Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"หลังบีไอเอส แบงก์ใหญ่ลอยตัว แบงก์กลางลำบาก"             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 

 
Charts & Figures

กราฟแสดงวิวัฒนาการเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของแบงก์ไทย


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
Banking and Finance




ในปีนี้ แบงก์ชาติกำหนดให้แบงก์พาณิชย์จะต้องปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและการดำเนินธุรกิจเข้าสู่กฎเกณฑ์ของบีไอเอส ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจและความระมัดระวังในการบริหารจะเพิ่มมากขึ้น การแสวงหาธุรกิจที่ที่ไม่เป็นภาระต่อเงินกองทุนเป็นทางรอดที่นายแบงก์ทุกรายมองเห็น การบ้านของนายแบงก์ข้อนี้จะทำอย่างไรช่วงจากนี้ไป

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจแบงก์พาณิชย์กำลังเกิดขึ้น เมื่อแบงก์ชาติได้เสนอการแก้กฎหมายแบงก์พาณิชย์มาตรา 4 และ 10 ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของบีไอเอส ไปยังสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ซึ่งคาดหมายว่าคงจะสำเร็จลงในช่วงก่อนมีนาคมนี้

การแก้ไขมาตรา 4 และ 10 ที่ว่า เป็นประเด็นเกี่ยวกับการขยายนิยามของเงินกองทุนและวิธีคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ให้กว้างขึ้นจากเดิม

นิยามเงินกองทุนใหม่จะกินความกว้างถึงส่วนที่ไม่ใช่ทุนที่แท้จริง เป็นทุนส่วนที่เสริมที่เรียกว่า SUPLEMENTARY CAPITAL ส่วนการคำนวณเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้สามารถรวมความเสี่ยงจากสินทรัพย์และรายการธุรกรรมที่อยู่นอกงบดุลเข้าด้วยกัน

เดิมเงินกองทุนหมายถึงทุนที่แท้จริงที่ประกอบด้วยทุนที่ชำระแล้ว กำไรสะสม ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นและสำรองตามกฎหมาย

แบงก์ชาติได้กำหนดระดับความพอเพียงของทุนแต่การขยายตัวของสินทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ของบีไอเอส ในอัตราไม่น้อยกว่า 8%

"แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติจะให้เวลาปรับตัวภายใน 5 ปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปีแรก อัตราที่ยอมรับได้คงจะอยู่ในอัตราไม่น้อยกว่า 6.5-7%" แหล่งข่าวระดับบริหารในธนาคารพาณิชย์ชื่อดังรายหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนการปรับตัวหลังใช้บีไอเอส

บีไอเอสเป็นข้อตกลงของกลุ่มธนาคารกลาง 12 ประเทศในยุโรปที่กระทำกันที่บาเซิล สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2530 ซึ่งประกอบด้วยประเทศ เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นเนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐฯ และลักเซมเบิร์กข้อตกลงนี้เกี่ยวพันกับเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์และการกำกับด้านความมั่นคงของเงินกองทุนและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์

การปรับตัวที่ต้องใช้เวลาภายใน 5 ปีเนื่องจากหนึ่ง-แบงก์ชาติต้องการให้แบงก์ไทยทั้ง 15 แห่งมีเวลาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและการบริหารสินทรัพย์ภายใต้มาตรฐานของบีไอเอสก่อนที่จะเปิดรับการแข่งขันอย่างเสรีตามแรงกดดันของแกตต์

"เอากันแค่การผ่อนคลายมาตรการบังคับให้แบงก์ต้องปล่อยสินเชื่อชนบท (ซึ่งไม่เข้าข่ายความเสี่ยง) ไม่น้อยกว่า 20% ของเงินฝาก ซึ่งทางแบงก์ชาติต้องยกเลิกในที่สุดเมื่อเข้าบีไอเอสได้ก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินเฉพาะเพื่อสินเชื่อเกษตรคือ ธ.ก.ส. มีความแข็งแกร่งมากกว่านี้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี" แหล่งข่าวกล่าวยกตัวอย่างสิ่งที่เผชิญหน้าแบงก์ชาติในช่วงให้เวลาปรับตัวแก่แบงก์พาณิชย์

นอกจากนี้สินเชื่อนโยบายของรัฐที่แบงก์กรุงไทยแบกรับหน้าที่อยู่ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องยกเลิกเพื่อให้แบงก์กรุงไทยสามารถดำเนินธุรกิจบริหารความเสี่ยงสินทรัพย์โดยอิสระก่อนที่แบงก์กรุงไทยจะเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ของบีไอเอส

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แบงก์กรุงไทยก็เสียเปรียบแบงก์พาณิชย์เอกชนรายอื่น ๆ ในการบริหารเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง

