Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"ขวากหนามบนทาง 2 แพร่งของไทยเพรสซิเดนท์ฟู้ดส์"             
โดย สุพัตรา แสนประเสริฐ
 

 
Charts & Figures

ตารางเป้าหมายและอัตราการขยายตัวของการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่สำคัญ


   
www resources

โฮมเพจ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์

   
search resources

ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, บมจ.
นำเชา (ประเทศไทย)
Instant Food and Noodle




ผู้นำตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศไทยภายใต้ยี่ห้อ "มาม่า" และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า "นิสชิน" ในประเทศไทย กำลังอยู่บนทาง 2 แพร่งของการตัดสินใจเลือกสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าที่อาจจะมีการต่ออายุออกไปในธุรกิจบิสกิต หรือการเปิดตลาดในประเทศเพื่อขายบะหมี่ยี่ห้อนิสชินให้กับนิสชินฟู้ดจากญี่ปุ่น ปัญหาทางเลือกนี้เชื่อมโยงเข้ากับแรงกดดันมาร์จินตกต่ำลงเหลือร้อยละ 2 ของยอดขายบะหมี่ในประเทศ ดังนั้นตลาดส่งออกที่สร้างมาร์จินได้สูงกว่าจึงเป็นทางออกของไทยเพรสซิเดนท์

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของไต้หวัน "นำเชากรุ๊ป" ได้ขยายฐานเข้ามาตั้งรกรากปักหลักในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพียงหวังจะเฟื่องฟุ้งในสายการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดเมืองไทยกับเขาบ้างหลังจากที่สร้างชื่อเสียงของตนเองมาแล้วทั่วโลก

เดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนำเชาก็ชักธงรบส่งแบรนด์ "หมี่จัง" เข้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหวังชิงชัยตลาดมูลค่า 2,100 ล้านบาททันที แม้จะมีเป้าหมายการจับกลุ่มผู้บริโภคระดับสูงซึ่งมีสัดส่วนครองตลาดอยู่เพียงกว่า 10% ก็ตาม แต่การกระทำของนำเชาก็ทำให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมียักษ์ใหญ่เช่น ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ทนนิ่งเฉยเป็นยักษ์หลับอีกต่อไปไม่ได้

และถึงแม้ทางนำเชาจะปฏิเสธเป็นพัลวันว่าเขาไม่ใช่คู่แข่งของไทยเพรชิเดนท์ฯ อย่างที่คิดกัน แต่คำว่าคู่แข่งทางการค้าย่อมเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติอย่างแน่นอนในเมื่อนำเชาเป็นยักษ์อันดับ 1 ของไต้หวันและส่งสินค้าออกสร้างชื่อเสียงมาแล้วทั่วโลก ทำไมเมืองไทยจะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่นำเชาจะสร้างตลาดของตนเองไม่ได้เชียวหรือ ?

ส่วนไทยเพรซิเดนท์เป็นยักษ์อันดับ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับล่างและกลางอยู่ถึง 70% ของตลาดทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีสินค้าในระดับเดียวกันกับที่นำเชาส่งเข้าตลาดด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีกลุ่มผู้บริโภคเป็นสัดส่วนที่น้อยก็ตามแต่ตลาดนี้ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยับขยายฐานให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่ยากเย็น

แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งสำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับพรีเมียมและซูเปอร์พรีเมียมซึ่งเป็นตลาดที่นำเชาส่งเข้ามาต่อกรด้วยนั้นคือการแข่งขันน้อย ทว่ามาร์จินของสินค้าในระดับนี้จะสูงกว่ามาร์จินของสินค้าระดับกลางและล่างหลายเท่าตัว

มาร์จินของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับกลางและล่างจะตกอยู่ที่ประมาณ 2% ต่อซอง ส่วนระดับพรีเมียมและซูเปอร์พรีเมียมจะตกอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อซองซึ่งตลาดระดับล่างและกลางมีผู้เข้าแข่งขันในตลาดมาก ดังนั้นการแข่งขันในระดับนี้จะสูง และจะเป็นตัวที่ทำให้สินค้ายิ่งมีมาร์จินต่ำลง

