|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2551
|
|
เพราะอะไร 3G ในเมืองไทยถึงยังไม่เกิด ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ถามหาเท่านั้น แม้แต่ผู้ให้บริการเองก็คงอยากจะได้คำตอบเช่นกัน??
ในชั้นเรียนช่วงบ่ายวันหนึ่งของโรงเรียนบ้านแพง ตำบลแพง จังหวัดมหาสารคาม เด็กนักเรียนหญิงชายในชุดเสื้อขาวกระโปรงสีน้ำเงินและกางเกงสีกากีกำลังส่งเสียงโต้ตอบกับคุณครูสอนภาษาอังกฤษเสียงดังฟังชัด แม้จะมีทีท่าขัดเขินเล็กน้อย เพราะพื้นที่ว่างรอบๆ ห้องในเวลานี้ต่างถูกจับจองด้วยผู้มาเยือน ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ
ผู้มาเยือนต่างยืนมองเพื่อสังเกตการณ์ การเรียนการสอนที่เรียกว่า "การเรียนการสอน ผ่านทางไกล" ในห้องเรียนแห่งนี้
นักเรียนนั่งโต๊ะเรียนประจำของตัวเอง ขณะที่คุณครูผู้สอนกลับไม่ได้ยืนอยู่หน้าห้อง หรือเดินไปมาระหว่างกระดานดำและโต๊ะเรียน ของผู้นั่งฟัง แต่กลับอยู่ในจอตู้หรือโทรทัศน์ขนาดความกว้างพอมองเห็นได้ชัดเจนจากหลังห้อง
ดีแทค ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออันดับสองของเมืองไทย นำสื่อมวลชนหลายสิบชีวิตเดินทางไปทดสอบระบบโทรศัพท์ มือถือใหม่ภายใต้เครือข่าย 800 เมกะเฮิรตซ์ ถึงจังหวัดมหาสารคาม หลังจากนำเครื่องมือบางส่วนไปติดตั้งทดสอบระบบดังกล่าวอยู่หลายจุด ทั้งสยามสแควร์ กรุงเทพฯ โรงเรียนบ้านแพง และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยใช้ห้องเรียนของโรงเรียนบ้านแพงเป็นต้นแบบให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาการใช้งานภายใต้คลื่นความถี่ที่ว่า
แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนผ่านทางไกลที่หลายคนรู้จักมักจะผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์ความเร็วสูง ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่อเข้ากับสายโทรศัพท์ แล้วทำการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเชื่อมต่อกับระบบดาวเทียม แต่ในกรณีนี้ดีแทคกำลังจะชี้ ให้เห็นว่า การเรียนการสอนผ่านทางไกลสามารถทำได้โดยใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือแทน
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กซึ่งวางอยู่ด้านข้าง ห้องเรียน มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของดีแทค หรือสถานีฐานที่อยู่ใกล้ที่สุดในละแวกนั้น จากนั้นก็ทำการแปลงสัญญาณให้เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือใช้งานข้อมูลเหมือนกับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ เพียงแต่ถูกนำมาใช้งานใน อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง
คุณครูสอนภาษาอังกฤษยืนอยู่ในห้องส่งที่มหาวิทยาลัยสารคาม ซึ่งมีอุปกรณ์แบบเดียวกันตั้งอยู่พร้อมกล้องวิดีโอขนาดเล็ก ซึ่งจะจับภาพแล้วส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พร้อมเสียงการสอนมายังห้องเรียนโรงเรียนบ้านแพง ส่วนที่ห้องเรียน กล้องวิดีโอแบบเดียวกันก็จับภาพแล้วส่งผ่านไปหาคุณครูในทันที ทุกคนสามารถโต้ตอบและสนทนาผ่านระบบดังกล่าว ขาดแต่เพียงไม่สามารถสัมผัส ตัวตนกันโดยตรงได้เท่านั้นเอง
เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว "ผู้จัดการ" เคยเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน ในเวลานั้นเป้าหมายของการเดินทางเป็นการทดสอบระบบการเรียนการสอนผ่านทางไกลระหว่างห้องเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้กับอาจารย์ผู้สอนซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพียงแต่เป็น การทดสอบผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใช้สาย
แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่ในช่วงหลายปีมานี้ ระบบอินเทอร์เน็ตแบบสายก็มักจะมีผลกระทบ ในวงกว้างเสมอมา จนกระทั่งความสามารถของอินเทอร์เน็ตไร้สายนั้นไม่เพียงให้ความเร็ว ที่มากกว่า แต่ยังลดข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเมื่ออยู่ในที่ห่างไกล โดยเฉพาะชนบทหรือในที่ที่ไม่มีสายโทรศัพท์ลากไปถึง หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมแทบจะไม่มี นั่นหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลนั้นลดลงไปด้วย
ความพยายามของดีแทคที่จะทำการสื่อภาพให้เห็นว่า ระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายแบบที่ใช้เครือข่ายสถานีฐานเข้ามาช่วยนั้น ช่วยเหลือคนในท้องถิ่นและผู้ที่อยู่ห่างไกล มีความสำคัญได้อย่างไรเป็นความพยายามในเวลาเดียวกันที่ดีแทคพยายามจะชี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นและเปิดทางให้ดีแทคสามารถพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 หรือ 3G บนคลื่นความถี่ 800 ที่ดีแทคมีไลเซนส์อยู่แล้ว แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนทั้งจากผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลว่าจะเปิดทางให้ดีแทคสามารถลงทุนพัฒนาได้หรือไม่ ดังนั้นหลังจากวันที่พาผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนเข้าชมการทดสอบระบบดังกล่าว ดีแทคก็ทำการรื้ออุปกรณ์ บางส่วนกลับและยังต้องรอต่อไป
ระบบโทรศัพท์มือถือ 3G ของดีแทคก็คือ HSDPA (High-Speed Downlink Packet Access) เป็นการต่อยอดจากฝั่งของระบบ โทรศัพท์จีเอสเอ็ม ตรงกันข้ามกับ 3G ซึ่งใช้อีกเทคโนโลยีหนึ่งอย่าง CDMA ว่ากันว่าปัจจุบันดีแทคเปิดให้บริการเครือข่าย EDGE เมื่อผู้ใช้ ดาวน์โหลดเพลงขนาด 1 เมกะไบต์ผ่านเว็บไซต์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ จะต้องใช้เวลา 4-5 นาที ขณะที่หากมี HSDPA จะใช้เวลาเพียง 4-5 วินาทีเท่านั้น นี่คือความ เปลี่ยนแปลงที่ได้ในแง่ของความรวดเร็วในการใช้งาน
อาจารย์ท่านหนึ่งในโรงเรียนจังหวัดปราจีนบุรี ปรารภกับ "ผู้จัดการ" เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะมีโอกาสเข้าร่วมการปลูกต้นกระดาษของดั๊บเบิ้ลเอหลังโรงเรียนว่า ก่อนหน้านั้นทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อสายโทรศัพท์เข้าไปไม่ถึง ทางโรงเรียนเลยแก้ปัญหาด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ และให้นักเรียนเล่นอินเทอร์เน็ต แต่ก็ช้าจนไม่สามารถรองรับความต้องการได้ ในที่สุดทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนมาใช้ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแทนในท้ายที่สุด ซึ่งแม้จะมีความเร็วแต่ทางโรงเรียนก็ต้องแบก รับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงไม่น้อยเมื่อเทียบ กับงบประมาณที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวเลขสถิติของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยัง "ล้าหลัง" แม้แต่มาเลเซียและเวียดนามที่มาทีหลัง แต่กลับไปได้เร็วกว่า ในเกาหลีใต้มีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 70.2% ของประชากรทั้งหมด มาเลเซีย 60% เวียดนาม 21.4% ขณะที่ไทยประชากร 100 คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 13 คนเท่านั้น