สอง-การจัดระบบบัญชีและวิธีปฏิบัติการคำนวณความเสี่ยงของสินทรัพย์ตามมาตรฐานของบีไอเอส สลับซับซ้อนมากต้องใช้เวลาในการศึกษาและเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ของแบงก์พาณิชย์ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์

ผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายกำกับของแบงก์ชาติเคยเล่าให้ฟังว่า การคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ (สินเชื่อ) ในงบดุลตามกฎหมายที่ใช้อยู่เดิมมีเพียง 2 อัตราคือ 0% กับ 100% เท่านั้น แต่ถ้าตามบีไอเอส การคำนวณถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงจะมีหลายอัตราทั้งในงบดุลและนอกงบดุลเช่นสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงจากการปริวรรต มีการถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงระหว่าง 0.5-5% (ด้านอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 1 ปี 0.5% และอัตราแลกเปลี่ยน 2.0% และถ้า 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 2 ปี ด้านอัตราดอกเบี้ย 1.0 และอัตราแลกเปลี่ยน 5.0%) แต่เดิมรายการนี้น้ำหนักความเสี่ยงเท่ากับ 0%

"การคำนวณมันซับซ้อนกว่าในงบดุล คือมันต้องทำ 2 ครั้ง ต้องแปลงเข้ามาอยู่ในงบดุลก่อนแล้วดูว่ามันมีความเสี่ยงเท่ากับสินทรัพย์ตัวไหน แล้วจึงปรับน้ำหนักความเสี่ยงเข้าไป" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติเล่าให้ฟังถึงวิธีการคำนวณถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงสินทรัพย์นอกงบดุล

หลังจากใช้บีไอเอส นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชั้นนำต่างเชื่อว่า แบงก์ส่วนใหญ่จะมีเงินกองทุนเพิ่มสูงขึ้นจนไม่เป็นภาระกับผู้ถือหุ้นที่ต้องเพิ่มทุนอย่างน้อย 2 ปี "เพราะว่าลำพังการประเมินที่ดินของแบงก์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามสาขารวมทั้งสำนักงานใหญ่ซึ่งทั้งระบบมีถึง 2311 แห่งก็ช่วยให้แบงก์มีเงินเพิ่มขึ้นมาก" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อุตสาหกรรมแบงก์พาณิชย์พูดถึงผลกระทบด้านเงินกองทุนของแบงก์

แบงก์ชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินราคาที่ดินที่ตั้งสาขาและสำนักงานใหญ่ที่แบงก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพื่อตีเข้าไปเป็นมูลค่าของเงินกองทุนชั้น 2 ตามกฎเกณฑ์ของบีไอเอส โดยเอาราคาประเมินตามราคาตลาดหักด้วยราคาทุน แล้วปรับด้วยส่วนลดลง 30%

เงินกองทุนของระบบแบงก์จะเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ถึง 34,000 ล้านบาทจากราคาทุน 7,788 ล้าน ซึ่งโยงมาสู่ความสามารถในการขยายสินเชื่อได้อีก 300,000 ล้านบาทโดยไม่ต้องเพิ่มทุนแม้แต่บาทเดียว

แต่จะมี 5 แบงก์ ที่ไม่ได้รับผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนจากสาเหตุนี้ คือ แบงก์ศรีนคร กรุงเทพฯ พาณิชย์การ มหานคร เอเชีย นครหลวงไทย คิดเป็นวงเงินประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท

ศรีนคร กรุงเทพฯ พาณิชย์การ มหานคร นครหลวงไทย และเอเชีย ไม่ได้รับผลเพราะยังเคลียร์สำรองหนี้สูญไม่ครบ

ความเสียหายสินทรัพย์ของศรีนครในขณะนี้มีประมาณ 3,000 ล้านที่ยังต้องตั้งสำรอง มหานครคาดว่ายังมีความเสียหายอยู่อีก 1,700 ล้าน (จากหนี้สงสัยที่เหลืออยู่ปกติ 3,600 ล้าน) ที่คงต้องตั้งสำรองต่อไป เอเชียมีความเสียหายที่ยังต้องตั้งสำรองต่อไปอีกประมาณ 2,000 ล้าน กรุงเทพพาณิชย์มีความเสียหายเหลืออยู่อีก 2,000 ล้าน และนครหลวงไทยอีกประมาณไม่น้อยกว่า 3-4,000 ล้าน

ตัวเลขความเสียหายเหล่านี้ได้รับการคาดหมายอย่างอนุรักษ์ที่สุดแล้วว่าเป็นยอดความเสียหายที่แบงก์ต้องตัดสำรองหนี้สูญอย่างแน่นอน เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้รายย่อยที่ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้วและขาดหลักประกัน

