การแถลงผลการดำเนินงานและแผนการลงทุนประจำปีของกลุ่มเซ็นทรัลดูจะสอดรับกับสภาพความเป็นจริงและทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาคได้พอสมควร
สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดประเด็นก่อนการแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2550 ด้วยการบรรยายภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีที่แล้ว และเช่นเดียวกันก่อนจะ เข้าช่วงการแถลงแผนการดำเนินงานปีนี้ก็ต้องคาดการณ์ ก่อนว่ากลุ่มเซ็นทรัลได้มองทิศทางเศรษฐกิจปี 2551 ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร
"ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2550 ยังขยายตัวดีกว่าปี 2549 เพราะการส่งออกยังดี เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเซ็นทรัล ก็ต้องปรับแผนธุรกิจหลายครั้งเพื่อรับกับปัจจัยเสี่ยงและความผันแปรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง" เป็นประโยคเริ่มต้นการแถลงข่าวของสุทธิชัย
"ภาพรวมปี 2551 กลุ่มเซ็นทรัลเชื่อว่าอุปสงค์ในประเทศทั้งการ บริโภค การลงทุน จะฟื้นตัวดีขึ้นนับจากช่วงครึ่งหลังของปี 2550 จาก ปัจจัยการเมืองที่เป็นบวก แต่ยังน่าห่วงเรื่องราคาน้ำมัน อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนหรือลดพนักงาน ซึ่งจะมีผลให้กำลังซื้อของ คนลดลง" เป็นการเกริ่นในช่วงรอยต่อ หลังเสร็จช่วงแถลงผลการดำเนิน งานปีที่แล้ว ก่อนจะเข้าช่วงแผนการดำเนินงานในปีนี้
ปีที่แล้วกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งแบ่งหน่วยธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม มียอด ขายรวม 95,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5% ส่วนกำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นเกือบ 10%
ในจำนวน 5 หน่วยธุรกิจ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) มียอดขาย สูงสุด 74,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% รองลงมาเป็นกลุ่มพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ (CPN) มียอดขาย 8,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% กลุ่มค้าส่ง (CMG) มียอดขาย 4,500 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง กลุ่มเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป (CRG) มียอดขาย 4,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และ สุดท้ายคือกลุ่มโรงแรม (CHR) มียอดขาย 3,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%
สุทธิชัยอธิบายภาพผลประกอบการดังกล่าวว่าเนื่องจากปีที่ผ่าน มามีปัจจัยลบหลายประการทำให้ความเชื่อมั่นของคนลดลง โดยเฉพาะ ตั้งแต่ต้นปีที่เกิดการวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ
"แต่ค้าปลีกก็ยังโต รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ก็ทำให้ยอดขายในกลุ่มโรงแรมโต"
ส่วนยอดขายในปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 103,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% โดย CRC จะมียอดขาย 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% CPN มียอดขาย 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% CMG กับ CRG ยอดขายเท่ากันที่ 4,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% และ 12% ตามลำดับ ส่วน CHR มียอดขาย 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%
ขณะที่ภาพการลงทุนในปีที่แล้วกลุ่มเซ็นทรัลมีการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 12,000 ล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ตอนต้นปี ว่าจะลงทุน 19,000 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ CPN ใช้เงินลงทุนมากที่สุด 4,800 ล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาคือ CRC ลงทุน 4,200 ล้านบาท คิดเป็น 35% CHR ลงทุน 2,600 ล้านบาท คิดเป็น 22% CRG ลงทุน 300 ล้านบาท คิดเป็น 2% และ CMG ลงทุน 100 ล้านบาท คิดเป็น 1%
"การลงทุนที่ต่ำกว่าเป้าหมายไปเล็กน้อย เพราะปัจจัยเดิมที่กล่าว ถึงแล้ว" ซึ่งในความหมายของสุทธิชัยคือปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจ
และด้วยความที่มองปัจจัยนี้ในเชิงที่บวกขึ้น ที่ทำให้ปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้วางแผนใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาท โดย CPN จะใช้เงินลงทุนมากที่สุด 6,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% รองลงมาคือ CRC ใช้ 5,000 ล้านบาท คิดเป็น 33% CHR ใช้ 3,500 ล้านบาท คิดเป็น 23% CRG ใช้ 370 ล้านบาท คิดเป็น 3% และ CMG ใช้ 130 ล้านบาท คิดเป็น 1%
"แต่ต้องอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ปกติ การเมืองมั่นคง ไม่มีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง" เขาตั้งเงื่อนไข
หากในสหรัฐอเมริกาใช้ยอดขายแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจระดับประชาชน เช่นเดียวกับที่ไทยใช้ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าเป็นตัววัดกำลังซื้อของคนระดับรากหญ้า
ผลการดำเนินงานและแผนลงทุนในแต่ละปีของกลุ่มเซ็นทรัล อาจสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของคนได้ระดับหนึ่ง เพราะธุรกิจของกลุ่มทั้ง 5 หน่วยธุรกิจ ล้วนอิงอยู่กับการบริโภคและกำลังซื้อของประชาชน
เพียงแต่เป็นการบริโภคของประชาชนในระดับกลางค่อนไปจนถึงระดับบน ซึ่งอยู่ปลายยอดของพีระมิดเท่านั้น
|