"เราถูกแซงในแง่ของการใช้อินเทอร์เน็ต เราถูกแซงทั้งๆ ที่มีความพร้อมมากกว่า" ผู้บริหารของดีแทคกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่ง
บทเรียนการลงทุนของ Telstra ผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือในออสเตรเลีย ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับดีแทคในการตัดสินใจพัฒนาเครือข่าย 3G จากคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์แทนที่จะเลือกคลื่นความถี่อื่น โดยเฉพาะเวลาในการติดตั้งที่สามารถทำได้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 10 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 1.9 ล้านตารางเมตร และครอบคลุมจำนวนประชากร 98.8% ทั้งๆ ที่ Telstra นั้นใช้เวลา ในการตัดสินใจเพียง 2 เดือนเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดคือการใช้เงินลงทุนไม่มากเท่ากับการ ลงทุนไปกับคลื่นความถี่ใหม่ทั้งหมด
ดีแทคคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนา เครือข่ายใหม่บนเครือข่าย 800 เมกะเฮิรตซ์ ของตน โดยเลือกใช้ช่วงของ 850 ในการใช้งาน และหวังว่าประเทศไทยจะมี 3G เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศ 1 ใน 3 รวมพม่า และลาวที่ยังไม่พัฒนา 3G อย่างจริงจังเท่าที่ควร
แม้ในเมืองไทยจะมีผู้ให้บริการอย่างฮัทชิสัน และการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 3G ผ่านระบบ CDMA EVDO-1x มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ด้วยความ ที่ต้องแยกกันทำการตลาดของภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน มีการจัดสรรระหว่างทั้งสองบริษัท แม้จะมีการเปิดให้โรมมิ่งเมื่อผู้ใช้บริการวิ่งผ่านจังหวัดใดที่ทั้งสองบริษัทดูแลก็ตาม แต่ดูเหมือนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากต้องนั่งเทียบตัวเลขของการใช้งานด้านข้อมูลทั้งเบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอส เบอร์สองอย่างดีแทค ทรูมูฟของทรูคอร์ปอเรชั่น และฮัทชิสันหรือการสื่อสารแห่งประเทศ ไทย
ในฐานะผู้บริโภคการแข่งขันของผู้ให้บริการย่อมนำมาซึ่งตัวเลือกของสินค้าที่มาก กว่า โอกาสในการเลือกสิ่งที่พึงพอใจมากที่สุด ย่อมเป็นไปได้มากกว่า เพราะนั่นหมายถึงราคาในการเข้าถึงดูจะสมเหตุสมผล เมื่อมีการแข่งขันมักจะกดดันให้ราคาต่ำโดยตรรกะ ของการแข่งขันนั่นเอง
หากดีแทคจะพัฒนา HSDPA ก็ไม่น่าจะเสียหาย เมื่อมองย้อนกลับในแง่มุมของผู้บริโภคเป็นหลัก หรือถ้าเอไอเอสจะพัฒนา 3G บ้างก็ยังคิดในแง่ดีได้ว่าเป็นการตอบสนอง ความต้องการที่ทั่วถึงยิ่งขึ้นสำหรับคนในประเทศ สำหรับทรูมูฟเองหากจะต้องพัฒนา 3G แบบคนอื่นเขาบ้าง สุดท้ายแล้วข้อดีก็ตก อยู่ที่ประชาชนคนใช้งานอยู่วันยังค่ำ
ก็อาจจะจริงอยู่บ้างที่ผู้ให้บริการจะได้เงินตราไปแลกกับการให้บริการ แต่ก็ดูสมเหตุสมผลดีไม่ใช่หรือ คนใช้ได้สิ่งที่ต้องการ คนขายได้เงินกลับไป แล้วทำไมเมืองไทยถึงยังไม่มี 3G ให้เลือกมากกว่าที่เห็นสักที
เพราะอะไร ?
ผู้บริหารดีแทคคนหนึ่งบอกว่า "หากบริการ 3G ใหม่ของดีแทคจะไม่เกิดขึ้นก็ด้วย เหตุผลเดียว คงเป็นที่กฎหมาย"
|
|
|
|
|