ทางออกของแบงก์เหล่านี้อยู่ที่การมุ่งหารายได้มากขึ้นเพื่อชดเชยความเสียหาย แต่ก่อนรายได้จะมาจากการทำธุรกิจและเงินช่วยเหลือในรูปซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติ

เอเชียมีรายได้จากซอฟต์โลนปีละกว่า 100 ล้าน นครหลวงไทยปีละ 287 ล้าน มหานครปีละ 297 ล้าน รายได้จากซอฟต์โลนในปีหน้าจะหมดไป เมื่อเอเชียจะต้องคืนแบงก์ชาติตามสัญญาในเดือนมีนาคม มหานครได้คืนก่อนล่วงหน้าแล้วเมื่อกลางปีที่แล้ว

ยกเว้นก็แต่นครหลวงไทยจะต้องคืนในพฤษภาคมปีนี้ แต่ดูจากความสามารถในการพัฒนาหนี้สินที่มีปัญหาที่ยังคงค้างอีก 6,000 ล้านและคาดว่าจะเสียหายอย่างแน่นอนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสำรองตัดความเสียหายได้หมด

"เราคงต้องขอทางแบงก์ชาติเพื่อยืดเวลาการคืนซอฟต์โลนออกไป" กฤษดา หูตะเศรณี เลขานุการกรรมการธนาคารและผู้จัดการฝ่ายวิจัยกล่าวถึงหนทางออก

เมื่อ 5 ปีก่อน นครหลวงได้เงินช่วยเหลือซอฟต์โลนจำนวน 3,500 ล้านในการฟื้นฟูฐานะงบดุลของธนาคารจากปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์

เงินซอฟต์โลนที่นครหลวงไทยต้องการขยายเวลาการคืนออกไปอีกคาดว่ามีจำนวน 2,000 ล้าน

ยังไม่มีคำตอบของการเจรจาระหว่างสม จาตุรศรีพิทักษ์แห่งนครหลวงไทยกับทางแบงก์ชาติว่า ข้อเสนอขอยืดเวลาคืนซอฟต์โลนจะได้รับการตอบสนองอย่างไรบ้าง

การเข้ารับกฎเกณฑ์บีไอเอสในปีหน้า ดูเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อยสำหรับแบงก์สหธนาคารและบรรดาแบงก์ที่มีขนาดเงินกองทุนเล็ก ๆ และขนาดกลาง ๆ

แบงก์ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าบิ๊กไฟร์ คือกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์และศรีอยุธยา นั้นรอดตัวสบายเนื่องจากมีที่ดินที่ตั้งสำนักงานมาก จึงได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในกองทุนชั้น 2 จนไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนในกองทุนชั้น 1 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ดังกรณีตัวอย่างแบงก์กรุงเทพ มีเงินกองทุนชั้น 2 เพิ่มขั้นทันทีประมาณ 13,000 ล้านบาท

ที่ดินสำนักงานใหญ่สีลมของแบงก์กรุงเทพจำนวน 8 ไร่ ซื้อมาตั้งแต่สมัยชิน โสภณพานิช เป็นกรรมการผู้จัดการแบงก์เมื่อ 24 ปีก่อนในราคาตารางวาละ 18,000 บาท เพราะต้องการขยับขยายสำนักงานใหญ่จากพลับพลาไชยมาที่สีลม ราคาประเมินในเวลานี้ตกตารางวาละเกือบ 500,000 บาท หักส่วนลดลงอีก 30% มีราคาสุทธิตารางวาละ 338,100 บาทที่แบงก์กรุงเทพได้ประโยชน์จากการตีมูลค่าสินทรัพย์นี้เข้าไปในเงินกองทุนชั้น 2

แบงก์กสิกรไทยก็เช่นกัน ที่ดินสำนักงานใหญ่ถนนพหลโยธินจำนวน 10 ไร่ แบงก์ซื้อมาเมื่อ 10 ปีก่อนในราคาตารางวาละไม่ถึง 20,000 บาท ราคาตลาดเวลานี้ตกตารางวาละไม่น้อยกว่า 150,000 บาท

แบงก์กสิกรไทยจะได้รับประโยชน์จากการ ประเมินที่ดินเข้าไปในกองทุนชั้น 2 หลายพันล้านบาท

ส่วนแบงก์ขนาดกลางอย่างแบงก์สหธนาคารมีปัญหาพื้นฐานที่ต่อเนื่องมาจากอดีตเกี่ยวกับความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ระหว่างพันธมิตรเอบีซี ซึ่งประกอบด้วยเพ็ญชาติ อัศวินวิจิตร และเอบีซีกับชลวิจารณ์

