Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"เปิดปูมแบงก์ฉาวโฉ่ระดับโลก 2 บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเกิดและล่มสลายของบีซีซีไอ"             
 


   
search resources

แบงก์ ออฟ เครดิต แอนด์ คอมเมิร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล - บีซีซีไอ
เกธ พาราออน
อกา ฮาซัน อเบดี
Banking and Finance




ลองนึกภาพธนาคารที่สามารถจะให้เงินกู้คุณเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ โดยไม่เรียกร้องให้ต้องจ่ายคืนนั่นก็คือ "แบงก์ ออฟ เครดิต แอนด์ คอมเมิร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล(บีซีซีไอ)" ธนาคารที่ถือเป็นโครงการระดับโลกอันมีเป้าหมายหนึ่งเดียว คือเพื่อทำให้เจ้าของธนาคารร่ำรวยอย่างมหาศาล สัมพันธภาพระหว่างชาย 2 คนคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ปริศนาทั้งปวด อกา ฮาซัน อเบดี ผู้ฝันเฟื่องและสร้างวิมานในอากาศ และเกธ พาราออนบุคคลออกหน้าผู้ห้าวหาญ แผนการของทั้งสองดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเป็นเวลาถึง 18 ปี จนกระทั่งบีซีซีไอถึงกาลล่มสลาย

จุดเริ่มต้น

ชุมชนจอร์เจียในริชมอนด์ ฮิลล์ต้องประหลาดใจเป็นอันมากกับผู้มาตั้งรกรากใหม่ "เกธ พาราออน" ผู้เริ่มเข้ามาเมื่อปี 1981 ทั้ง ๆ ที่ริชมอนด์ ฮิลล์นั้นน่าจะเรียกว่าเป็นเพียงทางแยกมากกว่าเมือง ตามสองข้างทางเรียงรายไปด้วยบ้านหลังย่อม ๆ มีโบสถ์เรือนไม้หลังสีขาว 2 หลัง ร้านรวงต่าง ๆ สถานีดับเพลิง และสถานีตำรวจ สิ่งที่เป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าเมืองนี้เป็นเมือง "เฮนรี่ ฟอร์ด"

ริชมอนด์ ฮิลล์ มั่งคั่งทางวัตถุขึ้นได้ก็ด้วยเจ้าของธุรกิจรถยนต์ยักษ์ใหญ่ผู้นี้ ที่นี่จึงมีคลีนิกรักษาโรค โรงเรียนสำหรับเด็กขาวและเด็กดำ (แต่แน่นอนว่าต้องแยกกัน) ศูนย์กลางชุมชน โรงเรียนฝึกทักษะทางการค้าที่ฟอร์ดสร้างขึ้นเอง โครงการการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ และถึงแม้ว่าฟอร์ดจะให้การสนับสนุนองค์กรทางศาสนาไม่มากนัก แต่เขาก็ได้สร้างโบสถ์ขึ้นมาด้วย

ฟอร์ดยังได้สร้างโรงเลื่อยสำหรับป้อนไม้ให้แก่โรงงานของเขาเอง มีห้องทดลองค้นคว้าของตนเองซึ่งตั้งอยู่ที่โรงสีเก่าแก่แห่งหนึ่ง และต่อมาภายหลังห้องทดลองที่ว่าก็ได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของอาณาจักรระดับโลกของเกธ พาราออน

เฮนรี่ ฟอร์ดได้ทำให้ริชมอนด์ ฮิลล์กลายมาเป็นเมืองที่น่าภาคภูมิใจแห่งหนึ่งและเมืองดังกล่าวก็ไม่เคยถอยหลังกลับไปสู่ความกันดารอีก เนื่องจากมักจะมีผู้เข้ามาให้การอุปถัมภ์ต่อ อันเป็นการธำรงตำนานแห่งยุคฟอร์ดเอาไว้

ภายหลังจากที่ฟอร์ดเสียชีวิตลง เศรษฐีรายใหม่ที่เข้ามาอุ้มชูเมืองก็คือคนหน้าใหม่ "เกธ พาราออน" นี่เอง เขาอ้างตัวว่าเป็นผู้มาทำหน้าที่แทนฟอร์ด และเริ่มสร้างชื่อเสียงให้ระบือไกล ด้วยการเผยโฉมความมั่งมีอย่างล้นเหลือของตน

ชาวเมืองริชมอนด์ ฮิลล์ไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับชายผู้นี้ นอกจากว่าเขาเป็นคนอาหรับและเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี รัฐจอร์เจียก็เป็นรัฐที่เน้นการแสดงออกมากกว่าคำพูดอยู่แล้ว และเมื่อพาราออนได้พยายามแสดงความประทับใจให้แก่ชาวเมือง ด้วยการแปรเปลี่ยนเมืองที่เงียบ เรียบง่าย ให้กลายเป็นเมืองแห่งความโอ่โถง หรูหราอย่างน่าตระหนก นั่น จึงเป็นสิ่งที่บอกขานความเป็นตัวเขาได้เป็นอย่างดี

ที่พำนักของพาราออนก็คือคฤหาสถ์เก่าและที่ดินของฟอร์ดนั่นเอง แทบทุกคนได้เห็นว่า กระจก 500 บาทของคฤหาสถ์ถูกเปลี่ยนเป็นประจกใสวิจิตรพื้นระเบียงปูหินอ่อนไปจนถึงประตูหน้า พาราออนยังได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ปูพื้นด้วยกระเบื้องสีดำสนิทเพื่อสามารถสะท้อนให้เห็นท้องฟ้าใสกระจ่าย เขาแต่งสวนด้วยน้ำพุและรูปปั้นหินอ่อนขนาดเท่าตัวคนมีคอกม้าสำหรับม้าอาหรับของเขาเอง และลูกม้าอาเจนต์ติเนียน ส่วนริมฝั่งแม่น้ำข้างเรือนคฤหาสถ์ทำเป็นที่จอดเรือยอร์ชขนาดใหญ่หลายต่อหลายลำของพาราออน

แม้ว่าชาวริชมอนด์ ฮิลล์จะไม่เคยเล่นกอล์ฟหรือแม้แต่พาราออนเองก็ตาม ทว่าเขาก็ได้สร้างสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนตัวไว้สำหรับต้อนรับแขกผู้มั่งคั่งและมีชื่อเสียง และเมื่อมีกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาเยี่ยมเยือน พาราออนก็ส่งรถลีมูซินคันใหญ่ไปรับที่สนามบินในเซาท์ แคโรไลน่าเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ริชมอนด์ ฮิลล์ก็ไม่เคยได้รับประโยชน์อันใดจากยุคของพาราออน เว้นแต่ที่ดินเพียงไม่กี่เอเคอร์ที่เขาสร้างศูนย์กลางชุมชน และต่อมาจึงมีชาวผิวดำที่ชื่อ "ดุ๊ค" มาบริจาคเงินสร้างสถานีตำรวจให้ ตำนานแห่งริชมอนด์ ฮิลล์เล่าขานแต่ว่าอาณาจักรของฟอร์ดกลายเป็น "เขตหวงห้ามของพาราออน" ซึ่งพวกเขานำเงินมหาศาลเหล่านี้มาจากไหนกัน?