ซึ่งโดยปกติอุตสาหกรรมอาหารจะมีมาร์จินต่ำกว่าการผลิตสินค้าอื่น ๆ อยู่แล้ว หากตลาดมีการแข่งขันกันมากเท่าไรมาร์จินของสินค้าก็จะยิ่งต่ำลงมากขึ้นเท่านั้นเพราะผู้ผลิตต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านส่งเสริมการขาย ดังนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงหาทางชดเชยกำไรด้วยการวางสินค้าในหลายระดับ ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกก็เป็นตัวสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง

จะว่าไปแล้วผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทยหลายรายจะไม่มุ่งเน้นทำตลาดในประเทศเพียงตลาดเดียว โดยส่วนใหญ่จะมีการทำตลาดส่งออกควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ไวไวกรุ๊ปและอายิโนะโมะโต๊ะ เป็นต้น ค่ายผู้ผลิตเหล่านี้จะมีตลาดส่งออกในสัดส่วนปริมาณ 30% ของปริมาณผลผลิตที่วางจำหน่ายตลาดในประเทศ

ส่วนนำเชาย้ายฐานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากไต้หวันเข้ามาไทยก็มีเป้าหมายเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในสัดส่วน 100 ของผลผลิต โดยเฉพาะไต้หวันซึ่งเป็นบริษัทแม่ และทางไต้หวันจะทำการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ตามเป้าหมาย

ตลาดส่งออกเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จากข้อมูลของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ได้ประมาณการส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในปี 35 ไว้ว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าโอกาสการส่งออกจะขยายตัวต่อไป ซึ่งอาจจะมีมูลค่าการส่งออกนับได้ 1,600 ล้านบาทอัตราการขยายตัว 14.29% เมื่อเทียบกับปี 34 ที่มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,400 ล้านบาท

ตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผู้ผลิตไทยส่งออกไปนั้นโดยส่วนใหญ่จะกระจายทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย (ดูตารางการส่งออกไปยังเป้าหมายประเทศต่าง ๆ ประกอบ) ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นซึ่งตลาดใหญ่คือกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นประชากรญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่

ไทยเพรซิเดนท์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสหกรุ๊ปนับได้ว่าเป็นค่ายผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนี้ และเป็นรายเดียวที่มีปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศเป็นอันดับ 1 โดยมีตลาดส่งออกที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน คูเวตและประเทศต่าง ๆ ในประชาคมยุโรป มีโรงงานผลิต 2 โรงและได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ

โรงงานแรกสร้างขึ้นเมื่อปี 2516 มีกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3,600 ตันต่อวัน โรงงานที่ 2 เพิ่งสร้างขึ้นที่ศรีราชา จ. ชลบุรีจะเดินเครื่องได้ประมาณเดือนมีนาคมนี้และมีกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าของโรงงานแรก

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ผู้นำคนสำคัญของไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า โรงงานแห่งที่ 2 นี้ได้นำเข้าเครื่องจักรผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้ามา 2 เครื่องจักรผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้ามา 2 เครื่องจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้อย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายในการส่งออกเพิ่มจากที่เคยส่งออกเดิมมูลค่า 300 ล้านบาทขยับขึ้นได้เป็น 2 เท่าทันทีที่เครื่องจักรพร้อมจะเดินได้ 2 กะต่อวัน คือประมาณ 150,000 ซองต่อกะ (กะละ 8 ชม.) ต่อ 1 เครื่องจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ซองต่อ 2 กะ

เขาคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้สมบูรณ์ 2 กะต่อวันประมาณกลางปี 35 นี้เป็นอย่างช้า

พิพัฒให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดส่งออกว่า เป็นตลาดที่มีความสำคัญ ผลที่ได้จากการส่งออกเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศแล้ว แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะน้อยกว่าในประเทศอย่างไรก็ตาม แต่สินค้าส่งออกมีมูลค่ามหาศาลกว่าตลาดในประเทศนัก นั่นคือมาร์จินของสินค้าส่งออกสูงถึง 10% ต่อซองหากเทียบกับมาร์จินของตลาดในประเทศที่มีเพียง 2% เท่านั้น

