้งสิ้น 1,200 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนนี้โดนกั้นสำรอง30% คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 300-400 ล้านเหรียญ ซึ่งธปท.จะมีการคืนเงินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่วิธีป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedge) มีวงเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งอายุสัญญาสูงสุดจะมีอายุถึงปี 52 และส่วนใหญ่จะทยอยขอเงินคืน จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวเงินบาท ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอรับเงินคืนจากการกันสำรองและวิธีป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวนจะขอผ่านธนาคารพาณิชย์มายัง ธปท. ซึ่งธปท.จะพิจารณาภายใน 15 วัน

สำหรับประเด็นที่ ธปท.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ละเว้นการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ เพื่อบริหารฐานะเงินตราต่างประเทศในลักษณะการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อให้ค่าเงินบาทผันผวนจนเกินไป และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาครัฐที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรการดังกล่าวนั้น นางสุชาดา กล่าวว่า ยืนยันว่าการออกประกาศฉบับนี้ไม่ได้ออกมา เพราะพบว่ามีธนาคารพาณิชย์รายใดทำธุรกรรมในลักษณะการเก็งกำไรของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด แต่เพราะเห็นว่าเป็นช่วงปรับเปลี่ยนอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าออกอาจมีทั้งซื้อและขาย ธปท.จึงออกประกาศนี้ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันมีความสมูทมากขึ้น

แบงก์ยิ้มไม่กระทบลูกค้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % ของ ธปท.นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าผู้ส่งออกของธนาคารแต่อย่างใดเนื่องจากลูกค้าได้ทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าแลกกับเงินบาท (ฟอร์เวิร์ด) ไว้แล้ว แม้ว่าค่าเงินวานนี้ (3 มี.ค.) จะยังคงแกว่งตัวอยู่ แต่เชื่อว่าจะใช้เวลา 1-2 วันจะเริ่มทรงตัว ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ นั้นน่าจะดีขึ้นเนื่องจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับมาตรการกันสำรอง 30%

ด้าน นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ รองกรรมการผู้จัดการ สายบริหารเงิน ธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ ACL กล่าวว่า การยกเลิกมาตการดังกล่าวนั้นไม่ได้ส่งผลกับลูกค้ามากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งค่าเงินที่ยังแกว่งตัวจะเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวในอีกระยะ และมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวลงได้อีกเล็กน้อย

ธปท.แทรกแซงบาทอ่อนค่าที่ 31.60

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า วานนี้ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.60-31.62 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาด 31.50-31.52 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าสุดวันนี้อยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.68 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง ธปท.ได้เข้ามาแทรกแซง ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทวันนี้ (4 มี.ค.) จะยังคงผันผวน เนื่องจากยังมีธุรกรรมซื้อขายบาทเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังคงรอมาตรการที่ชัดเจนของ ธปท.ที่จะออกมาเพิ่มเติม

เอกชนจวกยับ-แนะควบคุมเก็งกำไร

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย ส.อ.ท.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย หรือกกร.เปิดเผยหลังการหารือ วานนี้ (3 มี.ค.) ว่า กกร.ได้หารือถึงผลกระทบของมาตรการยกเลิกกันสำรอง 30% ของ ธปท.ที่มีผลวันที่ 3 มี.ค.ว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเกรงว่าการยกเลิกจะมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมาตรการที่รัฐออกมานั้นคงไม่สามารถดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้ โดยเฉพาะส่วนที่จะเข้ามาเก็งกำไร ดังนั้นจึงขอติดตามภาวะค่าเงินบาทอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนว่าจะออกมาในลักษณะใดซึ่งหากเห็นว่าการยกเลิก 30% ไม่สามารถดูแลความผันผวนของค่าบาทให้สะท้อนตามภูมิภาคได้เอกชนคงจะประชุมด่วนเพื่อเสนอให้รัฐควรทบทวนมาตรการหรือหามาตรการมาดูแลที่เป็นยาแรง

“มาตรการ 30 % เมื่อออกมายอมรับว่าทำให้ค่าเงินบาทของไทยผันผวนลดลงระดับหนึ่ง โดยปี 2550 เฉลี่ยบาทแข็งค่าขึ้นมา 7-8% แต่พอรัฐบอกจะยกเลิก 30% บาทแข็งค่าทันทีสัปดาห์เดียว 5% แล้ว เอกชนมองว่าถ้ามีเงินเข้ามาเก็งกำไรจะยิ่งทำให้บาทแข็งและผันผวนเพราะดอกเบี้ยของไทยเองก็ยังไม่ได้ลดลงซึ่งที่หารือกันผู้ส่งออกไม่ได้ต้องการให้บาทคงที่แต่ทำอย่างไรไม่ให้ผันผวนและแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน”นายสันติ กล่าว

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือที่อิงประโยชน์ทุกฝ่ายมิใช่เฉพาะเพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้นและสิ่งที่เอกชนเรียกร้องปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าไม่ใช่การตรึงค่าเงินบาทไว้ให้คงที่แต่ขอให้สะท้อนภูมิภาคซึ่งสิ่งที่เรียกร้องคือการแข็งค่าขึ้นนั้นเกิดจากการเก็งกำไร รัฐบาลควรจะมีมาตรการจัดการซึ่งภาครัฐก็ทราบข้อมูลอยู่แล้วเพราะส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่การซื้อขายตลาดพันธบัตร ขณะที่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการยกเว้นมาตรการ 30% อยู่แล้ว