คำตอบก็คือ เขาเปล่าเพราะอาณาจักรมูลค่าประมาณ 23 ล้านดอลลาร์ที่ริชมอนด์ ฮิลล์นั้น แท้จริงแล้วได้มาจากเงินกู้ที่มีเงินฝากของลูกค้าจำนวนมากของบีซีซีไอค้ำอยู่ ริชมอนด์ ฮิลล์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อค้ำจุนความน่าเชื่อถือของบีซีซีไอแหล่งดูดซับเงินทุนมหาศาลจากลูกค้าที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

เบื้องหลังบุคคลหน้าฉาก

เกธ พาราออนเนั้นเป็นคนสำคัญที่สุดคนแรก ซึ่งถือเป็น "บุคคลหน้าฉาก" ของบีซีซีไอมิพักต้องพูดถึงข่าวลือที่ไร้สาระอย่างที่สุดที่ว่า เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านชาวซาอุฯ หรือที่ว่าเขามีกิจการของตนเองหลายต่อหลายแห่ง รวมไปถึงกิจการธนาคาร แต่พาราออนก็ได้กว้านซื้อบ้านหลายต่อหลายหลังทั่วโลก เรือแพง ๆ และเครื่องบินส่วนตัวแม้ว่าเขาจะไม่เคยทำตัวเสเพล แต่ก็มีภริยาถึง 2 คน แต่อ้างเสมอว่ายังเป็นโสด

เรื่องราวอันฉาวโฉ่ที่จะกลายเป็นตำนานไม่รู้สิ้นนี้เริ่มต้นเมื่อเกธ พาราออนพบกับ อกา ฮาซัน อเบดี ผู้ก่อตั้งบีซีซีไอ อเบดีเป็นคนแรกที่จัดหาเงินทุนให้แก่พาราออน และตัวพาราออนเองก็ไม่เคยเอ่ยปากถามถึงที่มาของเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ที่ธนาคารครอบครองอยู่ ในทางกลับกัน บีซีซีไอก็สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยพาราออน ผู้คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เพื่อช่วยให้บีซีซีไอสามารถกระทำการหลายต่อหลายอย่างที่ธนาคารที่ถูกกฎหมายทั่วไปไม่อาจทำได้ กล่าวได้ว่า หากปราศจากพาราออนหรือคนอย่างเขาแล้ว บีซีซีไอก็เกิดขึ้นไม่ได้

ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างอเบดีและพาราออน และเข้าใจว่าสัมพันธภาพที่ว่านี้ให้ดอกออกผลอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะไขปัญหาไปสู่การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของบีซีซีไอ เพราะสิ่งนี้จะให้คำตอบ 2 ประการต่อคำถามเร่งด่วนที่ว่า พวกเขาหลบเลี่ยงเงื้อมือของกฎหมายไปได้อย่างไร? และพวกเขาเอาเงินมาจากไหน ? ซึ่งส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่านี้ก็คือ "เกธ พาราออน" นั่นเอง

พาราออนนั้นโชคดีที่ได้รับการเกื้อหนุนจากอับดุล อาซิส ผู้ก่อตั้งซาอุดิอาระเบียยุคใหม่เนื่องจากอับดุล อาซิสไว้วางใจ ดร. ราชิดพาราออน พ่อของเกธ ผู้เปรียบเสมือนแพทย์ประจำตัว ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาของอับดุลในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ดร. ราชิดยังได้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสในเชิงนโยบายของบรรดาขุนนางแห่งซาอุฯ เขาจึงร่ำรวยพอที่จะส่งบุตรชายคนเดียวไปร่ำเรียนในฝรั่งเศส, เลบานอน, สวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ จนจบการศึกษาระดับเอ็มบีเอที่ฮาร์วาร์ด

โชคดีครั้งที่ 2 ของพาราออนก็เมื่อเขากลับมาจากซาอุฯ เมื่อปี 1966 อันเป็นช่วงเวลาที่อเบดีกำลังร่ำรวยจากขุมน้ำมัน, การค้าขายและการผูกสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ ๆ

ในสายตาของอเบดีแล้ว บีซีซีไอมิได้เป็นอะไรมากไปกว่าความคิดชั่วแวบที่แล่นเข้ามาในสมอง ตอนนั้นความพยายามทั้งหมดของเขาทุ่มให้กับยูไนเต็ด แบงก์ ออฟ ลาโฮร์ (ยูบีแอล) ซึ่งเขาได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1950 ด้วยหวังจะให้เป็นคู่แข่งกับ ฮาบิบ แบงก์ ธนาคารในปากีสถาน บ้านเกิดของเขา อเบดีได้ชักชวน "ไมอัน ยูซูฟ ไซโกล" เจ้าของธุรกิจสิ่งทอชาวปัญจาบ ให้ร่วมลงขัน 7 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นทุนเริ่มแรกของธนาคาร

ธนาคารดังกล่าวดูจะกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับบีซีซีไอ ทว่าทั้งสองแห่งมีกลไกทำงานที่อิสระเหมือน ๆ กัน เพราะแม้แต่ตอนที่ดำเนินงานยูบีแอล อเบดีก็ไม่ใคร่จะให้ความสนใจต่อการบริหารงานวันต่อวันของธนาคารมากไปกว่าการแสวงหาลูกค้าทว่าเขาเป็นคนที่มีพลังอย่างมหาศาล และสามารถประจบประแจงคนทุกคนที่เขาคิดว่าจะสามารถเกื้อหนุนเขาได้

แม้ว่าอเบดีจะไม่ประสบความสำเร็จในซาอุดีอาระเบียนัก แต่เขาก็ได้สร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนใหญ่คนโตที่นั่น คือ "ชี้ค คามาล อัดฮัม" ผู้มีศักดิ์เป็นน้องของอิฟฟัต ภริยาคนโปรดของกษัตริย์ไฟซาล อัดฮัมเป็นผู้ติดต่อราชการส่วนพระองค์ ทั้งยังเป็นตัวแทนของสายการบินโบอิ้ง และเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความมั่นคงภายในซาอุฯ หรือที่เรียกว่า "เจนเนอรัล อินเทลลิเจนซ์ ไดเร็กต์ทอเรท" เขายังเกี่ยวพันกับซีไอเอ โดยมีชื่อรหัสที่เป็นที่รู้กันว่า "ทัมเบิลวีด"