หากพิจารณาจากมาร์จินของสินค้าส่งออกแล้วสิ่งที่พิพัฒพูดก็น่าที่จะเป็นตัววัดแนวโน้มของตลาดส่งออกในอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งไทยเพรซิเดนท์ฯ เองก็มีเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนการส่งออกด้วยเช่นกัน ในขณะที่นำเชาเองก็คือเช่นนี้ด้วย

แจ๊ค ลู ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นำเชา (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่ามาร์จินของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของนำเชาส่งออกจะอยู่ในอัตรา 5-10% เทียบกับสินค้าที่วางตลาดในประเทศและเมื่อส่งกลับไปยังไต้หวันโดยบริษัทแม่จะเป็นผู้ส่งออกกระจายตลาดต่างประเทศอีกทีหนึ่งมาร์จินของสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้อยู่ที่ความแตกต่างของตลาดในแต่ละประเทศที่นำเข้า

"กำไรที่ได้จากการส่งออกดีกว่าตลาดในประเทศ แน่นอน ที่เป็นเช่นนี้เพราะสินค้าส่งออกเราขายได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ขายในประเทศ ตามปกติธุรกิจสายอาหารมาร์จินจะไม่เกิน 4% แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะสูงถึง 10% เลยทีเดียว เช่นมาม่าขายในเมืองไทยซองละ 5 บาท แต่พอเราส่งออกไปที่อเมริกาหรือญี่ปุ่นมูลค่าของเงินจะเปลี่ยนไปราคาก็เปลี่ยนตามด้วยจาก 5 บาทก็เป็น 25 บาทหรืออาจจะถึง 30 บาทด้วยซ้ำไป ถ้ามองว่าราคาค่อนข้างจะสูงหากคิดเป็นเงินไทย แต่ถ้าคิดถึงค่าครองชีพในประเทศต่าง ๆ แล้ว จะไม่ค่อยเท่าไร มาร์จินของสินค้าส่งออก ถึงได้สูงกว่าในประเทศหลายเท่าตัวนัก" พิพัฒอธิบายถึงความพยายามในการเพิ่มสินค้าส่งออกให้มากขึ้นกว่าเดิม นั้นมีสาเหตุมาจากมาร์จินเป็นแรงจูงใจ

แต่ตลาดส่งออกก็มีคู่แข่งที่สำคัญหลายประเทศ ซึ่งพิพัฒยอมรับว่าประเทศเหล่านี้คือ ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการผลิต หรือตลาดที่รองรับล้วนแล้วแต่เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

ขณะเดียวกันแนวโน้มที่จะมีบริษัทต่างชาติจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเมืองไทยและส่งกลับไปยังบริษัทแม่ เช่นที่ไต้หวันคือ "นำเชา" กำลังดำเนินการอยู่และในอนาคต "นิสชิน" ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกก็มีทีท่าว่าจะขยายฐานเข้ามาผลิตในเมืองไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุของการย้ายฐานเข้าเมืองไทยนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือต้นทุนต่ำกว่าการผลิตในประเทศนั้น ๆ

ว่ากันตามจริงแล้ว นิสชิน ฟู้ด ได้นำเทคโนโลยีด้านการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าเมืองไทยมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน โดยค่ายอะยิโนะโมะโต๊ะเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีจากนิสชิน เพื่อทำการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "นูดเดิ้ล ดี" วางตลาดในระดับพรีเมียม และนับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมพอสมควร

ผลจากการขายเทคนิคเคิลโนว์ฮาวให้กับอายิโนะโมะโต๊ะในปัจจุบัน ประกอบกับศักยภาพของประเทศไทย ทำให้นิสชิน ฟู้ด ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นย่ามใจหมายที่จะเข้ามาร่วมชิงตลาดในประเทศและต่างประเทศบ้าง จึงคิดที่จะขยับขยายฐานการผลิตเพื่อสร้างชื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "นิสชิน" ในตลาดเมืองไทยเองแทนที่จะปล่อยเพียงเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาเท่านั้น

แม้ว่าความพร้อมของนิสชินจะมีอยู่สูงเพียงใดก็ตาม แต่นิสชินก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาสร้างชื่อ "นิสชิน" ของตนเองได้ในเมืองไทย อุปสรรคที่สำคัญของนิสชินคือเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าตรา "นิสชิน" ในเมืองไทยคือยักษ์ใหญ่ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ นั่นเอง

