คำประกาศขอซื้อ Yahoo! ของไมโครซอฟท์มูลค่า 44.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นปฐมบทของสงครามเว็บครั้งใหญ่ โดยเป็นสงครามที่มหาอำนาจวงการซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ต้องการเข้าไปเขย่าบัลลังก์ของกูเกิ้ล ซึ่งถือเป็นเจ้าพ่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
ไมโครซอฟท์ดีดลูกคิดรางแก้วแล้วมองว่า การเข้าไปซื้อ Yahoo! จะเป็นหนทางที่ทำให้ไมโครซอฟท์สามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งกำไรมหาศาลในธุรกิจอินเทอร์เน็ตในลักษณ์เดียวกับกูเกิ้ลได้
หลายๆ คนมองว่าไมโครซอฟท์ต้องการส่วนแบ่งในธุรกิจเสิร์ช เอ็นจิ้น (Search Engine) ซึ่ง Yahoo! ถือว่าเป็นรองก็แค่กูเกิ้ลเท่านั้น ในขณะที่เสิร์ชเอ็นจิ้นของไมโครซอฟท์อยู่ในขั้นเด็กอนุบาล แต่เมื่อพิจารณาอย่างลึกๆ แล้วจะพบว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่การเข้ามาแย่งเค้ก ของธุรกิจเสิร์ชเอ็นจิ้น
Yahoo! แต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้เก่งเรื่องเสิร์ชเอ็นจิ้น แต่พวกเขาเป็นหนึ่งในตองอูจากการเป็นพอร์ทัล (Portal) หรือเว็บท่าซึ่งนำไปสู่เว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงเว็บแอพพลิชั่นหลากหลายรูปแบบ โดย Yahoo! มีชื่อเสียงในฐานะเว็บพอร์ทัลมานับแต่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราแล้ว ดังนั้น การเข้าครอบครอง Yahoo! ของไมโครซอฟท์จึงไม่ได้ช่วยให้พวกเขาสามารถแย่งชิงบัลลังก์ด้านเสิร์ชเอ็นจิ้นจากกูเกิ้ลได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ถ้าไมโครซอฟท์เข้าครอบครอง Yahoo! ได้ พวกเขาไม่น่าจะให้ความสำคัญกับเสิร์ชเอ็นจิ้นมากเท่าโอกาสอื่นในอนาคต เสิร์ชเอ็นจิ้นอาจจะเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยไมโครซอฟท์ตอดเล็กตอดน้อยกูเกิ้ลเพื่อสร้างความรำคาญเท่านั้น เสิร์ชเอ็นจิ้นมิใช่สมรภูมิของการเผชิญหน้าระหว่างไมโครซอฟท์กับกูเกิ้ลเป็นสมรภูมิสุดท้าย สิ่งสำคัญ กลับอยู่ที่ใครจะสามารถจับตลาดอื่นๆ ได้ ซึ่งตลาดนั้นได้แก่ photo-sharing, word processing, calendar building และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้เราๆ ท่านๆ สามารถทำอะไรก็ได้บนเว็บ ซึ่งเมื่อเข้า มาถึงสมรภูมิสงครามใหม่นี้ไมโครซอฟท์ดูจะมีความได้เปรียบเหนือกูเกิ้ลมากมาย
การที่ทุกวันนี้การเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่สามัญธรรมดามากนั้น ผู้ใช้คอม พิวเตอร์ทุกวันนี้ก็ได้เข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานสิ่งที่เคยทำงานแบบออฟไลน์หรือไม่ต้องการอินเทอร์เน็ตมาก่อน แต่ในอนาคต อันใกล้นี้ การใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยผ่านคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางหรือผ่านอินเทอร์เน็ตจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้งานในฮาร์ดดิสก์ของตนเองเสียอีก
คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Cloud Com-puting ซึ่งเป็นแนวทางการใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรแบบแบ่งปันกันมากกว่าการมีเซิร์ฟเวอร์เฉพาะหรืออุปกรณ์ส่วนตัวใดๆ เพื่อใช้ทำงาน แอพพลิชั่นหนึ่งๆ นั่นหมายความว่า การสร้างเอกสารงานใดๆ จะเริ่มต้นและสิ้นสุดวงจรของมันบนเซิร์ฟเวอร์มากกว่าในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงเอกสารส่วนตัวของตนและแอพพลิชั่นในการใช้งานประจำจากที่ใดก็ได้ตราบใดที่พวกเขามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายได้
ทั้ง Yahoo!, กูเกิ้ล และไมโครซอฟท์ ต่างพยายามที่จะครอบครอง Cloud นี้โดยการเปลี่ยนตัวเองเป็น digital curator หรือภัณฑารักษ์ของข้อมูลส่วนตัวของเรา