ทัมเบิลวีดได้แนะนำให้อเบดีรู้จักกับเกธ พาราออนเมื่อปี 1966-1967 ซึ่งเมื่อครั้งกระโน้น ฝ่ายหลังมีอายุเพียง 26 ปี และกำลังมองหางานธุรกิจงานแรกอยู่จากนั้นอเบดีก็ได้แนะนำพาราออนให้กับไซโกลผู้ให้การอุปถัมภ์ตัวเขา อีกต่อหนึ่ง ทั้งอเบดีและพาราออนร่วมกันมองหาช่องทางเจาะตลาดซาอุฯ ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องอาศัยคู่ค้าระดับท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างพาราออนกับไซโกลก็ไม่ค่อยงอกงามนัก ซ้ำร้ายพาราออนยังได้ขู่ว่าจะจับหนึ่งในครอบครัวของไซโกลเข้าคุก ในข้อหาฉ้อโกง กระทั่งอเบดีให้สัญญาว่าจะออกทุนให้กับทุกธุรกิจที่พาราออนต้องการทำ เรื่องดังกล่าวจึงจบลงและต่อมาทั้งสองก็ได้ร่วมลงทุนในโรงแรมไฮแอท

ประสบการณ์ครั้งนั้นได้หนุนช่วยให้พาราออนสามารถก่อสร้างธุรกิจใหม่ของตนเองที่ชื่อ "ซาอุดีอาระเบีย รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "รีเด็ค" ซึ่งเป็นธุรกิจควบคุมโครงการก่อสร้าง รีเด็คนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และกลายเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในซาอุฯ อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่มูลค่าหนี้สิน

อย่างไรก็ดี หาใช่เงินทั้งหมดของรีเด็คจะมาจากอเบดีไม่ มีธนาคารตะวันตกอีกมากกว่า 50 แห่งที่ได้ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทดังกล่าวเป็นมูลค่าถึง 300 ล้านดอลลาร์ โดยหนี้ส่วนใหญ่อาศัยโครงการต่าง ๆ เป็นตัวค้ำประกัน อเบดียังเป็นที่ปรึกษาให้แก่พาราออน ทว่าเขามักจะปฏิเสธที่จะเป็นคนออกหน้าในธุรกิจต่าง ๆ ที่ทั้งสองร่วมกันทำแต่ขอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแทน และพร้อมที่จะจัดหาหรือค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทให้ อเบดีนั้นเป็นบุคคลที่มักจะมองไปข้างหน้ามีทัศนะกว้างไกล และด้วยเหตุนี้เองเขาจึงได้หนุนให้พาราออนเป็นบุคคลออกหน้าสำหรับบีซีซีไอ พาราออนกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งทั้งที่เบื้องหลังแล้วเขามิได้มีแก่นสารอันใดเลย

จุดเริ่มต้นแบงก์ฉาวโฉ่

เดือนมกราคม ปี 1972 ยูบีแอลและธนาคารเอกชนอื่น ๆ ของปากีสถาน ได้ถูกควบคุมโดยซุลฟิคาร์ อาลี บุตโต ผู้ขึ้นปกครองประเทศด้วยเสียงจากมหาชน อเบดีและประธานธนาคารอื่น ๆ ถูกคุมขังไว้ด้วยกันในบ้านหลังหนึ่ง เนื่องจากบุตโตสงสัยว่านายธนาคารเหล่านี้หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐ ในระหว่างนั้น อเบดีจึงได้มีโอกาสคิดรายละเอียดของแผนการก่อตั้งบีซีซีไอ ที่เขาขนานนามว่าจะเป็น "ธนาคารระดับโลกที่แท้จริงแห่งแรก" และเขาปรารถนาให้มันเป็นเอกลักษณ์ บีซีซีไอจะเป็นสถาบันระดับชาติที่มีเครือข่ายกว้างไกลในระดับสากล บีซีซีไอจะไม่เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง แต่จะเป็นของทุก ๆ ประเทศในเขตโลกที่ 3 เป็นที่จุดประกายความคิดและแรงจูงใจอันหลากหลาย

บีซีซีไอที่ดูใหญ่โต แท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงสถานที่ผู้ฝากเงิน นำเงินมาลงทุนเพื่อเก็งกำไรในธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น การค้าเงิน หรือการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า ดังนั้นหากผู้ฝากเงินแม้เพียงส่วนหนึ่งแห่มาถอนเงินสดพร้อมกันในวันเดียวแล้ว ก็มีสิทธิทำให้ธนาคารล้มได้ง่าย ๆ

ทว่าสิ่งหนึ่งที่อเบดีตระหนักเป็นอย่างดีก็คือเขาไม่อาจห้ามไม่ให้ลูกค้ามาถอนเงินออกจากธนาคารได้ และการกระทำดังกล่าวก็อาจทำให้ความแตกขึ้นมาได้ กระนั้น การบริหารเงินแบบวันต่อวันก็มิใช่สิ่งที่อเบดีถนัดนัก ทั้งยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารที่ดำเนินการในระดับประเทศ ดังนั้น อเบดีจึงตัดสินใจไปตั้งรกรากธนาคารที่ลักเซมเบิร์กและเกาะเซย์แมน ซึ่งข้อกำหนดธนาคารค่อนข้างหละหลวมแทน

เมื่อบีซีซีไอเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1992 ธนาคารมีเงินทุนเริ่มแรกเพียง 2.5 ล้านดอลลาร์ มิใช่ 10 ล้านดอลลาร์ดังที่เข้าใจกัน โดย 625,000 ดอลลาร์ของจำนวนนี้มาจากสำนักงานสาขาของแบงก์ออฟอเมริกา ส่วนที่เหลือมาจากเงินฝากของ ชี้ค ซาเยด

ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือของธนาคาร และเงินทุนที่อ้างว่าจัดหามาได้นั้นล้วนเป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้นอย่างไรก็ดี มีเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มเข้ามาอีกโดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารเป็นเครื่องค้ำประกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือบีซีซีไอเป็นธนาคารที่ระดมทุนให้แก่ตนเอง โดยอาศัยเงินฝากจากลูกค้าที่ไม่อาจระบุชื่อได้

ผลที่ตามมาจากกลยุทธ์การดำเนินงานเช่นที่ว่านี้ ทำให้คุณภาพฐานเงินทุนของธนาคารต่ำมาก ๆ คำถามที่ว่า บรรดาผู้สอบบัญชีมิได้ล่วงรู้ความจริงข้อนี้เลยหรือ ? คำตอบก็คือ บรรดาผู้สอบบัญชีแม้แต่ในลักเซมเบิร์กและเซย์แมนก็รับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นบีซีซีไอจึงต้องหาทางปกปิดด้วยการเปลี่ยนหน้าบุคคลหน้าฉาก หรือบุคคลที่จะทำให้ธนาคารดูน่าเชื่อถือ นับตั้งแต่ คามาล "ทัมเบิลวีด" อัดฮัม และเกธ พาราออน