ไทยเพรซิเดนท์ได้ไลเซนส์ผลิตบิสกิต "นิสชิน" ของบริษัท นิสชิน คอนเฟคชั่นเนอรี่ จำกัด เมื่อ 20 ปีที่แล้วและได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ "ที่สำคัญคือบริษัทนิสชินคอนเฟคชั่นเนอรี่ กับบริษัท นิสชิน ฟู้ด ประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งในรูปกลุ่มผู้ถือหุ้นและกลุ่มผู้บริหาร" แหล่งข่าวในกลุ่มสหพัฒน์บอกเล่าให้ฟังถึงปมเงื่อน

กล่าวกันว่านิสชิน ฟู้ดกำลังเจรจากับยักษ์ใหญ่ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์เพื่อหาทางออกให้กับตัวเองในการที่จะเข้ามาทำตลาดบะหมี่ในเมืองไทยภายใต้ยี่ห้อนิสชิน

ทางหนึ่งที่นิสชิน ฟู้ดต้องการที่จะแก้ปัญหาการเข้ามาของตนเองคือขอร่วมลงทุนกับไทยเพรสซิเดนท์ฯ ไปเสียเลย

แต่ถ้าหากเจรจาในแง่การร่วมทุนไม่สำเร็จนิชินฟู้ดก็อาจจะตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสร้างชื่อใหม่เข้าตลาดอีกตัวหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับนิสชินนัก เพราะนโยบายการลงทุนของญี่ปุ่นนั้นยอมที่จะทุ่มทุนมหาศาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในต่างถิ่นอยู่แล้ว

ส่วนปัญหาของไทยเพรซิเดนท์ฯ คือ การต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างบิสกิต "นิสชิน" กันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "นิสชิน"

"เรากำลังได้ต่อสัญญาไลเซนส์บิสกิตกับนิสชินคอนแฟคชั่นเนอรี่อยู่ คิดว่าคงไม่มีปัญหา ส่วนนิสชินฟู้ด กำลังเจรจาอยู่ "พิพัฒกล่าวเช่นนี้ย่อมหมายความว่าเขายังไม่ได้ตัดสินใจสำหรับทาง 2 แพร่งนี้

ไทยเฟรซิเดนท์ฯ กำลังอยู่ระหว่างทาง 2 แพร่งที่จำเป็นต้องเลือกอย่างระมัดระวัง เพราะสินค้าทั้ง 2 ตัวนี้ถือว่าอยู่ในข่ายที่เขาจะสามารถทำรายได้ให้กับไทยเพรซิเดนท์ฯ ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบิสกิตซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยเพรซิเดนท์ฯ สร้างให้ติดตลาดมานานกว่า 14 ปีแล้วและทำรายได้ในปี 34 ถึง 8% ของยอดขาย 1,500 กว่าล้านบาท

ถ้าเขาเลือกร่วมทุนผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าบิสกิต เขาก็อาจจะมีรายได้เพิ่มจากการเป็นมือปืนรับจ้างผลิตให้นิสชิน ฟู้ดคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทก็ได้ ซึ่งการตัดสินใจเลือกเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเขาต้องปล่อยบิสกิตไป และการที่เขาจะปล่อยนิสชิน คอนเฟคชั่นเนอรี่ให้ไปอยู่ในมือค่ายอื่นไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

และถ้าหากเขาจะปล่อยให้นิสชิน ฟู้ดไปลงทุนผลิตเองหรือร่วมลงทุนกับค่ายอื่น ๆ ที่นิสชินฟู้ดเองก็ให้ความสนใจอยู่ 3 รายด้วยกัน หลังจากเจรจากับไทยเพรซิเดนท์ฯ ไม่สำเร็จก็เท่ากับว่าเขาได้ปล่อยเสือให้ไปคำรามในตลาดเพิ่มอีกราย ซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว

นอกจากนี้เสือตัวนี้ก็มีความพร้อมพอที่จะหันมาแว้งกัดไทยเพรซิเดนท์ฯ ได้ทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

