|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2551
|
|
ความตื่นตัวในเรื่องพลังงานทดแทนนอกจากจะกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในทางสังคมและแวดวงเศรษฐกิจแล้ว กรณีดังกล่าวได้เปิดให้เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย
การขยายธุรกิจที่มุ่งเน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มของ PURE Biodiesel เป็นอีกหนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในประเด็นที่ว่านี้
ภายใต้ข้อจำกัดที่ระยองเพียวริฟายเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ในฐานะผู้ประกอบการโรงกลั่นขนาดเล็ก ที่อาศัย Condensate Residual (CR) มาเป็นวัตถุดิบในการกลั่น ทำให้ ระยองเพียวริฟายเออร์มีจุดเน้นอยู่ที่น้ำมันดีเซลเป็นด้านหลัก
ขณะที่โอกาสทางธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ดูเหมือนจะขยายตัวและสร้างผลกำไรในอัตราที่ลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับ ท่ามกลางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ มีแนวโน้มจะครอบงำตลาดได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างง่ายดาย
มาตรการและนโยบายของรัฐที่มุ่งหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้น กลายเป็นประหนึ่งแรงกระตุ้นให้ระยองเพียวริฟายเออร์ ต้องเร่งหาหนทางที่จะรักษาตำแหน่งและสถานภาพทางธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำมันนี้
"การบังคับใช้ไบโอดีเซล บี 2 เป็นมาตรฐาน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหาบี 100 มาเป็นส่วนผสม แต่จะหาซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นหรือจะลงทุนผลิตเอง นี่เป็นโจทย์ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ"
บรรลือ ศรีโปดก เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของระยองเพียวริฟายเออร์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพียว ไบโอดีเซล บอก "ผู้จัดการ"
สมการที่เป็นผลให้เกิดการก่อตั้งเพียว ไบโอดีเซล ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ระยองเพียวริฟายเออร์ มีกำลังการผลิตน้ำมันจาก CR ได้รวม 80 ล้านลิตรต่อเดือน โดย 80% ของการกลั่นเป็นดีเซล ส่วนที่เหลือเป็นน้ำมัน เตา (fuel oil) และสารละลาย (solvent)
แม้ว่าระยองเพียวริฟายเออร์จะพยายามดำเนินธุรกิจค้าปลีกเชิงรุกด้วยการขยายสถานีบริการเพียวในเขตภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผสานพันธมิตรกับสัมมากร จัดตั้งเพียวสัมมากร เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในนาม "เพียวเพลส"
แต่น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่จำหน่ายในสถานีบริการเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพียวต้องซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นทั้งสิ้น
การพึ่งพาบี 100 จากผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อให้ได้ไบโอดีเซลตามมาตรฐานบี 2 หรือแม้กระทั่งบี 5 และบี 10 ในอนาคต ย่อมไม่ใช่คำตอบของระยองเพียวริฟายเออร์ ในระยะยาวอย่างแน่นอน
"บริษัทได้พิจารณาทั้งในส่วนของเอทา นอล และไบโอดีเซล (บี 100) ซึ่งนอกจากความแตกต่างในมิติของเงินลงทุนที่การผลิต เอทานอล ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าแล้ว การ ผลิตบี 100 น่าจะเป็นการเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจของบริษัทได้มากกว่า"
การลงทุนของเพียวไบโอดีเซลเพื่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 โดยมี crude palm oil (CPO) เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการ อาจให้ภาพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับประสบการณ์เดิมๆ ของระยองเพียวริฟายเออร์ที่ใช้ CR ซึ่งเป็น "ของเหลือ" หรือผลพลอยได้ (by-product) จากกระบวนการผลิตของบริษัทอะโรเมติคส์
หากข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้เงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 ที่มีกำลังการผลิต 3 แสนลิตรต่อวัน เพียวไบโอดีเซลย่อมไม่อาจถูกประเมินด้วยสายตาดูแคลนในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่กำลังเติบโตนี้ได้
ความแตกต่างที่อาจเป็นข้อด้อยของเพียวไบโอดีเซล เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการ รายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางจาก และ TOL บริษัทในเครือ PTT Chemical อาจอยู่ที่ขนาดและช่องทางการจำหน่าย
แต่ในทางกลับกันความแข็งแกร่งในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานและประสบการณ์จากดีเซล การก้าวเข้าสู่ธุรกิจไบโอดีเซลอย่างเต็มตัว อาจทำให้เพียวไบโอดีเซลอยู่ในฐานะผู้ประกอบการที่มีแต้มต่อไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกันด้วยเหตุที่เพียวไบโอดีเซล มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับโรงกลั่นของระยองเพียวริฟายเออร์ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแวดล้อมด้วยโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆ อาจเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของ เพียวไบโอดีเซล
"ในฐานะผู้ค้าน้ำมันและกลั่นน้ำมัน ย่อมมีความคุ้นเคยและความเชื่อถือระหว่างกัน ซึ่งในมิติหนึ่งอาจเหมือนเป็นคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ อยู่ในฐานะที่เป็นคู่ค้ากันมากกว่า"
สิ่งที่บรรลือ ศรีโปดก ในฐานะผู้กุมบังเหียนเพียวไบโอดีเซลสะท้อนออกมาอยู่บน ฐานของความจริงที่ว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่น น้ำมันปิโตรเลียมที่มีอยู่รวม 7 แห่งในปัจจุบัน มิได้หันมาลงทุนเพื่อผลิตไบโอดีเซล บี 100 ทุกราย
กระนั้นก็ดี โอกาสทางธุรกิจอาจมิได้เปิดกว้างและรอคอยให้เพียวไบโอดีเซลเข้าแสวงประโยชน์โดยปราศจากแรงเสียดทาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ข้อเท็จจริง ที่ว่า โรงงานของเพียวไบโอดีเซลจะสามารถ เดินเครื่องผลิตบี 100 ได้ในเดือนสิงหาคม 2551
หรือหลังจากที่รัฐกำหนดให้น้ำมันดีเซลภายในประเทศต้องอยู่ภายใต้มาตรฐาน ขั้นต่ำ บี 2 ไปนานกว่า 5-6 เดือนแล้ว
จุดยืนของเพียวไบโอดีเซลอาจมิได้อยู่ที่การประกาศจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน ที่กำลังเป็นวาทกรรมหลักในการสร้างมูลค่าทางการตลาด
หากแต่ด้วยเหตุแห่งชื่อของเพียวไบโอดีเซล ที่สะท้อนนัยความหมายของทิศทางธุรกิจในอนาคต
ความท้าทายที่รอคอยเพียวไบโอดีเซลอยู่เบื้องหน้า จึงเป็นประหนึ่งการพิสูจน์ให้เห็นความแหลมคมในวิสัยทัศน์ หรือเป็นเพียงชื่อที่เกิดขึ้นบนทัศนะที่ต้องยอมรับเงื่อนไขที่ครอบลงมาและกำหนดให้เดินเท่านั้น
ขึ้นอยู่กับว่าเพียวไบโอดีเซลจะมีศักยภาพเพียงพอต่อการตอบโจทย์เหล่านี้ในมาตรฐานใด
|
|
|
|
|