เริ่มส่งกลิ่น

ในช่วงทศวรรษแรก บีซีซีไอพออกพอใจกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารได้เข้าไปตั้งสำนักงานสาขาในอียิปต์, ปากีสถาน, ไนจีเรีย, เคนย่า, แซมเบีย, ปานามา, บราซิล, ซิมบับเว, และตุรกี ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารได้เข้าไปเปิดสำนักงานกว่า 50 แห่งในอังกฤษ โดยมุ่งเน้นที่ชุมชนซึ่งมีชาวเอเชียอาศัยอยู่มาก ๆ ในปี 1981 ธนาคารอ้างว่าตนเป็นธนาคารที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทว่าบีซีซีไอก็ยังไม่เป็นที่สนใจในหมู่สาธารณชนนัก จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 1981 นิตยสารรายสัปดาห์ "นิวส์ สเตทแมน" ก็ได้ตีพิมพ์บทความ 2 บทอันนำมาซึ่งความปั่นป่วนในสำนักงานใหญ่ซึ่งไม่เป็นทางการของบีซีซีไอที่ถนนลีเดนฮอลล์ กรุงลอนดอน อันเป็นที่ซึ่งอเบดีได้เริ่มขยายอาณาจักรธุรกิจของเขา บทความดังกล่าวเขียนขึ้นโดยทารีค อาลี นักขุดคุ้ยเรื่องราวชื่อดัง และกล่าวถึงภาพลวงตาของบีซีซีไอ ซึ่งอเบดีเป็นผู้วาดขึ้น

จุดสนใจที่สำคัญของอาลีอยู่ที่วิถีทางการประกอบธุรกิจอันสับสนของบีซีซีไอ หรือที่เขาเรียกว่า "ธนาคารที่กว้านซื้อโลกที่ 3" ทว่าจุดที่คนสนใจมากที่สุดก็คือ การที่เขาเปิดโปงเรื่องของอัดฮัมและพาราออน ผู้ที่อ้างตนว่าถือหุ้นใหญ่ในบีซีซีไอ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงคนออกหน้าของธนาคารซึ่งได้เข้าเทคโอเวอร์ "อัทท็อคปิโตรเลียม" บริษัทที่เกือบจะเป็นกิจการผูกขาดของรัฐบาลอังกฤษซึ่งทำการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันในปากีสถาน

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงบางประการที่ทารีค อาลีได้มาก็ไม่ถูกต้องดังนั้นเขาจึงถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งโจทย์ผู้ฟ้องร้องมิใช่บีซีซีไอ แต่เป็นมูลนิธีโลกที่ 3 (Third World Foundation) องค์กรการกุศลที่อเบดีเป็นผู้ควบคุม และเคยตกเป็นขี้ปากของอาลีมาก่อนแล้วเช่นกัน

นับว่าอาลีเลือกเวลาผิดในการขุดคุ้ยเรื่องบีซีซีไอเพราะเขาเองก็ยังไม่มีข้อมูลในมือมากนัก ไม่นานเรื่องฉาวโฉ่ที่เขาเปิดโปงจึงถูกลืมเลือนไป และบีซีซีไอก็กลับมาเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดิม

หาทางขยายไปสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบีซีซีไอจะเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทว่าในขณะนั้นบีซีซีไอกลับยังไม่เคยรุกล้ำเข้าไปในสหรัฐอเมริกาเลย ทั้ง ๆ ที่ธนาคารจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เรื่อย ๆ เพื่อให้มีกระแสเงินฝากเข้ามาค้ำจุดการดำรงอยู่ของตน บีซีซีไอนั้นมีฐานเงินทุนที่ต่ำมาก ๆ ในอันที่จะช่วยค้ำประกันหนี้เสีย ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ หนี้ดังกล่าวนั้นไม่เคยได้ดอกเบี้ยหรือบริการใด ๆ กลับคืนมาเลย ปัจจัยสนับสนุนเบื้องหลังที่ทำให้ธนาคารไม่ขาดแคลนเงินสดเลย ก็คือ กระแสเงินฝากใหม่ ๆ ที่เข้ามาอุดช่องว่างอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้นเอง แต่จะหาเงินฝากเหล่านั้นได้จากที่ไหนกันล่ะ?

พนักงานส่วนใหญ่ของบีซีซีไอนั้นเป็นชาวปากีสถาน และสำนักงานสาขาทั่วโลกของธนาคารก็มุ่งเจาะที่ลูกค้าที่พูดภาษาเออร์ดู ขณะเดียวกัน บรรดาลูกค้าที่เข้ามาหาบีซีซีไอ ก็มักจะเป็นลูกค้าที่ต้องการบริการพิเศษ เช่น คนที่กระหายจะนำเงินออกนอกประเทศโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องเพดานเงิน และต้องการหาแหล่งปกปิดซุกซ่อนเงิน ดีลเลอร์ผิดกฎหมาย ไปจนถึงพ่อค้ายาเสพติดและแม้แต่กลุ่มอาชญกรรมที่พออกพอใจในลักษณะการให้บริการแบบสบาย ๆ ไม่ซักถามเรื่องส่วนตัวของบีซีซีไอ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ในช่วงนั้นบีซีซีไอไม่คิดจะขยายอาณาเขตเข้าไปในสหรัฐฯ แม้ว่าการค้าของธนาคารจะกระทำกันในรูปเงินดอลลาร์ และแม้ว่าอเบดีจะเคยตั้งปณิธานไว้ ว่าจะทำให้บีซีซีไอกลายเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2000 ก็เพราะเฟดเดอรัล รีเซิร์ฟหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรฐานตายตัวไว้ว่า สู้ยอมให้มิคกี้เมาส์มาตั้งแบงก์ ยังดีกว่าจะเป็นบีซีซีไอ

ทั้งนี้เพราะข้อหาหลาย ๆ ประการที่บรรดาผู้คุมกฎสหรัฐฯ ได้ยินมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปตั้งบริษัทแม่ในลักเซมเบิร์ก ที่ซึ่งไม่มีธนาคารกลางคอยควบคุม และหมายถึงว่าจะไม่มีธนาคารแห่งสุดท้ายที่จะคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินเมื่อเกิดเหตุอันใดขึ้น

ธนาคารอเมริกันอื่น ๆ ทั้งในบอสตันและชิคาโกก็ปฏิเสธที่จะทำธุรกิจกับบีซีซีไอ พวกเขาไม่แม้แต่จะรับเลตเตอร์ ออฟ เครดิตของธนาคาร บีซีซีไอจึงสามารถเพียงเปิดสำนักงานสาขาในสหรัฐฯ แต่ไม่อาจรับฝากเงินใด ๆ ได้ และความพยายามถึง 2 ครั้ง 2 คราของอเบดี ในอันที่จะซื้อธนาคารอเมริกันด้วยวิธีการลักลอบโดยผ่านบุคคลออกหน้า ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

