|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้เพิ่มอัตราการวางหลักประกันบัญชีซื้อขายเงินสดเป็น 15% จากเดิม 10% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ ตามข้อเสนอของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หวังสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทยและป้องกันความเสี่ยงในการชำระราคาหุ้น พร้อมมอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันจากเดิมมีแค่ 8 รายการ ด้านนักลงทุนรายใหญ่ประสาน ชี้ทำให้สูญเสียโอกาสการลงทุน-เก็งกำไรและฉุดมูลค่าการซื้อขายลดลง
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 มีมติอนุมัติให้เพิ่มอัตราการวางหลักประกันจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ สำหรับบัญชีเงินสดของผู้ลงทุนบุคคลทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มหลักประกันครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการชำระราคา และสร้างความมั่นคงให้ระบบการซื้อขายมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มประเภททรัพย์สินที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน
ส่วนขั้นตอนการพิจารณานั้น สืบเนื่องจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้แจ้งผลการศึกษาเรื่องการวางหลักประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เหมาะสม สำหรับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าการเพิ่มอัตราการวางหลักประกันสำหรับบัญชี เงินสดเป็นร้อยละ 15 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางด้านการชำระราคาสำหรับ ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน และเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนโดยรวม
"บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของสมาคมโบรกเกอร์ และเห็นด้วยที่จะให้ปรับอัตราการวางหลักประกันเป็นร้อยละ 15 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของระบบชำระราคาและอุตสาหกรรมโดยรวม"
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติให้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาประเภททรัพย์สินที่สามารถวางเป็นหลักประกันได้ เพื่อเปิดกว้างให้ลูกค้าสามารถนำทรัพย์สินมาวางหลักประกันเพิ่มเติมได้โดยทรัพย์สินดังกล่าวต้องมีสภาพคล่องสูงและความเสี่ยงต่ำ เพื่อรองรับตราสารใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบันทรัพย์สินที่วางเป็นประกันตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มี 8 ประเภท ได้แก่ เงินสด หลักทรัพย์จดทะเบียน ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก หนังสือคำประกัน ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงตราสารในการลงทุนทั้งหมด เช่น หน่วยลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับสมาชิก และให้สมาชิกมีระยะเวลาสร้างความเข้าใจกับลูกค้าอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 51 เป็นต้นไป"
กระทบพอร์ตนักลงทุนรายใหญ่
แหล่งข่าวนักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า การเพิ่มหลักประกันบัญชีซื้อขายเงินสดเพิ่มจาก 10% เป็น 15% ถือว่าค่อนข้างส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่มีพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากในบางช่วงหลักทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ตอาจจะไม่เพียงพอต่อการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ จึงอาจจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุน
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายประเภทสินทรัพย์ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะสร้างความไม่สะดวกต่อการซื้อขาย แต่เชื่อว่าการกำหนดระยะเวลาที่จะใช้จริงในช่วงกลางปีน่าจะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้
"การเพิ่มหลักประกันดังกล่าวสร้างความไม่สะดวกให้กับนักลงทุนในบัญชีเงินสดแน่นอน บางครั้งผู้ลงทุนอาจจะยังไม่มีหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันได้ในวันนั้นๆ ซึ่งการที่ไม่สามารถซื้อหุ้นได้ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุน" นักลงทุนรายใหญ่กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะลดลง เนื่องจากพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่มักจะนิยมซื้อขายหุ้นเก็งกำไร ซื้อเช้าขายบ่ายในจำนวนที่ค่อนข้างมากเพื่อหาส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งเมื่อต้องมีการวางหลักประกันเพิ่มก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับนักลงทุนรายย่อย
รายย่อยแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเพิ่มอัตราการวางหลักประกันจากเดิม 10% เป็น 15% ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของโบรกเกอร์ ป้องกันความเสี่ยงทางด้านการชำระราคา ช่วยให้คุณภาพลูกค้าดีขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น
ขณะที่ข้อเสียได้แก่ การเพิ่มหลักประกันจะเป็นการผลักภาระให้กับนักลงทุน ที่อาจส่งผลต่อนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินน้อย รวมถึงกระทบกับนักลงทุนที่เปิดหลายบัญชีให้มีต้นทุนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะปิดบัญชีที่ไม่จำเป็นได้
"เรื่องนี้คงจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก เวลาผ่านไปซักระยะนักลงทุนจะสามารถปรับตัวได้ ขณะเดียวกันก็จะไม่ส่งผลและเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนรายใหม่"
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวคงจะมีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยบ้างในช่วงแรก ที่จะมีต้นทุนในการเปิดบัญชีมากขึ้น แต่นักลงทุนสามารถนำทรัพย์สินอื่นมาวางเป็นหลักประกันแทน เช่น หลักทรัพย์จดทะเบียน ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้
"นักลงทุนต้องแบกรับภาระต้นทุนมากนั้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเปิดหลายๆ บัญชีเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่เรื่องนี้จะมีข้อดีที่ช่วยลดความเสี่ยงของโบรกเกอร์ และทำให้การเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นมีความยุ่งยากมากขึ้น"
ด้านเจ้าหน้าที่การตลาด กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ได้มีนักลงทุนรายย่อยจำนวนหนึ่งโทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไรหลังการเพิ่มหลักประกัน โดยหลายคนเริ่มกังวลที่ต้องนำเงินสดหรือหลักทรัพย์มาวางประกันเพิ่ม แต่เชื่อว่ากว่าจะเริ่มใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวนักลงทุนรายย่อยน่าจะปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
|
|
|
|
|