|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วงการตลาดทุนไทย สะท้อนความเห็นหลังแบงก์ชาติยอมยกเลิกสัญลักษณ์ปิดประเทศมาตรการกันสำรอง 30% นายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างชาติ เตือนการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้น แม้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ ด้าน "เศรษฐพุฒิ" ย้ำชัดปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่การดุลบัญชีเดินสะพัด เตือนสติแก้ปัญหาให้ตรงจุด โบรกเกอร์คาดหุ้นพร้อมปรับขึ้น "บล.ไทยพาณิชย์" คาดเดือนนี้ดัชนีมีโอกาสเหนือ 900 จุด ขณะที่นักวิชาการนิด้า คาดค่าเงินมีโอกาสแข็งค่าแตะ 30 บาทต่อดอลลาร์ หลังอัตราออฟชอร์-ออนชอร์วิ่งเข้าหากัน
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ได้สร้างคำถามมากมายต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวสร้างความสับสนต่อท่าทีถึงการเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าล่าสุด ธปท. จะประกาศยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันนี้ (3 มีนาคม) ยังสร้างความไม่แน่ใจต่อผู้คนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงตลาดทุน เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อมาตรการรองรับที่อาจจะถูกนำมาใช้เพิ่มเติมหลังจากนี้
"ผู้จัดการรายวัน" ได้รวบรวมมุมมองจากหลายฝ่ายในภาคตลาดทุนต่อความเชื่อมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่ยังลงทุนอยู่ในตลาดทุนไทย รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์หน้า ตลอดจนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2551
ขณะที่ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกยังไม่คลายความกังวล คือ ปัญหาด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ยังสร้างผลกระทบในเชิงกว้างล่าสุดส่งผลทำให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนจนทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมากกว่า 300 จุด ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 24 นับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่ดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่า 300 จุดในวันเดียว
มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวถึง ผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยหลังการประกาศยกเลิกมาตรการกัน 30% ว่า ตลาดหุ้นน่าจะตอบรับกับเรื่องดังกล่าวในเชิงบวก แต่การเคลื่อนไหวอาจจะไม่หวือหวามากนัก เพราะเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 858 จุด เนื่องจากสัญญาณของการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่การออกพันธบัตรรัฐบาลที่จะระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการสาธาณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น
"แม้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น แต่ต้องระวังเงินที่จะเข้ามาจะเข้ามาเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น อาจจะแข็งค่าไปแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในสภาวะถดถอย" มล.ทองมกุฎกล่าว
แนะลงทุนลดตัวเกินดุลฯ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการ 30% เป็นสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินบาทสะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น หลังจากที่การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวถือเป็นผลลบในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งมาตรการกันสำรองดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างที่ธปท. ต้องการ
สำหรับมาตรการที่ทางการจะนำมาใช้เพิ่มเติมนั้น เชื่อว่าคงแก้ปัญหาการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงของการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก การแก้ปัญหาการแข็งค่าเงินบาทจึงต้องแก้ไขจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะการเร่งลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดตัวเลขการเกินดุลให้ลดลง
เปิดประตูตอนรับการลงทุน
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล. เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวจะส่งผลดีต่อจิตวิทยาในการลงทุน เนื่องจากทำให้การไหลเข้าออกของเงินจากต่างประเทศทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนค่าเงินบาทหลังการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวคงมีการแข็งค่าขึ้นแต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงการแข็งค่าในระยะสั้นเพื่อปรับฐานก่อนจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลเอง
"การยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องดี เป็นเสมือนการเปิดประเทศเพื่อรับการเข้ามาลงทุนอีกครั้ง เพราะในต่างประเทศที่ไม่มีการจำกัดการไหลออกของเงินแบบนี้ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท" นายก้องเกียรติ กล่าว
โบรกฯเชื่อตลาดหุ้นตอบรับ
นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้น่าจะปรับตัวเพิ่มได้ไปแตะระดับแนวต้านที่ 850-860 จุด ก่อนจะไต่ระดับขึ้นไปแตะ 890 จุดในช่วงเดือนมีนาคม รวมทั้งหากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยจากต่างประเทศมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวทะลุ 900 จุดไปที่ 925 จุด
นอกเหนือจากตอบรับการยกเลิกมาตรการ 30% แล้วนั้นยังเป็นผลตอบรับจากการดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่ค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีข่าวเกี่ยวกับการปลดและโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายหน่วยงานออกมาบ้าง ขณะที่สิ่งที่จะต้องติดตามในช่วงสัปดาห์นี้คือ การพิจารณาเรื่องการต่ออายุมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และการพิจารณาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของคณะรัฐมนตรี
นายฉัตรชัย กิจธิคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บล.สินเอเซีย กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีในสัปดาห์นี้ คาดว่าดัชนีจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ จากปัจจัยสนับสนุนจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ทั้งนี้ต้องรอดูทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศประกอบกันด้วย โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 840 จุด แนวต้าน 860 จุด
นักวิชาการแนะปล่อยตามกลไก
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลดีต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าดัชนีราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวในช่วง 2-3 วันแรกของการซื้อขายในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการยกเลิกมาตรการดังกล่าวมีผลในเชิงจิตวิทยาทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติต้องการโยกย้ายเงินลงทุนมายังภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการถดถอยของเศรษฐกิจอยู่แล้วจึงส่งผลให้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ทำให้เม็ดเงินลงทุนต้องแสวงหาที่ซึ่งให้ผลตอบแทนได้ดีและมีความปลอดภัยกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นหรือP/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
"ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E Ratio อยู่ที่ 10-12 เท่า ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเทียบกับยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่จะอยู่ในราว 20 เท่า ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ส่วน P/E Ratio ของตลาดหุ้นเวียดนาม สูงถึง 80 เท่า เช่นเดียวกับจีนที่ค่า P/E Ratio สูงถึง 40 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจึงถือว่าได้เปรียบเพราะสะท้อนให้เห็นถึงราคาหุ้นที่ยังต่ำอยู่มาก ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีโอกาสในการทำกำไรที่สูงในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น" นายมนตรีกล่าว
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา กล่าวอีกว่า นอกจากผลดีกับตลาดหุ้นไทยแล้วจะส่งผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยน 2 อัตราซ้อนกันอยู่ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในประเทศหรือออนชอร์ (onshore) และอัตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในต่างประเทศหรือออฟชอร์ (offshore) ซึ่งเกิดช่องว่างระหว่างสองอัตราห่างกันถึง 10%
หลังจากยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เนื่องจากความต้องการเงินบาทจะเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทางการควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะจะเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจน
|
|
|
|
|