Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2551
Palm Oil : The Glittering Future?             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

PURE Biodiesel ความท้าทายของรายเล็ก
TOL สร้างธุรกิจมากกว่าคำว่าไบโอดีเซล
CPF สร้างมูลค่าเพิ่มในวงจรปิด
AI Logistic Player
บางจาก พันธสัญญาบนความขัดแย้ง

   
search resources

ธนินท์ เจียรวนนท์
Oil and gas




ภายใต้ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีว่าด้วยพลังงานทดแทนได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เป็นประหนึ่งคำตอบสำหรับอนาคตที่สุกสกาวที่ก่อให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัญหาว่าด้วยผลกระทบจากราคาพลังงานได้รับการระบุให้เป็นกรณีเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการแก้ไขทันที

โดยมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้อยู่ที่การเร่งรัดโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตร ทั้งแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

กรณีดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในประเด็นว่าด้วยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตพืชพลังงาน ทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานข้างต้น

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การศึกษาและใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2520 (แก๊สโซฮอล์ 2524 และไบโอดีเซล 2528)

แต่กรณีดังกล่าวกลับมิได้ถูกกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์แบบบูรณาการในระดับชาติ (National integrated strategy) ที่มีความหมายครอบคลุมไปถึงการวางมาตรการเพื่อการพัฒนาอย่างจริงจังรอบด้าน

การกำหนดนโยบายในลักษณะที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เบื้องหน้า เช่นนี้ย่อมไม่สามารถสร้างหลักประกันสำหรับ ประสิทธิภาพของการจัดการในระยะยาวได้

กรมธุรกิจพลังงานอาจพึงพอใจกับตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,280 ล้านลิตร ในปี 2549 ซึ่งถือเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทุกชนิดในประเทศ

หากแต่ในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมใน น้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้ว แม้กรณีดังกล่าวจะหนุนนำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกับพืชผลทางการเกษตรทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง แต่ในอีกด้านหนึ่งความไม่ชัดเจนในแนวนโยบาย กลับส่งผลให้เกิดภาวะเอทานอลล้นตลาดในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกันความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่สามารถกำหนดมาตรการเชิงรุกที่สะท้อนให้เห็นจากกรณีการปรับลดมาตรฐานขั้นต่ำของน้ำมันไบโอดีเซล จากระดับไบโอดีเซล บี 2 ให้เหลือเพียงไบโอดีเซล บี 1 จากผลของปัญหาปัจจัยด้านราคาและภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ความมุ่งหมายของภาครัฐที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ปีละ 5 แสนไร่ในช่วงเวลา 4 ปีนับจากนี้เพื่อแก้ปัญหาด้าน supply และรองรับการขยายตัวสำหรับการผลิตไบโอดีเซลในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขของการส่งเสริมหลากหลาย กลายเป็นประหนึ่งการให้สัมปทานบัตรในการ "ขุดหาทองคำบนผิวดิน" และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหลายรายผันตัวเข้าหาโอกาสทางธุรกิจที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตนี้

ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะเป็นภาพสะท้อนทิศทางธุรกิจการเกษตรของเจริญโภคภัณฑ์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ธนินท์อ้างถึงประเทศในตะวันออก กลางว่าสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ จากผลที่ประเทศเหล่านี้มีน้ำมันดิบอยู่ "ใต้ผิวดิน" หากแต่ประเทศไทยก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ เพราะมีน้ำมันอยู่ "บนผิวดิน"

นัยความหมายของธนินท์ ในด้านหนึ่งอาจประเมินได้ว่าเป็นถ้อยความปลอบประโลม ไม่ต่างจากวาทกรรมในอดีตว่าด้วย "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นปัจจัยเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้สังคมไทยมาตลอดเวลานับศตวรรษ

หากแต่ข้อเท็จจริงที่สอดรับกับถ้อยแถลงของธนินท์ดังกล่าวอยู่ที่ ภายใต้กลไกที่กว้างขวางของ CP ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ของประเทศ การหันกลับมาให้ความสนใจธุรกิจพลังงาน ที่มีฐานจากพืชผลทางการเกษตรที่ CP มีความชำนาญการพิเศษ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อาจมองข้าม

ขณะเดียวกันภายใต้มาตรการลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กำลังทดลองการแปลงสภาพน้ำมันพืชใช้แล้วจากกระบวนการผลิตให้กลับมาเป็นไบโอดีเซล สำหรับใช้ประโยชน์ในโรงงานด้วย

แต่การนำปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทน มิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศที่ปราศจาก แรงเสียดทาน

หากในความเป็นจริง ปาล์มน้ำมันจะมีฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สังคมไทยคุ้นเคย และได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแปรรูปปาล์มน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันพืชและสินค้าเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว

กระนั้นก็ดี แรงดึงดูดของปาล์มน้ำมันได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านพลังงาน หันความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ธุรกิจที่กำลังถูกเปิดให้กว้างขึ้น แม้จะติดตามมาด้วยปัญหาการช่วงชิงวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบันก็ตาม

เหตุเพราะในด้านหนึ่งผู้ประกอบการพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาหลักประกันด้านวัตถุดิบเพื่อให้สามารถดำเนิน ธุรกิจหลักได้ตามมาตรฐานว่าด้วยน้ำมันไบโอดีเซลที่จะกำหนดใช้ในอนาคต

ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าสู่ธุรกิจนี้ภายใต้ความเชื่อ ที่ว่าปาล์มน้ำมันจะเป็นใบเบิกทางไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่สดใสในอนาคต

กระนั้นก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของการพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากปาล์มในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังอยู่ห่างไกลจากระดับขั้นการพัฒนาของประเทศผู้ปลูกปาล์มรายอื่นๆ อยู่พอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ปลูกปาล์ม ที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงและเป็นเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งต่างได้กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทาง ของการพัฒนาปาล์มน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจรและชัดเจน

ข้อเท็จจริงจากกรณีของมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากกว่าประเทศไทยประมาณ 16 เท่า อาจไม่น่าสนใจเท่ากับการ ที่มาเลเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (Malaysia Palm Oil Board : MPOB) เพื่อกำกับดูแลกลไกราคา และกำหนดทิศทางในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมัน

ซึ่งข้ามพ้นจากการใช้ปาล์มน้ำมัน มาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซลไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ทั้งเวชภัณฑ์และอาหาร ที่มีระดับเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

วงจรธุรกิจของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยนับจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร อาจเป็นคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนกาล

เพราะวาทกรรมระดับชาติว่าด้วยพลังงานทดแทนที่ปราศจากวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธศาสตร์ย่อมไม่สามารถเป็นคำตอบใน เชิงปฏิบัติการให้กับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เบื้องหน้าได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us