เป้าหมายการเพิ่มทุนจาก 800 ล้านบาทเป็น 1,600 ล้านบาทของกลุ่มชลวิจารณ์ถูกขัดขวางจากฝ่ายพันธมิตรเอบีซีเพื่อปรับปรุงฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้เข้ามาตรฐานไม่สามารถกระทำได้

เมื่อไม่สามารถเพิ่มทุนได้ สหธนาคารจึงพบมรสุมความไม่พอเพียงของทุนต่อการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการทำกำไร

เมื่อสิ้นปี 34 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในราว ๆ 6% เท่านั้น

แหล่งข่าวจากแบงก์ชาติเปิดเผยว่าจากการทดลองถ่วงน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงของแบงก์ขนาดกลางและเล็กจากงบดุลปี 2533 พบว่า มีอยู่ 6 แบงก์ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 8% ศรีนคร 7.36% กรุงเทพฯ พาณิชย์การ 5.85% นครหลวง 6.6% เอเชีย 6.5% และนครธน 5.6% และสหธนาคาร 6%

สำหรับแบงก์เล็ก ๆ อย่างนครธน ความไม่พอเพียงของเงินกองทุนเกิดจากแบงก์ยังไม่ได้ประโยชน์จากการประเมินราคาที่ดินที่นับรวมเข้าเป็นเงินกองทุน เนื่องจากที่ดินสำนักงานใหญ่ในอาคารสาธรธานีเป็นกรรมสิทธิ์ห้องชุด แบงก์ซื้อมาจากบริษัทสาธรธานี

"เราได้แสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายพันตารางเมตรในอาคารนี้ให้แบงก์ชาติแล้ว" เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของแบงก์นครธนเล่าให้ฟังถึงความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาการไม่ได้ประโยชน์จากที่ดิน

อาคารสาธรธานีจดทะเบียนเป็นอาคารสำนักงานที่ผู้ซื้อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม มีทั้งหมด 2 อาคารตั้งอยู่บนถนนสาธร

"เราคาดหมายว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินในอาคารชุดน ี้เมื่อนำมาประเมินแล้ว จะทำให้แบงก์มีเงินกองทุนชั้น 2 เพิ่มขึ้นนับร้อยล้านบาท" แหล่งข่าวในนครธนกล่าวอย่างมีความหวัง

ความไม่พอเพียงของเงินกองทุนที่เกิดขึ้นในแบงก์นครธนไม่ได้มีปัญหาที่น่าหวั่นวิตกอะไร เนื่องจากไม่ได้มาจากสาเหตุต้องแบกภาระความเสียหายของสินทรัพย์เหมือนกับที่แบงก์ขนาดกลางรายอื่น ๆ ประสบอยู่

ปัญหาของแบงก์ที่ยังต้องแบกภาระความเสียหายของสินทรัพย์ก็คือ เขาจะสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ความพอเพียงของทุนกับระดับการขยายตัวของสินทรัพย์

แบงก์เล็ก ๆ และกลางที่อยู่ 10 แบงก์มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเฉลี่ยเพียง 30% ของระบบเท่านั้น

แบงก์เล็ก ๆ เช่นนครธน ไทยทนุ แหลมทอง ไม่มีปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์และภาระสำรอง ความเสียหายนั้น แบงก์ขนาดกลางดูจะมีปัญหาตรงนี้มากที่สุด

มหานครยังคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการตั้งสำรองความเสียหายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรเพื่อตัดความเสียหายของสินทรัพย์ที่ยังเหลืออีก 1,700 ล้าน "ถ้าเราจะตัดความเสียหายให้หมดก็ทำได้แต่จำเป็นหรือไม่ ?" อุทัย อัครพัฒนากูล กรรมการผู้จัดการแบงก์มหานครกล่าว

การตัดความเสียหายทันที มีข้อดีคือ ทำให้แบงก์มหานครแข็งแรงขึ้น แต่ผลเสียย่อมมีผลกระทบต่อระดับขนาดของกำไรสุทธิอย่างน้อย 2 ปี

เช่นเดียวกับเอเชียที่ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปีในการตั้งสำรองปีละ 300 ล้านเป็นอย่างน้อยเพื่อทยอยตัดความเสียหายลงจนหมด

ยิ่งไม่มีรายได้ซอฟต์โลนช่วยปีละ 297 ล้านสำหรับมหานครและอีกปีละกว่า 100 ล้านสำหรับเอเชีย

การหารายได้อย่างหนักหน่วงบนพื้นฐานของการพึ่งเงินกองทุนให้น้อยที่สุดของทั้งสองแบงก์จึงเป็นหนทางเดียว และรายได้ที่ว่าจะต้องมาจากการขยายสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการบริหารสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายน้อยที่สุดและการใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในธุรกิจนอกงบดุล

ธุรกิจนอกงบดุลที่ทุกแบงก์ทำอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ การรับรองการค้ำประกันกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และการอาวัลตั๋วของลูกค้า

รายการเหล่านี้ จะต้องถูกนับเข้าความเสี่ยงเต็ม 100% จากเดิมที่ไม่มีความเสี่ยงเลย

เมื่อรายการธุรกิจนอกงบดุลเหล่านี้เป็นภาระด้านเงินกองทุนของแบงก์ที่จะต้องกันไว้เต็มถึง 80%

แบงก์ที่มีปัญหาเงินกองทุนจำกัดเช่นสหธนาคารและบรรดาแบงก์ที่มีปัญหาหนี้เสียก็ต้องหันมาทำธุรกิจนอกงบดุลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า 100% ลงมา

เช่นภาระผูกพันในการออกหนังสือค้ำประกันให้ลูกค้า ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 20-50% และการทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงจากการปริวรรต ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 0.5-5%

ส่วนธุรกิจในงบดุล ก็จะถูกจำกัดวงเฉพาะธุรกิจที่มีภาระความเสี่ยงต่ำกว่า 100% ลงมา หรือถ้าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเต็ม 100% ก็ต้องอยู่ในระยะเวลาที่สั้น ๆ ภายใน 12 เดือน

มองในมุมนี้ก็เท่ากับว่า หลังใช้บีไอเอส บรรดาแบงก์ที่มีปัญหาข้อจำกัดในการระดมทุน เพื่อสร้างความพอเพียงของทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากปัญหาต้องแบกภาระกันเงินสำรองเพื่อตัดหนี้เสีย หรือมีปัญหาขัดแย้งกันในหมู่ผู้ถือหุ้น ดูเหมือนจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง-ต้องหาทางควบกิจการระหว่างกัน หรือ อีกทางหนึ่ง-ต้องหาช่องทางการทำธุรกิจที่พึ่งพิงเงินกองทุนให้น้อยที่สุด

การควบกิจการเป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเจ้าของทุนกับอำนาจการบริหารแบบครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน "มันเป็นเรื่องของหน้าตา ที่ไม่มีใครยอมหรอก" นิติกร ตันติธรรม ผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินและการปริวรรตแบงก์ไทยทนุให้เหตุผลถึงอุปสรรค

ธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนมากยังอยู่ภายใต้การสืบทอดมรดกทางอำนาจการจัดการอยู่ภายในครอบครัว แบงก์กรุงเทพ (โสภณพนิช) กสิกรไทย (ล่ำซ่ำ) ศรีนคร (เตชะไพบูลย์) กรุงศรี (รัตนรักษ์) และสหธนาคาร (ชลวิจารณ์) เป็นตัวอย่างการสืบทอดจากชนรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

แบงก์กรุงเทพ ชิน โสภณพนิชได้ส่งผ่านมาให้ชาตรีผู้ลูกหลายปีมาแล้ว และชาตรีก็กำลังส่งผ่านมาให้ชาติศิริ ลูกชายในอนาคตอันใกล้

แบงก์กสิกรไทย บัญชาสร้างแบงก์ให้เติบโตหลังรับมรดกมาจากเกษมผู้เป็นอาขณะที่ตัวเองอยู่ในวัยหนุ่มแน่นเมื่อ 30 ปีก่อน และเวลานี้เขาก็ได้ส่งผ่านต่อให้บัณฑูร ลูกชายเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ศรีนครเช่นกันอุเทน ได้ส่งผ่านมาให้วิเชียร เตชะไพบูลย์ลูกชายคนโตของเขารับมรดกผู้นำการบริหารแบงก์ต่อจากเขา

ส่วนแบงก์นครธนและแหลมทองเป็นตัวอย่างของการสืบทอดมรดกจากพี่สู่น้องแบงก์นครธน(หวั่งหลี) สุวิทย์ ผู้พี่กุมพังเหียนผู้นำมานานก็ได้ส่งผ่านอำนาจการจัดการสู่วรวีย์ หวั่งหลีผู้น้อง และแหลมทอง (จันทร์ศรีชวาลา) หลังสุระ ผู้พี่ขับไล่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ออกจากแบงก์แล้ว เขาก็หยิบกุรดิษฐ์ น้องชายขึ้นกุมบังเหียนผู้นำบริหารแทน

สำหรับแบงก์นครหลวง เอเชีย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย ไทยทุน และกรุงไทย แม้นไม่ได้อยู่ในวงจรของการสืบทอดแบบครอบครัว แต่นครหลวงไทย เอเชีย และกรุงไทยต่างกำลังตกอยู่ในวังวนของการต้องแบกภาระผลความเสียหายของสินทรัพย์อยู่