จนกระทั่งเมื่อ ที. เบอร์แทรม แลนซ์ หรือที่รู้จักกันในนามของ "เบิร์ท" เพื่อสนิทที่สุดของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานและงบประมาณ เริ่มเข้ามาในวงจรอื้อฉาวนี้

แลนซ์ยังเป็นทนายความ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย (เอ็นบีจี) ที่ตั้งอยู่ในแอตแลนต้า จึงทำให้เขาสามารถมีสิทธิควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ ของธนาคาร นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารนั้น ดูเหมือนจะเน้นหนักที่เพื่อนฝูงและญาติสนิทของแลนซ์ และมีข่าวว่าเขาไม่ยอมแยกเงินของธนาคารออกจากกระเป๋าของตนเองอันเป็นเหตุให้เขาถูกฟ้องร้อยเป็นเงิน 50,000 ดอลลาร์

ข้อกล่าวหาที่ว่านี้ถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนและย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนนี้นักและในที่สุดธนาคารของเขาก็ล่มสลาย อันทำให้เขาต้องมีหนี้สินถึง 5 ล้านดอลลาร์

คลาร์ก คลิฟฟอร์ดที่ปรึกษากฎหมายผู้เลื่องชื่อโดยเคยให้คำปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกันหลายต่อหลายสมัย นับตั้งแต่ทรูแมนจนถึงคาร์เตอร์ และเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลจอห์สันอยู่ 1 ปี คือผู้พยายามเข้ามาไขปัญหา คลิฟฟอร์ดนั้นเป็นที่เคารพนับถือในพรรคเดโมเครติค และแม้ว่าบริษัทกฎหมายของวอชิงตันที่เขาดำเนินการอยู่จะเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แต่ก็มีคอนเนกชั่นมากมาย

แลนซ์มาหาคลิฟฟอร์ดที่บ้านในวันอาทิตย์แล้วทั้งสองก็นัดเจอกันที่อาคารสำนักงานบริหารเก่าของทำเนียบขาวในเช้าวันแรงงาน เดือนกันยายนปี 1997 คลิฟฟอร์ดนั้นเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของแลนซ์ ขณะเดียวกัน คลิฟฟอร์ดเองก็พร้อมจะช่วยเหลือแลนซ์เต็มที่ และเพื่อให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น คลิฟฟอร์ดจึงไได้นำโรเบิร์ต อัลท์แมน คู่ค้าและผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ของเขามาด้วย อัลท์แมนนั้นมีสายสัมพันธ์ลับ ๆ ในวอชิงตัน ภริยาของเขาคือ ลินดา คาร์เตอร์ "วอนเดอร์วูแมน" ที่เป็นที่รู้จักกันดี

ทว่าสถานการณ์ของแลนซ์ก็รุนแรงเกินกว่าจะกู้ขึ้นมาได้ เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการงบประมาณ ทว่าทั้งคลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนก็ได้เริ่มวางบทบาทและกำหนดสัมพันธภาพอันจะตามต่อมากับแลนซ์ พวกเขากำลังนำผลประโยชน์อันมหาศาลอันยิ่งมาสู่บีซีซีไอ, คามาล อัดฮัม, เกธ พาราออนและแน่นอนว่า ตัวเขาทั้งสองเองด้วย

3 เดือนหลังลาออกจากตำแหน่ง แลนซ์ได้ขายหุ้นให้เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจียให้แก่พาราออนเป็นมูลค่า 2.4 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่คนอื่นคาดกันไว้ถึง 2 เท่า โดยเงินส่วนใหญ่ที่นำมาซื้อหุ้นดังกล่าวนั้นได้มาจากเงินกู้ที่พาราออนนำมาจากบีซีซีไอ นอกจากนี้ พาราออนยังต้องการอีก 20 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ

ต่อมาแลนซ์ก็ได้เงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากบีซีซีไออีก 3.5 ล้านดอลลาร์ อันช่วยเปิดช่องให้เขาสามารถจ่ายหนี้สินที่เหลือคืนได้ แลนซ์ยังได้รับตำแหน่ง "ที่ปรึกษา" ในสำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของบีซีซีไอ โดยภารกิจหลักของเขาก็คือการกว้านซื้อหุ้นใน "เฟิร์สต์ เจนเนอรัล แบงก์แชร์ส" หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "เฟิร์สต์ อเมริกัน" เชนธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในวอชิงตัน

เพื่อจะสามารถทำเช่นนั้นได้ แลนซ์จำเป็นต้องอ้างตัวว่าเป็น "ปัจเจกบุคคล" หนึ่งในสี่ของบรรดานักลงทุนตะวันออกกลาง ซึ่งนำทีมโดยคามาล อัดฮัม การระบุว่าเป็น "ปัจเจกบุคคล" นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนักลงทุนรายบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งจะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทสาธารณชนใด ๆ มากกว่า 5% ขึ้นไป จะต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณชนต่อคณะกรรมการควบคุมตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี)

แต่สถานภาพของแลนซ์นั้นเป็นเพียงนักลงทุนรายบุคคล มิใช่รายกลุ่ม และเขายังอ้างตัวว่าเป็นเพียงลูกค้าของบีซีซีไอ และต้องการหุ้นเพียง 4.9% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลใด ๆ

ทว่าเอสอีซีเองก็เห็นว่าคำกล่าวอ้างเหล่านี้หาได้เป็นความจริงไม่ ด้วยทราบดีว่าอเบดี, แลนซ์ และนักลงทุนตะวันออกกลางทั้ง 4 ซึ่งรวมถึงทัมเบิลวีด-อัดฮัมนั้น ล้วนถูกฟ้องว่าฝ่ากฎการค้าหลักทรัพย์ทั้งสิ้น

กระทั่งคลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนได้เข้ามาเป็นทนายความของอเบดีและบีซีซีไอ พวกเขาได้ทำเอกสารยื่นไปยังเอสอีซี และในที่สุดเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่ของเฟิร์สต์ อเมริกันก็ได้ตกลงใจขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ ภายใต้การอนุมัติจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เพราะแม้ว่าธนาคารกลางจะตั้งข้อกังขาในเรื่องนี้แต่คามาล อัดฮัมก็ให้การปฏิเสธอย่างแข็งขันว่ามิได้ทำหน้าที่เป็นบุคคลหน้าฉากให้แก่บีซีซีไอเลยทั้งยังปฏิเสธว่าบีซีซีไอ หรือสำนักงานสาขาของธนาคารได้เข้ามาข้องเกี่ยวในการนี้ด้วย

ในที่สุดหุ้นของเฟิร์สต์ อเมริกันก็ได้รับทุนมาจากบีซีซีไอ และถูกส่งต่อไปยังบีซีซีไอ ในฐานะหลักประกันหนี้ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นหนี้ที่ไม่ได้รับคืนในที่สุดบีซีซีไอก็ได้เป็นเจ้าของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในกรุงวอชิงตัน

ทนายความทั้งสองได้รับรางวัลตอบแทนอย่างงามในการนี้ ภายหลังจากที่การเทคโอเวอร์ลุล่วง คลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนก็กลายเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเฟิร์สต์ อเมริกัน และได้รับอนุญาตให้เข้าซื้อหุ้นจากธนาคารจากหนี้สินของบีซีซีไอ แล้วหลังจากนั้นทั้งสองคนก็ได้ขายหุ้นกลับให้แก่บีซีซีไอในราคากำไรอย่างน้อย 9.8 ล้านดอลลาร์

ทุกวันนี้ คลิฟฟอร์ดและอัลท์แมนอ้างว่าพวกเขาถูกบีซีซีไอหลอกใช้และว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เลยว่า "นักลงทุน" ของบีซีซีไอนั้นแท้จริงแล้วก็คือบุคคลหน้าฉากนั่นเอง อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็เป็นตัวบ่งชี้แล้วว่า พวกเขามั่งมีขึ้นได้อย่างมหาศาลจากการเพิกเฉยที่ว่านี้เอง

สัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคาร์เตอร์

นอกเหนือจากประโยชน์ในการขยายธุรกิจในตลาดยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาแล้ว อเบดียังได้ประโยชน์มหาศาลอีกอย่าง จากการเข้าไปมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ภายหลังจากที่คาร์เตอร์ออกจากทำเนียบขาว บีซีซีไอก็ได้บริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์ให้แก่อาคารเพื่อการศึกษาคาร์เตอร์เซนเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยอีโมรี่ ในแอตแลนต้า บีซีซีไอยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ มูลค่า 8 ล้านดอลลาร์ให้แก่กองทุนการกุศลของจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือที่เรียกว่า "โกลบัล 2000" อันอุทิศเพื่อการปรับปรุงสาธารณสุขและการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งคาร์เตอร์และอเบดีเป็นประธานร่วมกัน อเบดีถึงกับขับเครื่องบินส่วนตัวโบอิ้ง 727 ไปรับคาร์เตอร์และแอนดรูว์ ยัง อดีตเอกอัครราชทูต ไปยังสหประชาชาติ และไปทัวร์อาฟริกา ยังสรุปความสัมพันธ์ของทั้งสองอย่างสั้น ๆ ว่า "ความคิดที่ดี ๆ ทุกอย่างที่คาร์เตอร์ หรือผมมี ก็จะได้รับการสานต่อด้วยความเต็มใจจากเงินทุนของอเบดี"

สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา อเบดีมักจะจัดหาเครื่องบินให้แก่คาร์เตอร์ และโรซาลีน ภริยาของเขาเพื่อการท่องเที่ยวในนามขององค์การกุศลสู่ประเทศโลกที่ 3 ส่วนคาร์เตอร์ก็ได้แนะนำอเบดีให้รู้จักกับคนใหญ่คนโตมากมาย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีลอร์ด คอลลาแกน และเมื่ออเบดีล้มป่วยด้วยโรคหัวใจกำเริบเมื่อปี 1988 คาร์เตอร์ถึงกับบินไปลอนดอนด้วยตนเองเพื่อเยี่ยมไข้และจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้คอยดูแลรักษาเขา

จนถึงทุกวันนี้ คาร์เตอร์ยอมรับว่าเขาถูกอเบดีและบีซีซีไอ "ใช้เป็นเครื่องมือ" ลอร์ด คอลลาแกน ผู้เป็นเจ้าขององค์กรการกุศล,มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และคอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ที่ได้ประโยชน์จากความใจบุญสุนทานของบีซีซีไอก็เชื่อว่าธนาคารเป็นผู้บริจาครายใหญ่แก่กองทุนประเทศโลกที่ 3 โดยดูจากปรัชญาของธนาคาร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เพื่อนฝูงและผู้ใกล้ชิดของอเบดี(นอกเหนือจากคาร์เตอร์) ก็ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงภาพลวงตาที่อเบดีสร้างขึ้นเพื่อตนเองและเพื่อธนาคารของตนเท่านั้น

ด้วยภาพพจน์ที่ดีเยี่ยมในสายตาของประเทศโลกที่ 3 จึงทำให้บีซีซีไอสามารถขยายตัวด้วยอัตราที่น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อปลายทศวรรษ 1970 ธนาคารมีสำนักงานใน 32 ประเทศและมีบัญชีเงินฝากมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์แต่พอถึงสิ้นปี 1988 ธนาคารมีสำนักงานในประเทศต่าง ๆ ร่วม 73 ประเทศ และถือเงินฝากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์โดยว่าจ้างพนักงานร่วม 14,000 คนเพื่อประจำสำนักงาน 417 แห่ง

สัมพันธภาพที่แนบแน่นระหว่างอเบดีกับคาร์เตอร์เป็นสัญลัษณ์ที่สำคัญยิ่ง ที่ทำให้เขาดูน่าเลื่อมใสสำหรับผู้บริหาร และพนักงานของธนาคารโดยทั่วไปแล้ว อเบดีเป็นมากกว่าประธานธนาคาร อเบดีจึงสามารถขยายวงคนรู้จักออกไป นับจากญาติสนิท เพื่อนฝูง เพื่อนของเพื่อน ไปจนถึงญาติห่าง ๆ ซึ่งเขาก็ได้แจกจ่ายหุ้นกู้จำนอง, ให้การสนับสนุนทางการเงิน, การดูแลรักษาสุขภาพ และจัดทัวร์ระดับเฟิร์สต์ คลาสให้แก่คนเหล่านั้น รวมไปถึงช่องทางการหาเงินและอำนาจอันมหาศาลที่คาดไม่ถึง ในทางกลับกันคนเหล่านั้นก็ให้การจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตาแก่อเบดี มันเปรียบเสมือนโลกที่อเบดีสรรค์สร้างขึ้น และมีเขาเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี ตัวเขามิใช่ราชาเพราะไม่มีใครเกรงขามเขา

พาราออนนั้นก็เช่นเดียวกับอเบดี คือหมั่นเพาะความสัมพันธ์กับบุคคลที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงจึงไม่น่าแปลกที่เขามีมิตรสหายเป็นคนเด่นคนดังทั้งในแวดวงการเมืองอย่าง อเล็กซานเดอร์ เฮก และแอนดรูว์ ยัง หรือในแวดวงบันเทิงอาทิ เจ้าชายแห่งซาอุฯ และดาราทีวีจีน คนเหล่านี้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเขาที่ริชมอนด์ ฮิลล์ปีละ 1-2 ครั้งเสมอ ๆ