เพราะการที่นูดเดิล ดี ของค่ายอายิโนะโมะโต๊ะได้รับความนิยมในตลาดนั่นย่อมหมายความว่านิสชินฟูดมีของดีจริง ๆ ซึ่งคงไม่ใช่มีดีที่ซุปเท่านั้น

ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศมีการแข่งขันกันอย่างหนัก ทุกค่ายต่างนำกลยุทธการขายทุกรูปแบบเข้าต่อสู้ฟาดฟันเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในส่วนแบ่งการตลาดในเซกเมนท์ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับล่างเป็นบะหมี่สำหรับเด็กราคา 4-5 บาทครองสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ 63% ของตลาดทั้งหมด

ตลาดระดับราคาสูงหรือพรีเมียมราคา 6-14 บาทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15% และตลาดซูเปอร์พรีเมียมซึ่งมีราคา 15 บาทขึ้นไปมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% ซึ่งตลาดทั้ง 4 ระดับจะมีผู้วางสินค้าครอบคลุมตลาดทั้งหมดไว้โดยส่วนใหญ่

อาทิ ค่ายไทยเพรซิเดนท์ฯ ส่งมาม่าวางสินค้าทั้ง 4 ระดับ อายิโนะโมะโต๊ะก็วางยำยำไว้ทั้งตลาดล่าง และกลาง ในขณะที่ตลาดระดับพรีเมียมส่งนูดเดิล ดีเข้าชิงมาร์เก็ตแชร์ 15 % ร่วมด้วย หรือแม้แต่ผู้มาใหม่เช่นนำเชาที่เข้ามาท้าทายวงการแถมพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวางสินค้าทั้ง 4 ระดับครอบคลุมหมดด้วยแล้วตลาดก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกที

กลยุทธด้านราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่รสชาติของสินค้าที่ถูกปากคนไทยพร้อมด้วยรายการส่งเสริมการขายยังเป็นตัวชูโรงนำมาเป็นกลยุทธเจาะใจผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามการแข่งขันมิได้หยุดอยู่ที่ตลาดในประเทศเท่านั้น เป้าหมายของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยยังได้ลุกลามขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศจากที่เคยส่งออกเดิมที่ไต้หวัน ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าไปกวาดตลาดในอเมริกา ยุโรปและในเอเชียโดยเฉพาะ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลย์เซีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายเดียวกันกับที่นิสชินต้องการ

พิพัฒบอกว่าเขาได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกเพิ่มโดยขยายตลาดไปยังมาเลย์เซีย สิงคโปร์และฮ่องกงเหมือนกับที่ค่ายอื่น ๆ จะเข้าไป

สาเหตุของการมองตลาดเดียวกันนั้น อาจกล่าวได้ว่าเพราะประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อและมีปริมาณความต้องการสูง

เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มการคืบคลานของบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศจะออกมาเช่นนี้ ทางออกที่ไทยเพรซิเดนท์ฯ จะทำได้เพื่อหลีกหนีการแข่งขันที่สูงอันเป็นสาเหตุที่มาของการทำให้มาร์จินถดถอยนี้ จึงมีอยู่วิธีเดียวคือ มุ่งการส่งออกให้หนักขึ้น

"ปีที่แล้วเรามีการตั้งเอเยนต์ใหม่และมีการตั้งสำนักงานขายขึ้นที่อเมริกาซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำ" พิพัฒกล่าวไว้เช่นนั้นกับ "ผู้จัดการ"

ในคำพูดดังกล่าวมีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกความจำเป็นในการตั้งเอเยนต์ใหม่ก็เพื่อเป็นฐานในการกระจายสินค้าส่งออกให้ได้อย่างทั่วถึง เพราะนับจากการตั้งสำนักงานขายขึ้นใหม่ไม่นาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเพรซิเดนท์ฯ ก็มียอดขายทะลุเป้าโดยเพิ่มขึ้นอีก 50% ทันที

พิพัฒ บอกว่าเอเยนต์เก่าเป็นเอเยนต์เก่าแก่จริง ๆ ไม่มีการพัฒนาหรือการปรับตัวตามสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันของเขาไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง ขณะเดียวกันการกระจายสินค้าก็ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการอีกด้วย หากเราจะเน้นการส่งออกเราก็ต้องใช้วิธีการตั้งเอเยนต์ของเราเองเพื่อลดต้นทุนและควบคุมประสิทธิภาพของงานได้