แบงก์ที่แข็งแรง แต่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ผสมผสานกันระหว่างความเป็นเจ้าของกับการจัดการ กับแบงก์ที่อ่อนแอ และอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบครอบครัว

ความสัมพันธ์แบบนี้ ยากที่จะทำให้เกิดการควบกิจการกันได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับแบงก์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

การควบกิจการระหว่างแบงก์เป็นกระบวนการของเหตุผลทางธุรกิจ เพื่อต้องการลดต้นทุนของเงินทุน และการดำเนินงานและประโยชน์จากการประสานเครือข่ายทางธุรกิจ (ลูกค้า) เข้าด้วยกัน

เคมิคอลแบงก์และแมนทรัสต์ แห่งนิวยอร์ก ที่กำลังยุ่งยากจากปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์ควบกิจการกันก็ด้วยเหตุผลนี้ เช่นเดียวกับที่มิตซุยแบงก์ต้องควบกิจการกับไตโยโกเบ (หลังควบกิจการแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นซากุระแบงก์) และเซ็คเคียวริตี้ แปซิฟิกแบงก์ต้องควบกิจการกับแบงก์อเมริกาแห่งแคลิฟอร์เนียก็มีผลมาจากสาเหตุเดียวกัน

แต่การควบกิจการในหมู่แบงก์ไทยเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปแม้นว่าสถานการณ์ความมั่นคงของเงินกองทุนและสินทรัพย์ของบางแบงก์ที่กำลังประสบปัญหาอยู่เวลานี้ จะบีบรัดให้กระทำแล้วก็ตาม "ขนาดแนวคิดให้ขายสาขาทิ้งหรือปิดสาขาที่ขาดทุนเพื่อประหยัดต้นทุนหรือไม่ก็เพื่อเอาเงินสดเข้ามาเสริมเงินกองทุน ซึ่งจำเป็นต้องลดขนาดสินทรัพย์ลง ยังไม่ยอมกันเลย นับประสาอะไรกับเรื่องควบกิจการ" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการควบกิจการ

มีเรื่องน่าตลกอยู่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในบอร์ดรูมของแบงก์ศรีนครเมื่อ 3 ปีก่อน ห้วงเวลานั้นวีรชัย วณึกกุล ที่ปรึกษาระดับเซียนคนหนึ่งของเมืองไทย ได้รับเชิญจากวิเชียร เตชะไพบูลย์ ให้เข้ามาร่วมบริหารในแบงก์ศรีนคร

แบงก์ศรีนครขณะนั้นมีปัญหาหลายด้านที่หมักหมมมาสินทรัพย์หลายพันล้านอยู่ในสภาพมีแนวโน้มว่าจะเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อที่ไร้คุณภาพ สาขาส่วนใหญ่เจอปัญหาขาดทุนสะสมมานาน เนื่องจากไม่ได้ทำธุรกิจเป็นแต่เพียงเครือข่ายหาเงินฝากเพื่อส่งผ่านมาให้สำนักงานใหญ่ใช้เป็นเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อ

ความสามารถในการแข่งขันของแบงก์คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง แบงก์มีภาระต้องเพิ่มทุนเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นเซฟตี้เน็ต จากภาระความเสียหายของสินทรัพย์

วีรชัย เสนอแนวคิดให้ลดขนาดสินทรัพย์ลงโดยให้ปิดและขายสาขาที่ขาดทุนหรือทำกำไรไม่คุ้มทิ้งเพื่อเอาเงินสดเข้ามาเสริมในเงินกองทุน

แนวคิดนี้ของวีรชัย เป็นแนวคิดของการแก้ปัญหาแบงก์ที่นิยมทำกันในยุโรปและสหรัฐฯ แต่ผู้บริหารแบงก์ศรีนครพวกเตชะไพบูลย์คัดค้าน เพราะเห็นว่าวิธีการนี้จะยิ่งสร้างผลเสียหายต่อภาพพจน์และธุรกิจของศรีนครแม้ว่าจะรู้ดีว่าแนวคิดนี้มีตรรกะของการแก้ปัญหา

แต่อย่างสุภาษิตที่ว่า "คนเราเมื่อยังไม่เห็นโลงศพ ย่อมไม่หลั่งน้ำตา" หรือพูดอีกแบบหนึ่งตราบใดที่แบงก์ชาติยังไม่เข้าแทรกแซงอย่างรุนแรงเหมือนที่เกิดกับมหานคร ทางออกของการแก้ปัญหาที่พวกเตชะไพบูลย์มองอยู่ย่อม มีอยู่เสมอ ทำให้แนวคิดของวีรชัยถูกปฏิเสธจากพวกเตชะไพบูลย์อย่างสิ้นเชิง