ระฆังเตือนครั้งแรก

จนกระทั่งถึงปี 1985 เมื่อราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างฮวบฮาบจากบาร์เรลละ 28 ดอลล์เหลือเพียง 9 ดอลล์ ระบบเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจึงปั่นป่วนอย่างหนัก บริษัทเพื่อการก่อสร้างของพาราออนที่ชื่อ รีเดคแทบวอดวาย และนั่นจึงถือเป็นสัญญาณเตือนครั้งแรกต่อความฉิบหายของบีซีซีและอเบดี

ธนาคารตะวันตกร่วม 50 แห่งที่ได้ปล่อยกู้ให้แก่พาราออนเริ่มคาดหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยและเงินต้นคืน โดยยอดหนี้สินที่รีเดคมีต่อธนาคาร ณ สิ้นปี 1985 นั้นอยู่ที่ 330 ล้านดอลลาร์ เหล่าธนาคารเริ่มต้องการให้พาราออนทำการชำระบัญชี ด้วยการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป เพราะพวกเขาคิดว่า อเบดีเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายอย่างนอกซาอุฯ อาทิ ริชมอนด์ ฮิลล์ และเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย

ดูเหมือนว่าพาราออนจะมีทางเลือกน้อยเสียเหลือเกิน เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถูกสมมติว่าเขาเป็นเจ้าของนั้น เบื้องหลังที่แท้จริงแล้วก็คือบีซีซีไอที่อาศัยเขาเป็นหน้าฉากเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เริ่มยืดเยื้อ บรรดาธนาคารก็ยิ่งแพร่ข่าวในทางที่เสียหายต่อพาราออน และส่งผลให้กระทรวงการคลังซาอุฯ ร้องเรียนต่อกษัตริย์ฟาฮัด (ซึ่งในขณะนั้นพ่อของเขาไม่ได้ให้การรับใช้อีกต่อไป) กษัตริย์จึงสั่งริบพาสปอร์ตของเขาเสีย

สำหรับบีซีซีไอแล้ว ปัญหาของพาราออนเป็นเรื่องที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงมาก เพราะมีโอกาสที่บางคนอาจสืบสาวได้ว่า พาราออนเป็นตัวแทนในกิจกรรมต่าง ๆ ของบีซีซีไอ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเริ่มรู้ว่าพาราออนได้ใช้เงินของบีซีซีไอซื้อเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย แล้วพวกเขาก็อาจสืบจนรู้ว่าบีซีซีไอนั่นเองที่อยู่เบื้องหลังการซื้อเฟิร์สต์ อเมริกัน หนทางเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ก็คือ พาราออนจะต้องถูกแปรโฉมให้บุคคลที่น่าเชื่อถือในบรรดาเจ้าหนี้ ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะหยุดกดดันพาราออน อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ก็ไม่เกินความสามารถของบีซีซีไอ

ในเดือนเมษายน ปี 1987 นิตยสารแอตแลนตา บิสซิเนสโครนิเคิลได้ขึ้นปกรูปเกธ พาราออนและจั่วหัวว่า "บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในจอร์เจีย" ส่วนโปรยของบทความก็ว่า เขาเป็น 1 ใน 15 อภิมหาเศรษฐี่โลก ผู้ใช้จ่ายเงินอย่างสบายใจ ทั้งยังทุ่มเงินพันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อรถเมอร์ซีเดส, เรือบอชต์, เครื่องบินเจ็ท และโบอิ้ง 727 ให้แก่นักธุรกิจชาวซาอุฯ จำนวนมาก

เบื้องหลังบทความชิ้นนี้ก็คือเดวิด มิซราฮี บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่ชื่อ "มิดอีสต์ รีพอร์ท" ซึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับรถเมอร์ซีเดสสปอร์ตตี้ที่หรูหราของพาราออน เขารู้สึกว่า บทความที่ว่าเป็นเรื่องไม่ซีเรียสอะไรเพียงแต่เป็นเรื่องสนุก ๆ ที่ว่า เขาเห็นว่าพาราออนเป็นคนรวยที่เที่ยวแจกจ่ายเงินให้ใคร ๆ ตามใจชอบ มิซรฮียังประมาณมูลค่าทรัพย์สินของพาราออนไว้ว่าคงราว ๆ 975 ล้านดอลลาร์

ไม่ช้าพาราออนก็ได้พาสปอร์ตคืน และได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากซาอุฯ ด้วยความเข้าใจว่าเขาสามารถประนีประนอมกับบรรดาเจ้าหนี้ตะวันตกได้ และเมื่อกลับถึงริชมอนด์ ฮิลล์ พาราออนก็ได้ขายเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ จอร์เจีย (เอ็นบีจี) เป็นมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นราคางามที่ได้กำไรถึง 22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเบื้องหลังก็คือ บีซีซีไอเป็นผู้ซื้อโดยอาศัยชื่อของเฟิร์สต์ อเมริกัน ที่ธนาคารเป็นเจ้าของลับ ๆ อีกเช่นกัน ดังนั้นบีซีซีไอจึงได้เข้ามาเป็นเจ้าของเอ็นพีจีเต็ม 100%

อย่างไรก็ดี เมื่อพาราออนมิใช่ผู้ขายเอ็นบีจีที่แท้จริง กำไรก็หาใช่ของเขาไม่ แต่เป็นของบีซีซีไอ บีซีซีไอได้ขายเอ็นบีจีให้แก่ตนเอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่เป็นเพียงเกมตบตาเท่านั้น ที่มีบีซีซีไอเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียว อันมีเป้าหมายเพื่อกำจัดเอ็นบีจีให้พ้นจากการครอบครองของพาราออน ซึ่งจะทำให้ธนาคารเจ้าหนืทั้งหลายไม่สามารถเข้ามายึดได้

การสร้างภาพพจน์ของพาราออนไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะต่อจากนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1987 พาราออนก็ได้ตกลงกับธนาคารตะวันตกว่าจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ของรีเดคและนั่นหมายถึงว่า พาราออนกำลังจะหนีออกจากห่วงของบริษัทแห่งนี้

จนถึงเดือนตุลาคม เขาก็ประสบโชคดีอีกครั้ง เมื่อนิตยสารฟอร์บส์ได้จัดอันดับให้เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านคนหนึ่งของโลกโดยชี้ว่าเขามีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 975 ล้านดอลลาร์

ใกล้ถึงจุดล่มสลาย

ปี 1988 พาราออนยังได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียมูลค่ามหาศาลของเซนทรัสต์ เซฟวิ่ง แบงก์ ออฟ ไมอามี สถาบันเพื่อการออมและสินเชื่อที่ดำเนินการโดยเดวิด พอล จนในที่สุดพอลและพาราออนก็ได้เป็นเพื่อนสนิทกัน ด้วยรสนิยมที่ชอบความหรูหราฟุ่มเฟือยเหมือน ๆ กัน พอลได้เข้ามาช่วยถลุงเงินเป็นการใหญ่ โดยตกแต่งเซนทรัสต์ ทาวเวอร์ ด้วยเงินถึง 100 ล้านดอลลาร์ เขาเช่าเครื่องบินเจต, ซื้อเรือยอชต์, แจกจ่ายให้องค์การกุศลและสถาบันคาร์เตอร์ในแอตแลนตา ปี 1988 เขายังได้บริจาคเงินให้พรรคเดโมเครตอีก 328,000 ดอลลาร์