“เมื่อมีข่าวจะยกเลิกก็มีการขายดอลล์ทำกำไรอย่างรวดเร็วทำให้ค่าเงินขณะนี้แข็งขึ้นมากอีก เรายังไม่เห็นว่าจะมีมาตรการใดมาทดแทนหลังการยกเลิกเพราะมาตรการที่ออกมารองรับนั้นมีข้อจำกัดที่ควรจะเป็นมาตรการระยะกลางและยาวมากกว่าจะเป็นระยะสั้นที่จะมาดูแลความผันผวนได้ ดังนั้นระยะสั้นนี้หากการยกเลิกไม่ได้ดูแลความผันผวนได้ควรจะรีบทบทวน”นายธวัชชัย กล่าว

สัปดาห์เดียวบาทแข็งค่า 5 %

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนไม่ได้ต้องการว่าจะให้บาทอยู่ที่เท่าใดขอเพียงอย่าให้แข็งไปกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า 2 ปีที่ผ่านมาบาทไทยแข็งไประดับ 18% ขณะที่อาเซียนแข็งไปเพียง 9% เท่ากับเราเสียเปรียบเขาครึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อธปท.ออกมาตรการ 30% ปัญหาเริ่มดีขึ้นแต่เมื่อยกเลิกสัปดาห์เดียวบาทแข็งไปถึง 5% เท่ากับผู้ส่งออกขายสินค้า 100 บาทขาดทุนไปทันที 5 บาทแล้วคิดถึงส่งออกภาพรวมจะสูญเสียมากมายขนาดไหน

“ผู้ผลิตหยุดไม่ได้นะวันนี้อย่างออร์เดอร์ที่รับมาคิดว่า 1 เหรียญเราจะได้รับ 33 บาทก็ได้แค่ 31 บาทกว่าๆ เราหายไป 5% คิดดู 100 ล้านบาทเราหายไป 5 ล้านบาทแล้ว ออร์เดอร์ที่จะคุยใหม่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรคุณคิดดูว่าถ้าเราขอขึ้นราคาเขาบอกว่าบาทเราแข็งเขาง้อหรือวันนี้คู่แข่งมีมากมายที่จะขายต่ำกว่าเราผู้ผลิตส่งออกก็ต้องขายเท่าเดิมทั้งที่เริ่มขาดทุนแล้วจะมากน้อยก็ว่ากันไปแต่ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้หนักเข้าไม่ต้องบอกนะว่าจะเป็นยังไง”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เชื่อรีบเลิก 30 % มีอินไซเดอร์

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กกร. กล่าวว่า มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตของการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ว่าเหตุใด ธปท.จึงประกาศยกเลิกก่อนทั้งที่มาตรการที่ออกมารองรับเหล่านั้นเป็นมาตรการเก่าที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีการหารือกับ ธปท.อย่างไม่เป็นทางการของ กกร.ก่อนหน้านี้ ธปท.ระบุให้เอกชนคอยติดตามมาตรการที่จะออกมาดูแลความผันผวนที่จะมีเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 4 มี.ค. จึงเห็นว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมธปท.จึงไม่ประกาศมาตรการรองรับก่อนแล้วค่อยยกเลิก 30%

“เราเห็นว่าธปท.คงจะต้องใช้เงินในการดูแลค่าเงินบาทขณะนี้มากกว่าที่ผ่านมาแน่นอนเมื่อยกเลิก 30% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด”แหล่งข่าว กล่าวและว่า หากสังเกตพฤติกรรมผู้บริหาร ธปท.และกระทรวงการคลังที่ยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกมาตรการ 30% ในช่วงนี้ กับการแข็งค่า 5% ภายใน 1 สัปดาห์ แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) ไปใช้ในการเก็งกำไรค่าเงินบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้ กกร.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเข้าพบโดยจะมีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเสนอรวมไปถึงปัญหาค่าเงินบาทโดยจะขอดูความชัดเจนของทิศทางอีกครั้งหนึ่ง ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น ความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดหาพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ฯลฯ

ตลท.จี้ ธปท.คุมเงินบาทให้นิ่ง

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่คนในวงการตลาดทุนยอมรับ ซึ่งหลังจากนี้การดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพขึ้นอยู่กับนโยบายของ ธปท.ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการรองรับในเรื่องการอนุมัติวงเงินเพิ่มทุนให้นักลงทุนสามารถไปลงทุนยังต่างประเทศได้มากขึ้นรวมถึงอำนวยความสะดวกให้ขออนุมัติผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แทนการขออนุมัติจาก ธปท.ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยในระยะสั้นหลังการออกมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนจะเข้าสู่จุดสมดุลในท้ายที่สุด

"ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้นหลังการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ต่อจากนี้คงต้องดูนโยบายของแบงก์ชาติว่าจะดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้อย่างไร โดยช่วงแรกค่าเงินคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนจะเข้าสู่จุดสมดุล" นายปกรณ์ กล่าว

เลิก 30% ส่งผลดีอสังหาฯ ระยะยาว

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม โซเคอิ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มสหพัฒน์ฯ กับนักลงทุนญี่ปุ่น กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการ 30% ว่า ในระยะยาวจะส่งผลดีให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา ส่วนในระยะแรกไม่น่าจะมีผลชัดเจนต่อการเคลื่อนย้ายของเงินจากนอกประเทศ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม การยกเลิก 30% จะทำให้ลูกค้าต่างชาติรายย่อยตัดสินซื้อที่อยู่อาศัยนั้น คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 หรือประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีเป็นต้นไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us