แนวคิดของวีรชัยถูกต้องตามหลักบริหารสมัยใหม่ แต่ใช้ไม่ได้กับตลาดการเงินเมืองไทย ที่มีความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงของแบงก์สูงมากๆ ว่าล้มไม่ได้มานาน

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สมัยยุคเริ่มต้นธุรกิจแบงก์พาณิชย์ในประเทศไทยเมื่อทศวรรษที่ 50 ตลาดการเงินถูกปลูกฝังมาตลอดว่าธุรกิจแบงก์ไม่มีวันล้มได้ เพราะอยู่ภายใต้การคุ้มครองปกป้องจากรัฐ (ดูกราฟวิวัฒนาการฯ)

แต่ในทศวรรษนี้เป็นต้นไป รัฐเริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะค่อย ๆ ยกเลิกการคุ้มครองธุรกิจนี้และปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในทุก ๆ ด้าน

กระนั้นก็ตาม แบงก์ที่อ่อนแอเหล่านี้ ก็ไม่พร้อมที่จะหาทางออกให้กับตัวเองโดยวิธีการควบกิจการกัน

"หนทางที่เป็นไปได้ที่สุดในสายตาผมก็คือทุกแบงก์พยายามเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจที่พึ่งพิงเงินกองทุนน้อยที่สุด" บัณฑูร ล่ำซำวิเคราะห์แนวโน้มการปรับตัวของแบงก์พาณิชย์ภายใต้แรงกดดันบีไอเอส

ธุรกิจที่แบงก์พาณิชย์สามารถพึ่งพิงเงินกองทุนน้อยที่สุดคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนและบริการด้านปริวรรตเงินตรา

"เรากำลังมุ่งไปที่ธุรกิจทั้งสองนี้อย่างจริงจังเพราะเรามีฐานธุรกิจและกลไกที่พร้อมแล้ว" บัณฑูรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางการปรับตัวของแบงก์กสิกรไทยยุคบีไอเอส

กสิกรมีฐานลูกค้าด้านส่งออกและนำเข้าอยู่มากพอสมควรและที่สำคัญมีลูกค้าระดับบลูชิพอยู่จำนวนมาก ฐานลูกค้าเหล่านี้กำลังมีความต้องการใช้บริการสินค้าปกป้องความเสี่ยงด้านการปริวรรตเงินตรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความผันผวนของตลาดเงินที่กำลังถูกเชื่อมโยงเข้าหาตลาดโลกตามนโยบายของแบงก์ชาติ

"การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝาก ออมทรัพย์และกำลังปลดปล่อยเพดานดอกเบี้ยเงินกู้เพื่ออัตราดอกเบี้ยผันผวนตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง เป็นกระบวนการหนึ่งที่เราต้องการให้ระบบการเงินของแบงก์พาณิชย์เชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น เพื่อเป็นการปูฐานอย่างมีขั้นตอนก่อนที่เราจะเปิดรับการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดเงินไทยตามแรงบีบของแกตต์ในอนาคตอันใกล้" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติกล่าวถึงนโยบายแข่งขัน

กสิกรมีกลไกที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจด้านตลาดทุนที่เข็มแข็งในตลาดอยู่มาก "ผมคิดว่าเข็มแข็งกว่ากลุ่มของแบงก์กรุงเทพเสียอีก" สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนให้ความเห็นถึงความพร้อมของแบงก์ยักษ์ใหญ่

แบงก์กรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทสินเอเชีย ร่วมเสริมกิจกรุงเทพธนาทรและหลักทรัพย์เอเชีย ขณะที่แบงก์ไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม ธนชาติและเอกชาติ

แบงก์กสิกรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในภัทรธนกิจ ทิสโก้ ศรีมิตร เอกธนกิจและเอกธำรง กลุ่มบริษัทเหล่านี้พร้อมที่จะเป็นกลไกในการเข้าประสานกับแบงก์ในตลาดทุน "แบงก์จะเป็นตัวขายโดยใช้เครือข่ายสาขาที่กว้างขวางทั่วประเทศและเป็นคัสโตเดี้ยน ขณะที่บริษัทในเครือข่ายทั้ง 4 เป็นผู้นำในการทำดีลและจัดการ" บัณทูรยกตัวอย่างในการนำแบงก์เข้าตลาดทุนประเภทตราสารหนี้

เมื่อเดือนมกราคม รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายธนาคารพาณิชย์ที่อนุญาตให้แบงก์สามารถทำธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดการออกตราสารแห่งหนี้ของลูกค้า ธุรกิจนี้เป็นความหวังที่แบงก์ขนาดใหญ่คาดหมายว่าจะนำมาซึ่งรายได้และผลกำไรสู่แบงก์ได้มากและมีผลกระทบต่อเงินกองทุนน้อยมาก

