ในที่สุดการคัดเลือกผู้ร่วมดำเนินงานโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเซียได้เสร็จสิ้นลงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
หลังจากที่ใช้เวลาในการพิจารณาอยู่นานถึง 6 เดือนเต็ม และบริษัทแรกที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเจรจาทำสัญญาเป็นผู้ร่วมดำเนินการครั้งนี้คือบริษัท
ไนเน็กซ์ เนทเวิร์คซีสเต็มจากสหรัฐอเมริกา จากจำนวนผู้เสนอตัวเข้ามาทั้งหมด
5 รายคือเอทีแอนด์ที, เอ็นทีที (NIPPON TELEGRAPH&TELEPHONE OF JAPAN),
ฟรานซ์ เทเลคอม, ไนเน็กซ์และเบลล์ แคนาดา
ทั้งนี้ทองฉัตร หงส์ลดารมย์ในฐานะประธานกรรมการบริหารและผู้บริหารสูงสุดของเทเลคอมเอเชียได้กล่าวว่าหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ
ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมดำเนินการได้พิจารณาจากประสบการณ์ด้านเทคนิค
การจัดการด้านการเงิน ด้านพาณิชย์และข้อเสนออื่น ๆ ที่ให้แก่บริษัท อย่างเช่นกรณีของราคาหุ้นที่ไนเน็กซ์เสนอเข้าร่วมทุนก็เป็นราคาที่บวกค่าพรีเมียมให้ด้วย
ไนเน็กซ์ เนทเวิร์ค ซีสเต็มเป็นบริษัทในกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการติดตั้ง
และบำรุงรักษาโครงข่ายโทรศัพท์ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและมีระบบโทรคมนาคมที่ซับซ้อนมาแล้วมากมาย
อย่างเช่นในเมืองนิวยอร์ก บอสตัน ประเทศอังกฤษ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินงานขยายโครงข่ายโทรศัพท์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ด้วย
ในสัญญาของความร่วมมือกันระหว่างเทเลคอมเอเซียกับไนเน็กซ์มีประเด็นสำคัญด้วยกัน
4 เรื่องคือ
ประเด็นแรกเทเลคอมเอเซียได้เสนอให้ไนเน็กซ์เข้ามาร่วมทุน 10 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
เพื่อให้ไนเน็กซ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมได้เสียในการดำเนินงานในโครงการครั้งนี้
ประเด็นที่สองเป็นข้อตกลงในการที่ไนเน็กซ์จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร
และช่างเทคนิคที่มีความรู้ประสบการณ์เข้ามาช่วยเทเลคอมเอเซียในการดำเนินโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมายโดยระยะแรกจะส่งคนมาช่วยบริหารเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาบุคลากรที่ขาดประสบการณ์
ประเด็นที่สามเป็นข้อตกลงที่ไนเน็กซ์จะต้องฝึกอบรมบุคลากรของเทเลคอมเอเซียให้บริหารโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมายได้ ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมขึ้นโดยไนเน็กซ์จะเป็นผู้สนับสนุนด้านอุปกรณ์และบุคลากรในศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้
ประเด็นสุดท้ายเป็นข้อตกลงที่ไนเน็กซ์จะนำซอฟต์แวร์ระบบ CSS (CUSTOMER
SERVICE SYSTEM) ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์เนตเวิร์กขนาดใหญ่มาใช้ในการบริหารงานทั้งหมดในโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย
ทองฉัตรอธิบายเพิ่มเติมว่า "เราเชื่อว่าไนเน็กซ์มีความสามารถมีกำลัง
ประสบการณ์ที่เหมาะสมและคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ รวมถึงเงื่อนไขของไนเน็กซ์เป็นเงื่อนไขที่รับได้
ในระยะ 5 ปีแรกเราขาดบุคลากรระดับสูงมาก เพราะเราเป็นบริษัทใหม่ เราหาไม่ได้
เราจึงต้องหาผู้ร่วมดำเนินการ ใน 5 ปีเราอาจมีคนจากไนเน็กซ์มาร่วมประมาณปีละ
60-100 คน ในระหว่าง 5 ปีนี้เราจะพัฒนาคนขึ้นมาบริหาร และปฏิบัติการจากศูนย์ฝึกอบรมที่เราร่วมกับสถาบันการศึกษาในประเทศ
หลังจาก 5 ปีไปแล้วเราสามารถดำเนินการเองได้ ซึ่งจำนวนพนักงานทั้งหมดที่เราตั้งไว้จะมีประมาณ
5,000 คน"
สิ่งแรกที่ไนเน็กซ์ให้ความช่วยเหลือแก่เทเลคอมเอเซียในขณะนี้ คือการช่วยดูถึงความต้องการในรายละเอียดของระบบ
และในเรื่องการวางแผนการดำเนินการ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพิจารณาตัวฮาร์ดแวร์ที่เทเลคอมเอเซีย
จะนำเข้ามาใช้งานกับระบบซอฟต์แวร์ของไนเน็กซ์ด้วย
ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์คือตัวเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นปัจจุบันมีผู้เสนอเข้ามา
4 ราคา คือ AMDAHL, IBM, HITASHI และ FUJITSU แต่เทเลคอมเอเซียยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะใช้ของใครในขณะนี้
อย่างไรก็ตามวัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการและรองประธานกรรมการบริหารของเทเลคอมเอเซียได้เปิดเผยถึงมูลค่าการลงทุนในส่วนของ
SUPPORTING SYSTEM ที่จะนำมาใช้เพื่อให้การดำเนินงานในการบริหารโครงข่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ
4,000 ล้านบาทโดยรวมตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนครึ่งต่อครึ่ง
และระบบทั้งหมดนี้จะติดตั้งเสร็จครบเมื่อเทเลคอมเอเซียดำเนินการไปแล้ว 3
ปี
ทองฉัตรกล่าวถึงแผนงานที่วางไว้ว่า "เราเชื่อว่าเทเลคอมเอเซีย สามารถให้บริการเลขหมายแรกได้ในเดือนกันยายนปีนี้
และจนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถให้บริการได้ประมาณ 100,000 เลขหมาย จนถึงเดือนพฤษภาคม
2536 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดโครงการเร่งด่วนปีแรกเราจะให้บริการได้ 500,000 เลขหมายโดยจะทำการติดตั้งในพื้นที่
40 แห่งทั่วกรุงเทพฯและใช้เงินลงทุนในปีแรกนี้ทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท"
เทเลคอมเอเซียมีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนภายในปีนี้จากปัจจุบัน 3,000
ล้านบาทเป็น 20,000 ล้านบาทพร้อมกับการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจรายอื่น นอกเหนือจากไนเน็กซ์เข้ามาร่วมทุนโดยกำหนดสัดส่วนที่จะกระจายให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่รวมทั้งหมดไม่เกิน
15% ซึ่งปัจจุบันมีธนาคาร สถาบันการเงินบริษัทประกันภัยและบริษัทขนาดใหญ่หลายรายติดต่อเข้ามาแต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนี้
สำหรับการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นทองฉัตรกล่าวว่า "เราไม่จำเป็นต้องรอผลการดำเนินงานครบ
3 ปีอย่างบริษัทอื่น เพราะเราเป็นบริษัทฯ ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอจึงเป็นเงื่อนไขที่ยกเว้น
ดังนั้นเมื่อเราเพิ่มทุนและกระจายหุ้นให้ภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว เราจะนำเข้าตลาดภายในปีนี้"