Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"บทลงโทษพ่อค้าฉวยโอกาสจาก VAT"             

 


   
search resources

Auditor and Taxation




การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT มาใช้บังคับแทนระบบภาษีการค้าเดิมได้สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการผู้ขาย หรือผู้ให้บริการรวมถึงประชาชนผู้บริโภคทั่วไปพอสมควรราคาสินค้าหลายชนิดได้ขึ้นราคาไปจากเดิมโดยปราศจากเหตุผลทั้ง ๆ ที่ควรจะถูกลง ในช่วงต้นนี้เข้าใจว่ารัฐบาลยังคงให้การผ่อนผันกับผู้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่งมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ จะต้องถูกนำมาใช้บังคับอย่างจริงจังและบุคคลใดจะยกความไม่รู้กฎหมายขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนมิต้องรับโทษไม่ได้

ประเด็นก็คือ มีกฎหมายอะไรที่เป็นบทลงโทษ ผู้ไม่ปฏิบัติตาม หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายรวมถึงผู้ค้ากำไรเกินควรบ้าง

ในตัวกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มนี้มีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรัดดกุมและรุนแรง ซึ่งหากผู้ใดคิดจะหลบหนีภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ อาทิ

หนึ่ง ปลอมใบเสร็จรับเงิน (ใบกำกับภาษี) โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า โดยบริษัทดังกล่าวจะออกใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีปลอมให้กับห้างร้านต่าง ๆ

สอง แจ้งยอดขายเท็จ เช่น ขายหรือให้บริการมากแต่แจ้งยอดขายน้อย หรือขายแพงแต่แจ้งยอดขายต่ำ เมื่อขายต่ำภาษีขายก็จะต่ำไปด้วย เมื่อนำภาษีซื้อมาหักก็จะเสียภาษีน้อย หรืออาจจะได้รับคืนภาษีก็ได้

สาม หลบยอดซื้อและยอดขายทั้งสาย โดยเฉพาะการผลิตที่มีสายการผลิตสั้น

สี่ ปลอมเอกสารการส่งสินค้าออก เนื่องจากสินค้าส่งออกจะได้รับคืนภาษีซื้อทั้งหมด

การกระทำดังกล่าวนี้มีความผิด ผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาทางแพ่งก็คือต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนทางอาญาก็มีทั้งโทษจำคุกและปรับ

นอกจากนั้นยังมีบทกำหนดโทษอันเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใบกำกับภาษี การจัดทำรายงานและการเก็บเอกสาร การยื่นแบบและการชำระภาษีและหากผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล

กฎหมายยังกำหนดให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

นอกจากนั้นพ่อค้าที่ค้ากำไรเกินควรหรือรวมหัวกันกำหนดราคาสินค้า และบริการที่ไม่เป็นธรรมอาจจะต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 กฎหมายอันเกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาด (ANTI-TRUSTLAW)

ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายนี้กำเนิดในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วงนั้นสวัสดิภาพของผู้บริโภคในอเมริกาต่ำมากเพราะมีบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทผูกขาด การผลิตสินค้าและบริการโดยบริษัทดังกล่าวได้ตกลงร่วมมือกันจำกัดการแข่งขันระหว่างกันในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบ และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ผลิตต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นทรัสต์ (TRUSTS) เพื่อถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ และหุ้นเหล่านั้นก็ถูกโอนไปอยู่ในความครอบครองของทรัสตี (TRUSTEES) เพื่อจัดการประโยชน์แทนผู้ถือหุ้น

ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวถึงอยู่ในความดูแลของทรัสตีชุดเดียวกัน การแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ จึงไม่มีดังนั้นกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐอเมริกาจึงมีชื่อว่า ANTITRUST LAW โดยมีพระราชบัญญัติที่สำคัญคือ SHERMAN ACT 1890 ซึ่งถูกนำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้การตกลงระหว่างบริษัทเพื่อที่จะจำกัดการแข่งขัน หรือทำให้มีการผูกขาดในตลาดเป็นการผิดกฎหมายและมีโทษทางอาญา