ที่ผ่านมา Yahoo! ได้เข้าซื้อกิจการของ Flickr ซึ่งเป็นเว็บไซต์ photo-sharing ที่มีชื่อเสียงมากรวมถึงเว็บไซต์ Del.icio.us (เว็บไซต์ที่ให้เราสามารถเก็บ Bookmark ของเราไว้บนเว็บและแบ่งปันให้คนอื่นได้ใช้ แทนที่จะเก็บไว้ใช้คนเดียวในเครื่อง) ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของ Yahoo! ที่จะเป็นศูนย์กลางฮับสำหรับ เว็บไซต์กิจกรรมในลักษณะต่างๆ
ในขณะที่กูเกิ้ลก็ได้ขยายอาณาจักรของตนออกไปจากการเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น ซึ่งเป็นธุรกิจหลักไปสู่ iGoogle ซึ่งเป็นการสร้างโฮมเพจส่วนตัวซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกเอา แอพพลิเคชั่นต่างๆ มาใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมี Google Docs ซึ่งเป็นเครื่องมือประเภท Word processor และสเปรดชีทซึ่งเป็นการเพิ่มตัวเลือกในลักษณะของเว็บนอกเหนือจาก การใช้งาน Microsoft Office ทั่วๆ ไป
ส่วนไมโครซอฟท์เองได้ให้ความสำคัญกับ Windows Live ซึ่งเป็นการเปิดศึกโดยตรงกับกูเกิ้ล นอกจากนี้ยังวางแผน ที่จะดึงดูดผู้ใช้โดยการเปลี่ยนแอพพลิชั่นต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นที่นิยมให้สามารถใช้งานแบบออนไลน์ได้
เมื่อมองถึงเรื่องธุรกิจเสิร์ชเอ็นจิ้นแล้ว กูเกิ้ลยังคงมองว่านี่เป็นธุรกิจหลักของพวกเขา โดยกูเกิ้ลได้ขยายอาณาจักรของบริการค้นหา ข้อมูลไปสู่การค้นหาหนังสือ บทความ และบล็อก ทุกๆ ครั้งที่คุณใช้เครื่องมือเหล่านี้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง หรือแม้แต่อ่านจดหมายจาก Gmail ของคุณเอง กูเกิ้ลก็จะได้รับรายได้จากการใส่โฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่คุณอ่านลงไป
Yahoo! เน้นความสำคัญของพอร์ทัล เป็นสำคัญและเสิร์ชเอ็นจิ้นเป็นตัวเสริมโดย Yahoo! เริ่มต้นจากการเป็นพาร์ตเนอร์กับ Open Text ในปี 1995 จากนั้นเปลี่ยนเป็น Altavista ในปี 2004 Yahoo! ก็ได้รับไลเซนส์เทคโนโลยีเสิร์ชเอ็นจิ้นมาจากกูเกิ้ล โดยกูเกิ้ลได้พยายามขยายธุรกิจของตนโดยการพยายามชักชวนให้คนใช้เว็บค้นหาข้อมูล ที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะที่ Yahoo! เอง ก็ได้พยายามจับกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการแค่ค้นหาข้อมูลเท่านั้น เช่น ต้องการหารูป ทำบุ๊คมาร์ค หรือค้นหาเพลง
การรวมกันของ Yahoo! ที่เก่งในเรื่อง พอร์ทัลและไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้นำตลาดซอฟต์แวร์แบบออฟไลน์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องการต่ออินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและถือเป็นตัวเลือกนอกเหนือจากกูเกิ้ล ที่น่าหวาดหวั่นมาก ถ้าเราต้องมาอยู่ในฐานะ ของกูเกิ้ลในปัจจุบัน จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบ สอบถามเท่านั้นที่บอกว่า พวกเขากำลังพยายามใช้งานแอพพลิเคชั่นออฟฟิศที่อยู่บนเว็บ ในขณะที่อีกเกือบสามในสี่บอกว่าไม่เคยรู้จักเลยว่ามีเว็บประเภทนี้อยู่ ในทางกลับกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานไมโครซอฟท์ออฟฟิศมากถึงหลายร้อยล้านคนทั่วโลก เมื่อ พิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าแม้ Google Docs จะเริ่มวิ่งนำหน้าไปก่อนสำหรับแอพพลิเคชั่น บนเว็บเหล่านี้ แต่ไมโครซอฟท์ก็ดูจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าและมีโอกาสจะชนะในท้ายที่สุด ความท้าทายของไมโครซอฟท์จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้แอพพลิเคชั่นบนเว็บเป็นที่นิยมได้เหมือนกับที่พวกเขาทำกับไมโครซอฟท์ออฟฟิศมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ที่จะต้องไม่ลืมเลยก็คือ ไมโครซอฟท์เก่งในเรื่องที่พวกเขาต้องการจะเจาะตลาดอย่างมาก และ Yahoo! ก็มีคนในชุมชนมาก พอที่จะตอบสนองความต้องการของไมโครซอฟท์ ทั้งสองพันธมิตรจะช่วยกันสร้างโมเดล การสร้างรายได้ใหม่ขึ้นมาและกลายเป็นที่ที่ใครๆ ก็อยากจะเข้ามา โดยไมโครซอฟท์จะสร้างความประทับใจในแบบที่คนจะต้องกลับมาใช้งานใหม่