ดูเหมือนพอลจะไม่คิดว่าเงินที่เขาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยนั้น จะมีวันหมดลง เช่นเดียวกับพาราออนที่ปั๊มเงินจากเซนทรัสต์ ราวกับว่ามันเป็นขุมเงินขุมทอง จนเมื่อถึงปลายปี 1988 เงินก็เริ่มแห้งเหือด บรรดาผู้คุมกฎของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขู่ว่าจะเข้ามาจัดการ พาราออนจึงต้องถ่ายเงินจากบีซีซีไอมาอีกล้านดอลลลาร์เพื่อมาเข้าบัญชรเวนทรัสต์

ทว่าท้ายที่สุด เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990 เซนทรัสต์ก็ล่มสลายลง บีซีซีไอจึงจำเป็นต้องแสดงความจริงให้ปรากฏว่า เงินลงทุนของสถาบันอันเป็นตัวค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของพาราออนนั้นแท้จริงแล้วเป็นหุ้นที่ไม่มีค่าอันใด

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาอันทุกข์เข็ญยิ่งสำหรับบีซีซีไอ ในเดือนตุลาคม ปี 1988 คณะลูกขุนแห่งฟลอริดาได้ตั้งข้อหาธนาคารและเจ้าหน้าที่ธนาคารอีก 6 คนในข้อหากระทำการฟอกเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ขณะเดียวกัน รองคณะกรรมาธิการของสหรัฐฯ ก็ได้สืบสวนสัมพันธ์ระหว่างบีซีซีไอกับนายพลมานูเอล นอริเอก้า แห่งปานามา ทั้งยังมีหลักฐานว่าบีซีซีไอได้ถือหุ้นลับ ๆ ในเฟิร์สต์ อเมริกัน พร้อมกันในช่วงนั้น อเบดีก็เกิดป่วยด้วยโรคหัวใจขึ้นมาอย่างกะทันหัน ทว่าเขายังวาดหวังกับบีซีซีไอ จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารโลก ทางด้านไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ สำนักสอบบัญชีของบีซีซีไออย่างจริงจัง

นับจากนั้นพาราออนก็ยังไม่ค่อยมาที่ริชมอนด์ ฮิลล์อีกด้วยประสบการณ์อันลำเค็ญที่เคยได้รับจากการถูกยึดพาสปอร์ตโดยกษัตริย์ซาอุฯ พาราออนจึงเร่งหาพาสปอร์ตสำรองก่อน ซึ่งก็ได้มาโดยง่ายดายโดยทูตปารากวัย แต่ภายหลังจากนั้นก็กลับถูกยกเลิกอีกครั้ง

พาราออนตัดสินใจขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปอาร์เจนตินา ซึ่งที่นั่นก็ให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี ในนามของ "พาราโอคนใหม่" แม้แต่บริษัทส่วนตัวของเขาเองก็ได้รับการเรียกขานว่า "พาราโอ โฮลดิ้ง" เขายังใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และทำตัวเป็นพ่อบุญทุ่มกับคนใหญ่คนโตทุกคน

ทว่าโชคดีก็อยู่กับเขาไม่นานนัก เนื่องจากนักหนังสือพิมพ์อาร์เจนตินาเริ่มได้เบาะแสว่า พาราออนมีสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับบีซีซีไอ โดยเฉพาะเรื่องการฟอกเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ทางการยังสืบรู้ว่าบีซีซีไอได้ข้องเกี่ยวกับเงินผิดกฎหมายที่ได้จากนายพลนอริเอก้า และบริษัทโคลัมเบียที่ค้าโคเคน ทว่าพาราออนอ้างตัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบีซีซีไอ โดยมีหุ้นในครอบครองถึง 6,292,500 หุ้น หรือ 15% ของหุ้นทั้งหมด ทว่าภายหลังจากนั้น เขาก็พยายามถอนตัวออกจากการเกี่ยวข้องกับบีซีซีไอ ด้วยการอ้างว่าได้ขายหุ้นบีซีซีไอออกไป ในช่วงที่ต้องให้การต่อศาล พาราออนก็ได้ระเบิดโทสะไปว่า "ธนาคารแห่งใด ๆ ในโลกก็ล้วนแล้วแต่ฟอกเงินกันทั้งนั้น แต่มีเพียงเฉพาะบีซีซีไอเท่านั้นที่ถูกระบุชื่อขึ้นมา" คำกล่าวที่ว่าจึงกลายเป็นหลักฐานมัดตัวให้ต้องถูกยึดทรัพย์สิน และถูกถอนออกจากสถานภาพพลเมืองอาร์เจนตินา

พาราออนไม่ได้ปรากฏในตัวอาร์เจนตินาอีกหรือแม้แต่ในอเมริกา ในฝรั่งเศส หรือบ้านเขาเองที่ซาอุดิอาระเบีย แม้จนถึงทุกวันนี้ ที่บีซีซีไอล่มสลายลงเป็นเวลา 6 เดือนมาแล้ว เขาก็ยังแล่นเรือไปยังเกาะกรีกโดยเรือยอชต์หรูหราส่วนตัว ซึ่งมีห้องซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราถึง 3 ห้อง เงินลงทุนของเขาในริชมอนด์ ฮิลล์ และในอาร์เจนตินานั้นกลับมิได้มีความหมายตามภาพที่เห็น

ส่วนโรงแรมไฮแอตในบัวโนส ไอเรสที่พาราออนอ้างว่าเป็นเจ้าของนั้น แท้จริงแล้วก็ได้จากการทำสวอปหนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่บีซีซีไอใช้กับการแก้ปัญหาหนี้ของประเทศโลกที่ 3 ด้วย บีซีซีไอยังได้ซื้อหนี้ต่างชาติของอาร์เจนตินาอีกเป็นมูลค่า 37.5 ล้านดอลลาร์ จากบรรดาธนาคารตะวันตกเจ้าหนี้ที่หมดหวังแล้วว่าจะได้เงินคืน และต่อมาธาคารจึงได้ขายหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารกลางอาร์เจนตินาตามมูลค่าหน้าตั๋ว

แน่นอนว่า ตำนานที่เล่าขานกันต่อมาในชุมชนริชมอนด์ ฮิลล์นั้นก็คือ "เขาไม่เหมือนเฮนรี่ ฟอร์ดเลย"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us