เมื่อหันมาดูพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 ของไทยเรา ตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดขึ้นคณะหนึ่ง ในกรุงเทพมหานครโดยเรียกย่อว่า "คณะกรรมการกลาง" ในส่วนจังหวัดอื่นนอกจาก กทม. ทุกจังหวัดให้มีคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดโดยเรียกย่อว่า "คณะกรรมการส่วนจังหวัด" ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้า เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อราคาขายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการกลางมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าควบคุมได้ เมื่อมีการประกาศกำหนดสินค้าควบคุมแล้ว คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าควบคุม ให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนดหรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง

(2) กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าควบคุมในแต่ละช่วงการค้า

(3) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมแสดงราคาสินค้าควบคุม

(4) กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิต การจ่ายแจกการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกนอกราชอาณาจักร การซื้อการจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม

(5) กำหนดท้องที่ หรือกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับประกาศของคณะกรรมการ

(6) กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กระบวนการผลิตและวิธีการจำหน่ายสินค้าควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(7) กำหนดให้มีการเก็บหรือเพิ่มปริมาณการเก็บสำรองสินค้าควบคุม และกำหนดท้องที่และสถานที่ให้เก็บสำรองสินค้าควบคุม

(8) ห้ามหรืออนุญาตการส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในท้องที่หนึ่งที่ใดซึ่งสินค้าควบคุม

(9) สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การซื้อ การจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม รวมทั้งให้ระงับหรือลดค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่กำหนดไว้เกินสมควร

(10) จัดให้มีการปันส่วนในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุมหรือกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุม

(11) บังคับให้จำหน่ายสินค้าควบคุมตามปริมาณและราคาที่กำหนด ตลอดจนบังคับให้จำหน่ายแก่ส่วนราชการหรือบุคคลใดซึ่งคณะกรรมการกำหนด

(12) ห้ามการจำหน่าย ให้ ใช้เอง ยักย้าย หรือเปลี่ยนสภาพซึ่งสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

(13) ให้เลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต การขนส่ง การซื้อ การจำหน่าย และการเก็บรักษาสินค้าควบคุม

(14) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุมหรือครอบครองสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดข้างต้นหรือเปลี่ยนแปลงราคาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่แจ้งรายการตามประกาศของคณะกรรมการกลาง ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เฉพาะในข้อ (3) ที่กำหนดให้ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดงราคาสินค้าควบคุมต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว เลขาธิการกลางสำหรับกรุงเทพมหานคร หรือประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น ๆ มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ทันทีหากชำระตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายใน 15 วัน คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 29 ยังห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใด โดยลำพัง สมคบ หรือร่วมกับบุคคลอื่นดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะกดราคาสินค้าให้ตกต่ำเกินสมควรหรือทำให้สูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้า

และมาตรา 30 บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24 (14) หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากที่เก็บตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 (6) หรือผู้ประกอบธุรกิจใดซึ่งมีสินค้าควบคุมไว้เพื่อจำหน่าย แล้วไม่นำออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่าย หรือส่งมอบสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและหากผู้กระทำผิดเป็นคนต่างด้าว ให้เนรเทศผู้นั้นออกนอกราชอาณาจักรด้วย

นอกจากนั้นในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระบบภาษีสากลที่ใช้จัดเก็บกันอยู่ทั่วโลกซึ่งเป็นระบบภาษีที่ส่งเสริมการผลิตการส่งออก ก่อเกิดการจ้างแรงงาน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แม้จะทำให้ผู้บริโภคคนสุดท้ายต้องรับภาระภาษีนี้ไป แต่เมื่อสินค้าส่วนใหญ่ต้นทุนการผลิตต่ำลงราคาของสินค้าก็ควรจะต้องถูกลงไปด้วยผู้ผลิตหรือพ่อค้าผู้ใดที่คิดจะโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือค้ากำไรเกินควร หรือกำลังทำอยู่เลิกคิดทำซะเถอะครับนอกจากจะมีโทษทาง กฎหมายแล้ว ชื่อเสียงของบริษัทและของตัวสินค้าก็จะเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้บริโภคสู้ฉวยโอกาสในช่วงนี้ ประกาศว่าตนจะรับภาระภาษีทั้งหมดไว้เองดูจะเข้าท่ากว่าเป็นไหน ๆ จริงไหมครับ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us