เพราะมันเป็นธุรกิจที่แบงก์ไม่ต้องปล่อยสินเชื่อเพียงแต่เป็นคนกลางที่จับเอาผู้ลงทุนในตลาดกับผู้ต้องการเงินทุนมาเจอกันเท่านั้น

มองในแง่นี้ยักษ์ใหญ่ 5 ราย (ยกเว้นกรุงไทย) ย่อมได้เปรียบกว่าแบงก์อื่น ๆ เพราะมีฐานลูกค้ารายใหญ่มากและพวกลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้เอง ที่มีเครดิตสูงพอที่จะออกตราสารหนี้เพื่อกู้ยืมจากตลาดได้

"เราต้องปรับตัวเข้าหาธุรกิจวณิชธนกิจ" นี่เป็นเสียงเดียวกันของแบงก์ขนาดกลางและเล็กทุกแบงก์

นครธนมีความชำนาญในธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ หนทางเข้าสู่วาณิชธนกิจที่อยู่ที่ตลาด TREASURY PRODUCTS มหานครกำลังเร่งธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ให้สูงขึ้นตาม

โครงสร้างธุรกิจของลูกค้าและการเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานตลาดในหมู่คนจีนมานาน พร้อม ๆ กับพยายามเพิ่มความสำคัญในธุรกิจปริวรรตเงินตรา

แบงก์เอเซียหลังจากรู้ตัวว่าขีดความสามารถในการเข้าทำธุรกิจ TREASURY PRODUCTS มีจำกัดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วจึงเข้าทำข้อตกลงกับเงสต์แพ็คแบงก์แห่งออสเตรเลีย เข้าร่วมบริหารงานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้

"คือเรามีฐานลูกค้าที่ต้องการบริการด้านนี้ แต่เราทำให้ไม่ได้ จึงต้องให้เวสต์แพ็คเข้ามาช่วย โดยเราแบ่งผลประโยชน์กัน คือเราได้ค่าธรรมเนียมจากลูกค้า ขณะที่เวสต์แพ็คได้กำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนหรือดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการซื้อขาย" จุลกร สิงห์โกวินทร์ ผู้บริหารระดับสูงแบงก์เอเซียเล่าให้ฟังถึงด้านหนึ่งของการปรับตัวหลังบีไอเอส

แบงก์เอเชียมีกลไกที่จะเข้าสู่ตลาดทุนได้เหมือนกัน หลังจากเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย ที่เทคโอเวอร์มาจากบริษัทหลักทรัพย์เฟิร์สแปซิฟิก

เอกเอเซียมีเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์อยู่หลายประเทศในอาเซียนฮ่องกง และลอนดอน เครือข่ายเหล่านี้ สามารถเป็นกลไกในการเป็นที่ปรึกษาและขายตราสารแห่งหนี้ทั้งในสกุลบาทและนอกสกุลบาทให้ลูกค้าของแบงก์เอเซียได้

แบงก์นครหลวง ก็มีโครงสร้างและกลไกที่จะเข้าสู่ตลาดทุนประเภทตราสารแห่งหนี้ได้ เพราะมีบริษัทนครหลวงเครดิต และหลักทรัพย์นครหลวงเป็นแขนขาในการอันเดอร์ไรต์

แต่กลุ่มนี้ ก็มีปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญในการจัดการการให้บริการออกตราสารแห่งหนี้ เนื่องจากความชำนาญและเอาจริงเอาจังอยู่ที่การค้าหลักทรัพย์และจำหน่ายหลักทรัพย์

นอกจากนี้การที่แบงก์มีฐานลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อย ย่อมเป็นอุปสรรคโดยธรรมชาติที่จะเอื้อประโยชน์ต่อปริมาณธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาและให้บริการการจัดออกตราสารแห่งหนี้

นั่นหมายความว่า แบงก์มีศักยภาพเพียงการเป็นนายหน้าผู้ร่วมกับแบงก์อื่น ๆ เข้ารับจำหน่ายตราสารแห่งหนี้เท่านั้น

แบงก์ที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านของกลไกและศักยภาพที่จะเข้าสู่ธุรกิจตลาดทุนคือแบงก์กรุงเทพพาณิชย์ ศรีนคร สหธนาคาร มหานคร แหลมทอง และกรุงไทย

เมื่อเป็นดังนี้ ดูเหมือนทางรอดของแบงก์พวกนี้มีอยู่ทางเดียวคือทำธุรกิจในงบดุลโดยมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เป็น TRADITIONAL BANKING ต่อไป พร้อม ๆ กับผู้ถือหุ้นต้องมีภาระเพิ่มทุนเป็นระยะ ๆ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us