การปรับตัวเพื่อหลีกหนีการแข่งขันของตลาดในประเทศและป้องกันการแย่งชิงตลาดต่างประเทศของคู่แข่งเช่นไต้หวัน หรือญี่ปุ่นได้มีเพียงหนทางเดียวคือมุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งไทยเพรซิเดนท์ฯ เจาะตลาดต่างประเทศด้วยการตั้งเอเยนต์หรือสำนักงานขายของตนเองขึ้นมา หลังจากที่เคยใช้วิธีการจ้างตัวแทนเป็นผู้ทำตลาดให้

ซึ่งปัจจุบันไทยเพรซิเดนท์ฯ มีเอเยนต์ในอเมริกา 6 รายและมีสำนักงานขายในลอสแองเจลิส แคนาดา 4 ราย ในแถบยุโรปมีในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และที่ออสเตรเลียอีก 3 ราย นอกจากนี้กำลังเจาะเข้าตลาดมาเลย์เซียและสิงคโปร์โดยการเข้าร่วมทุนกับคนท้องถิ่นตั้งบริษัทจัดจำหน่ายเป็นของตนเอง

ส่วนญี่ปุ่นกำลังเป็นเป้าหมายที่สำคัญต่อไปในการที่จะเข้าไปเจาะตลาด โดยใช้วิธีการเดียวกันกับที่สิงคโปร์ คือเข้าร่วมกับคนท้องถิ่นสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมา เพราะคนท้องถิ่นย่อมเข้าใจและรับรู้พฤติกรรมการบริโภคของประชากรตนเองได้ดีกว่าเขาต้องการอย่างไร ซึ่งการตั้งสำนักงานในญี่ปุ่นนี้คาดว่าจะจัดตั้งได้หลังจากที่มีการสรุปผลของการตั้งตัวแทนในอเมริกาออกมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

พิพัฒพูดถึงการเข้าไปตั้งเอเยนต์ในอเมริกาซึ่งเขาให้ความสำคัญมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าอเมริกาจัดได้ว่าเป็นตลาดใหญ่มูลค่าการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมาสูงถึง 380 ล้านบาทและคาดว่าในปี 35 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 430 ล้านบาทในขณะที่ญี่ปุ่นตัวเลขการส่งออกก็มีมูลค่าอยู่มิใช่น้อยคือประมาณ 68 ล้านบาทในปี 34 คาดว่าในปี 35 จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านบาท

นอกจากประเด็นของการตั้งเอเยนต์ของตนเองเพื่อผลทางประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าและเพิ่มยอดขายแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือผลพลอยได้จากการจัดตั้งสำนักงานขายของตนเอง เพื่อเป็นฐานการส่งออกสินค้าใหม่เพื่อผลทางการสร้างรายได้เพิ่มแทนที่จะได้จากตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงรายการเดียว ซึ่งนับได้ว่ามาม่าจะเป็นหัวหอกในการนำล่องตลาอให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้าที่ผลิตจากไทยเพรซิเดนท์ฯ เมื่อมาม่านำล่องไปได้ตามที่กำหนด สินค้าส่งออกตัวใหม่ก็มีความพร้อมพอที่จะสู้กับโลกภายนอกพ่วงกันไปได้อีกคือ บิสกิตฟาร์ม เฮ้าส์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้เทคนิเคิลโนฮาวมาจากนำเชากรุ๊ป ไต้หวัน มิตรที่กำลังจะเป็นคู่แข่งกันในอนาคตนั่นเอง

หนทางการแข่งขันของไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดดูเหมือนจะไม่ราบรื่นอย่างที่ผ่านมา เมื่อยักษ์หน้าใหม่ ๆ ค่อย ๆ โผล่มาให้เห็นเพื่อหมายล้มยักษ์เก่าในประเทศให้ได้ แม้จะไม่ใช่ในทันทีทันใด หากไทยเพรซิเดนท์ฯ ไม่รู้จักทางหนีทีไล่ แรงกดดันมาจากผู้มาใหม่ก็อาจจะผลักไสให้ไทยเพรซิเดนท์สูญเสียความเป็นผู้นำตลาดในประเทศได้ในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us