ซึ่งเมื่อมองในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การรวมกันของไมโครซอฟท์และ Yahoo! มีผลดี ดังนี้
- ปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตโลกเพียง 4 ราย ได้แก่ กูเกิ้ล, Yahoo!, ไมโครซอฟท์ และ AOL ซึ่งตลาดจะสามารถสนับสนุนได้มากที่สุดเพียงแค่สามรายเท่านั้น
- Yahoo! และไมโครซอฟท์ถ้ารวมกันเข้าจะสามารถเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับกูเกิ้ลได้มากที่สุด
- นี่จะเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการประหยัด อันเนื่องจากขนาด (Economies of Scale) ได้อย่างมาก เพราะการรวมกันของสองบริษัทจะสามารถประหยัดเงินได้อย่างน้อย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเรื่องการวิจัยและพัฒนา การตลาด การบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- บริษัทใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นนี้จะเป็นบริษัทที่เหล่าผู้ลงโฆษณาจะต้องเลือกมาลงโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้รายรับของบริษัทมีอัตรา เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย
Yahoo! ควรจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันใหม่นี้ เพราะนี่อาจ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพวกเขา แน่นอนว่าเสิร์ชเอ็นจิ้น จะยังคงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และสร้างรายได้มหาศาลให้อยู่ แต่แน่นอน เช่นกันว่ามันจะค่อยๆ ลดความโดดเด่นในเชิงธุรกิจลงเนื่องจากขาดลูกเล่นไป แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าไมโครซอฟท์ต้องการจะเอาชนะกูเกิ้ลจริงๆ ล่ะก็ ไมโครซอฟท์จะต้องเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นพ่อค้าขายแผ่นซีดีใส่กล่อง ไปเป็นผู้นำเสนอบริการที่มีความยืดหยุ่นและแน่นอนว่าจะต้องทำในลักษณะการสมัครสมาชิกใช้งาน แต่ไม่ว่าโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จะเป็นไปในลักษณะใดก็ตาม การจะครอบครองวงการเว็บในอนาคตจะต้องอยู่ที่การทำให้ทุกคนหันมาสร้างเอกสาร อ่านอีเมล เก็บอัลบั้มภาพ หรือใส่ข้อมูลเงินเดือนของพนักงานผ่านโปรแกรมสเปรดชีทบนอินเทอร์เน็ตแทน
นั่นคือ เมื่อ Microsoft กลายเป็น Microsoft! กูเกิ้ลคงต้องเริ่มถอยฉากออกไปหรือไม่ก็ต้องสู้ยิบตา
อ่านเพิ่มเติม
1. Blodget, H. (2008), 'Yahoo! Can't Say No : The Logic of Microsoft's Bid,' Feb 1, 2008, http://www.slate.com/id/2183494/
2. Gross, D (2008), 'Web 2.0 Over : What Microsoft Bid for Yahoo! Means for the Economy and for Google,' Feb 1, 2008, http://www.slate.com/id/2183415
3. Wilson, C. (2008), 'Get Off of My Cloud : Why Microsoft's Play for Yahoo! Isn't about Search,' Feb 1, 2008, http://www.slate.com/id/2183418/
4. Heiskanen, V. (2008), 'Yahoo May Warm to Microsoft; Suitors Fail to Impress (Update1), http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601103&sid=aZNW6cxCk4sk&refer=us
5. Cloud Computing, http://en.wikipedia.org/wiki/Cloud_ computing
6. Flickr, http://www.flickr.com/
7. Del.icio.us, http://del.icio.us/
|